จิตรกรรมเวียงต้า

เวียงต้า เป็นชุมชนที่ห่างออกไปจากเมืองแพร่ ทางด้านตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้และขุนเขา การคมนาคมค่อนข้างลำบาก แต่มีมรดกอันล้ำค่าของเมืองแพร่ซ่อนอยู่ คือ “วัดเวียงต้าม่อน” ภายในฝาผนังด้านในของวิหารเต็มไปด้วยจิตรกรรมแบบล้านนาที่หาค่ามิได้ ภาพเขียนเหล่านี้เขียนด้วยสีฝุ่นบนไม้กระดานหลาย ๆ แผ่นต่อกันในกรอบขนาดใหญ่จัดวางเป็นผืนเป็นตอน เทคนิคการเขียนและการจัดองค์ประกอบมีลักษณะแบบพื้นบ้าน ดูสนุกสนานตามรูปแบบงานจิตรกรรมสกุลช่างในเมืองน่าน โดยใช้สีฝุ่นวาดลงบนฝาไม้ผนังวิหารทั้ง 4 ด้าน ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีความยาวประมาณ 6.97 เมตร ผนังด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีความยาว 9.24 เมตร 

สีที่ใช้มีกลุ่มสีดิน (น้ำตาลและน้ำตาลแดง) กลุ่มสีขาว (ใช้สำหรับรองพื้นและผสมสีอื่น)  กลุ่มสีแดง (แดงชาด แดงจากดินแดงผสม) กลุ่มสีน้ำเงิน (น้ำเงินคราม) กลุ่มสีเขียว (เขียวจากต้นไม้ เขียวจากหินหรือแร่) กลุ่มสีดำ (ดำจากหมึกหรือเขม่าดำผสมสีอื่น) และกลุ่มสีทองคำเปลว เนื้อหาของภาพจัดเป็นสามกลุ่มด้วยกันคือ dภาพกลุ่มแรกเป็นชาดกเรื่อง เจ้าก่ำกาดำ ภาพกลุ่มที่สองเป็นชาดกเรื่อง แสงเมืองหลงถ้ำ ซึ่งภาพทั้งสองเรื่องนี้ใช้กลุ่มสีทองคำเปลววาดเป็นภาพชาดกพื้นเมืองที่แพร่หลายนิยมกันมากในเขตล้านนาช่วงศตวรรษที่ผ่านมา พระสงฆ์สามเณรใช้เทศนาเป็นพระธรรมคำสอนและชาวบ้านนำมาแต่งเป็นค่าว จ๊อย ขับขานกันในช่วงนั้น ส่วนภาพกลุ่มที่สามเป็นภาพคนขนาดใหญ่เกือบเท่าของจริง 

ภาพจิตรกรรมวัดเวียงตาม่อน. จาก จิตรกรรมเวียงต้า (น. 35.), โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

กล่าวได้ว่า จิตรกรรมเวียงต้ามีคุณค่าสูงในด้านที่สะท้อนให้เห็นโลกทัศน์และวิถีชีวิตของชาวล้านนาในยุคนั้น นับตั้งแต่คติ ความเชื่อ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของคนระดับต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเป็นลักษณะรวมรูปแบบของจิตรกรรมล้านนาทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเวียงต้าบนแผ่นไม้ชุดนี้ ปัจจุบันถูกย้ายจากวัดเวียงต้าม่อน ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ "หอคำน้อย" ของไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2531โดยติดตั้งผนังไม้ที่มีจิตรกรรมฝาผนังเวียงต้า ทั้ง 4 ด้าน ไว้ภายในอาคารเพื่อป้องกันจากแสงแดด ฝนสาดกระทบ ความชื้น หรือปัจจัยเสี่ยงที่จะให้งานจิตรกรรมจะได้รับความเสียหาย

ภาพจิตรกรรมเวียงต้า

1. ชาดกเรื่อง ก่ำกาดำ  
ณ เมืองพรหมทัต มีกษัตริย์ปกครองเมืองชื่อ ท้าวจิตตราช มีพระมเหสี 2 องค์ คือ นางจันทเทวี และนางสิงคี แต่ไม่มีโอรส จึงได้ทำพิธีบำเพ็ญศีลภาวนาเพื่อขอโอรสจากพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์ได้ไปอัญเชิญพระโพธิสัตว์ให้ไปเกิดในครรภ์ของนางจันทเทวี ทำให้นางสิงคีเกิดความริษยาร่วมกับกาละกะเสนาใส่ร้ายนางจันทเทวี ยุยงให้ท้าวจิตตราชขับออกจากวัง นางจันทเทวีได้ไปอาศัยอยู่กับตายายที่ท้ายป่าและคลอดลูกออกมามีผิวกายดำก่ำเหมือนหมี มีชื่อว่า ก่ำกาดำ ต่อมาท้าวจิตตราชและนางสิงคีทรงทราบ จึงได้ขับนางจันทเทวีและโอรสออกจากเมือง โดยจับมัดติดแพลอยน้ำไป แต่ได้เจอกับน้ำวนแพแตก ทำให้แม่ลูกพลัดพรากจากกัน นางจันทเทวีถูกน้ำพัดไปติดที่เมืองมิถิลา ส่วนก่ำกาดำไปติดที่สวนดอกไม้ของเมืองพาราณสี 

นางจันทเทวีอาศัยกับตายาย คลอดก่ำก๋าคำ และถูกลอยแพทำให้สองตายายอกแตกตาย
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

นางจันทเทวีหลังจากแพแตกมาขึ้นฝั่งเมืองมิถิลา
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

เมืองพาราณสี มีท้าวพาราณสีปกครองเมือง และมีลูกสาว 7 คน คือ พิมมรา นาริกา อุมรา สุนันทา สุวิมาลา สุจิมาและเทพกัญญา ธิดาทั้ง 7 คน ชอบเดินเล่นในสวนอุทยานดอกไม้ ส่วนก่ำกาดำ เดินเข้ามาในสวนเพื่อเก็บผลไม้กินเป็นอาหาร และได้ไปพบกับนางปักขิกาคนดูแลสวนได้ทำบ่วงจับ ก่ำกาดำ เพื่อใช้ให้เป็นคนงาน แต่เกิดความร้อนรนอยู่ไม่ได้ต้องรับมาเลี้ยงไว้เป็นลูก ในเวลานั้น

พระอินทร์ได้นำเทพธิดามาเกิดในฝักงิ้วที่สวนอุทยาน คนงานเห็นงิ้วงามแต่เก็บไม่ได้ ท้าวพาราณสีจึงได้อันเชิญต้นงิ้วไปปลูกในราชวัง ได้พบเด็กหญิงที่งดงามออกมาจากฝักงิ้ว ท้าวพาราณสีได้รับเลี้ยงไว้เป็นลูกสาวคนที่แปดชื่อว่า พิมพา ให้ไปอาศัยอยู่กับนางเทพกัญญา

เจ้าเมืองพาราณสีเก็บงิ้วทองคำ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

อยู่มาวันหนึ่ง ก่ำกาดำ ในวัยหนุ่มได้ถอดเสื้อผิวดำออก จึงมีร่างกายสดใสดังทอง ได้พบกับนางเทพกัญญาและนางพิมพา นางคิดว่าเป็นเทวดาจึงวิ่งไล่ตาม ก่ำกาดำได้วิ่งหนีกลับไปใส่เสื้อผิวดำ ต่อมาก่ำกาดำได้เข้าไปในห้องนางเทพกัญญาและนางพิมพา นางทั้งสองได้ตั้งคำถามธรรม 7 ข้อ ก่ำกาดำตอบคำถามได้อย่างแจ่มแจ้ง ทำให้นางทั้งสองพอใจขอเป็นภรรยา แต่ก่ำกาดำปฏิเสธและกลับไป รุ่งเช้านางปักขิณา จะนำดอกไม้ไปถวายให้แก่ธิดาทั้งสอง  ก่ำกาดำจึงได้เรียงดอกไม้เป็นรูปตนเองกอดกับนางทั้งสอง ทำให้ธิดาทั้งสองมอบแก้วแหวนเงินทองให้ 

ท้าวพาราณสี ได้จัดชุมนุมตอบปัญหาธรรมของนางเทพกัญญาและนางพิมพา ใครตอบได้จะยกลูกสาวให้ ไม่มีใครตอบปัญหาได้นอกจากก่ำกาดำ ท้าวพาราณสีจึงยกนางเทพกัญญาและนางพิมพาให้ก่ำกาดำ ทำให้เหล่าขุนนางไม่พอใจ ก่ำกาดำจึงได้เดินทางเข้าป่าขอให้เทวดามาช่วย เหล่าเทวดาต่างมาช่วยสร้างบ้านเมือง และเหาะไปยังเมืองมิถิลาไปอุ้มนางจันทเทวีผู้เป็นแม่ให้มาพบกับก่ำกาดำ จากเสียงอื้ออึงของหมู่เทวดานางฟ้า ทำให้ท้าวพาราณสีรู้ว่าก่ำกาคำเป็นผู้มีบุญจึงจัดพิธีอภิเษกสมรสให้ก่ำกาดำกับธิดาทั้งสอง และสถาปนาให้ก่ำกาดำปกครองเมือง ในยามนั้นพระอินทร์ได้เชิญก่ำกาดำไปแก้ปริศนาธรรม ก่ำกาดำได้ถอดผิวดำออกและเหาะไปกับพระอินทร์ นางเทพกัญญาและนางพิมพาจึงได้นำผิวดำไปเผาไฟไหม้หมด ก่ำกาดำได้อยู่ครองเมืองและรับนางปักขิณามาเลี้ยงดูในวัง

เจ้าก่ำก๋าดำถอดชุดผิวดำแล้วเหาะขึ้นตอบปัญหาธรรมกับพระอินทร์
จาก จิตรกรรมเวียงต้า,โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

ต่อมา ก่ำกาดำและนางจันทเทวี ได้ยกทัพไปยังเมืองพรหมทัตเพื่อพบบิดา นางสิงคีและกากะลังเสนา ได้ยุยงท้าวพรหมทัตว่าก่ำกาดำจะยกทัพมาตีเมือง จึงมอบให้กากะลังเสนายกทัพออกไปตีที่นอกเมือง เมื่อกากะลังเสนายกทัพไปถึงหน้ากาดำก็ถูกธรณีสูบตกนรก นางสิงคีรู้เข้าเสียใจ พอวิ่งลงพื้นดินก็ถูกธรณีสูบตกนรกอเวจี ท้าวพรหมทัตจึงได้เชิญก่ำกาดำและนางจันทเทวี เข้าเมืองและยกราชสมบัติให้ก่ำกาดำครองสืบไป

นางสิงคีถูกธรณีสูบ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า,โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

เจ้าราชบัณฑิต (ก่ำกาดำ) และมารดาเข้าเฝ้าราชบิดาในราชวัง
จาก จิตรกรรมเวียงต้า,โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

2. ชาดกเรื่อง แสงเมืองหลงถ้ำ 
แสงเมืองหลงถ้ำ เป็นวรรณกรรมชาดกที่ได้รับความนิยมสูงสุดเรื่องหนึ่งในล้านนา โดยเรื่องมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่ง ท้าวมันธราชและนางสุมิราครองราชย์ที่เมืองเชียงทอง แต่ไม่มีโอรส ท้าวมันธราชจึงให้นางสุมิรารับประทานอาหารวันละมื้อและรักษาศีลเป็นเวลา 7 วัน เพื่อขอลูก ร้อนถึงพระอินทร์ต้องไปอัญเชิญพระโพธิสัตว์ให้ไปเกิดในครรภ์ของสุมิรา และให้เทวดามาเกิดในเมืองนั้น อีก 1,000 องค์ ในขณะประสูติได้เกิดเหตุอัศจรรย์ 3 ประการคือ ต้นไม้เหลืองไปหมด แม่น้ำมีสีแดงไปหมด และหินทรายทั้งหมดกลายเป็นสีเขียวถึง 5 วัน จึงได้ตั้งชื่อบุตรที่เกิดว่าเจ้าทรายเขียว และมีอีกนามหนึ่งคือ เจ้าแสงเมือง เนื่องจากพระอินทร์ได้นำเอาแสง (แก้วมณี) มาให้ 

เมื่อเจ้าแสงเมืองอายุ 16 ปี มีนายพรานป่านำหงส์คู่หนึ่งจากป่าหิมพานต์มาถวายเป็นหงส์ที่ฉลาด พูดภาษามนุษย์ได้ ต่อมาพระบิดาได้ให้เจ้าแสงเมืองเลือกสตรีในเมืองเชียงทองมาเป็นชายา  แต่ก่อนถึงพิธีเจ้าแสงเมืองได้ฝันว่าหงส์คู่นำหญิงสาวรูปงามมาถวาย เจ้าแสงเมืองจึงไม่เลือกใคร และให้คนมาวาดภาพนางในฝันและให้หงส์นำภาพไปค้นหาในเมืองพันธุมตินคร (โยนกนาคพันธุ์นคร) ติสสรัฐ (อุตรดิตถ์) หริภุญไชย (ลำพูน) นันทบุรี (น่าน) โกสัย (แพร่) ฯลฯ จนกระทั่งพบนางเกี๋ยงคำแห่งเขมรัฐราชธานี

นางเกี๋ยงคำและนกแขกเต้าในอุทยาน
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

นางเกี๋ยงคำ เป็นธิดาของท้าวสิริวังโสและนางทาริกาครองเมืองขอมหรือเขมรัฐราชธานี โดยมีตำนานเล่าว่า เมื่อแรกเกิดนั้นช่างดอกไม้ได้นำดอกไม้มาถวายและพบว่า ดอกเกี๋ยง (ลำเจียก) ดอกหนึ่งกลายเป็นทอง จึงตั้งชื่อว่านางเกี๋ยงคำ  เมื่ออายุได้ 15 ปี นางเกี๋ยงคำทรงมีพระสิริโฉมงดงามมาก กลิ่นปากมีกลิ่นหอมเหมือนดอกลำเจียก ท้าวสิริวังโสได้สร้างปราสาทให้นางอยู่ต่างหาก เมื่อหงส์ได้ทราบข่าวของนางเกี๋ยงคำจากนกแขกเต้าที่เป็นนกเลี้ยง ก็ไปค้นหาจนได้พบนาง และเล่าเรื่องเจ้าแสงเมือง ให้ฟัง นางพึงพอใจมาก จึงมอบแหวนที่มีรูปนางปรากฏในหัวแหวนฝากไปถวายเจ้าแสงเมือง เจ้าแสงเมืองได้ส่งทูตไปเมืองขอมพร้อมราชบรรณาการเพื่อสู่ขอนางเกี๋ยงคำ ท้าวสิริวังโสก็ทรงยินดีรับราชบรรณาการและตอบแทนด้วยการส่งของกลับไป ทั้งสองเมืองต่างได้เตรียมงานอภิเษกสมรสอย่างยิ่งใหญ่ 

เมืองเชียงของมีพิธีสังเวยเทพารักษ์ประจำเมืองทุกวันแรม 1 ค่ำ ที่ดอยหลวง เจ้าแสงเมืองจะรีบไปอภิเษกสมรส จึงได้ทำพิธีสังเวยก่อนกำหนด เมื่อเสร็จพิธีได้เที่ยวในถ้ำพร้อมบริวารอีก 1,000 คน ขณะที่เที่ยวในถ้ำอยู่นั้น ไฟได้มอดดับหมดจึงมองไม่เห็นทางออกจากถ้ำไม่ได้  เมืองเชียงของเกิดความทุกข์หม่นหมองไปทั่ว เนื่องจากเจ้าแสงเมืองหายไป เมื่อนางเกี๋ยงคำทราบเรื่อง ก็เกิดความทุกข์ตรมไม่เป็นอันแต่งเนื้อแต่งตัว เมื่อได้สติจึงสร้างศาลาไว้ที่หน้าเมือง จัดคนไปฟังข่าวจากคนที่มาพักเพื่อจะได้ทราบข่างเจ้าแสงเมือง 

เจ้าแสงเมืองหลงทางในถ้ำ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

 ในเมืองขอมมีเศรษฐีผู้หนึ่งได้นำข้าวของเงินทองมาสู่ขอนางเกี๋ยงคำจากเจ้าสิริวังโสให้ลูกชายตัวเอง แต่นางไม่ยินยอมทำให้ลูกเศรษฐีแค้นใจ จึงได้ไปยุยงให้ทูตจากเมืองจัมปาไปบอกพระยาจัมปาให้มาตีเมืองขอม เพื่อแย่งชิงนางเกี๋ยงคำ

ฝ่ายเจ้าแสงเมืองติดอยู่ในถ้ำนานถึง 11 เดือน เนื่องจากมีกรรมเวรอยู่ปางหลัง ทำให้บริวารที่ติดตามมาด้วยตายไป 993 คน เหลือเพียงเจ้าแสงเมืองและบริวารอีกเพียง 6 คน ที่มีชีวิตอยู่ แต่ผ่ายผอมเหลือแต่กระดูก เจ้าแสงเมืองจึงอธิษฐานว่า หากตนได้เป็นพระพุทธเจ้าขอให้พระอินทร์มาช่วยด้วยเถิด จากนั้นจึงพาบริวารเดินทางไปจนพบช่องแสงสว่างและพบพระอินทร์ที่แปลงกายมาเป็นนายพรานมาช่วย เจ้าแสงเมืองนึกรู้ว่าเป็นพระอินทร์จึงขอให้สวนมนต์ช่วยชุบชีวิตคน พระอินทร์ได้สอนมนต์ให้และมอบดาบสรีกัญไชย พร้อมทั้งสอนวิธีใช้แก้วมณีประจำตัวด้วย เจ้าแสงเมืองชุบชีวิตบริวารที่ตายไปฟื้นขึ้นมา และพากันเดินไปจนพบสุทธฤาษี ฤาษีได้สอนวิชาให้ เมื่อพักผ่อนร่างกายแข็งแรงแล้ว เจ้าแสงเมืองจึงเดินทางไปยังเมืองขอม ได้ไปพักกับนายบ้านปัจฉิมคามชื่อ โกสิยาและโกธิกา นายบ้านทั้งสองเห็นลักษณะของเจ้าแสงเมืองได้ไต่ถามความเป็นมาได้ทราบความจริง จึงได้ยกลูกสาวให้ คือ นางสุนินทายกให้เจ้าแสงเมือง และนางสุวิรายกให้เจ้าสุริราคนสนิทของเจ้าแสงเมือง

เจ้าแสงเมืองพาบริวาร 6 คน เหาะไปเมืองเชียงทองและพักที่ศาลาที่นางเกี๋ยงคำสร้างไว้ คนเฝ้าจึงไปบอกนางเกี๋ยงคำว่า คนผู้นี้น่าจะเป็นเจ้าแสงเมือง คืนนั้นเจ้าแสงเมืองได้เหาะไปหานางเกี๋ยงคำ แต่นางไม่ให้เข้าปราสาท เพราะนางคิดว่าอาจเป็นเทวดา นาค ครุฑ เพราะเหาะได้ จึงได้แต่พูดคุยกัน รุ่งเช้าได้ให้นางรัมพรังสีไปสืบข่าว ซึ่งพบแต่เจ้าสุริราคนสนิทของเจ้าแสงเมือง ส่วนเจ้าแสงเมืองไปนอนอยู่ในม่าน ก่อนกลับนางรัมพรังสีจึงเข้าไปในม่าน เจ้าแสงเมืองตัดพ้อว่านางเกี๋ยงคำไปให้เข้าไปในปราสาท คืนนั้นเจ้าแสงเมืองได้เหาะไปหานางเกี๋ยงคำ ทั้งสองได้ทำความเข้าใจกัน รุ่งเช้านางเกี๋ยงคำได้ไปทูลท้าวสิริวังโสเรื่องเจ้าแสงเมือง ท้าวสิริวังโสจึงจัดขบวนไปรับและจัดงานอภิเษกให้เจ้าแสงเมืองกับนางเกี๋ยงคำ นางรัมพรังสีกับเจ้าสุริรา นายบ้านทั้งสองนำธิดาของตนมาสมทบด้วย ต่อมาท้าวสิริวังโสได้มอบราชสมบัติให้เจ้าแสงเมืองครอบครอง

เจ้าแสงเมืองและชายาทั้งหมดในราชสำนักเมืองเชียงของ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

เมื่ออยู่เมืองขอมหนึ่งปี เจ้าแสงเมืองได้กลับไปเมืองเชียงทอง เมื่อไปได้เพียง 3 วัน พระยาจัมปาได้ยกทัพมาตีเมืองขอม  เจ้าแสงเมืองจึงได้เหาะกลับเมืองขอม เจ้าแสงเมืองรบชนะกองทัพฝ่ายจัมปานคร เมื่อเสร็จศึกแล้วเจ้าแสงเมืองได้กลับไปเมืองเชียงทอง มีการฉลองและอภิเษกให้เจ้าแสงเมืองขึ้นครองราชย์อีกด้วย เจ้าแสงเมืองได้นำบริวารไปยังถ้ำที่เคยหลงไปขนทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ในถ้ำใส่เกวียนลากมา ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 7 วัน จึงจะขนมาหมด

พระยาจัมปายกพลมารบชิงนางเกี๋ยงคำ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

ส่วนหงส์ทองของเจ้าแสงเมือง ได้ไปค้นหาเจ้าแสงเมืองตามที่ต่าง ๆ แต่ไม่เจอ จึงตรอมใจกลับไปอยู่สระเดิมของตนในป่าหิมพานต์ ถูกเหยี่ยวลวงไปให้เสือจับกิน นายพรานที่เคยนำหงส์ทองไปถวายเจ้าแสงเมืองมาพบเศษขนก็จำได้จึงนำกลับไปถวายเจ้าแสงเมือง จึงโปรดให้นำขนของหงส์มาทำพัด จากนั้นทุกฝ่ายก็ดำเนินชีวิตไปจนถึงแก่อายุขัยของตน 

3. ภาพคนขนาดใหญ่ 
ภาพบุคคลขนาดใหญ่ที่วาดแทรกไว้ในกรอบช่องไม้ ช่วงที่ดำเนินเรื่องเจ้าก่ำกาดำ ผนังด้านทิศตะวันออก วาดขนาบ 2 ข้าง ประตูทางเข้ากุฏิสงฆ์ที่เชื่อมด้านทิศตะวันออกของวิหาร มีการเขียนชื่อกำกับชื่อทุกภาพ ได้แก่ 

ซ้าย: นายสิทธิเกษม                                  ขวา: เด็กจีนได้ทับทิม
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

ซ้าย: อี่นายสีเวย          ขวา: พ่อเฒ่าแสนภิรมย์มาจำ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

ภาพบุคคลขนาดใหญ่ของนายสิทธิเกษม นางศรีเวย เด็กชาวจีน และพ่อเฒ่าแสนภิรมย์ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาภาพวาดนิทานชาดกเรื่องเจ้าก่ำกาดำ ที่วาดบนแผงผนังด้านนี้ สันนิษฐานว่าอาจเป็นบุคคลที่มีส่วนในการอุปถัมภ์หรือเจ้าศรัทธาที่ออกค่าใช้จ่ายในการวาดภาพเหล่านี้หรือเป็นบุคคลสำคัญในท้องถิ่น
ภาพวาดของวัดเวียงต้าม่อนแห่งนี้ ภายหลังมีการรื้อวิหารที่มีความทรุดโทรมตามกาลเวลา ได้ถอดแผงไม้ที่มีรูปแต้มติดไว้ชั่วคราวในศาลา จนกระทั่งทางอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) ได้ขอผาติกรรมไปจัดเก็บรักษา แสดงไว้ภายในหอคำน้อยของอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2531 โดยทางอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงได้ทำการก่อสร้างวิหารศิลปะล้านนาจำนวน 1 หลัง ถวายให้วัดต้าม่อน ที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบันและมีการถ่ายภาพรูปแต้มวัดต้าม่อน จัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีการเผยแพร่รูปภาพและเนื้อหารูปแต้มทางเว็บไซต์หอภาพถ่ายล้านนา (Chiang Mai House of Photography) ที่จัดทำโดยรองศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกทั้งในปี พ.ศ. 2563 สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดแพร่ ได้จัดสร้างวิหารศิลปะพม่าจำลองขึ้นจากภาพถ่ายเก่า พร้อมกับติดกรอบรูปภาพที่ทำการวาดคัดลอกรูปแต้มวัดต้าม่อน โดยจิตรกรของจังหวัดแพร่ จัดแสดงไว้ภายในวิหารหลังใหม่นี้ จำนวน 20 ภาพและได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอลองและของจังหวัดแพร่ 


เรียบเรียง : ยุรัยยา อินทรวิจิตร ครู ชำนาญการพิศษ  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

ภาพจาก :
  จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

อ้างอิง :
วิถี พานิชพันธ์. (ม.ป.ป). จิตรกรรมเวียงต้า. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

ภูเดช แสนสา. (2564). รูปแต้มวัดต้าม่อน เมืองต้า วัดพม่าปลายแดนด้านทิศตะวันออกเมืองนครลำปาง: รูปแต้มศิลปะล้านนาในวิหารศิลปะพม่าของวัดต้าม่อน. วารสารข่วงผญา, 15(1),  55-69. 
https://so06.tci-thaijo.org/index.php/khuangpaya/issue/view/17006/4287

ผ้าทอล้านนา : ผ้าตีนจกเมืองลอง

อาณาจักรล้านนาคือ ราชอาณาจักรของชาวไทยวนในอดีต ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยตลอดจนสิบสองปันนา และครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทยในปัจจุบัน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน ชาวล้านนามีการแต่งกายที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะ “ซิ่น” ซึ่งเป็นเครื่องการแต่งกายของสตรีชาวล้านนานั้น ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลวดลาย ลักษณะผ้า การย้อมสีฝ้าย อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างทอผ้าชาวล้านนาแต่โบราณที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน

สำหรับผ้าซิ่นที่ใช้นุ่งในโอกาสพิเศษ เช่น ในพิธีกรรม ในงานทำบุญ จะต่อส่วนตีนซิ่นด้วยผ้าทอลักษณะพิเศษที่ใช้เทคนิคการ “จก” ให้เกิดลวดลายงดงามกว่าปกติ เรียกว่า "ผ้าซิ่นตีนจก" ลวดลายของผ้าซิ่นตีนจกในแต่ละท้องถิ่นมีความหลากหลายแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วลวดลายทั้งหมดล้วนได้แนวคิดมาจากธรรมชาติรอบตัว คติความเชื่อ และพุทธศาสนา ผ้าซิ่นตีนจกในภาคเหนือของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงและมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นมีหลายแห่ง เช่น ผ้าซิ่นตีนจกจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และผ้าซิ่นตีนจกจากอำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นต้น

ตีนจกเมืองลอง

อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นชุมชนโบราณและเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญเมืองหนึ่ง ในยุคนั้นมีชื่อเรียกว่า เมืองเชียงชื่น ในอดีตเป็นเมืองของชาวไทยยวนหรือชาวไทยโยนก ที่มีเทคนิคและศิลปะในการทอผ้าในรูปแบบของตนเอง รวมถึงผ้าซิ่นตีนจกที่ทอขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ ซึ่งปรากฏหลักฐานภาพถ่ายเจ้านายฝ่ายหญิงของเมืองแพร่ ในปี พ.ศ. 2445 พบว่า ผ้าซิ่นที่ใช้สวมใส่จะมีเชิงซิ่นเป็นตีนจกและยังพบหลักฐานคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ที่สตรีนุ่งซิ่นตีนจก

จิตกรรมฝาผนังวัดเวียงต้า แสดงให้เห็นภาพสตรีล้านนานุ่งซิ่นตีนจก

ผ้าซิ่นตีนจกเมืองลอง มีลักษณะโครงสร้างเช่นเดียวกับผ้าซิ่นล้านนาโดยทั่วไป คือ ประกอบด้วย 3 ส่วน
  • หัวซิ่น ส่วนบนหรือส่วนเอว เรียกว่า หัวซิ่น ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าสีพื้นไม่มีลวดลาย เช่น สีขาว สีเหลือง สีแดง สีดำ หรือใช้ผ้าสีแดงต่อด้วยผ้าสีขาว
  • ตัวซิ่น ส่วนกลางหรือส่วนลำตัวเรียกว่า ตัวซิ่น ส่วนใหญ่จะทอเป็นลายขวาง เรียกว่า ซิ่นต๋า ซิ่นต๋าหมู่ ซิ่นต๋ามุก ซิ่นต๋าตอบ สีสันและลวดลายขึ้นอยู่กับความชอบและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ทอ ในปัจจุบันตัวซิ่นมีการสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ให้น่าสนใจมากขึ้น เช่น ลายตรง ลายดอกไม้ ลายนกคู่ 
  • ตีนซิ่น ส่วนล่างสุด เรียกว่า ตีนซิ่น สำหรับผ้าซิ่นที่ใช้นุ่งในโอกาสพิเศษ จะต่อส่วนตีนซิ่นด้วยผ้าลวดลายงดงาม ซึ่งทอด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า “จก” คือใช้เทคนิคการทอโดยการยกเส้นยืน อาจใช้ขนเม่นหรือปลายนิ้วก้อยในการยกเส้นยืนก็ได้ แล้วสอดเส้นพุ่งตามลายที่กำหนด และเรียกตีนซิ่นแบบนี้ว่า “ตีนจก” หลังจากทอเสร็จเอา 3 ส่วนมาเย็บต่อกัน เรียกว่า “ผ้าซิ่นตีนจก” 

การทอผ้าจกของช่างทอเมืองลองในอดีตนั้น ทอด้วยกี่หรือหูกทอผ้าแบบพื้นเมือง และใช้ขนเม่นหรือไม่ไผ่ที่ทำปลายให้แหลมจกล้วงด้ายเส้นยืนจากด้านหลังของผ้าให้เกิดลวดลาย ซึ่งต้องอาศัยฝีมือ ความชำนาญและใช้เวลาในการทอแต่ละผืนนานมาก ปกติผ้าตีนจก 1 ผืนจะมีความยาวประมาณ 70 นิ้ว โดยประมาณ

ลวดลายของผ้าจกเมืองลอง ประกอบด้วย ลายหลัก และ ลายประกอบ
 

1. ลวดลายหลัก
เป็นลายที่อยู่ตรงกลางของตีนจก มีความโดดเด่นสวยงาม มีทั้งลักษณะที่เป็นลายดอก และลายต่อเนื่อง

1.1 ลวดลายหลักลักษณะลายดอก ลายหลักที่เป็นลวดลายที่มีมาแต่โบราณมีอยู่ 12 ลาย ได้แก่ ลายนกคู่กินน้ำร่วมต้น ลายสะเปาลอยน้ำ (สำเภาลอยน้ำ) ลายนกแยงเงา (นกส่องกระจก) ลายขามดแดง ลายขากำปุ้ง (แมงมุม) ลายขอไล่ ลายหม่าขนัด (สับปะรด) ลายจันแปดกลีบ ลายดอกจัน ลายขอดาว ลายขอผักกูด และลายดอกขอ 

1.2 ลายหลักลักษณะลายต่อเนื่อง มีลายที่เป็นลายโบราณอยู่ 7 ลาย คือ ลายใบผักแว่น ลายแมงโบ้งเลน ลายโคมและช่อน้อยตุงชัย ลายขอน้ำคุ จันแปดกลีบ ลายเครือกาบหมาก ลายโก้งเก้งซ้อนนก และลายพุ่มดอกนกกินน้ำร่วมต้น


2. ลวดลายประกอบ 
เป็นลายขนาดเล็ก ๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เพิ่มความโดดเด่นให้ลายหลัก ที่ทำให้ผ้าตีนจกมีความสมบูรณ์ มักเป็นลวดลายที่ออกแบบมาจากสิ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ได้แก่ ลวดลายจากพืช เช่น ลายกาบหมาก บัวคว่ำบัวหงาย ลายดอกพิกุลจัน ลวดลายจากสัตว์ เช่น ลายผีเสื้อ ลายนกคุ้ม ลวดลายจากรูปทรง เช่น ลายจันแปดกลีบ ทรงกลม



ตัวอย่างผ้าทอตีนจกเมืองลอง

วัตถุประสงค์ในการทอผ้าตีนจก ในอดีตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประการดังนี้
  1. ทอเพื่อใช้เองในครอบครัว ผ้าตีนจกเป็นผ้าทอที่ใช้ประกอบกับตัวซิ่น ในอดีตผู้หญิงมักทอผ้าจกเมื่อใช้ในพิธีแต่งงานของตนหรือทอจกตามขนาดต่าง ๆ ตามการใช้งาน เช่นทอไว้เป็นผ้าสไบสำหรับใช้ในโอกาสสำคัญ ทอจกเป็นผ้าเช็ดหน้า ทอจกเป็นย่ามใส่หมาก ทอจกเป็นผ้าขาวม้า เป็นต้น
  2. ทอเพื่อใช้ในงานพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาการทำบุญทางศาสนา เพื่อถวายเป็นจตุปัจจัยไทยรรม เช่น ไตรจีวร รัดประคต อาสะนะปูนั่ง ผ้าปูลาด บางผืนจะทอกันเป็นเวลาแรมปีด้วยใจรักและศรัทธา เช่น การทอผ้าจกเป็นผ้าคลุมศีรษะนาค ทอจกเป็นย่ามพระ ผ้าห่อคัมภีร์ หรือทอจกเป็นผ้าเพื่อประดิษฐ์เป็นพวงมาลัยสำหรับใช้ประดับศาลา ประดับธรรมาสน์ในงานประเพณีเทศน์มหาชาติ



เรียบเรียง:
สิริลักษณ์ เป็งคำ  ครูผู้ช่วย สถาบัน กศน.ภาคเหนือ 

ภาพประกอบ:
สิริลักษณ์ เป็งคำ
วิภาพรรณ นันต๊ะนา

อ้างอิง:
คลังข้อมูลชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). ผ้าโบราณเมืองลอง. https://communityarchive.sac.or.th/community/BanHuayO/data-set/view/619

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ร่วมกับนักศึกษาปฏิบัติงานสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. (ม.ป.ป.). ผ้าซิ่นตีนจก (อำเภอลอง). [Ebook]. https://anyflip.com/nlfbr/chlk/basic

ศูนย์สารสนเทศหม่อนไหมและประชาสัมพันธ์ กรมหม่อนไหม. (ม.ป.ป.) ผ้าจกเมืองลอง. https://qsds.go.th/silkcotton/k_11.php

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). ศิลปหัตถกรรมประเภทผ้าจกเมืองลอง. https://www.sacit.or.th/uploads/items/attachments/922f33cdefb2792b0f0f72965146208f/_2951791788cbe5bc477baa2afd1f06ae.pdf

โลกโมฬี…วัดสวยเก่าแก่คู่เมืองล้านนา

วัดโลกโมฬี หรือ วัดโลก เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีหลักฐานอย่างแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีชื่อในตำนานของวัดพระธาตุดอยสุเทพ

วัดโลกโมฬี ปรากฏซื่อครั้งแรกในรัชสมัยพระเจ้ากือนา (พ.ศ. 1898-1928) ในปี พ.ศ. 1910 พระองค์ทรงโปรดอาราธนาให้คณะของพระอุทุมพรบุปผามหาสวามีเจ้า พระมหาเถระ เมืองเมาะตะมะ
มาสืบศาสนาในล้านนา แต่พระมหาเถระทรงชราภาพมาก จึงให้พระอนันทะเถระและพระเถระที่เป็นศิษย์อีก 10 รูป มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาแทน พระเจ้ากือนาจึงโปรดฯ ให้คณะสงฆ์ดังกล่าวจำพรรษา
ณ วัดโลกโมฬี
 

ปี พ.ศ. 2070 ในสมัยพระเมืองเกษเกล้า (พญาเกสเชษฐราช) กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา (ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2068-2081 และครั้งที่สอง พ.ศ. 2086-2088) พระองค์ได้ถวายบ้านหัวเวียงให้เป็นอารามวัดโลกโมฬี และใน พ.ศ. 2071 ได้ทรงให้สร้างมหาเจดีย์และวิหารที่วัดโลกโมฬีด้วย

ต่อมาเมื่อพระเมืองเกษเกล้า ถูกลอบปลงพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2088 เหล่าข้าราชการ ขุนนาง ได้ทำพิธีและนำพระบรมอัฐิมาบรรจุไว้ที่วัดโลกโมฬี นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือของพระอาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงประจำพระองค์ จากนั้นเสนาอำมาตย์จึงได้ทูลเชิญพระนางจิรประภามหาเทวี (มหาเทวีจิรประภา) พระอัครมเหสี ขึ้นครองราชสมบัติ (พ.ศ. 2088-2089 ขณะนั้นล้านนากำลังอ่อนแอ สมเด็จพระไชยราชาธิราชกษัตริย์อยุธยา จึงยกทัพมาตีล้านนา แต่ด้วยพระนางจิรประภาได้ถวายเครื่องบรรณาการไปถวายขอเป็นมิตร พร้อมทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จมาร่วมทำบุญสร้างกู่ถวายพระเมืองเกษเกล้าที่วัดโลกโมฬี ต่อมาในปี พ.ศ. 2121 พระนางวิสุทธิราชเทวีทิวงคต เหล่าข้าราชการ ขุนนางได้ทำการถวายพระเพลิง ณ ทุ่งวัดโลก และบรรจุพระอัฐิไว้ในเจดีย์วัดโลกโมฬีด้วยเช่นกัน

จากนั้นเชียงใหม่ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าสาวัตถีนรถามังคะยอ (นรธาเมงสอ)
พระราชโอรสในพระเจ้าบุเรงนองกับพระนางราชเทวีแห่งหงสาวดี จึงถูกส่งมาปกครองอาณาจักรล้านนา (พ.ศ. 2121-2150) วัดวาอารามต่าง ๆ ถูกพม่าเผาทำลายไปมาก แต่วัดโลกโมฬีไม่ได้ถูกเผา เนื่องจากพระองค์ทรงมีเมตตาธรรม และให้วัดโลกโมฬีกับวัดวิสุทธารามเป็นวัดสำคัญในพระราชสำนักมาโดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2127 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงประกาศอิสรภาพจากพม่า จึงทรงพยายามรวบรวมแผ่นดินอีกครั้ง พระองค์ทรงตีอาณาจักรล้านนาได้ทั้งหมด พระเจ้าสาวัตถีนรถามังคะยอต่อสู้มิได้ จึงทรงยอมสวามิภักดิ์เป็นประเทศราช ในปี พ.ศ. 2139 แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงให้พระองค์ทรงปกครองอาณาจักรล้านนาต่อไป และพระเจ้าสาวัตถีนรถามังคะยอได้ถวายพระธิดาให้เป็นพระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วัดโลกโมฬีถูกทิ้งให้ร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2502 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดโลกโมฬีเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และในปี พ.ศ. 2544 คณะสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการบูรณะให้วัดร้างกลายเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา และในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 กรมการศาสนาได้อนุมัติให้ยกฐานะวัดโลกโมฬีจากวัดร้างให้เป็นพระอารามที่ถูกต้องตามกฎหมาย และได้แต่งตั้งให้พระญาณสมโพธิเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส และในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการเททองรูปเหมือนพระนางจิรประภามหาเทวี และนำมาประดิษฐานภายในวัด 

วัดโลกโมฬี ตั้งอยู่บนถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่สร้างขึ้นด้วยความประณีตและงดงามมาก มีประติมากรรมและสถาปัตยกรรมศิลปะล้านนาที่เก่าแก่และทรงคุณค่ามากมาย ได้แก่

เจดีย์วัดโลกโมฬี
เจดีย์ของวัดโลกโมฬี เป็นเจดีย์ที่สร้างปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ตำนานระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระเมืองเกษเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2071 เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีรูปเทวดาประดับอยู่ตามมุมเจดีย์ จากนั้นได้มีการพัฒนารูปแบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยได้เพิ่มความสูงของเจดีย์ คือ ส่วนฐาน ได้แก่ ชุดฐานปัทม์ ลูกแก้ว อกไก่ เพิ่มเป็น 2 ชุด ฐานปัทม์ชั้นล่างไม่มียกเก็จ ฐานปัทม์ชั้นที่สองมีจำนวนยกเก็จที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นมุมที่มีขนาดเล็กลง ส่วนกลางยังคงเป็นเรือนธาตุในผ้าสี่เหลี่ยมยกเก็จที่มีขนาดของมุมเล็กลง และจำนวนของมุมมากขึ้นเช่นเดียวกับฐานปัทม์ด้านล่าง ทั้งสี่ด้านของเรือนธาตุมี
ซุ้มจระนำ มีรูปแบบของซุ้มลดได้ กรอบซุ้มจระนำมีการผสมผสานกันทั้งกรอบแบบคดโค้งและกรอบแบบวงโค้ง ตลอดจนแนวของลูกแก้ว อกไก่ที่ประดับเสารับซุ้มจระนำก็มีขนาดเด่นขึ้น กลายเป็นรูปงอนคล้ายบัวคว่ำ ที่เรียกกันว่า ปากแล ส่วนยอดเหนือเรือนธาตุ มีการพัฒนาความสูง โดยเพิ่มจำนวนของชั้นลดรูปฐานปัทม์ลูกแก้ว อกไก่ ยกเก็จซ้อนกันสามฐาน รับทรงระฆังและบัลลังก์สิบสองเหลี่ยม ปล้องไฉนและปลี ซึ่งองค์ระฆังและบัลลังก์นั้น เป็นลักษณะร่วมของเจดีย์ทรงระฆัง


วิหารหลวงวัดโลกโมฬี 
เป็นวิหารที่สร้างขึ้นภายหลังจากการบูรณะ และยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นวิหารไม้สักศิลปะแบบล้านนาที่มีการแกะสลักอย่างประณีตงดงาม ส่วนวิหารหลังเดิมนั้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า สร้างขึ้นพร้อมกับเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. 2071 บนเพดานและต้นเสาภายในวิหารยังมีภาพแกะสลักอย่างประณีตบรรจง ที่แปลกตาและเด่นมากก็คือ ตรงหน้าบันรูปจั่วได้ประดับกระจกสี ซึ่งทำให้เกิดสีสันหลากสีบนหลังคาวิหารที่มีพื้นโทนสีดำ ซึ่งพื้นดำนี้มีส่วนช่วยขับกระจกสีแดง ขาว น้ำเงิน เขียว เหลือง จนดูระยิบระยับ



พระประธานที่ประดิษฐานภายในวิหารหลวงเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีนามว่า “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ” และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนพระเมาลี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546


มณฑปพระนางจิรประภา มหาเทวีแห่งล้านนา
ภายในประดิษฐานพระรูปเหมือนของพระนางจิระประภา มหาเทวี ซึ่งพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์วัดโลกโมฬีครั้งเสวยราชย์ครองเมืองเชียงใหม่ไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สักการะรำลึกถึงคุณความดีของพระองค์ เป็นซุ้มประตูที่งดงาม เมื่อมองผ่านจะเห็นพระวิหารได้พอดี

กุฏิสงฆ์และกุฏิสมเด็จ 
เป็นประติมากรรมแบบล้านนาผสมไม่เหมือนกับที่ใด การตกแต่งหน้าบันและกรอบประตูหน้าต่างที่แปลกตา โดยมีรูปปั้นของพระเกษเกล้า ผู้ซึ่งถวายบ้านหัวเวียงให้เป็นอารามวัดโลกโมฬี


วัดโลกโมฬี เป็นวัดที่เก่าแก่ มีเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สวยงาม วิหารไม้ที่แกะสลักด้วยลวดลายแบบโบราณ นอกจากนี้ประตูวัดยังอยู่ตรงกับวิหารไม้ ซึ่งมองจากภายนอกจะดูยิ่งใหญ่ อลังการ สวยงามแปลกตา จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนเข้ามาสักการะ และกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล


เรียบเรียง
ณิชากร เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

ภาพประกอบ
ศราวุธ เบียจรัส นักวิชาการโสตทัศนูปกรณ์ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง
วัดโลกโมฬี. (2562, 7 สิงหาคม). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2565 จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/วัดโลกโมฬี
 
วัดโลกโมฬี! ความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลของวัดวาอารามล้านนา. (2562, 30 มีนาคม). https://palungjit.org/threads/วัดโลกโมฬี-ความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลของวัดวาอารามล้านนา.675108/

วัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย. (2564, 21 กุมภาพันธ์). https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=204

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตำนานเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของล้านนา

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมชื่อ วัดโชติการามวิหาร หมายถึง พระอารามที่มีความรุ่งเรืองสว่างไสว ความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่าโชติการาม คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วง สว่างไสว มีความงดงาม สามารถมองเห็นได้แต่ไกล


วัดเจดีย์หลวงสร้างอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย  ไม่ปรากฎปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ.1928-1945 เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการบูรณะมาหลายสมัย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น “วัดเจดีย์หลวง” เนื่องจากในภาษาเหนือหรือคำเมือง “หลวง” แปลว่า “ใหญ่” หมายถึง พระเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่  ทั้งนี้ได้แต่งตั้งให้มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเจดีย์หลวง โดยเจ้าอาวาสองค์แรก คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) จนถึงปัจจุบันองค์ที่ 9 (กรกฎาคม 2565) คือ พระกิตติวิมล (อัมพร กตปุญฺโญ)

โบราณสถานและสิ่งก่อสร้างที่สำคัญในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร


พระเจดีย์หลวง   
พระเจดีย์หลวง เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ สร้างมาพร้อมกับวัดเจดีย์หลวง โดยเริ่มสร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 1928-1945)  ทรงปกครองอาณาจักรล้านนา ขณะที่พระองค์มีพระชนมมายุ 39 ปี ทรงโปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่า เป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พญากือนา พระราชบิดาซึ่งสวรรคตไปแล้ว โดยมีตำนานเล่าว่า พญากือนาได้ปรากฏตัวให้พ่อค้าชาวเชียงใหม่ที่เดินทางไปค้าขายที่พม่า เพื่อมาบอกพญาแสนเมืองมาผู้เป็นโอรสว่า ให้สร้างเจดีย์ที่สูงใหญ่ไว้กลางเมือง ให้คนที่อยู่ไกล 2,000 วา สามารถมองเห็นได้  แล้วอุทิศบุญกุศลแก่พระบิดาให้สามารถไปเกิดในเทวโลกได้ ระหว่างที่กำลังก่อสร้าง พระองค์ก็เสด็จสวรรคต พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีผู้เป็นมเหสีและเป็นพระราชมารดาของพญาสามฝั่งแกน ทรงสำเร็จราชการแทน ด้วยเหตุที่พญาสามฝั่งแกนยังทรงพระเยาว์อยู่ พระองค์ได้สืบทอดเจตนารมณ์สร้างต่อจนเสร็จในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน พระมหากษัตริย์องค์ที่ 8 (พ.ศ. 1945-1984) โดยใช้เวลาสร้าง 5 ปี และเรียกกันว่า กู่หลวง


พระธาตุเจดีย์หลวง (กู่หลวง) ที่พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีทรงให้ก่อสร้างต่อนั้น ทรงให้ยกฉัตรยอดมหาเจดีย์ แล้วปิดด้วยทองคำ พร้อมทั้งบรรจุแก้ว 3 ลูก ใส่ไว้ในยอดมหาเจดีย์ ประดับด้วยโขงประตูทั้ง 4 ด้าน มี พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งในโขงทั้ง 4 ด้าน มีรูปปั้นพญานาค 5 หัว จำนวน 8 ตัว อยู่ 2 ข้างบันได รูปปั้นราชสีห์ 4 ตัว ตั้งอยู่ทั้งสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวง จำนวน 28 เชือก แต่ในประวัติศาสตร์มีเพียง 8 เชือกเท่านั้นที่มีการตั้งชื่อให้ การสร้างรูปปั้นช้างนั้น เป็นการส่งเสริมกำลังเมืองในทางด้านไสยศาสตร์ เพื่อให้เมืองมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีพิธีการสักการบูชาพญาช้างทั้ง 8 เชือก เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดสวัสดิมงคล นำความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง ศัตรูไม่กล้ามารุกรานย่ำยี เพราะชื่อพญาช้างที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นพลังอำนาจก่อเกิดเดชานุภาพ อิทธิฤทธิ์ ข่มขู่ บดบัง ขวางกั้น กำจัด ปราบปรามอริราชศัตรูที่จะมารุกราน ให้แพ้ภัยแตกพ่ายหนีไปเอง ชื่อช้าง 8 เชือกที่ล้อมเจดีย์หลวง นับจากเชือกที่อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) เวียนมาตามทิศตะวันออก มีชื่อและความหมาย ดังนี้
  1.  เมฆบังวัน เมื่อศัตรูยกพลเสนามารุกราน ล่วงล้ำเข้ามาในเขตพระราชอาณาจักร จะเกิดอาเพศ ท้องฟ้ามืดมิดด้วยเมฆหมอกปกคลุม ธรรมชาติวิปริตแปรปรวน น่ากลัวยิ่งนัก ทำให้ผู้รุกรานหวาดผวาภัยพิบัติ ตกใจกลัว แตกพ่ายหนีไป 
  2. ข่มพลแสน เมื่อผู้รุกรานยกทัพเข้ามาใกล้ แม้จะมีพลโยธาทหารกล้าเรือนแสน ก็จะเกิดอาการมึนเมาลืมหลง ไม่อาจครองสติยับยั้งอยู่ได้ ต้องระส่ำระส่าย แตกพ่ายหนีไป 
  3. ดาบแสนด้าม เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีศาตรา มีด พร้า ด้ามคมเป็นแสน ๆ เล่ม ก็ไม่อาจเข้าใกล้ทำร้ายได้ มีแต่จะเกิดหวาดหวั่นขาดกลัวแตกหนีไป 
  4. หอกแสนลำ เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลกล้าหาญมากมาย มีศาสตราอันคมยาว หอกแหลนหลาวเป็นแสน ก็ไม่อาจเข้ามาราวีได้ จึงต้องแตกพ่ายหนีไป 
  5. ปืนแสนแหล้ง เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลจำนวนมาก มีอาวุธปืนเป็นแสนกระบอก ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ ต้องแตกพ่ายหนีไป
  6. หน้าไม้แสนเกี๋ยง เมื่อผู้รุกรานบุกรุกเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีหน้าไม้คันธนูเป็นแสน ๆ ไม่สามารถทำอันตรายได้ ต้องแตกพ่ายหนีไป 
  7. แสนเขื่อนกั้น (แสนเขื่อนก๊าน) เมื่อข้าศึกอาจหาญล้ำแดนเข้ามา แม้ด้วยกำลังพล กองทัพช้างมีเป็นแสนเชือก ก็ไม่อาจหักหาญเข้ามาได้ มีแต่จะอลม่านแตกตื่นหนีไปสิ้น 
  8. ไฟแสนเต๋า เมื่อข้าศึกเข้ามาหมายย่ำยี ก็จะเกิดอาการร้อนเร่าเหมือนเพลิงหัตถี 
  9. เผาผลาญรอบด้าน เลยแตกพ่ายหนีไปด้วยความทุกข์ทรมาน
รูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวง 

เจดีย์หลวง มีความสำคัญของเชียงใหม่ ในฐานะเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลของชาวลัวะ ปรากฏในคัมภีร์มหาทักษาเมือง กล่าวถึงการสร้างวัดสำคัญในเมืองเชียงใหม่ โดยกำหนดให้สอดคล้องกับชัยภูมิและความเชื่อเรื่องทิศทั้ง 4 และทิศเฉียงอีก 4 รวมเป็น 8 ตำแหน่งที่ทิศทั้ง 8 มาบรรจบกันเกิดจุดศูนย์กลางเป็น 9 ถือเป็นเลขมงคล ตำแหน่งทั้ง 9 ที่สร้างตามทักษาเมือง คือ

เกตุเมือง จุดศูนย์กลางเมืองหรือสะดือเมือง วัดเจดีย์หลวง
บริวารเมือง ทิศตะวันตก (ทิศปัจฉิม) วัดสวนดอก
อายุเมือง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) วัดเจ็ดยอด
เดชเมือง ทิศเหนือ (ทิศอุดร) วัดเชียงยืน
ศรีเมือง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) วัดชัยศรีภูมิ
มูลเมือง ทิศวะวันออก (ทิศบูรพา) วัดบุพพาราม
อุตสาหเมือง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ทิศอาคเนย์) วัดชัยมงคล
มนตรีเมือง ทิศใต้ (ทิศทักษิณ) วัดนันทาราม
กาลกิณีเมือง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ทิศหรดี) วัดตโปทาราม

วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงแบบโบราณ มีการบูรณะมาหลายสมัย ในรัชสมัยพญาติโลกราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 (พ.ศ. 1984-2030) พระองค์โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างใหญ่ทำการปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์หลวง โดยมีพระมหาสวามีสัทธัมกิติ เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดเจดีย์หลวง เป็นผู้ควบคุมดูแลและประสานงาน มีการขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม มีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร และใช้เวลา 3 ปี จึงแล้วเสร็จ และทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้เป็นเวลานานถึง 80 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2011-2091 (ในปัจจุบันเป็นเพียงองค์จำลองของพระแก้วมรกต) ในรัชสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย พระมหากษัตริย์องค์ที่ 10 (พ.ศ. 2030-2038) ได้ปิดทองภายในซุ้มจรนำของพระเจดีย์หลวงทั้ง 4 ด้าน

ในรัชสมัยพญาแก้ว (พระเจ้าเมืองแก้ว) พระมหากษัตริย์องค์ที่ 11 (พ.ศ. 2038-2068)พระองค์และชาวเมืองได้รวบรวมเงินได้ 254 กิโลกรัม มาทำกำแพงล้อมพระธาตุเจดีย์หลวง 3 ชั้น จากนั้นได้เอาเงินมาแลกเป็นทองคำได้จำนวน 30 กิโลกรัม แล้วแผ่เป็นแผ่นทึบหุ้มองค์พระเจดีย์หลวง เมื่อรวมกับทองคำที่หุ้มองค์พระเจดีย์หลวงอยู่เดิม ได้น้ำหนักทองคำถึง 2,382.517 กิโลกรัม 

ในปี พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิรประภามหาเทวี พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 15 เกิดพายุฝนตกหนัก แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ ทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมาเหลือเพียงครึ่งองค์ หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงได้ถูกทิ้งให้ร้างมานาน 400 กว่าปี 

เจดีย์หลวงก่อนการบูรณะ
Scott Holcomb. (2517). https://www.flickr.com/photos/scottholcomb/albums/72157626179117294

กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์หลวงขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ใช้งบประมาณในการบูรณะ จำนวน 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ปัจจุบันองค์เจดีย์มีความสูงคงเหลือ 40.8 เมตร ฐานกว้างด้านละ 60 เมตร

หออินทขีลและเสาอินทขีล
หออินทขีล เป็นที่ประดิษฐานของเสาอินทขีลหรือเสาหลักเมืองเชียงใหม่ เป็นเสาก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่รูปหกเหลี่ยม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1839 เมื่อพ่อขุนเม็งรายมหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 1 (พ.ศ. 1839-1854) ได้สร้างเมืองเชียงใหม่ โดยเดิมเสาอินทขีลประดิษฐานอยู่ ณ วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขิล ซึ่งตั้งอยู่ ณ กลางเวียงเชียงใหม่ (ปัจจุบันก็คือบริเวณหอประชุมติโลกราช ข้างศาลากลางจังหวัดเก่า) ในตลอดรัชสมัยของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย วัดสะดือเมืองได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ ก่อนที่จะเป็นวัดร้างภายหลังล้านนาถูกพม่าเข้าปกครอง
 
จนกระทั่งสมัยพระเจ้ากาวิละ กษัตริย์องค์ที่ 1 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ราวปี พ.ศ. 2343 ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง เสาอินทขิลเดิมนั้นหล่อด้วยโลหะ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เป็นเสาปูน วัดรอบได้ 67 เมตร แท่นพระสูง 0.97 เมตร วัดโดยรอบได้ 3.40 เมตร อยู่ในวิหารจตุรมุขแบบล้านนาที่มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด โดยสร้างวิหารครอบเสาอินทขีลไว้ มีพระพุทธรูปปางรำพึงและบุษบกอยู่บนยอดเสา ความสูงจากฐานประมาณ 1 เมตร หออินทขีล ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวิหารหลวงของวัดเจดีย์หลวง

ทุก ๆ ปีจะต้องมีพิธีสักระบูชาเสาอิทขิล เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวเชียงใหม่ ในช่วงปลายเดือน 8 ต่อเดือน 9 (เดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน) โดยเริ่มในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่า “วันเข้าอินทขิล” ไปจนถึงในวันที่ 4 ค่ำ เดือน 9 เป็น “วันออกอินทขิล” จึงเรียกว่า เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก

หออินทขีล  และบุษบกและพระพุทธรูปปางรำพึงที่ประดิษฐานเหนือเสาอินทขีลภายในหออินทขีล


กุมภัณฑ์ รักษาเสาอินทขิล
พระเจ้ากาวิละให้ก่อรูปกุมภัณฑ์ (ยักษ์) 2 ตน ไว้หน้าวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) เพื่อคอยพิทักษ์เสาอินทนขีล โดยสร้างขึ้นเมื่อวันเสาร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ. 2343 กุมภัณฑ์ในศาลด้านทิศใต้ มีนามว่า พญายักขราช ส่วนกุมภัณฑ์ในศาลด้านทิศเหนือมีนามว่า พญาอมรเทพ

พญายักขราช (ภาพซ้ายมือ) และพญาอมรเทพ (ภาพขวามือ)

ต้นยางนา “ไม้หมายเมือง” อายุกว่า 200 ปี
วัดเจดีย์หลวงมีต้นไม้สำคัญที่เรียกว่า "ไม้หมายเมือง" อยู่สองต้น อายุกว่า 200 ปี คือต้นยางนา ซึ่งปลูกสมัยพระเจ้ากาวิละ สันนิษฐานว่า ปลูกขึ้นมาเพื่อให้เป็นต้นไม้เคียงคู่กับเมืองเชียงใหม่ หรือที่เรียกว่า “ไม้หมายเมือง” ในปีที่ย้ายราชธานีมาจากเวียงป่าซาง (ลำพูน) มาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่เป็นการถาวร เมื่อพ.ศ. 2339  โดยปลูกคู่กับเสาอินทขีลเพื่อเป็นมงคลแก่เมือง แต่เดิมต้นยางนาในบริเวณวัดเจดีย์หลวงเคยมีมากกว่านี้ ปัจจุบันเหลืออยู่ 2 ต้น ที่ยังคงยืนต้นอยู่คู่กับเสาอินทขีล ต้นหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด ด้านหลังวิหารเสาอินทขีล ส่วนอีกต้นอยู่ที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ข้างวิหารบูรพาจารย์


พระวิหารหลวงและพระอัฏฐารส 
ในปี พ.ศ. 2423 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง และช่วงปี พ.ศ. 2471-2481 สมัยพลตรีเจ้า
แก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย พระองค์และเจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) ได้ให้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคลุมโบราณสถานต่าง ๆ ออก แล้วสร้างเสริมเสนาสนะขึ้นใหม่ และสร้างพระวิหารหลวงทรงล้านนาให้อยู่ตรงกลาง ภายในประดิษฐานพระประธานพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประธานอภัย ศิลปะแบบเชียงใหม่ตอนต้น ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะปาละ (อินเดีย) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สูง 18 ศอก (8.23 เมตร) ส่วนด้านหน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร 

วิหารหลวงวัดเจดีย์หลวง
จาก รีวิวเชียงใหม่. (2564). https://www.reviewchiangmai.com/wat-chedi-luang/

ภาพพระอัฎฐารส.  จาก foece8949. (2561). http://force8949.blogspot.com/2018/03/blog-post_28.html

เจดีย์บูรพาจารย์ วิหารหลวงปู่มั่น และวิหารจตุรมุขบูรพาจารย์

เจดีย์บูรพาจารย์ เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุอดีตเจ้าอาวาสและบูรพาจารย์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวัดเจดีย์หลวง

วิหารหลวงปู่มั่น เป็นวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานบุษกบบรรจุอัฐิธาตุ ฟันกราม และรูปเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริตตโต สร้างด้วยไม้สักลงรักปิดทอง รูปทรงแบบศิลปะสกุลช่างล้านนา

วิหารจตุรมุขบูรพาจารย์ เป็นปูชนียสถานประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และอัฐิธาตุของบูรพาจารย์

วิหารหลวงปู่มั่น (ภาพซ้ายมือ) และวิหารจตุรมุขบูรพาจารย์ (ภาพขวามือ)

พระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์ 
เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่กับพระเจดีย์ สร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูดปิดทอง ประดิษฐานในอาคารข้างวิหารจุตรมุขบูรพาจารย์

พระพุทธไศยาสน์
บ่อเปิง 
บอเปิง เป็นบ่อน้ำใหญ่และลึก ก่ออิฐกันดินพังไว้อย่างดี ขุดมาเพื่อนำน้ำมาใช้ในการสร้าง
พระเจดีย์หลวง สมัยพระเจ้าติโลกราช 

หอธรรมและพิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หลวง
พระเจ้าติโลกราชทรงให้สร้างหอธรรม (หอพระไตรปิฎก) ขึ้นพร้อมมกับพระวิหารหลวงใหม่) ไว้ทางด้านเหนือองค์พระเจดีย์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการสร้างหอธรรมหลังใหม่และพิพิธภัณฑ์เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนาในบริเวณที่เป็นหอธรรมดั้งเดิมของคณะสังฆาวาสหอธรรมในอดีต โดยชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนสร้างด้วยไม้สัก ชั้นล่างจัดแสดงด้วยภาพถ่ายและชิ้นส่วนวัตถุโบราณบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวัดเจดีย์หลวงตั้งแต่อดีต





เขียน/เรียบเรียง :
ณิชากรณ์ เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

ถ่ายภาพ:
ศราวุธ เบี้ยจรัส นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร. https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

เพ็ญสุภา สุขคตะ. (ม.ป.ป.). ปริศนา “ต้นยางนา” จาก “ไม้หมายเมือง” สู่ “ถนนเชียงใหม่-ลำพูน” (ตอนที่ 2). https://www.yangna.org//ปริศนายางนา-2/

มิวเซียมไทยแลนด์. (ม.ป.ป.). ยางนาแห่งเชียงใหม่ ต้นไม้อันหมายถึงเมือง. https://www.museumthailand.com/en/3313/storytelling /ยางนาแห่งเชียงใหม่/

รีวิวเชียงใหม่. (2564, 13 กันยายน). วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร กับตำนานเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของล้านนา ที่อายุกว่า 600 ปี. https://www.reviewchiangmai.com/wat-chedi-luang/

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร. (2565, 6 มีนาคม). ใน วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2565 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร. (2564, 3 กันยายน). https://www.paiduaykan.com/travel/วัดเจดีย์หลวง

เวียงกุมกาม อดีตนครหลวงแห่งอาณาจักรล้านนา

เวียงกุมกาม เป็นอดีตเมืองหลวงแห่งแรกของอาณาจักรล้านนา ภายหลังจากพญามังรายทรงรวบรวมอาณาจักรหริภุญชัยเข้ากับโยนกเชียงแสนเสร็จสิ้นแล้ว ได้ขนามนามราชอาณาจักรแห่งใหม่นี้ว่า “อาณาจักรล้านนา” มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดของภาคเหนือตอนบนของไทยในปัจจุบัน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน โดยมีพญามังรายทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 1 (พ.ศ. 1805-1854) ของราชวงศ์มังราย และในปีพุทธศักราช 1829 พระองค์โปรดให้สร้างเวียงกุมกามขึ้นเพื่อเป็นเมืองหลวง แต่เวียงกุมกามก็ประสบน้ำท่วมอยู่ทุกปี จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ เป็นผลให้เวียงกุมกามล่มสลาย ถูกฝังจมลงอยู่ใต้บาดาลและตะกอนดิน ไม่สามารถที่จะฟื้นฟูกลับมาได้ พญามังรายจึงทรงปรึกษาพระสหาย คือพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา จากนั้นพระองค์จึงทรงตัดสินใจหาที่สร้างเมืองใหม่ ในที่สุดจึงได้พื้นที่นครพิงค์เชียงใหม่ และเป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนาในเวลาต่อมา

โบราณสถานในเวียงกุมกาม   ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส

ในอดีตสภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์ของเวียงกุมกาม ตั้งอยู่บริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน มีแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายสำคัญ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 850 เมตร ไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และกว้างประมาณ 600 เมตร ตัวเมืองยาวไปตามลำน้ำปิงสายเดิมที่เคยไหลไปทางด้านทิศตะวันออกของเมือง และโปรดให้ขุดคูเวียงทั้ง 4 ด้าน เพื่อให้น้ำจากแม่ปิงไหลมาขังไว้ เมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ วัดวาอารามและโบราณสถานต่าง ๆ ที่สำคัญจมอยู่ใต้ดินทรายในระดับความลึกจากพื้นดินลงไป ประมาณ 1.50-2.00 เมตร จนกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด เชื่อกันว่าเนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ทางฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำ ดั่งเช่นปัจจุบัน

ภาพวาดแผนที่เวียงกุมกามในอดีต
ที่มา: เวียงกุมกาม-เวียงพิงค์ สองนคราแห่งพญามังราย. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2558

การขุดค้นพบเมืองกุมกาม ในปี พ.ศ. 2527 เรื่องราวของเวียงกุมกามเริ่มเป็นที่สนใจของนักวิชาการและประชาชนทั่วไป หน่วยศิลปากรที่ 4 จึงศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวียงกุมกาม และนำมาประกอบกับโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี นักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นเวียงกุมกาม นักโบราณคดีได้ทำการขุดแต่งโบราณสถานต่าง ๆ บริเวณโดยรอบเวียงกุมกามอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับปรับปรุงภูมิทัศน์ จนถึง พ.ศ. 2545 เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชม เป็นการรื้อฟื้นนครแห่งล้านนาเวียงกุมกามให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จากการสำรวจพบว่า มีซากโบราณสถานและเป็นวัดที่มีพระสงฆ์มากกว่า 40 แห่ง ซึ่งรูปแบบทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม มีทั้งแบบรุ่นเก่าและสมัยเชียงใหม่รุ่งเรืองปะปนกันไป โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่

วัดเจดีย์เหลี่ยม 
เดิมวัดนี้ชื่อว่า วัดกู่คำ คำว่า “กู่” หมายถึง พระเจดีย์  ส่วนคำว่า “คำ” หมายถึง ทองคำ พญามังรายโปรดให้ก่อสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1831 พระองค์ทรงโปรดให้เอาดินที่ขุดจากหนองมาปั้นเป็นอิฐ นำมาก่อเป็นเจดีย์ไว้ในเวียงกุมกาม เพื่อเป็นที่สักการะของประชาชน โบราณสถานที่สำคัญของวัด คือ องค์พระเจดีย์ทรงมณฑปลด 5 ชั้น ลักษณะเดียวกับกู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน จัดเป็นรูปแบบเจดีย์ในระยะแรกของล้านนา โดยได้รับอิทธิพลจากหริภุญไชย

วัดเจดีย์เหลี่ยม  ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดช้างค้ำ หรือ วัดกานโถม
วัดช้างค้ำกานโถม เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตของวัดช้างค้ำในปัจจุบัน ในส่วนของโบราณสถานนั้น เดิมมีชื่อว่า วัดกานโถม แต่เนื่องจากอยู่ในเขตของวัดช้างค้ำในปัจจุบัน จึงเรียกชื่อรวมกันว่า วัดช้างค้ำกานโถม (ปัจจุบันวัดช้างค้ำมีชื่อเป็นทางการว่า วัดกานโถมกุมกามภิรมณ์)

พญามังรายโปรดให้สร้างวัดกานโถม เมื่อปี พ.ศ. 1833 ในครั้งนั้นพญามังรายให้หล่อพระพุทธปฏิมากร 5 องค์ เป็นพระนั่ง 3 องค์ พระยืน 2 องค์ มีขนาดเท่าพระองค์ แล้วจึงโปรดให้นายช่างกานโถมหรือกาดโถม สร้างวิหารคลุมพระพุทธรูป
 
ในปี พ.ศ. 1834 พญามังรายโปรดให้สร้างเจดีย์กว้าง 6 วา สูง 4 วา มีซุ้มจระนำ 2 ชั้น ชั้นล่างมีพระพุทธรูปประทับนั่ง 4 องค์ ชั้นบนไว้พระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง แล้วสร้างรูปพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอินทร์ และนางธรณี ไว้คอยรักษาพระพุทธรูป ต่อมาได้มีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 2 องค์ไว้ภายใน

เจดีย์ประธานวัดช้างค้ำ (กานโถม)   ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

โบราณสถานที่แห่งหนึ่งที่ยังปรากฏร่องรอยให้เห็นเฉพาะส่วนฐาน คือวิหารซึ่งจะเห็นว่ามีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าสู่ทิศตะวันตก จากการขุดแต่งพบร่องรอบการสร้างวิหารทับซ้อนกัน 2 ครั้ง ลักษณะวิหารมีการยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน พื้นที่ยกเก็จด้านหลังไม่มีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ทำเป็นทางเชื่อมต่อกับมณฑปท้ายวิหารแบบวิหารทรงปราสาท

ร่องรอยฐานวิหารวัดกานโถม  ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดอีก้าง  (อีค่าง)
วัดอีค่างเป็นชื่อที่เรียกในปัจจุบันโดยไม่พบชื่อปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์  เดิมเป็นโบราณสถานร้าง มีป่ารกร้างและฝูงลิงฝูงค่างอาศัยอยู่ในบริเวณโบราณสถานร้างแห่งนี้เป็นจำนวนมาก “อีค่าง” หรือ “อีก้าง” เป็นภาษาถิ่นเหนือ มีความหมายว่า ลิง หรือ ค่าง  ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดอีก้างหรือ อีค่าง

จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบวิหารเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดใหญ่ เป็นวิหารโถง มีขนาดความกว้าง 20 เมตร ยาว 13.50 เมตร ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนฐาน หลังวิหารมีห้องคูหา (คันธกุฎี) อยู่ด้านหลังห้องประธาน ซึ่งภายในห้องคูหามีแท่นฐานชุกชี 1 แท่น มีบันไดสู่ฐานประทักษิณทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก และมีเจดีย์ประธานตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมที่มีส่วนฐานสูงรองรับหลายชั้นตามลักษณะเฉพาะของล้านนา จากรูปแบบศิลปกรรมและโบราณวัตุที่พบที่นี่สันนิฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นเมื่อ 500-600 ปีมาแล้ว


วิหารและเจดีย์วัดอีก้าง   ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดปู่เปี้ย
วัดปู่เปี้ย ถือเป็นวัดที่มีความงดงามแห่งหนึ่งในเวียงกุมกาม รูปแบบผังการสร้างวัด และรูปแบบเจดีย์ประธานมณฑปมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โบราณสถานประกอบด้วย วิหารสร้างยกพื้นสูง เจดีย์ อุโบสถ ศาลผีเสื้อ และแท่นบูชา พร้อมทั้งมีลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์ที่สวยงามมาก

วัดปู่เปี้ย   ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดธาตุขาว
ที่เรียกกันว่าวัดธาตุขาว เนื่องมาจากแต่เดิมนั้นตัวเจดีย์ยังคงปรากฏผิวฉาบปูนสีขาว โบราณสถานประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ อุโบสถ และมณฑป โดยมีการก่อสร้างขึ้นมา 2 ระยะ คือ ระยะแรกก่อสร้างเพียงเจดีย์ วิหาร อุโบสถ แต่ต่อมาเกิดการชำรุดจึงต่อเติมฐานเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น ระยะที่สองมีการก่อสร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป

วัดธาตุขาว ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดธาตุน้อย 
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดช้างค้ำ ก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินสองแห่ง มีชาวบ้านเข้ามาปลูกบ้านอาศัยบนโบราณสถานแห่งนี้ และยังพบร่องรอยการขุดหาทรัพย์สินด้วย โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ วิหารตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าและด้านข้าง พื้นวิหารปูอิฐ ด้านหลังวิหารเป็นซุ้มประดิษฐานพระประธานปูนปั้น เจดีย์มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 13.35×13.35 เมตร สูง 1.64 เมตร ต่อขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 6.20×6.20 เมตร ลักษณะเจดีย์มีฐานใหญ่แต่องค์เจดีย์เล็ก

วัดธาตุน้อย ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดพระเจ้าองค์ดำ
ตั้งอยู่อยู่ใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนมีการขุดแต่งนั้นเป็นสวนลำไย มีพื้นที่เป็นเนินดิน 2 แห่ง ชาวบ้านเรียกว่า เนินพญามังราย และเนินพระเจ้าดำ และสันนิษฐานว่าที่เรียกวัดพระเจ้าองค์ดำนี้ เพราะวัดแห่งนี้เคยมีพระพุทธรูปสีดำประดิษฐานอยู่ โบราณสถานที่พบส่วนใหญ่เป็นวิหารหลายหลัง มีซุ้มประตูโขงและแนวกำแพง ถัดจากซุ้มโขงเข้ามามีวิหารและเจดีย์ โดยภายหลังจากการขุดแต่ง จึงแยกออกเป็นวัดพระเจ้าองค์ดำ และวัดพญามังราย

วัดพระเจ้าองค์ดำ  ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดพญามังราย
ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดพระเจ้าองค์ดำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อวัดพญามังรายนี้เป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลปากร เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากการที่เห็นว่าตั้งอยู่ใกล้วัดพระเจ้าองค์ดำมากที่สุดจนดูเหมือนเป็นวัดเดียวกัน เอกลักษณ์ของวัดนี้อยู่ที่การสร้างพระวิหารที่ไม่มีทางขึ้นลงหลักไว้ที่ด้านหน้า แต่สร้างไว้ที่ด้านซ้าย (กรณีที่หันหน้าไปทางหน้าวัด) ในส่วนพระเจดีย์พบร่องรอยการตกแต่งปูนปั้นลายช่องกระจกสอดไส้

วัดพญามังราย ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดกู่ป่าด้อม 
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกเวียงกุมกาม กู่เป็นภาษาถิ่น หมายถึงเจดีย์ ชื่อวัดนี้ได้ตั้งชื่อตามเจ้าของที่ดิน โบราณสถานของวัดประกอบด้วย วิหารฐานขนาดใหญ่ มีบันไดทางขึ้นวิหาร มีราวบันไดด้านปลายเป็นรูปตัวเหงา ส่วนเจดีย์เหลือเพียงฐานเท่านั้น มีกำแพงแก้วก่อล้อมรอบโบราณสถาน กำแพงแก้วด้านหน้าทางเข้าวิหารมีซุ้มโขง ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงแก้ว 



วัดกู่ป่าด้อม  ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

นอกจากนี้ เวียงกุมกามยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่ง เช่น วัดหัวหนอง วัดไม้ซ้ง วัดกู่ขาว วัดโบสถ์ วัดกู่อ้ายสี วัดกู่ลิดไม้ วัดกู่จ๊อกป๊อก วัดเสาหิน วัดหนองผึ้ง วัดศรีบุญเรือง วัดข่อยสามต้น วัดพันเลา และคาดว่ามีอีกหลายวัดที่จมอยู่ใต้พื้นดินบริเวณบ้านเรือนของชาวบ้านที่กำลังรอการบูรณะขึ้นมา

ปัจจุบันเวียงกุมกามได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เพราะว่ามีองค์ความรู้ที่สมบูรณ์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในเรื่องของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ตลอดจนวัฒนธรรมล้านนาต่าง ๆ โดยศูนย์กลางของการนำเที่ยวชมโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตเวียงกุมกามอยู่ที่วัดช้างค้ำ เวียงกุมครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล 2 อำเภอ คือ ตำบลท่าวังตาล ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี ตำบลหนองหอย และตำบลป่าแดด อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดราว ๆ 3 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 5 กิโลเมตร

แผนที่ตั้งเวียงกุมกาม และเมืองเชียงใหม่
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม. (2560, 9 เมษายน). เวียงกุมกาม : เมืองโบราณใต้ตะกอนทราย. 
https://www.silpa-mag.com/history/article_8121

เวียงกุมกาม เมืองโบราณแห่งนี้มีอายุกว่า 700 ปี เต็มไปด้วยโบราณสถานมากมาย และได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนรักประวัติศาสตร์ที่อยากย้อนเวลากลับไปสู่ความรุ่งเรืองของเชียงใหม่ในยุคนั้น ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม เป็นสถานที่แรกที่นักท่องเที่ยวควรมาเยี่ยมชม เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของเวียงกุมกาม มีพิพิธภัณฑ์ มีร้านขายของที่ระลึก ในส่วนของพิพิธภัณฑ์จะมี 5 ห้อง ได้แก่ ห้องพิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จัดแสดงศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในท้องถิ่น ห้องประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงข้อมูลความเป็นมาของเวียงกุมกาม ห้องบรรยายสรุปข้อมูลเวียงกุมกามมีการจัดฉายวีดิทัศน์เวียงกุมกาม ห้องข้อมูลสำคัญของเวียงกุมกาม และห้องแสดงเครื่องดนตรีที่มี เครื่องดนตรีชาวล้านนาไว้หลากหลายประเภทก่อน จากนั้นจึงออกไปสำรวจเมืองโบราณโดยมีบริการรถราง และรถม้า เพื่อพาเที่ยวชมโบราณสถานเวียงกุมกาม จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดธาตุน้อย วัดช้างค้ำ วัดธาตุขาว วัดพญามังราย วัดพระเจ้าองค์ดำ กู่ป้าด้อม วัดปู่เปี้ย วัดหนานช้าง และวัดอีก้าง


เขียน/เรียบเรียง : ณิชากร เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
ถ่ายภาพ : ศราวุธ เบี้ยจรัส นักวิชการโสตทัศนศึกษา สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. (2564, 20 พฤษภาคม). วัดช้างค้ำ (กานโถม). https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/617

ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. (2563, 13 กรกฎาคม). วัดอีก้าง (อีค่าง). https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/622

มิวเซียมไทยแลนด์. (ม.ป.ป.). เวียงกุมกาม อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา. https://www.museumthailand.com/th/3828/storytelling/เวียงกุมกาม/

เวียงกุมกาม. (2564, 15 มกราคม). ใน วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/เวียงกุมกาม

สหวัฒน์ แน่นหนา, ทรรศนะ โดยอาษา และวิวรรณ แสงจัน. (2565, 27 สิงหาคม). เวียงกุมกาม : เมืองโบราณใต้ตะกอนทราย. https://www.silpa-mag.com/history/article_8121

Oporshady. (2556, 30 พฤษภาคม). เวียงกุมกาม เมืองหลวงล้านนาที่ถูกลืม. https://travel.mthai.com/blog/58652.html