ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดในภาคเหนือ ตอนที่ 1 (กำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย ตาก)

ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด เป็นพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด เพื่อให้นำไปปลูกเป็นสิริมงคลแก่จังหวัด และเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในส่วนของพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำในภาคเหนือ ในตอนนี้ จะมีกล่าวถึงไม้มงคลประจำจังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ และตาก ดังนี้

1. ไม้มงคลประจำจังหวัดกำแพงเพชร : ต้นสีเสียดแก่น

ภาพ ดอกและฝักสีเสียด โดย J.M.Garg 
จาก https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4252959
และ https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4252968

  • ชื่อ : สีเสียดแก่น หรือ สีเสียด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acacia catechu (L. f.) Wild.  ชื่อสามัญ Catechu tree หรือ Cutch tree  และมีชื่อเรียกท้องถิ่นอื่นๆ ของไทย ได้แก่ เสียด (ภาคเหนือ)  สีเสียดเหนือ (ภาคกลาง)  สีเสียดเหลือง (เชียงใหม่) เดิมเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียว ศรีลังกา และพม่า นำเข้ามาปลูกในไทยเป็นไม้สวนป่า
  • ลักษณะทั่วไป สีเสียดแก่น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง สูงประมาณ 10-15 เมตร เรือนยอดโปร่ง แตกกิ่งต่ำ ตามกิ่งมีหนามแหลมโค้งเป็นคู่ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมดำหรือสีเทาเข้ม ค่อนข้างขรุขระ สามารถลอกเปลือกผิวออกมาได้เป็นแผ่น ๆ เปลือกข้างในเป็นสีแดง ตามกิ่งก้านมีหนามเล็ก ๆ เป็นคู่
    • ใบ เป็นใบประกอบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ยาวประมาณ 9-17 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว มีขนห่าง ๆ ใบย่อยมีขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน ประมาณ 30-50 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว มีขนขึ้นประปราย หลังใบและท้องใบเรียบ ไม่มีก้าน
    • ดอก ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบ ลักษณะช่อคล้ายหางกระรอก ยาว 5-10 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กจำนวนมาก อัดแน่นเป็นช่อ สีเหลืองอ่อนหรือขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ออกดอกช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 
    • ผล สีเสียดจะออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ผลเป็นฝักแบน กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ปลายและโคนฝักเรียวแหลม เมื่อแก่เต็มที่จะมีสีน้ำตาลดำเป็นมัน เมื่อฝักแก่จะแห้งแล้วแตกอ้าออกตามด้านข้าง ภายในฝักมีเมล็ด 3-10 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก แบน สีน้ำตาลเป็นมัน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด 
  • ประโยชน์ สีเสียดมีเนื้อไม้สีน้ำตาลแดง แข็งเหนียว ไสกบ ตกแต่งยาก จึงใช้ประโยชน์ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ เช่น เสา ตง คาน สะพาน หรือทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตร น้ำฝาดจากแก่นใช้ฟอกหนัง เปลือกให้สีน้ำตาลและน้ำตาลแดงสำหรับย้อมผ้า แห อวน นอกจากนี้ยางต้นสีเสียดนำมาเคี่ยวจนงวดเป็นก้อนสีดำ หรือแก่นที่สับและเคี่ยวกับน้ำ นำมาปั้นเป็นก้อนเหนียว มีสรรพคุณทางยา เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ไข้จับสั่น แก้ไอ แก้ปากเป็นแผล รักษาเหงือก ลิ้น ฟัน และช่วยรักษาแผลในลำคอ แก้อาการท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ แก้บิด ริดสีดวง รักษาโรคผิวหนัง โรคหิด
2. ไม้มงคลประจำจังหวัดเชียงราย : ต้นกาซะลองคำ กาสะลองคำ

ภาพจาก อุทยานหลวงราชพฤกษ์ https://www.royalparkrajapruek.org/news/news_detail?newsid=573

  • ชื่อ : ต้นกาซะลองคำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Radermachera ignea (Kurz) Steenis ชื่อสามัญคือ Tree Jasmine และมีชื่อเรียกท้องถิ่นอื่น ๆ ของไทยแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ได้แก่ กากี (สุราษฎร์ธานี)  แคะเป๊าะ สำเภาหลามต้น (ลำปาง)  จางจืด (เชียงใหม่)  สะเภา อ้อยช้าง (ภาคเหนือ) ปีบทอง (ภาคกลาง) 
  • ลักษณะทั่วไป : กาซะลองคำเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงประมาณ 6-20 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อย 2-5 คู่ แผ่นใบย่อยรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร ปลายแหลมเป็นติ่ง โคนสอบแหลม ออกดอกเป็นกระจุกตามกิ่งและลำต้น กระจุกละ 5-10 ดอก ดอกมีสีเหลืองอมส้มหรือสีส้ม กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ยาว 4.5-7 เซนติเมตร ปลายเป็นแฉกสั้นๆ 5 แฉก ออกดอกเดือนมกราคม-เมษายน ผลัดใบก่อนออกดอก ผลเป็นฝักยาว 35-90 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดมีปีก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง และแยกหน่อ
  • ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับ
3. ไม้มงคลประจำจังหวัดเชียงใหม่ : ต้นทองกวาว

  • ชื่อ  ทองกวาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Butea monosperma (Lam.) Taub. ชื่อสามัญ Flame of the Forest และ Bastard Teak และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น ๆ ของไทย คือ กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ)  จอมทอง (ภาคใต้)  จ้า จาน (เขมร)  ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง)
  • ลักษณะทั่วไป  ต้นทองกวาวเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขึ้นกระจายห่าง ๆ ตามป่าเบญพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือป่าละเมาะในทุกภาคของไทย พบมากทางภาคเหนือ ต้นสูงประมาณ 8-15 เมตร เปลือกสีเทาคล้ำแตกเป็นร่องตื้น ๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ออกสลับกัน ใบย่อยส่วนยอดมีลักษณะรูปไข่ ปลายมน โคนสอบ ส่วนอีก 2 ใบมีรูปไข่ค่อนข้างกว้าง โคนเบี้ยว ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง ยาว 2-15 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกถั่วขนาดใหญ่ มีกลีบดอก 5 กลีบ ยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีสีเหลืองถึงแดงแสด ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ผลเป็นฝักรูปขอบขนาน แบน กว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร มีเมล็ด1-2 เมล็ด ที่ปลายฝัก ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด
  • ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ เปลือกใช้ทำเชือกและกระดาษ และมีสรรพคุณทางยา ใบตำพอกฝีและสิว ถอนพิษ แก้ปวด ท้องขึ้น ริดสีดวง เข้ายาบำรุงกำลัง ดอกใช้ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ นอกจากนี้ยังให้สีเหลืองใช้ในการย้อมผ้า เมล็ดใช้ขับพยาธิตัวกลม บดให้ละเอียดผสมกับน้ำมะนาว ทาแก้คันและแสบร้อน ยางใช้ฝาดสมานภายนอก และกินแก้ท้องร่วง
4. ไม้มงคลประจำจังหวัดตาก : ต้นแดง

  • ชื่อ ชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นแดง คือ Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub. ชื่อสามัญ Iron Wood และมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ได้แก่ กร้อม (นครราชสีมา) ตะกร้อม (จันทบุรี) ปราน (สุรินทร์)  ไปร (ศรีษะเกษ) ปราน ผ้าน (เชียงใหม่)  ไคว เพร่ (แพร่, แม่ฮ่องสอน)  เพ้ย (กะเหรี่ยง ตาก) เป็นต้น
  • ลักษณะทั่วไป ต้นแดงเป็นไม้ยืนต้น สูง 15–30 เมตร กิ่งก้านและยอดอ่อนมีขนละเอียดสีเหลือง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ ประกอบด้วย 2 ช่อ ใบแตกออกเป็น 2 ง่าม ใบย่อย 4–5 คู่รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อทรงกลมคล้ายดอกกระถิน ที่ปลายกิ่งและซอกใบ กลีบดอกสีขาว ผลเป็นฝักรูปไต แบน แข็ง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
  • ประโยชน์ ไม้แดง เป็นไม้เนื้อแข็งเหนียว มีความทนทานสูง จึงนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ใช้ทำพื้น เสา คาน ได้ดี นอกจากนี้ ยังใช้ทำเกวียน ต่อเรือ ทำหมอนรองรางรพไฟ ทำเครื่องมือทางการเกษตร

    เรียบเรียง :
    วราพรรณ พูลสวัสดิ์  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบัน สกร.ภาคเหนือ

    อ้างอิง :
    กรมป่าไม้. สำนักส่งเสริมการปลูกป่า. (ม.ป.ป.). ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด. https://www.forest.go.th/nursery/สาระน่ารู้/ไม้มงคลประจำจังหวัด/

    โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี. ต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัด. http://www.rspg.or.th/plants_data/homklindokmai/province_pl/p_plant.htm

    ต้นแดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแดง 15 ข้อ. (2563, 28 พฤศจิกายน). Medthai. https://medthai.com/ต้นแดง/

    นพพล เกตุประสาท. (ม.ป.ป.). กาสะลองคำ. ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.
    http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/new-fragrant/radermachera.html

    สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้. ส่วนส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ. (ม.ป.ป). แดง.
    https://site-matching.forest.go.th/plant.php?id=12


    สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน). สีเสียด. https://www.wisdomking.or.th/th/tree-knowledge/สีเสียด