แนวปฏิบัติที่ดี ตอนที่ 1 : รู้จักแนวปฏิบัติที่ดี

ในการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี ก่อนเริ่มดำเนินการ เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในเรื่องต่อไปนี้

ความหมายของแนวปฏิบัติที่ดี
แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) หมายถึง วิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ หรือสู่ความเป็นเลิศตามเป้าหมาย เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพนั้น ๆ มีหลักฐานของความสำเร็จปรากฏชัดเจน โดยมีการสรุปวิธีปฏิบัติ หรือขั้นตอนการปฏิบัติ ตลอดจนความรู้และประสบการณ์ บันทึกเป็นเอกสารเผยแพร่ให้หน่วยงานภายในหรือภายนอก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้


จุดเริ่มต้นของแนวปฏิบัติที่ดี
แนวปฏิบัติที่ดีเริ่มจากวงการแพทย์ เป็นวิธีการปฏิบัติงานที่ดี ไม่ว่าจะนำไปปฏิบัติที่ไหน อย่างไร ซึ่งผลงานที่ปฏิบัตินั้นได้นำไปสู่ผลสำเร็จ หน่วยงานจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติที่ดีกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผลสุดท้าย คือการนำ Best Practice นั้นไปใช้จนเป็นมาตรฐาน ตัวอย่างโปรแกรมที่ได้รางวัล คือ โปรแกรมการเชิญชวนผู้ดูแลผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งมารักษาที่ศูนย์การรักษา โดยดำเนินกิจกรรมในลักษณะการวิจัย ผลของโปรแกรมพบว่า 90% ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยส่วนใหญ่เป็นมะเร็งในระยะแรกเท่านั้น ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการดูแลรักษาจากโปรแกรมดังกล่าวที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี

ความสำคัญของแนวปฏิบัติที่ดี
จากหลักการที่ว่า “ถ้าได้นำความรู้ไปใช้ ความรู้นั้น ก็ยิ่งเพิ่มคุณค่า เพราะทำให้เกิดการต่อยอดความรู้ให้แตกแขนงออกไปอย่างกว้างขวาง” ดังนั้น เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของการจัดการความรู้ในองค์กร คือ เพื่อให้คนในองค์กร มีแนวปฏิบัติที่ดีในการทำงานที่ช่วยเพิ่มผลผลผลิตทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ ดังคำกล่าวของ Peter Senge ที่ว่า ความรู้ คือความสามารถในการทำอะไรก็ตาม อย่างมีประสิทธิผล (Knowledge is the capacity for effective actions) (Best Practice กับการจัดการความรู้, 2563)

แนวปฏิบัติที่ดีกับทฤษฎีการเรียนรู้ของ Thorndike
Edward Lee Thorndike เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้ค้นพบทฤษฎีความต่อเนื่อง (Connectionism) ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการลองผิดลองถูก เช่น เมื่อให้ผู้เรียนทำกิจกรรมอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นมาก่อน ผู้เรียนจะทำแบบลองผิดลองถูก เพื่อเลือกที่จริง ทิ้งที่เท็จ จนกระทั่งจับได้ว่า ควรทำอย่างไร จึงจะถูกต้องและรวดเร็ว ก็จะเลือกปฏิบัติด้วยวิธีการนั้นในครั้งต่อไป (Best Practice กับการจัดการความรู้, 2563)

คุณลักษณะของแนวปฏิบัติที่ดี
การวินิจฉัยคุณลักษณะงานของแนวปฏิบัติที่ดี เป็นพลังที่ช่วยกันยกระดับความคิด ระดมความคิด เพื่อให้มีมุมมองที่แตกต่าง หลากหลาย ยอมรับมุมมองที่แตกต่างจากมุมมองของตนเองได้ดีขึ้น มีประเด็น
ในการพิจารณาคุณลักษณะงานของแนวปฏิบัติที่ดีพอสังเขป ดังนี้
  1. การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจโดยตรงของหน่วยงาน
  2. การปฏิบัติงานที่สนองต่อนโยบายการแก้ปัญหา การพัฒนาประสิทธิภาพของหน่วยงาน
  3. การปฏิบัติงานที่สามารถลดขั้นตอน ลดระยะเวลาการทำงาน
  4. การปฏิบัติงานที่สามารถลดทรัพยากร ลดค่าใช้จ่าย
  5. การปฏิบัติงานที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการทำงาน
  6. การปฏิบัติงานที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์วิธีการขึ้นมาใหม่หรือประยุกต์ขึ้นใหม่
  7. การปฏิบัติงานที่สามารถทำแผนผังเชิงเปรียบเทียบวิธีการเก่ากับใหม่ และสิ่งที่เป็นวิธีใหม่จะให้ประโยชน์อะไรดีกว่าวิธีเก่า
  8. การปฏิบัติงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน
  9. การปฏิบัติงานที่ช่วยวางระบบในการให้บริการ และมีช่องทางที่หลากหลายในการให้บริการดังกล่าว
  10. การปฏิบัติงานที่สามารถเทียบเคียงวิธีการทำงานลักษณะเดียวกันกับหน่วยงานอื่นได้
  11. การปฏิบัติงานที่ทำให้มีผลผลิต/ความสำเร็จเพิ่มขึ้น
  12. การปฏิบัติงานที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  13. การปฏิบัติงานเป็นเรื่องที่สามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานการทำงานต่อไปได้ยั่งยืนพอสมควร
  14. การปฏิบัติงานที่มีการพัฒนาปรับปรุงต่อไป
แนวปฏิบัติที่ดีในหน่วยงาน
การทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีในหน่วยงาน สามารถทำให้เกิดขึ้นได้หลายช่องทาง
  1. เกิดจากบุคคล อันมาจากการเรียนรู้หรือประสบการณ์ เป้าหมายของหน่วยงานที่คาดหวังความสำเร็จ ผู้ปฏิบัติงานเรียนรู้จากการปฏิบัติ ริเริ่มสร้างสรรค์ แก้ปัญหาการทำงาน เสนอแนะวิธีการทำงาน อาจเกิดแนวคิด การรับรู้จากข้อแนะนำของผู้บริหาร ผู้รู้ เพื่อนร่วมงาน หน่วยงานอื่น และผู้รับบริการ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วิธีการใหม่หรือวิธีการที่ดีกว่า
  2. เกิดจากปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ความกดดันของผู้รับบริการ การแข่งขัน การขับเคลื่อนนโยบายขององค์กร ภาวะข้อจำกัดของทรัพยากร ภาวะวิกฤตทำให้มีการแสวงหาแนวทาง กระบวนการ วิธีการที่ดีกว่า เพื่อให้ได้ผลสำเร็จสูงสุด
  3. เกิดจากแรงขับเคลื่อนการพัฒนา ค้นหาวิธีการใหม่ สร้างความพึงพอใจของผู้รับบริการ เสริมสร้างสร้างประสิทธิภาพขององค์กร
กล่าวโดยสรุปก็คือ แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เป็นวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จหรือสู่ความเป็นเลิศตามเป้าหมาย เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพนั้น ๆ มีหลักฐานของความสำเร็จปรากฏชัดเจน โดยมีการสรุปวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติ ตลอดจนความรู้และประสบการณ์ บันทึกเป็นเอกสารเผยแพร่ให้หน่วยงานภายในหรือภายนอกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี ผู้นำเสนอควรมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติที่ดี ทั้งความหมาย ความสำคัญ และจุดเริ่มต้นของแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงทฤษฎีการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติที่ดี และคุณลักษณะของแนวปฏิบัติที่ดี


บทความที่เกี่ยวข้อง


เรียบเรียง : 
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. (2560). แนวทางการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice). บอยการพิมพ์.
Best Practice กับการจัดการความรู้. (2563, 19 พฤศจิกายน). คุณครูห้ามพลาด! Best Practice กับการจัดการความรู้. ครูประถม.คอม. https://www.krupatom.com/education_21522/คุณครูห้ามพลาด-best-practice-กับการ/