ซิ่นก่าน..ที่น่ารู้

 ซิ่นก่าน  เป็นผ้าทอที่สืบทอดความรู้จากภูมิปัญญาดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวไทลื้อ จังหวัดน่าน คำว่า “ก่าน” เป็นเทคนิคการสร้างลวดลายในการทอผ้า เช่นเดียวกับการมัดหมี่ แต่ลายก่าน เป็นลายที่เกิดจากการมัดเส้นด้ายและย้อมสีเพียงสีเดียว ลวดลายจึงไม่สลับซับซ้อนเหมือนลายมัดหมี่ ซึ่งย้อมสีหลายสีและมีลายซ้อนกันหลายชั้น  ซิ่นก่านอาจทอจากไหมหรือฝ้ายก็ได้  สีที่นิยมใช้ เช่น สีม่วง น้ำเงิน ดำ ชมพู บานเย็น เป็นต้น 

ลักษณะเด่นผ้าซิ่นไทลื้อคือ ลวดลายจะอยู่ตรงกลางของตัวซิ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนตีนมักจะเป็นสีพื้น ลวดลายขวางบนตัวซิ่นเกิดจากเส้นด้ายพุ่ง ปัจจุบันซิ่นก่านทอเป็นผืนเดียวกัน โดยไม่มีการต่อผ้าเป็นส่วนเอวและส่วนตีนซิ่นเช่นอดีตที่ผ่านมา

ผ้าซิ่นสำคัญอย่างไร 

ผ้าซิ่น คือผ้าที่เย็บเป็นถุงสำหรับผู้หญิงนุ่ง ผ้าซิ่นจะมีขนาดสั้นยาวและกว้าง แคบ ต่าง ๆ กันไป ขึ้นอยู่กับรูปร่างของผู้นุ่งและวิธีการนุ่ง โอกาส เวลา และสถานที่ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมในแต่ละยุคสมัย 

ผ้าซิ่นบ่งบอกสถานภาพและแหล่งกำเนิดของกลุ่มชนซึ่งดูจากโครงสร้างและลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้า ชนแต่ละกลุ่มจะนุ่งผ้าซิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตน ทำให้ทราบว่าเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์กลุ่มใด ส่วนรายละเอียดในการออกแบบ โครงสร้าง และลวดลายบนผืนผ้าซิ่นนั้น เฉพาะคนในหมู่บ้านเดียวกันจึงจะบอกได้ว่า ลวดลายบนผ้าแสดงหรือบ่งบอกสถานภาพของผู้นุ่งว่าเป็นอย่างไร สิ่งนี้เป็นลักษณะพิเศษของผ้าซิ่น 

ผ้าซิ่นมีโครงสร้างอย่างไร
โดยทั่วไปโครงสร้างของผ้าซิ่นประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนเอว ส่วนกลางและส่วนตีน 
  1. ส่วนเอว (หัวซิ่น)  เป็นส่วนบนสุดของซิ่น ไม่นิยมทอลวดลาย บางแห่งใช้ผ้าขาว เย็บเป็นหัวซิ่นและเหน็บพกไว้ มองไม่เห็นจากภายนอก
  2. ส่วนกลาง (ตัวซิ่น)  เป็นส่วนหลักของซิ่น อาจมีการทอลวดลายบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในลักษณะของลวดลายที่กลมกลืนไม่ใช่ลายเด่น มักเป็นสีเดียวกันตลอด
  3. ส่วนตีน (ตีนซิ่น)  เป็นส่วนล่างสุดของซิ่น ในบางท้องถิ่นนิยมทอลวดลายเป็นพิเศษที่ตีนซิ่น อาจแคบบ้าง กว้างบ้าง เช่น ซิ่นตีนจก เป็นต้น

ความยาวของผ้าซิ่นขึ้นอยู่กับความกว้างของฟืม ในสมัยก่อนฟืมทอผ้ามีหน้าแคบจึงใช้วิธีต่อส่วนเอวและส่วนตีนเพื่อให้ผ้าซิ่นมีความยาวพอเหมาะ การทอซิ่นต่อเอวต่อตีนนี้นิยมทอลวดลายเฉพาะส่วนกลาง ส่วนที่นำมาต่อตรงเอวและตีนนั้นจะเป็นผ้าพื้นธรรมดา ซึ่งให้ประโยชน์ในแง่ของความคงทน เมื่อใช้นุ่งทำงานต่าง ๆ และเมื่อขาดแล้วก็เปลี่ยนเฉพาะส่วนได้ แต่ในปัจจุบันมีฟืมขนาดใหญ่จึงไม่จำเป็นต้องต่อส่วนเอวและส่วนตีนเช่นแต่ก่อน

โครงสร้างลวดลายของผ้าซิ่น
โครงสร้างลวดลายของผ้าซิ่นในจังหวัดน่านพบเห็นอยู่ 2 แบบ คือ ซิ่นม่านและซิ่นป้อง
  1. ซิ่นม่าน เป็นซิ่นที่ทอด้วยเทคนิคขิด ซึ่งชาวไทลื้อเรียกเทคนิคนี้ว่า “มุก” หรือมัดก่าน เป็นลายขวางสลับริ้วสีพื้นมีช่วงขนาดลายไม่เท่ากัน แต่ละช่วงจะมีชื่อเรียกและการจัดระยะของลวดลายขวางสลับสีพื้นที่แน่นอน ซิ่นม่านนี้ทอกันมาแต่ดั้งเดิม ถ้าซิ่นม่านที่มีลายมัดก่านตกแต่งเรียกว่า “ซิ่นม่านก่าน”
  2. ซิ่นป้อง ทอด้วยเทคนิคขิดเป็นลายขวางสลับริ้วสีพื้นมีช่วงขนาดของลายที่เท่ากันโดยตลอดบางทีเรียกว่า “ซิ่นตาเหล้ม” ซิ่นป้องที่มีลายมัดก่านตกแต่งจะเรียกว่า “ซิ่นป้องก่าน”

ซิ่นแต่ละผืนสามารถบอกที่มา สถานภาพของผู้สวมใส่ ความคิด และจินตนาการช่างทอที่ใช้ฝีมือละเอียด ปราณีต และลายก่านที่เป็นภูมิปัญญาของชาวไทลื้อ หากมีการสืบทอดและส่งเสริมให้ซิ่นก่าน เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผ้าซิ่นก่านคงอยู่ต่อไป


เรียบเรียง :
แก้วตา ธีระกุลพิศุทธิ์ ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
• ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน). งานศิลปหัตถกรรมประเภทผ้าไทลื้อ-น่าน (ผ้าซิ่นก่าน). https://www.sacit.or.th/uploads/items/attachments/0e87de457be3fffbc57408200d762452
/_7424a3497f7d532f135b9c867ee1cd14.pdf
• สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. (2555). หนังสืออ่านเสริมความรู้ ซิ่นก่าน เมืองปัว เอกลักษณ์ไทลื้อ. ลำปาง: สถาบัน กศน.ภาคเหนือ.