บ้านป่องนัก พิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 32

บ้านป่องนัก เป็นภาษาคำเมือง (ภาคเหนือ) คำว่า “ป่อง” หมายถึง “หน้าต่าง” คำว่า “นัก” หมายถึง “มาก” บ้านป่องนักจึงหมายถึง บ้านที่มีหน้าต่างจำนวนมาก

บ้านป่องนัก หรือชื่อที่เรียกเป็นทางการว่า พลับพลาที่ประทับแรมโรงทหารนครลำปาง เป็นบ้านที่มีอายุเก่าแก่ถึง 99 ปี ในปี พ.ศ. 2567 ตั้งอยู่ในค่ายสุรศักดิ์มนตรี จังหวัดลำปาง ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปแบบคลาสสิคสมัยกรีก ราวศตวรรตที่ 13 ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ตัวบ้านเป็นอาคารไม้สัก 2 ชั้นยกพื้นเตี้ย มีหน้ามุขแบบ 5 เหลี่ยม จำนวน 5 มุข หลังคาทรงปิรามิด สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตามากก็คือ หน้าต่างของบ้านทั้งด้านบนและด้านล่างของบ้านที่มีลักษณะเป็นหน้าต่างบานเกล็ดไม้อยู่รายล้อมรอบบ้าน 250 บาน รวมช่องหน้าต่างถึง 469 ช่อง


ความเป็นมาของ “บ้านป่องนัก”
ในปี พ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวในมณฑลพายัพได้ก่อการกบฏขึ้นที่เมืองแพร่เป็นแห่งแรก หัวหน้าเงี้ยวชื่อ พะกาหม่อง ร่วมกับพระยาพิริยพิชัย เจ้าผู้ครองนครแพร่ในขณะนั้น เข้ายึดอำนาจการปกครองในจังหวัดแพร่ และลุกลามมาถึงนครลำปาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม หลังจากปราบกบฏเงี้ยวเสร็จเรียบร้อยทั้ง 2 แห่ง พลตรีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้หารือกับเจ้าบุญวาทย์ วงศ์มานิต เห็นควรให้มีกองทหารตั้งที่นครลำปาง เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นอีก จึงได้กราบบังคมทูลเรื่องนี้ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งกองทหารขึ้นที่นครลำปางเป็นครั้งแรกที่วัดป่ารวก ต่อมาปี 2448 ได้ย้ายมาอยู่ “ม่อนสันติสุข” โดยสร้างเป็นอาคารไม้หลังแรก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วย ร.17 พัน 2 และในปี 2495 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามค่ายทหารแห่งนี้ว่า “ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่จอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นแม่ทัพสำคัญในการยกทัพไปปราบกบฎเงี้ยว ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันค่ายสุรศักดิ์มนตรีเป็นที่ตั้งของ “บ้านป่องนัก” หรือพลับพลาที่ประทับแรมโรงทหารนครลำปาง  

บ้านป่องนัก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 โดยกรมยุทธการทหารบก มีพันโทพระมหาณรงค์เรืองเดช  (แปลก จุลกัณฑ์)  ผู้บังคับกองทัพที่ 1 กรมทหารราบที่ 17 เป็นผู้อำนวยการและควบคุมการก่อสร้าง ใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวน 16,000 บาท เพื่อใช้เป็นพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณณี พระบรมราชินี เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลพายัพ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ถึง 6 กุมภาพันธ์  พ.ศ.2469 และต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ จึงได้จัดบ้านป่องนักให้เป็นพลับพลาที่ประทับอีกครั้ง 


“บ้านป่องนัก” นับเป็นสถานที่อันทรงคุณค่าและ เป็นสถานที่ที่รวบรวมข้อมูลและเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ภายในบ้านได้จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของจังหวัดลำปาง ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจน เครื่องใช้สมัยสงครามและของทหารกล้าในอดีตแต่ละสมรภูมิ อาวุธยุทธภัณฑ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงเครื่องใช้ส่วนพระองค์อีกจำนวนหนึ่ง นับเป็นสมบัติอันทรงคุณค่าและมีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของมณฑลพายัพ กองทัพบกจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพิพิธภัณฑ์ทหาร และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชม โดยภายในบ้านการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อให้บ้านป่องนักงดงามคงสภาพเดิมไว้ทุกประการ และตกแต่งมีห้องจัดแสดงต่าง ๆ ดังนี้

ชั้นล่าง จัดเป็นห้องต่าง ๆ เช่น ห้องทรงงาน ห้องจัดแสดงอาวุธบางส่วนที่ใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องมือสื่อสาร เครื่องเล่นแผ่นเสียงยุคเก่า ประวัติบุคคลสำคัญ ห้องจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับภาพเขียนสีประตูผาที่เป็นแหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจของจังหวัดลำปาง อีกทั้งยังมีภาพถ่ายโบราณ (ภาพขาวดำ) เครื่องปั้นยุคต่าง ๆ เช่น ยุคบ้านเชียง ยุค  หริภุญชัย ยุคสุโขทัย ที่จัดแสดงไว้มากมายเพื่อให้ได้เดินชมและศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดลำปาง 

ห้องทรงงาน

ห้องแสดงอาวุธ แผ่นเสียง และวิทยุสื่อสารสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

ห้องแสดงประวัติบุคคลสำคัญ เครื่องใช้ของทหาร
และภาพเขียนจอมพลเข้าพระยาศุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ผู้บัญชาการทหารบก ปี พ.ศ. 2433-2435

ระหว่างตัวบ้านชั้นบนและชั้นล่างจะมีบันไดขึ้น-ลง 2  ด้าน ด้านหน้าจะเป็นบันไดขึ้นลงสะดวกสบายสวยงาม เดิมเป็นบันได้สำรับเสด็จพระราชดำเนิน ส่วนบันไดด้านหลังมีลักษณะเป็นบันไดเวียน ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้กัน เป็นบันไดสำหรับข้าราชบริพาร

บันไดด้านหน้า และบันไดด้านหลังซึ่งเป็นบันไดเวียน

โถงทางเดินภายในอาคารชั้นสองมีหน้าต่างเรียงรายตลอดทางเดิน

ชั้นบน แบ่งออกเป็นหลายห้องเช่นเดียวกันกับด้านล่าง  เช่น ห้องแสดงเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้แก่ พระแสงดาบคาบค่ายจำลอง พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงจำลอง  เป็นต้น  

ห้องแสดงเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ห้องบรรทมซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์สองพระองค์ของไทย คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ภายในห้องบรรทมจัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์บางส่วนที่ยังคงก็เก็บรักษาไว้ และโต๊ะทรงงาน

ห้องบรรทมและโต๊ะทรงงานในห้องบรรทม

นอกจากนี้ ยังมีห้องเสวย และห้องจัดแสดงเครื่องใช้อย่างพวกถ้วย ชามสมัยโบราณ ตู้โบราณ ซึ่งของแต่ละชิ้นยังคงมีสภาพสมบูรณ์ สวยงาม ทรงคุณค่า

ห้องเสวย

ห้องแสดงเครื่องใช้ในสมัยก่อน

บ้านป่องนัก นับเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของไทย ในด้านการต่อสู้ห้องกันประเทศของทหาร และความผูกผันของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อกองทัพและประชาชนในพื้นที่มณฑลภายัพ (ภาคเหนือ) นับเป็นสถานที่ ที่เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่งของจังหวัดลำปาง 

มณฑทลทหารบกที่ 32 ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมความงดงาม และความมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของป้านป่องนัก ได้เป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9:00-16:30 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น


เรียบเรียง :
วราพรรณ  พูลสวัสดิ์  ครูชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

ภาพประกอบ :
นัชรี อุ่มบางตลาด ครูชำนาญการ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ
วราพรรณ  พูลสวัสดิ์  ครูชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
พิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 32 (บ้านป่องนัก). (2555, 10 กุมภาพันธุ์). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/781
ท่องเที่ยวสไตล์พิศาล พาชม “บ้านป่องนัก” ที่ประทับแรม Unseen ของสองกษัตริย์ไทย. (2558, 13 กันยายน). sanook. https://www.sanook.com/travel/1395733/