สารเคมีในบ้าน

ทุกครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องครัว ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนบุคคล หรือแม้แต่ยาฆ่าแมลง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้านเหล่านี้ประกอบด้วยสารเคมีบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัวและสัตว์เลี้ยง โดยถ้านำไปใช้ เก็บ หรือทำลายทิ้ง อย่างไม่ถูกวิธี อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม หรืออาจติดไฟทำลายทรัพย์สินได้ อย่างไรก็ตามถ้ารู้จักใช้ เก็บและทิ้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างถูกวิธี เราก็จะสามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย

ภาพจาก freepix

ทำไมสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านจึงเป็นอันตราย
ผลิตภัณฑ์เคมีที่ใช้ภายในบ้านบางชนิดอาจมีอันตราย โดยอย่างน้อยอาจมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น เป็นพิษ มีฤทธิ์กัดกร่อน ติดไฟได้ หรือทำปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ น้ำยาทำความสะอาดทั่วไป ยาฆ่าแมลง สเปรย์ชนิดต่าง ๆ น้ำยาขจัดคราบไขมัน น้ำมันเชื้อเพลิง สีและผลิตภัณฑ์ที่ถูกทาสีมาแล้ว แบตเตอรี่ และหมึก 

ผลิตภัณฑ์และสารเคมีต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนมากถ้าได้รับหรือสัมผัสในปริมาณที่น้อยคงไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก แต่ถ้าได้รับหรือสัมผัสในปริมาณที่มาก หรือในกรณีอุบัติเหตุ เช่น สารเคมีหกรดร่างกาย หรือรั่วออกจากภาชนะบรรจุ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ในชีวิตประจำวัน เราจะต้องเกี่ยวข้องกับสารซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันหลายชนิด สารที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะมีสารเคมีเป็นองค์ประกอบ สามารถจำแนกเป็นสารสังเคราะห์และสารธรรมชาติ เช่น สารปรุงรสอาหาร สารแต่งสีอาหาร สารทำความสะอาด สารกำจัดแมลงและศัตรูพืช เป็นต้น ในการจำแนกสารเคมี เราใช้วัตถุประสงค์ในการใช้เป็นเกณฑ์การจำแนก ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประเภทสารเคมีที่ใช้ในบ้านจำแนกตามวัตถุประสงค์ในการใช้
1. สารปรุงแต่งอาหาร หมายถึง สารปรุงรสอาหาร ใช้ใส่ในอาหารเพื่อทำให้อาหารมีรสดีขึ้น เช่น น้ำตาล น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว ซอสมะเขือเทศ และให้รสชาติต่าง ๆ เช่น น้ำตาลให้รสหวาน เกลือ น้ำปลา ให้รสเค็ม น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว ซอสมะเขือเทศ ให้รสเปรี้ยว สารปรุงแต่งอาหาร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 ได้จากการสังเคราะห์ เช่น น้ำส้มสายชู น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น
1.2 ได้จากธรรมชาติ เช่น เกลือ น้ำมะนาว น้ำมะขามเปียก อัญชัน เป็นต้น

2. เครื่องดื่ม มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก บางประเภทได้คุณค่าทางโภชนาการ บางประเภทดื่มแล้วไปกระตุ้นระบบประสาท และบางประเภทดื่มเพื่อดับกระหาย แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ น้ำดื่มสะอาด น้ำผลไม้ นม น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ชาและกาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

3. สารทำความสะอาด มีคุณสมบัติในการกำจัดความสกปรกต่าง ๆ และฆ่าเชื้อโรค แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
3.1 ได้จากการสังเคราะห์ เช่น น้ำยาล้างจาน สบู่ก้อน สบู่เหลว แชมพูสระผม ผงซักฟอก สารทำความสะอาดพื้นเป็นต้น
3.2 ได้จากธรรมชาติ เช่น น้ำมะกรูด มะขามเปียก เกลือ เป็นต้น

4. สารกำจัดแมลง และสารกำจัดศัตรูพืช คือสารเคมีที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ป้องกัน กำจัด และควบคุมแมลงต่าง ๆ ไม่ให้มารบกวน มีทั้งชนิดผง ชนิดเม็ด และชนิดน้ำ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
4.1 ได้จากการสังเคราะห์ เช่น สารฆ่ายุง สารกำจัดแมลง เป็นต้น
4.2 ได้จากธรรมชาติ เช่น เปลือกมะนาว เปลือกมะกรูด เปลือกส้ม เป็นต้น


5. เครื่องสำอาง
เครื่องสำอาง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบร่างกาย เพื่อใช้ทำความสะอาด ให้เกิดความสดชื่น ความสวยงาม และเพิ่มความมั่นใจ เครื่องสำอาง แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ 
5.1 สำหรับผม เช่น แชมพู ครีมนวด เจลแต่งผม ฯลฯ
5.2 สำหรับร่างกาย เช่น สบู่ ครีม และโลชั่นทาผิว ยาทาเล็บ น้ำยาดับกลิ่นตัว แป้งโรยตัว ฯลฯ
5.3 สำหรับใบหน้า เช่น ครีม โฟมล้างหน้า แป้งผัดหน้า ลิปสติก ดินสอเขียนคิ้ว และดินสอเขียนขอบตา
5.4 น้ำหอม
5.5 เบ็ดเตล็ด เช่น ครีมโกนหนวด ผ้าอนามัย ยาสีฟัน ฯลฯ


สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อให้บ้านของคุณปลอดภัย
1. การจัดเก็บผลิตภัณฑ์ จัดเก็บผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไว้ในที่ที่แห้งและเย็น ห่างจากความร้อน จัดวางบนพื้นหรือชั้นที่มั่นคง และเก็บให้เป็นระบบ ควรแยกเก็บผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ติดไฟได้ ทำปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ หรือเป็นพิษ ไว้บนชั้นต่างหาก และทำความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ควรจดจำให้ได้ว่าเก็บไว้ที่ใด และแต่ละผลิตภัณฑ์มีวัตถุประสงค์ในการใช้อย่างไร เมื่อใช้เสร็จแล้วควรนำมาเก็บไว้ที่เดิมทันที และตรวจให้แน่ใจว่าภาชนะทุกชิ้นมีฝาปิดที่แน่นหนา ผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตราย ได้แก่
  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้าน เช่น น้ำยาเช็ดกระจก แอมโมเนีย น้ำยาฆ่าเชื้อ น้ำยาทำความสะอาดพรม น้ำยาขัดเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งสเปรย์ปรับอากาศ เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์ซักผ้า เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาฟอกสีผ้า เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เช่น สเปรย์ใส่ผม น้ำยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ น้ำยากำจัดขน น้ำยาย้อมผม เครื่องสำอางอื่น ๆ เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสวน เช่น ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงรักษาบ้าน เช่น สีทาบ้าน กาว น้ำยากันซึม น้ำมันล้างสี เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเบรค น้ำมันเครื่อง น้ำยาล้างรถ น้ำยาขัดเงา เป็นต้น
2. อ่านฉลากก่อนใช้งาน ผลิตภัณฑ์สารเคมีทุกชนิดต้องมีฉลาก และต้องอ่านฉลากก่อนใช้งานทุกครั้ง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายควรต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อ่านฉลากและทำตามวิธีใช้อย่างถูกต้องรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าฉลากมีคำว่า อันตราย (Danger)  สารพิษ (Poison)  คำเตือน (Warning)  หรือ  ข้อควรระวัง (Caution) โดยมีรายละเอียดอธิบายได้ดังนี้
  • อันตราย (Danger) แสดงให้เห็นว่าควรใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ สารเคมีที่ไม่ได้ถูกทำให้เจือจาง เมื่อสัมผัสถูกกับตาหรือผิวหนังโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกกัดทำลาย หรือสารบางอย่างอาจติดไฟได้ถ้าสัมผัสกับเปลวไฟ
  • สารพิษ (Poison) คือ สารที่ทำให้เป็นอันตราย หรือ ทำให้เสียชีวิต ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง รับประทาน หรือ สูดดม คำนี้เป็นเป็นข้อเตือนถึงอันตรายที่รุนแรงที่สุด
  • เป็นพิษ (Toxic) หมายถึง เป็นอันตราย ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำหน้าที่ผิดปกติไป หรือ ทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง รับประทาน หรือ สูดดม
  • สารก่อความระคายเคือง (Irritant) หมายถึง สารที่ทำให้เกิดความระคายเคือง หรืออาการบวมต่อผิวหนัง ตา เยื่อบุ และระบบทางเดินหายใจ
  • ติดไฟได้ (Flammable หรือ Combustible) หมายถึง สามารถติดไฟได้ง่าย และมีแนวโน้มที่จะเผาไหม้ได้อย่างรวดเร็ว
  • สารกัดกร่อน (Corrosive) หมายถึง สารเคมี หรือไอระเหยของสารเคมีนั้นสามารถทำให้วัสดุถูกกัดกร่อน ผุ หรือสิ่งมีชีวิตถูกทำลายได้
3. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เท่าที่ต้องการใช้เท่านั้น อย่าซื้อสิ่งที่ไม่ต้องการใช้ เพราะเสมือนกับเป็นการเก็บสารพิษไว้ใกล้ตัวโดยไม่จำเป็น พยายามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้หมดก่อนซื้อมาเพิ่ม ถ้ามีของที่ไม่จำเป็นต้องใช้แล้วเหลืออยู่ ควรบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการใช้ต่อไป หรือไม่ก็ควรเก็บและทำฉลากให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉลากใกล้หลุดหรือฉีกขาด และควรทิ้งผลิตภัณฑ์ที่เก่ามากๆ ซึ่งไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป
4. เก็บให้ไกลจากเด็ก สารทำความสะอาดหรือสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ควรเก็บในตู้ที่เด็กเอื้อมไม่ถึง อาจล็อคตู้ด้วยถ้าจำเป็น สอนเด็ก ๆ ในบ้านให้ทราบถึงอันตรายจากสารเคมี นอกจากนี้ ควรจดเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ใกล้กับโทรศัพท์หรือที่เห็นชัดเจน เบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ ได้แก่ รถพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสารพิษ และแพทย์ประจำตัว
5. ไม่เก็บสารเคมีปะปนกับอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากสารเคมีอาจหกหรือมีไอระเหยทำให้ปนเปื้อนกับอาหารได้ และเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีเสร็จแล้วควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
6. ไม่เก็บของเหลวหรือก๊าซที่ติดไฟได้ไว้ในบ้าน น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์หรือถังบรรจุก๊าซ ถ้าสามารถทำได้ไม่ควรนำมาเก็บไว้ภายในบ้าน ถังบรรจุก๊าซควรเก็บไว้นอกบ้านในบริเวณใต้ร่มเงาที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ต้องไม่เก็บของเหลวหรือก๊าซที่ติดไฟได้ไว้ใกล้กับแหล่งของความร้อนหรือเปลวไฟ และเก็บไว้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมหรือภาชนะที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น
7. เก็บสารเคมีไว้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมเท่านั้น ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านลงในภาชนะชนิดอื่นๆ ยกเว้นภาชนะที่ติดฉลากไว้อย่างเหมาะสมและเข้ากันได้กับสารเคมีนั้น ๆ โดยไม่ทำให้เกิดการรั่วซึม นอกจากนี้ ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายสารเคมีลงในภาชนะที่ใช้สำหรับบรรจุอาหาร เช่น ขวดน้ำอัดลม กระป๋องนม ขวดนม เป็นต้น เพื่อป้องกันผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำไปรับประทาน
8. ผลิตภัณฑ์หลายชนิดสามารถแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อลดปริมาณสารเคมีที่เป็นพิษในสิ่งแวดล้อม
9. ใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีอันตรายน้อยกว่าทดแทน สำหรับงานบ้านทั่วไป อาจใช้ผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนสารเคมีได้ ตัวอย่างเช่น สามารถใช้ผงฟูและน้ำส้มสายชู เทลงในท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันการอุดตันได้

10. ทิ้งผลิตภัณฑ์และภาชนะบรรจุให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่เทผลิตภัณฑ์ลงในดินหรือในท่อระบายน้ำทิ้ง ผลิตภัณฑ์หลายชนิดไม่ควรทิ้งลงในถังขยะหรือเทลงในโถส้วม ควรอ่านฉลากเพื่อทราบวิธีการทิ้งที่เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้ผลิต

ทำอย่างไรให้ปลอดภัยขณะใช้สารเคมี
  1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นพิษแทน 
  2. อ่านฉลากและปฏิบัติตามวิธีการใช้ทุกครั้ง
  3. สวมถุงมือและเสื้อคลุมทุกครั้ง ถ้าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้เกิดอันตรายได้โดยการสัมผัสต่อผิวหนัง
  4. สวมแว่นตาป้องกันสารเคมี ถ้าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อตา
  5. ห้ามสวมคอนแทคเลนส์เมื่อใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น ทินเนอร์ เป็นต้น
  6. หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ทันทีถ้ารู้สึกวิงเวียน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดศีรษะ
  7. ควรใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ในที่โล่งแจ้ง
  8. ห้ามสูบบุหรี่เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดไฟได้
  9. ห้ามผสมผลิตภัณฑ์สารเคมีเอง เนื่องจากสารเคมีบางชนิดอาจทำปฏิกิริยาต่อกันเกิดเป็นไอควันพิษ หรืออาจระเบิดได้
  10. พบแพทย์ทันทีถ้าสงสัยว่าได้รับสารพิษ หรือได้รับอันตรายเมื่อสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ในบ้าน

เรียบเรียง :
กาญจนภัสส์ ทวีกิตติกร  ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง:
อันตรายที่แฝงจากสารเคมีที่ใช้ในบ้านเรือน. (ม.ป.ป.). https://www.lyondellbasell.com/globalassets
/sustainability/lifebeats/monthly/2017/04/householdchemicals-th.pdf

Khunnatham.K. (2563, 20 พฤษภาคม). รวม “สารพิษ” ที่เป็นอันตรายภายในบ้าน พร้อมวิธีป้องกันง่าย ๆ ที่คุณอาจมองข้าม. Thinkofliving. https://thinkofliving.com/ไอเดียตกแต่ง/รวม-สารพิษ-ที่เป็นอันตรายภายในบ้าน-พร้อมวิธีป้องกันง่ายๆ-ที่คุณอาจมองข้าม-636713

Wichaya Pongklam. (2564, 23 ธันวาคม). 8 สารเคมีอันตรายในบ้าน เก็บให้ห่างจากเด็ก ป้องกันตัวเองก่อนใช้. OfficeMate. https://www.ofm.co.th/blog/toxic-household-chemicals-products/