ภายในพื้นที่ 54 ไร่ ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ประกอบไปด้วย
อาคารสำนักงาน สำนักงานสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ประกอบด้วย งานวิจัยและพัฒนา ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์ ศูนย์ปฏิบัติการดาราศาสตร์วิทยุ ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ห้องสมุดดาราศาสตร์ ศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติ และส่วนงานสนับสนุนภารกิจหลัก
อาคารปฏิบัติการ เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการหอดูดาวแห่งชาติ และวิศวกรรม ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ห้องปฏิบัติการเคลือบกระจก
อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ ประกอบด้วย ส่วนท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล 360 องศา รองรับความละเอียดสูงสุด 8K ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร ความจุ 160 ที่นั่ง และพื้นที่สำหรับรถผู้พิการ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของไทย แต่มีความคมชัดที่สุดในอาเซียน ส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ 19 โซน ได้แก่ การสำรวจระบบสุริยะ เสียงแห่งเอกภพ การเกิดเฟสดวงจันทร์ การเกิดน้ำขึ้น-น้ำลง เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิกฝีมือคนไทย สเปกตรัมกับการศึกษาทางดาราศาสตร์ การสังเกตกลุ่มดาวบนท้องฟ้า รูม่านตากับความเข้มแสง การเกิดฤดูกาล การเปรียบเทียบน้ำหนักบนดาวเคราะห์ น้ำหนักของคุณบนดาวเคราะห์ การเกิดพายุบนดาวเคราะห์แก๊ส อุกกาบาต วิวัฒนาการดาวฤกษ์ ไทม์ไลน์การกำเนิดเอกภพ ลูกตุ้มเพนดูลัมกับการพิสูจน์การหมุนของโลก ภารกิจยานสำรวจดาวอังคาร ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ นิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์
นิทรรศการ ภายในอาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ
หอดูดาว หอดูดาวสำหรับให้บริการประชาชน ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่ เป็นอาคารสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบต่าง ๆ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีขีดความสามารถสูง จำนวน 5 ชุด สำหรับให้บริการดูดาว สังเกตวัตถุท้องฟ้า รวมทั้งถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า เปิดบริการทุกวันเสาร์ 18:00-22:00 น. ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม
ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง ใช้ในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ และกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ เช่น กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน การสังเกตปรากฏการณ์ท้องฟ้าและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
อาคารหอดูดาวและลานกิจกรรม
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมศิลปะวิทยการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ ให้บริการในการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย
การเดินทาง
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ อยู่บนถนนเส้นเดียวกับสนามกีฬาสมโภชน์เชียงใหม่ 700 ปี คือถนนเลียบคลองชลประทาน
จากหน้าสนามกีฬาสมโภชน์เชียงใหม่ 700 ปี ไปตามถนนหมายเลข 121 (ถนนเลียบคลองชลประทาน) จะผ่านโรงเรียนนวมินทราชูทิศพายัพ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะเจอเจอสามแยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานคลองชลประทาน (สะพานจะตรงกับประตูทางเข้าหมวดซ่อมบำรุงส่วนหน้าที่ 1 กองทัพบก) พอข้ามฝั่งคลองมาแล้วให้เลี้ยวขวา จะเห็นทางเข้า "อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร" จะอยู่ซ้ายมือ
เรียบเรียง:
นางสาวนัชรี อุ่มบางตลาด ครู ชำนาญการ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ
ถ่ายภาพ:
สราวุธ เบี้ยจรัส นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ
อ้างอิง:
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. (ม.ป.ป.). Princess Sirindhotn AstroPark อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร. [แผ่นพับ]. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน). อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร. https://www.narit.or.th/index.php/sirindhorn-astro-park