สมาธิกับวิทยาศาสตร์

หลายคนปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดในหัวของคนเรามักคิดวนเวียนไปเรื่อย ๆ บางคนมักคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำเรื่องความสุข ความเศร้า ซึ่งส่วนใหญ่มักจะคิดถึงประสบการณ์ที่เลวร้าย น้อยมากที่จะคิดถึงความสุข นอกจากนี้ยังกังวลถึงอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน เป็นต้น ในหลายงานวิจัยที่ทำการสแกนสมองของผู้ที่ฝึกสติหรือฝึกสมาธิมาอย่างยาวนานต่างให้ผลคล้ายกันคือ ระหว่างการทำสมาธิหรือเจริญสติ ทำให้เราเป็นนายของจิตหรือควบคุมอารมณ์ของจิตได้ ทำให้เราสามารถคลายความทุกข์ที่มีอยู่ในใจได้ คนทั่วไปในเวลาปกติมักจะส่งคลื่นเบต้าออกมา ซึ่งมีความถี่ของคลื่นประมาณ 21 รอบต่อวินาที เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก เช่น โกรธ กลัว เกลียด อิจฉา ตื่นเต้น คลื่นสมองก็จะมีความถี่สูงขึ้นทันที ทำให้บุคคลผู้นั้นมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง มีความตึงเครียดสูง มีสมาธิน้อยลง มีความสามารถในการเรียนรู้ต่ำ มีภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายลดลง ฯลฯ ในทางตรงกันข้าม คนเราจะมีภูมิคุ้มกันโรคสูง มีสมาธิดี มีอารมณ์เยือกเย็น มีความคิดที่เฉียบคม มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สูง เมื่อคลื่นสมองมีความถี่ต่ำกว่า 19 รอบต่อวินาที ดังนั้นหากปล่อยให้คลื่นสมองมีความถี่สูงเกินกว่า 21 รอบต่อวินาทีเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดโรคเครียดและวิตกกังวล ซึ่งเป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งของโลก

การฝึกสมาธิแบบการทำจิตให้ว่างและรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมจะส่งคลื่นอัลฟ่าออกมา การฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่องมีผลต่อสมองคือสมาธิสามารถเปลี่ยนโครงสร้างสมองได้ ทำให้เปลือกสมองหนาขึ้น ลดความเสื่อมของสมองส่งผลต่ออารมณ์เกิดความสมเหตุสมผลมากขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ปรับการแสดงออกทางหน้าตา ท่าทาง ไม่โกรธง่าย ไม่เคียดแค้นชิงชัง กลับมาเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น รักตนเองมากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์ในงานได้ดีขึ้น

การนั่งสมาธิ
การนั่งสมาธิ คือการฝึกปฏิบัติใช้ความตั้งมั่น จดจ่อ และแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสงบ ความรู้สึกตัว หรือมีสติ ชาวตะวันตกมักใช้คำว่า "Concentration" และ "Meditation" ที่สื่อถึงการทำสมาธิให้จิตใจสงบ 

ภาพโดย pressfoto จาก Freepix

การทำสมาธินั้นถูกปฏิบัติมาประมาณพันปี โดยแรกเริ่มจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทางศาสนา ซึ่งปัจจุบันการทำสมาธินั้นได้แพร่กระจายไปทั่วโลก และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ เพราะการฝึกทำสมาธิช่วยให้สมองทำงานได้รวดเร็วขึ้นและตัดสินใจได้ดีขึ้นด้วย มีงานที่วิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การฝึกสติแบบทั่วไปสามารถส่งผลต่อสมองได้อย่างลึกซึ้ง ภายในระยะเวลาเพียง 8 สัปดาห์ ผู้ที่ไม่เคยฝึกสมาธิอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า การนั่งหลับตาแล้วหายใจเข้าหายใจออก จะทำให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า การฝึกสมาธิส่งผลดีต่อสมองอย่างไรบ้าง และเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นภายในสมองหลังจากที่ฝึกสมาธิเป็นเวลานาน ๆ บทความนี้จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้ลองอ่านกัน มีการทดลองเปรียบเทียบระหว่างคนที่ทำสมาธิและคนที่ไม่ทำสมาธิ ผลปรากฏว่าคนที่นั่งสมาธิมีความแข็งแรงของเส้นประสาทมากกว่าคนที่ไม่ได้นั่งสมาธิอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นการนั่งสมาธิมีประโยชน์แน่นอนทำให้เราจะมีความเป็นกลางมากขึ้นโดยไม่ตัดสินในสิ่งที่เห็นทันทีทันใด ทนกับสภาวะปกติได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะดีหรือร้าย และสามารถแยกความเจ็บออกไปจากร่างกายได้

จากภาพสแกนสมองของผู้ที่ฝึกสมาธิพบว่าเนื้อสมองในส่วนของเปลือกสมองด้านนอกที่เรียกว่า Gray matter ซึ่งเป็นที่อยู่ของเซลล์สมองมีความหนากว่าคนที่ไม่ฝึกสมาธิ และพบว่าบริเวณสมองส่วนหน้าด้านซ้ายมีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น คลื่นสมองก็ทำงานได้ดีขึ้นกว่าปกติ จากเดิมที่มีความถี่สูงซึ่งบ่งบอกถึงความคิดที่ฟุ้งซ่าน ก็เปลี่ยนเป็นคลื่นความถี่ต่ำและสม่ำเสมอมากขึ้นแสดงถึงความสงบผ่อนคลาย คนที่ฝึกสมาธิเป็นเวลานาน ๆ สมองมีส่วนเปลือกนอกสีเทา ๆ ที่เรียกว่า Gray Matter ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ของเซลล์ประสาท จะหนาตัวขึ้น นั่นหมายถึง มีเซลล์สมองเพิ่มขึ้น และบริเวณส่วนหน้าแถวหน้าผากด้านซ้าย จะมีการทำงานของคลื่นสมองดีขึ้น มีลักษณะของคลื่นสมองช้าลงและสม่ำเสมอมากขึ้น ที่เรียกว่า “คลื่นแกรมม่า” ซึ่งพบในคนที่จิตเป็นสมาธิลึก ๆ

ภาพโดย Maxim P บน Adobe Stock 

เมื่อมีการศึกษาและมีงานวิจัยที่รองรับและแสดงให้เห็นประโยชน์ของการฝึกสมาธิ ทำให้ศาสตร์นี้เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น ชาวตะวันตกส่วนมากก็เริ่มหันมาฝึกสมาธิกันอย่างแพร่หลาย หน่วยงานใหญ่ ๆ หลายหน่วยงานต่างให้ความสำคัญกับการฝึกสมาธิและมีนโยบายให้พนักงานฝึกสมาธิด้วยเช่นกัน การทำสมาธิเป็นการลดความเครียด คลายความวิตกกังวล ฝึกความอดทน ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น และยังช่วยเพิ่มเซลล์ประสาทในสมองในส่วนการควบคุมและการตอบสนองทางอารมณ์

ขั้นตอนการฝึกสมาธิ (แบบไม่อิงศาสนาใด ๆ )
  1. หาที่นั่งที่เราคิดว่าสบายสำหรับเราอาจจะเป็นสนามหญ้า ห้องพระ หรือห้องนอนก็ได้แต่ต้องเป็นสถานที่ที่เงียบสงบ
  2. นั่งหลับตาและไล่ดูจุดที่เกร็งให้คลายกล้ามเนื้อส่วนนั้นลง
  3. หายใจเข้า-ออกอย่างช้า ๆ หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ
  4. โฟกัสไปจุดใดจุดหนึ่งตรงที่ลมหายใจชัดตรงนั้น เช่น ตรงจมูก ตรงท้อง หรือหาเสียงนำสมาธิใน youtube เป็นต้น
  5. ถ้าความคิดผุดขึ้นมา เราจะไม่มีอารมณ์กับสิ่งนั้น มองแบบไม่ตัดสิน และกลับไปที่จุดโฟกัสเดิม
  6. ใช้เวลาในการฝึกอย่างพอประมาณอย่างต่ำ 10 นาที และสม่ำเสมอ
ร่างกายของคนเราจะแข็งแรงได้ด้วยการออกกำลังกาย สมองของคนเราก็เช่นกันต้องการฝึกฝนจนแข็งแรง และการฝึกสมาธิเป็นหนทางที่จะเกิดผลดีต่อสมอง ดังนั้นการหาเวลาบริหารสมองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพียงใช้ความเพียรและความสม่ำเสมอในการฝึกฝน เพียงเท่านี้อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อชีวิตของคุณได้ เริ่มทำได้เลยในวันนี้แล้วคุณจะค้นพบว่าความสุขไม่ได้หามาจากที่ไหนไกลเลย แต่อยู่ใกล้ ๆ ตัวคุณนั่นคือจิตใจของคุณเอง


เรียบเรียง
กาญจนภัสส์ ทวีกิตติกร  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง
การนั่งสมาธิกับผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์. (ม.ป.ป.). หอมหวล. https://www.homhuan.com/news/detail.php?id=25

สมาธิกับวิทยาศาสตร์. (2563, 27 พฤษภาคม).  trueID. https://news.trueid.net/detail/31dOWp5a5LY8

MGR Online. (2566, 6 สิงหาคม). สมองพัฒนาได้ ด้วยการเจริญสติ (ตอนที่ 1). https://mgronline.com/dhamma/detail/9560000079672