แนวปฏิบัติที่ดี ตอนที่ 4 : การเผยแพร่ผลงานแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice)

การเผยแพร่ผลงานเป็นกระบวนการถ่ายทอดผลงานที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมไปสู่สาธารณะ โดยผ่านช่องทางของสื่อ ซึ่งรูปแบบของสื่อมีหลากหลายประเภท ในที่นี้ขอนำเสนอประเภทของสื่อประชาสัมพันธ์ ดังนี้ (เรวดี ไวยวาสนา, ม.ป.ป.)

1. สื่อคำพูดหรือสื่อบุคคล (Spoken Words or Personal Media)
สื่อคำพูดหรือสื่อบุคคล หมายถึง บุคคลที่หน่วยงาน/สถานศึกษาใช้เป็นผู้นำข่าวสารไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสื่อบุคคลจัดเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการจูงใจและการโน้มน้าวใจ ก่อให้เกิดการสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงาน/สถานศึกษากับกลุ่มเป้าหมาย เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดการสื่อสารแบบสองทางและมีปฏิสัมพันธ์แบบทันทีทันใด


2. สื่อสิ่งพิมพ์ (Printed Media)
สื่อสิ่งพิมพ์ หมายถึง สิ่งที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอข่าวสาร ให้ข้อมูล คำแนะนำ ผ่านวัสดุประเภทเอกสารหรือกระดาษ รวมไปถึงวัสดุใด ๆ ก็ตามที่สามารถพิมพ์ข้อความต่าง ๆ ได้ ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ อาจมีการจัดพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แผ่นพับ ใบปลิว โปสเตอร์ หนังสือ นิตยสาร เป็นต้น  สื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้จะน่าสนใจก็ต่อเมื่อมีการออกแบบให้สวย ทันสมัย


ในที่นี้ จะขอนำเสนอสื่อสิ่งพิมพ์บางประเภทที่สามารถนำไปใช้ในการเผยแพร่ผลงานแนวปฏิบัติ
ที่ดี ดังนี้

2.1 โปสเตอร์ (Poster) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ประกอบด้วยภาพ ตัวอักษร สัญลักษณ์ อธิบายเป็นข้อความสั้น ๆ ให้ผู้อ่านเกิดความสนใจได้ทันที
วัตถุประสงค์ของโปสเตอร์
1) เพื่อใช้ในการประกอบการสอนในระดับต่าง ๆ
2) เพื่อใช้ให้ความรู้/เกิดพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์
3) เพื่อใช้ในการโฆษณาสินค้า องค์กร และบริการ
4) เพื่อใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลและโครงการต่าง ๆ
5) เพื่อใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร

2.2 แผ่นพับ (Folder) เป็นสิ่งพิมพ์ที่บรรจุข่าวสาร ข้อความและรูปภาพที่องค์กรต้องการเผยแพร่/ประชาสัมพันธ์ตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ สามารถบรรจุข้อมูลได้มาก และพกพาได้สะดวก มีลักษณะเป็นกระดาษแผ่นเดียวกัน พับเป็นเล่ม
วัตถุประสงค์ของแผ่นพับ
1) เพื่อใช้ในการประกอบการสอนในระดับต่าง ๆ
2) เพื่อใช้ให้ความรู้/เกิดพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์
3) เพื่อใช้ในการโฆษณาสินค้า องค์กร และบริการ
4) เพื่อใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลและโครงการต่าง ๆ
5) เพื่อใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร


ลักษณะของแผ่นพับ
1) เล็ก กะทัดรัด พกพาสะดวก
2) มีภาพและข้อความอยู่ในแผ่นเดียวกัน แต่จะเน้นข้อความมากกว่าภาพ และไม่นิยมใส่คำบรรยายใต้ภาพ

ขนาดของแผ่นพับ
• แบบ 4 หน้า มีลักษณะการพับเป็นแบบพับครึ่ง



• แบบ 6 หน้า มีลักษณะการพับหลายลักษณะ เช่น พับแบบตัว Z พับแบบ 2 ทบ 3 ตอน และพับแบบหน้าต่าง เป็นต้น


• แบบ 8 หน้า มีลักษณะการพับหลายลักษณะ เช่น พับแบบหน้าต่าง 4 ตอน  พับแบบม้วน  พับแบบ 2 ทบ 4 ตอน  พับแบบขนาน 3 ทบ 4 ตอน  พับแบบพับครึ่งแล้วพับ 2 ตอน เป็นต้น


• แบบ 12 หน้า มีลักษณะการพับหลายลักษณะ เช่น พับแบบพับครึ่งแล้วพับ 3 ตอน พับแบบขนาน 5 ทบ 6 ตอน เป็นต้น


• แบบ 16 หน้า มีลักษณะการพับหลายลักษณะ เช่น พับแบบพับครึ่งแล้วพับ 4 ตอน พับแบบขนาน 5 ทบ 6 ตอน เป็นต้น


2.3 สื่อออนไลน์ เป็นสื่อดิจิทัลประเภทหนึ่งที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการทางสังคม (Social Tool) โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้สื่อสารระหว่างบุคคลในเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ผ่านทางเว็บไซต์ รวมถึงโปรแกรมประยุกต์ที่มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตบนสื่อต่าง ๆ โดยต้องการให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเนื้อหา (User-Generated Content: UGC) ในรูปแบบของข้อมูล ภาพ และเสียงขึ้นเอง โดยมีแหล่งให้ บริการเครือข่ายทางสังคมเกิดขึ้นบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น Facebook Twitter LinkedIn Google Plus Myspace YouTube Blog Wiki รวมทั้งเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เป็นให้บริการ File Sharing Photo Sharing Video Sharing และกระดานข่าว (Web board) เป็นต้น


2.4 สื่อกิจกรรม เป็นสื่อหรือกิจกรรมชนิดหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ นอกเหนือจากเครื่องมือหรือสื่อประชาสัมพันธ์ที่กล่าวมา ซึ่งสื่อกิจกรรมเน้นให้ประชาชนหรือกลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสเข้าร่วมงานกับหน่วยงาน/สถานศึกษา เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดประชุมวิชาการ เป็นต้น





บทความที่เกี่ยวข้อง


เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
เรวดี ไวยวาสนา. (ม.ป.ป.). บทที่ 5 ประเภทของสื่อประชาสัมพันธ์. https://elcca.ssru.ac.th/rewadee_wa
/pluginfile.php/473/mod_resource/content/1/บทที่%205%20ประเภทของสื่อปชส.pdf

แนวปฏิบัติที่ดี ตอนที่ 3 : การเขียนเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice)


จากบทความเรื่องแนวปฏิบัติที่ดี : ตอนที่ 2 แนวปฏิบัติที่ดีกับวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle : PDCA) ได้กล่าวถึงหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี อาจมีหัวข้อการนำเสนอแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหน่วยงาน/สถานศึกษาเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ควรต้องมีส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดี ดังนี้

ส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดี
1. ข้อมูลทั่วไป
2. ผลงาน/ระบบงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี (ดีอย่างไร How) ซึ่งอาจเขียนโดยการแยกเป็น 2 ส่วน คือ
2.1 ขั้นตอนการดำเนินงาน หรือ แผนภูมิ (Flow Chart) ของระบบงาน
2.2 วิธีการและนวัตกรรมที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) หรือ อาจเขียนเป็นขั้นตอนการดำเนินงานจนประสบผลสำเร็จเป็นผลงานที่ดีเลิศเป็นความเรียงก็ได้
3. ปัจจัยเกื้อหนุน (ดีเพราะอะไร What) หรือปัจจัยแห่งความสำเร็จ/ความภาคภูมิใจ และบทเรียนที่ได้รับ
4. ผลการดำเนินงาน (ดีเพียงใด Why) ทั้งนี้ ควรเน้นตัวชี้วัดสำคัญต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจใช้แผนภูมิ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานจนเกิดผลสำเร็จ และอาจมีแผนงานในอนาคตด้วยก็ได้

แนวทางการเขียนเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี
การนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี สามารถนำเสนอได้หลายรูปแบบ ในที่นี้จะขอนำเสนอตัวอย่างหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี ดังนี้

1. ชื่อผลงาน ให้ระบุชื่อผลงานแนวปฏิบัติที่ดี โดยควรใช้ชื่อที่น่าสนใจ มีความเฉพาะเจาะจง สะท้อนภาพรวมของผลงานแนวปฏิบัติที่ดี
2. ชื่อหน่วยงาน/สถานศึกษา/ศศช. ให้ระบุชื่อหน่วยงาน/สถานศึกษา/ศศช. ที่จัดทำแนวปฏิบัติที่ดี
3. ชื่อคณะทำงานพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดี ให้ระบุชื่อคณะบุคคลหรือบุคคลที่เป็นเจ้าของผลงานแนวปฏิบัติที่ดี
4. บทคัดย่อ ประเด็นที่สรุปในบทคัดย่อ ควรประกอบด้วย วัตถุประสงค์ของโครงการ/กิจกรรมที่เสนอเป็นผลงานแนวปฏิบัติที่ดี รูปแบบ/วิธีการดำเนินงาน ผลการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะ/แนวทางการพัฒนาต่อเนื่อง
5. ความสำคัญของ “แนวปฏิบัติที่ดี” ให้เขียนระบุเหตุผล/ความจำเป็นว่าทำไมต้องทำโครงการ/กิจกรรมนี้ และระบุสภาพปัญหา ความต้องการหรือเหตุผล ความจำเป็นที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน สถานศึกษา ชุมชนที่จะพัฒนา “แนวปฏิบัติที่ดี” ในด้านที่ระบุไว้ได้ชัดเจน มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา มีแนวทางแก้ปัญหาหรือการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน สถานศึกษา และชุมชน
6. วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน ให้ระบุวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน “แนวปฏิบัติที่ดี” อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม โดยระบุว่า เมื่อได้ทำโครงการ/กิจกรรมนี้แล้วเสร็จจะเกิดอะไรขึ้น หรือคาดหวังว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่เป็นผลจากการทำโครงการ/กิจกรรมนี้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียน สถานศึกษา ชุมชน โดยอาจเขียนเป็นข้อ ๆ
7. เป้าหมายของการดำเนินงาน ให้กำหนดเป้าหมายของการดำเนินงาน “แนวปฏิบัติที่ดี” อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียน สถานศึกษา ชุมชน
8. กระบวนการดำเนินงาน ให้ระบุกระบวนการหรือขั้นตอนในการดำเนินงาน  “แนวปฏิบัติที่ดี” ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมาย มีการนำเสนอเป็นรูปแบบ ( Model ) อย่างชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยอธิบายกระบวนการหรือขั้นตอนในการดำเนินงานตามรูปแบบที่กำหนดไว้ เช่น การดำเนินงานตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle : PDCA) เป็นต้น ในการเขียนอธิบายอาจกระทำได้ ดังนี้
8.1 เขียนอธิบายขั้นตอนการดำเนินงานโดยละเอียด เช่น ขั้นตอนที่ 1 เป็นขั้นตอนศึกษาอะไร ศึกษาหรือแบ่งกลุ่มศึกษาอย่างไร และดูผลจากอะไร โดยวิธีใด อย่างไร เป็นต้น หลังจากนั้น ให้อธิบายขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนที่ 4 ทำอย่างไรตามลำดับ
8.2 หากเป็นการทดลอง ให้เขียนวิธีการทดลอง โดยเรียงลำดับก่อนหลัง ใส่หมายเลขเป็นข้อ ๆ เขียนให้ได้ใจความต่อเนื่อง ชัดเจน กะทัดรัด อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่วกวน
8.3 บอกวิธีการหาข้อมูลว่าทำอย่างไร เช่น นำมาเขียนในรูปตาราง แผนภูมิ กราฟ ฯลฯ
9. ผลการดำเนินงาน ให้ระบุผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จว่าสามารถแก้ปัญหาและ/หรือพัฒนาผู้เรียนตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างไร
10. ประโยชน์ที่ได้รับ ให้ระบุผลสำเร็จของการดำเนินงานว่าก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งผู้เรียน สถานศึกษาและชุมชนอย่างไร
11. การเผยแพร่ ให้ระบุวิธีการที่ทำให้เห็นร่องรอยหลักฐานการเผยแพร่ผลงาน “แนวปฏิบัติที่ดี” และได้รับการยอมรับ
12. ปัจจัยความสำเร็จ ให้ระบุบุคคล/หน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการ รวมถึงทรัพยากรที่มาสนับสนุนให้งานประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
13. ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ ให้ระบุปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานแนวปฏิบัติที่ดี พร้อมทั้งข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา
14. แนวทางการพัฒนาต่อเนื่อง ระบุแนวทางการนำผลการดำเนินงาน/ผลงานแนวปฏิบัติที่ดีไปใช้หรือประยุกต์ใช้ หรือพัฒนาการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม หรือต่อยอดโครงการ/กิจกรรมตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ หรือโครงการ/กิจกรรมอื่น ๆ 
15. เอกสารอ้างอิง ให้ระบุแหล่งที่มาของข้อความที่ใช้อ้างอิง หรือข้อมูลที่ใช้ค้นคว้า ศึกษาหาข้อมูลที่นำมาใช้ประโยชน์ในการทำโครงการ/กิจกรรมนี้ สำหรับรูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิงที่ใช้ในการทำโครงการมีการเขียนได้หลายรูปแบบ เช่น ระบบนาม-ปี ระบบ APA เป็นต้น

สำหรับแนวทางการเขียนเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีในรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจมีการปรับหัวข้อการนำเสนอ ท่านสามารถนำแนวทางการเขียนจากตัวอย่างนี้ ไปปรับใช้ในการเขียนตามหัวข้อการนำเสนอที่หน่วยงาน/สถานศึกษากำหนด

หากพิจารณาส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดีเปรียบเทียบกับตัวอย่างหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีที่ยกมา จะเห็นได้ว่ามีส่วนประกอบสำคัญปรากฎอยู่ในตัวอย่างหัวข้อดังกล่าว ดังตาราง


การเขียนเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เป็นลักษณะของการเขียนเอกสารวิชาการประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการเขียนเอกสารวิชาการ เพื่อนำมาใช้ในการเขียนเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี นอกจากนี้ ผู้นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี ยังต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในเรื่องแนวทางการเขียนแนวปฏิบัติที่ดี ส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดี จึงจะทำให้แนวปฏิบัติที่ดีนั้นมีความถูกต้องตรงตามหลักวิชาการ

บทความที่เกี่ยวข้อง :
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. (2560). แนวทางการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice). บอยการพิมพ์.

แนวปฏิบัติที่ดี ตอนที่ 2 : แนวปฏิบัติที่ดีกับวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle : PDCA)

วงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle : PDCA) เป็นวงจรที่พัฒนามาจากวงจรที่คิดค้นโดยวอล์ทเตอร์ ซิวฮาร์ท (Walter Shewhart) ผู้บุกเบิกการใช้สถิติสำหรับวงการอุตสาหกรรม และต่อมาวงจรนี้เริ่มรู้จักกันมากขึ้น เมื่อเอดวาร์ด เดมมิ่ง (W.Edwards Deming) ปรมาจารย์ด้านการบริหารคุณภาพ 

ได้เผยแพร่ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการปรับปรุงกระบวนการทำงานของพนักงานภายในโรงงานให้ดียิ่งขึ้น และช่วยค้นหาอุปสรรคในแต่ละขั้นตอนการผลิตโดยพนักงานเอง จนวงจรนี้เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “วงจรเดมมิ่ง” ต่อมาพบว่า แนวคิดในการใช้วงจร PDCA นั้น สามารถนำมาใช้ได้กับทุกกิจกรรม จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยใช้อักษรนำของศัพท์ภาษาอังกฤษ มาเป็นตัวย่อ คือ PDCA ดังนี้ (สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, 2560) 

P : Plan หมายถึง การวางแผน
D : Do หมายถึง การปฏิบัติตามแผน
C : Check หมายถึง การตรวจสอบและประเมินผล
A : Action หมายถึง การปรับปรุงและพัฒนาผลการปฏิบัติงาน

การดำเนินงานเพื่อหาแนวปฏิบัติที่ดีตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง อาจสรุปเป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้

ด้านการวางแผน (P)
1. สำรวจ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย และข้อมูลบริบทของชุมชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

2. วิเคราะห์งานตามบทบาทหน้าที่ และวิเคราะห์ความสอดคล้องที่เกี่ยวข้อง เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ จุดเน้นการดำเนินงาน สกร. วิสัยทัศน์/พันธกิจ ระบบประกันคุณภาพสถานศึกษา ฯลฯ

3. ค้นหา Best Practice โดยมีประเด็นพิจารณา ดังนี้
3.1 การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจโดยตรงของหน่วยงาน
3.2 การปฏิบัติงานที่สนองต่อนโยบายการแก้ปัญหา การพัฒนาประสิทธิภาพของหน่วยงาน
3.3 การปฏิบัติงานที่สามารถลดขั้นตอน ลดรอบระยะเวลาการทำงาน
3.4 การปฏิบัติงานที่สามารถลดทรัพยากร ลดค่าใช้จ่าย
3.5 การปฏิบัติงานที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการทำงาน
3.6 การปฏิบัติงานที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์วิธีการขึ้นมาใหม่หรือประยุกต์ขึ้นใหม่ โดยอาจ
ตั้งคำถามว่า นวัตกรรมนั้น คืออะไร (What) ทำอย่างไร (How) ทำเพื่ออะไร (Why)
3.7 การปฏิบัติงานที่สามารถทำแผนผังเชิงเปรียบเทียบวิธีการเก่ากับใหม่ และสิ่งที่เป็นวิธีใหม่จะให้ประโยชน์อะไรดีกว่าวิธีเก่า
3.8 การปฏิบัติงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน
3.9 การปฏิบัติงานที่ช่วยวางระบบในการให้บริการ และมีช่องทางที่หลากหลายในการให้บริการดังกล่าว
3.10 การปฏิบัติงานที่สามารถเทียบเคียงวิธีการทำงานลักษณะเดียวกันกับหน่วยงานอื่นได้
3.11 การปฏิบัติงานที่ทำให้มีผลผลิต/ความสำเร็จเพิ่มขึ้น
3.12 การปฏิบัติงานที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3.13 การปฏิบัติงานที่สามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานการทำงานต่อไปได้ยั่งยืนพอสมควร
3.14 การปฏิบัติงานที่มีการพัฒนาปรับปรุงต่อไป

4. นำข้อมูลจากการวิเคราะห์ข้อ 1-3 มาเป็นกรอบในการกำหนดแนวทางปฏิบัติงาน ดังนี้
4.1 กำหนดวัตถุประสงค์โครงการ/กิจกรรม
4.2 กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ
4.3 กำหนดวิธีดำเนินการ
4.4 กำหนดวิธีการประเมินผลและเครื่องมือการประเมินผล

ขั้นตอนนี้ อาจใช้ตารางวิเคราะห์ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์โครงการ/กิจกรรม ตัวชี้วัดความสำเร็จ วิธีดำเนินการ และวิธีการประเมินผลและเครื่องมือการประเมินผล ตามที่ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานไว้


ด้านการดำเนินงาน (D)
ปฏิบัติงานตามกรอบการดำเนินงานของแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice)

ด้านการตรวจสอบและประเมินผล (C)
ติดตามและประเมินผล โดยใช้วิธีการและเครื่องมือการประเมินผลที่กำหนด

ด้านการปรับปรุงและพัฒนาผลการปฏิบัติงาน (A)
1. สรุปผลการดำเนินงาน
2. จัดทำรายงานเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี ตามหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี

ตัวอย่างหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี
1) ชื่อผลงาน (ระบุชื่อผลงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี)
2) ชื่อหน่วยงาน/ สถานศึกษา/ สกร. ระดับตำบล
3) คณะทำงานพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดี (ระบุชื่อบุคคล)
4) ความสอดคล้อง (ระบุความสอดคล้องที่เกี่ยวข้อง เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ จุดเน้นการดำเนินงาน สกร. วิสัยทัศน์/พันธกิจ ระบบประกันคุณภาพสถานศึกษา ฯลฯ)
5) ที่มาและความสำคัญของผลงาน
6) วัตถุประสงค์
7) วิธีดำเนินการ
8) ตัวชี้วัดความสำเร็จ
9) การประเมินผลและเครื่องมือการประเมินผล
10) ผลการดำเนินงาน
11) บทสรุป
12) กลยุทธ์หรือปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
13) ข้อเสนอแนะ
14) การอ้างอิง (ระบุแหล่งอ้างอิง เอกสารอ้างอิง ฯลฯ)
15) ภาคผนวก

สำหรับหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี อาจมีหัวข้อการนำเสนอแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหน่วยงาน/สถานศึกษาเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ควรต้องมีส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดี ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดีในบทความเรื่องแนวปฏิบัติที่ดี

ด้านการดำเนินงาน (D)
ปฏิบัติงานตามกรอบการดำเนินงานของแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice)

ด้านการตรวจสอบและประเมินผล (C)
ติดตามและประเมินผล โดยใช้วิธีการและเครื่องมือการประเมินผลที่กำหนด

ด้านการปรับปรุงและพัฒนาผลการปฏิบัติงาน (A)
1. สรุปผลการดำเนินงาน
2. จัดทำรายงานเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี ตามหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี

ตัวอย่างหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี
1) ชื่อผลงาน (ระบุชื่อผลงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี)
2) ชื่อหน่วยงาน/ สถานศึกษา/ สกร. ระดับตำบล
3) คณะทำงานพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดี (ระบุชื่อบุคคล)
4) ความสอดคล้อง (ระบุความสอดคล้องที่เกี่ยวข้อง เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ จุดเน้น
การดำเนินงาน สกร. วิสัยทัศน์/พันธกิจ ระบบประกันคุณภาพสถานศึกษา ฯลฯ)
5) ที่มาและความสำคัญของผลงาน
6) วัตถุประสงค์
7) วิธีดำเนินการ
8) ตัวชี้วัดความสำเร็จ
9) การประเมินผลและเครื่องมือการประเมินผล
10) ผลการดำเนินงาน
11) บทสรุป
12) กลยุทธ์หรือปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
13) ข้อเสนอแนะ
14) การอ้างอิง (ระบุแหล่งอ้างอิง เอกสารอ้างอิง ฯลฯ)
15) ภาคผนวก

สำหรับหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี อาจมีหัวข้อการนำเสนอแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหน่วยงาน/สถานศึกษาเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ควรต้องมีส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดี
ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดีในบทความเรื่องแนวปฏิบัติที่ดี ตอนที่ 3 : การเขียนเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) 

ในการดำเนินงานเพื่อหาแนวปฏิบัติที่ดีควรดำเนินงานตามแนวทางวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle : PDCA) หากผู้นำเสนอมีความรู้ ความเข้าใจอย่างชัดเจนในเรื่องดังกล่าว และนำสู่การออกแบบ วางแผน กำหนดกรอบแนวทางดำเนินงานแนวปฏิบัติที่ดี ก็จะสามารถปฏิบัติงานได้บรรลุผลสำเร็จ จนเกิดเป็นนวัตกรรมหรือแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อให้บุคคลอื่นสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานหรือไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ต่อไป


บทความที่เกี่ยวข้อง

เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. (2560). แนวทางการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice). บอยการพิมพ์.

แนวปฏิบัติที่ดี ตอนที่ 1 : รู้จักแนวปฏิบัติที่ดี

ในการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี ก่อนเริ่มดำเนินการ เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในเรื่องต่อไปนี้

ความหมายของแนวปฏิบัติที่ดี
แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) หมายถึง วิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ หรือสู่ความเป็นเลิศตามเป้าหมาย เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพนั้น ๆ มีหลักฐานของความสำเร็จปรากฏชัดเจน โดยมีการสรุปวิธีปฏิบัติ หรือขั้นตอนการปฏิบัติ ตลอดจนความรู้และประสบการณ์ บันทึกเป็นเอกสารเผยแพร่ให้หน่วยงานภายในหรือภายนอก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้


จุดเริ่มต้นของแนวปฏิบัติที่ดี
แนวปฏิบัติที่ดีเริ่มจากวงการแพทย์ เป็นวิธีการปฏิบัติงานที่ดี ไม่ว่าจะนำไปปฏิบัติที่ไหน อย่างไร ซึ่งผลงานที่ปฏิบัตินั้นได้นำไปสู่ผลสำเร็จ หน่วยงานจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติที่ดีกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผลสุดท้าย คือการนำ Best Practice นั้นไปใช้จนเป็นมาตรฐาน ตัวอย่างโปรแกรมที่ได้รางวัล คือ โปรแกรมการเชิญชวนผู้ดูแลผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งมารักษาที่ศูนย์การรักษา โดยดำเนินกิจกรรมในลักษณะการวิจัย ผลของโปรแกรมพบว่า 90% ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยส่วนใหญ่เป็นมะเร็งในระยะแรกเท่านั้น ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการดูแลรักษาจากโปรแกรมดังกล่าวที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี

ความสำคัญของแนวปฏิบัติที่ดี
จากหลักการที่ว่า “ถ้าได้นำความรู้ไปใช้ ความรู้นั้น ก็ยิ่งเพิ่มคุณค่า เพราะทำให้เกิดการต่อยอดความรู้ให้แตกแขนงออกไปอย่างกว้างขวาง” ดังนั้น เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของการจัดการความรู้ในองค์กร คือ เพื่อให้คนในองค์กร มีแนวปฏิบัติที่ดีในการทำงานที่ช่วยเพิ่มผลผลผลิตทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ ดังคำกล่าวของ Peter Senge ที่ว่า ความรู้ คือความสามารถในการทำอะไรก็ตาม อย่างมีประสิทธิผล (Knowledge is the capacity for effective actions) (Best Practice กับการจัดการความรู้, 2563)

แนวปฏิบัติที่ดีกับทฤษฎีการเรียนรู้ของ Thorndike
Edward Lee Thorndike เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้ค้นพบทฤษฎีความต่อเนื่อง (Connectionism) ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการลองผิดลองถูก เช่น เมื่อให้ผู้เรียนทำกิจกรรมอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นมาก่อน ผู้เรียนจะทำแบบลองผิดลองถูก เพื่อเลือกที่จริง ทิ้งที่เท็จ จนกระทั่งจับได้ว่า ควรทำอย่างไร จึงจะถูกต้องและรวดเร็ว ก็จะเลือกปฏิบัติด้วยวิธีการนั้นในครั้งต่อไป (Best Practice กับการจัดการความรู้, 2563)

คุณลักษณะของแนวปฏิบัติที่ดี
การวินิจฉัยคุณลักษณะงานของแนวปฏิบัติที่ดี เป็นพลังที่ช่วยกันยกระดับความคิด ระดมความคิด เพื่อให้มีมุมมองที่แตกต่าง หลากหลาย ยอมรับมุมมองที่แตกต่างจากมุมมองของตนเองได้ดีขึ้น มีประเด็น
ในการพิจารณาคุณลักษณะงานของแนวปฏิบัติที่ดีพอสังเขป ดังนี้
  1. การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจโดยตรงของหน่วยงาน
  2. การปฏิบัติงานที่สนองต่อนโยบายการแก้ปัญหา การพัฒนาประสิทธิภาพของหน่วยงาน
  3. การปฏิบัติงานที่สามารถลดขั้นตอน ลดระยะเวลาการทำงาน
  4. การปฏิบัติงานที่สามารถลดทรัพยากร ลดค่าใช้จ่าย
  5. การปฏิบัติงานที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการทำงาน
  6. การปฏิบัติงานที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์วิธีการขึ้นมาใหม่หรือประยุกต์ขึ้นใหม่
  7. การปฏิบัติงานที่สามารถทำแผนผังเชิงเปรียบเทียบวิธีการเก่ากับใหม่ และสิ่งที่เป็นวิธีใหม่จะให้ประโยชน์อะไรดีกว่าวิธีเก่า
  8. การปฏิบัติงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน
  9. การปฏิบัติงานที่ช่วยวางระบบในการให้บริการ และมีช่องทางที่หลากหลายในการให้บริการดังกล่าว
  10. การปฏิบัติงานที่สามารถเทียบเคียงวิธีการทำงานลักษณะเดียวกันกับหน่วยงานอื่นได้
  11. การปฏิบัติงานที่ทำให้มีผลผลิต/ความสำเร็จเพิ่มขึ้น
  12. การปฏิบัติงานที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  13. การปฏิบัติงานเป็นเรื่องที่สามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานการทำงานต่อไปได้ยั่งยืนพอสมควร
  14. การปฏิบัติงานที่มีการพัฒนาปรับปรุงต่อไป
แนวปฏิบัติที่ดีในหน่วยงาน
การทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีในหน่วยงาน สามารถทำให้เกิดขึ้นได้หลายช่องทาง
  1. เกิดจากบุคคล อันมาจากการเรียนรู้หรือประสบการณ์ เป้าหมายของหน่วยงานที่คาดหวังความสำเร็จ ผู้ปฏิบัติงานเรียนรู้จากการปฏิบัติ ริเริ่มสร้างสรรค์ แก้ปัญหาการทำงาน เสนอแนะวิธีการทำงาน อาจเกิดแนวคิด การรับรู้จากข้อแนะนำของผู้บริหาร ผู้รู้ เพื่อนร่วมงาน หน่วยงานอื่น และผู้รับบริการ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วิธีการใหม่หรือวิธีการที่ดีกว่า
  2. เกิดจากปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ความกดดันของผู้รับบริการ การแข่งขัน การขับเคลื่อนนโยบายขององค์กร ภาวะข้อจำกัดของทรัพยากร ภาวะวิกฤตทำให้มีการแสวงหาแนวทาง กระบวนการ วิธีการที่ดีกว่า เพื่อให้ได้ผลสำเร็จสูงสุด
  3. เกิดจากแรงขับเคลื่อนการพัฒนา ค้นหาวิธีการใหม่ สร้างความพึงพอใจของผู้รับบริการ เสริมสร้างสร้างประสิทธิภาพขององค์กร
กล่าวโดยสรุปก็คือ แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เป็นวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จหรือสู่ความเป็นเลิศตามเป้าหมาย เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพนั้น ๆ มีหลักฐานของความสำเร็จปรากฏชัดเจน โดยมีการสรุปวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติ ตลอดจนความรู้และประสบการณ์ บันทึกเป็นเอกสารเผยแพร่ให้หน่วยงานภายในหรือภายนอกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี ผู้นำเสนอควรมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติที่ดี ทั้งความหมาย ความสำคัญ และจุดเริ่มต้นของแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงทฤษฎีการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติที่ดี และคุณลักษณะของแนวปฏิบัติที่ดี


บทความที่เกี่ยวข้อง


เรียบเรียง : 
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. (2560). แนวทางการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice). บอยการพิมพ์.
Best Practice กับการจัดการความรู้. (2563, 19 พฤศจิกายน). คุณครูห้ามพลาด! Best Practice กับการจัดการความรู้. ครูประถม.คอม. https://www.krupatom.com/education_21522/คุณครูห้ามพลาด-best-practice-กับการ/

บ้านป่องนัก พิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 32

บ้านป่องนัก เป็นภาษาคำเมือง (ภาคเหนือ) คำว่า “ป่อง” หมายถึง “หน้าต่าง” คำว่า “นัก” หมายถึง “มาก” บ้านป่องนักจึงหมายถึง บ้านที่มีหน้าต่างจำนวนมาก

บ้านป่องนัก หรือชื่อที่เรียกเป็นทางการว่า พลับพลาที่ประทับแรมโรงทหารนครลำปาง เป็นบ้านที่มีอายุเก่าแก่ถึง 99 ปี ในปี พ.ศ. 2567 ตั้งอยู่ในค่ายสุรศักดิ์มนตรี จังหวัดลำปาง ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปแบบคลาสสิคสมัยกรีก ราวศตวรรตที่ 13 ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ตัวบ้านเป็นอาคารไม้สัก 2 ชั้นยกพื้นเตี้ย มีหน้ามุขแบบ 5 เหลี่ยม จำนวน 5 มุข หลังคาทรงปิรามิด สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตามากก็คือ หน้าต่างของบ้านทั้งด้านบนและด้านล่างของบ้านที่มีลักษณะเป็นหน้าต่างบานเกล็ดไม้อยู่รายล้อมรอบบ้าน 250 บาน รวมช่องหน้าต่างถึง 469 ช่อง


ความเป็นมาของ “บ้านป่องนัก”
ในปี พ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวในมณฑลพายัพได้ก่อการกบฏขึ้นที่เมืองแพร่เป็นแห่งแรก หัวหน้าเงี้ยวชื่อ พะกาหม่อง ร่วมกับพระยาพิริยพิชัย เจ้าผู้ครองนครแพร่ในขณะนั้น เข้ายึดอำนาจการปกครองในจังหวัดแพร่ และลุกลามมาถึงนครลำปาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม หลังจากปราบกบฏเงี้ยวเสร็จเรียบร้อยทั้ง 2 แห่ง พลตรีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้หารือกับเจ้าบุญวาทย์ วงศ์มานิต เห็นควรให้มีกองทหารตั้งที่นครลำปาง เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นอีก จึงได้กราบบังคมทูลเรื่องนี้ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งกองทหารขึ้นที่นครลำปางเป็นครั้งแรกที่วัดป่ารวก ต่อมาปี 2448 ได้ย้ายมาอยู่ “ม่อนสันติสุข” โดยสร้างเป็นอาคารไม้หลังแรก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วย ร.17 พัน 2 และในปี 2495 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามค่ายทหารแห่งนี้ว่า “ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่จอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นแม่ทัพสำคัญในการยกทัพไปปราบกบฎเงี้ยว ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันค่ายสุรศักดิ์มนตรีเป็นที่ตั้งของ “บ้านป่องนัก” หรือพลับพลาที่ประทับแรมโรงทหารนครลำปาง  

บ้านป่องนัก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 โดยกรมยุทธการทหารบก มีพันโทพระมหาณรงค์เรืองเดช  (แปลก จุลกัณฑ์)  ผู้บังคับกองทัพที่ 1 กรมทหารราบที่ 17 เป็นผู้อำนวยการและควบคุมการก่อสร้าง ใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวน 16,000 บาท เพื่อใช้เป็นพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณณี พระบรมราชินี เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลพายัพ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ถึง 6 กุมภาพันธ์  พ.ศ.2469 และต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ จึงได้จัดบ้านป่องนักให้เป็นพลับพลาที่ประทับอีกครั้ง 


“บ้านป่องนัก” นับเป็นสถานที่อันทรงคุณค่าและ เป็นสถานที่ที่รวบรวมข้อมูลและเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ภายในบ้านได้จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของจังหวัดลำปาง ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจน เครื่องใช้สมัยสงครามและของทหารกล้าในอดีตแต่ละสมรภูมิ อาวุธยุทธภัณฑ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงเครื่องใช้ส่วนพระองค์อีกจำนวนหนึ่ง นับเป็นสมบัติอันทรงคุณค่าและมีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของมณฑลพายัพ กองทัพบกจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพิพิธภัณฑ์ทหาร และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชม โดยภายในบ้านการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อให้บ้านป่องนักงดงามคงสภาพเดิมไว้ทุกประการ และตกแต่งมีห้องจัดแสดงต่าง ๆ ดังนี้

ชั้นล่าง จัดเป็นห้องต่าง ๆ เช่น ห้องทรงงาน ห้องจัดแสดงอาวุธบางส่วนที่ใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องมือสื่อสาร เครื่องเล่นแผ่นเสียงยุคเก่า ประวัติบุคคลสำคัญ ห้องจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับภาพเขียนสีประตูผาที่เป็นแหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจของจังหวัดลำปาง อีกทั้งยังมีภาพถ่ายโบราณ (ภาพขาวดำ) เครื่องปั้นยุคต่าง ๆ เช่น ยุคบ้านเชียง ยุค  หริภุญชัย ยุคสุโขทัย ที่จัดแสดงไว้มากมายเพื่อให้ได้เดินชมและศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดลำปาง 

ห้องทรงงาน

ห้องแสดงอาวุธ แผ่นเสียง และวิทยุสื่อสารสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

ห้องแสดงประวัติบุคคลสำคัญ เครื่องใช้ของทหาร
และภาพเขียนจอมพลเข้าพระยาศุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ผู้บัญชาการทหารบก ปี พ.ศ. 2433-2435

ระหว่างตัวบ้านชั้นบนและชั้นล่างจะมีบันไดขึ้น-ลง 2  ด้าน ด้านหน้าจะเป็นบันไดขึ้นลงสะดวกสบายสวยงาม เดิมเป็นบันได้สำรับเสด็จพระราชดำเนิน ส่วนบันไดด้านหลังมีลักษณะเป็นบันไดเวียน ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้กัน เป็นบันไดสำหรับข้าราชบริพาร

บันไดด้านหน้า และบันไดด้านหลังซึ่งเป็นบันไดเวียน

โถงทางเดินภายในอาคารชั้นสองมีหน้าต่างเรียงรายตลอดทางเดิน

ชั้นบน แบ่งออกเป็นหลายห้องเช่นเดียวกันกับด้านล่าง  เช่น ห้องแสดงเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้แก่ พระแสงดาบคาบค่ายจำลอง พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงจำลอง  เป็นต้น  

ห้องแสดงเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ห้องบรรทมซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์สองพระองค์ของไทย คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ภายในห้องบรรทมจัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์บางส่วนที่ยังคงก็เก็บรักษาไว้ และโต๊ะทรงงาน

ห้องบรรทมและโต๊ะทรงงานในห้องบรรทม

นอกจากนี้ ยังมีห้องเสวย และห้องจัดแสดงเครื่องใช้อย่างพวกถ้วย ชามสมัยโบราณ ตู้โบราณ ซึ่งของแต่ละชิ้นยังคงมีสภาพสมบูรณ์ สวยงาม ทรงคุณค่า

ห้องเสวย

ห้องแสดงเครื่องใช้ในสมัยก่อน

บ้านป่องนัก นับเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของไทย ในด้านการต่อสู้ห้องกันประเทศของทหาร และความผูกผันของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อกองทัพและประชาชนในพื้นที่มณฑลภายัพ (ภาคเหนือ) นับเป็นสถานที่ ที่เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่งของจังหวัดลำปาง 

มณฑทลทหารบกที่ 32 ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมความงดงาม และความมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของป้านป่องนัก ได้เป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9:00-16:30 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น


เรียบเรียง :
วราพรรณ  พูลสวัสดิ์  ครูชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

ภาพประกอบ :
นัชรี อุ่มบางตลาด ครูชำนาญการ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ
วราพรรณ  พูลสวัสดิ์  ครูชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
พิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 32 (บ้านป่องนัก). (2555, 10 กุมภาพันธุ์). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/781
ท่องเที่ยวสไตล์พิศาล พาชม “บ้านป่องนัก” ที่ประทับแรม Unseen ของสองกษัตริย์ไทย. (2558, 13 กันยายน). sanook. https://www.sanook.com/travel/1395733/