ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดในภาคเหนือ ตอนที่ 4 : ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี

พันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด เป็นพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด เพื่อให้นำไปปลูกเป็นสิริมงคลแก่จังหวัด และเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในส่วนของพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดภาคเหนือ ในตอนนี้ คือ ไม้มงคลประจำจังหวัดลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี

14. ไม้มงคลประจำจังหวัดลำพูน : ต้นจามจุรี
  • ชื่อ : จามจุรี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Samanea saman (Jacq.) Merr. ชื่อเรียกท้องถิ่นในไทย ได้แก่ จามจุรี (กรุงเทพฯ ตราด)  ก้ามกราม (ภาคกลาง)  ก้ามกุ้ง (อุตรดิตถ์) ก้ามปู (กรุงเทพฯ พิษณุโลก)/ ฉำฉา (ภาคกลาง ภาคเหนือ)  ตุ๊ดตู่ (ตราด)  ลัง สารสา สำสา (เหนือ)
  • ลักษณะทั่วไป : จามจุรีเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูง 10–20 เมตร แผ่พุ่มกว้างคล้ายร่ม  เปลือกต้นสีดำเป็นเกล็ดโตแข็งสีเขียวเข้ม 
    • ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกคล้ายใบแค ปลายใบมนแกนกลางใบประกอบและก้านใบประกอบแยกแขนงตรงข้ามกัน บนแขนงมีใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี หรือคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบมน ขอบใบเรียบ หลังใบเกลี้ยง 
    • ดอก ออกดอกเป็นรวมเป็นกระจุก สีชมพูอ่อน โคนดอกสีขาวออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง วงนอกช่อดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกวงใน ดอกวงนอกมีก้านสั้น ดอกวงใยไม่มีก้าน ส่วนบนมีขนหนาแน่น ปลายหลอดกลีบดอกแยกเป็น 5 แฉก ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ 
    • ผลเป็นฝักแบนยาว ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาล เนื้อในนิ่มสีดำ รสหวาน เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม   ขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเมล็ด
  • ประโยชน์ : เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน และใช้ในอุตสาหกรรมแกะสลักไม้ภาคเหนือ ใบสดและฝักอ่อนใช้เป็นอาหารสัตว์ที่มีคุณประโยชน์มากสำหรับ วัว ควาย นอกจากนี้ใบยังใช้ทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ปรับปรุงสภาพดินเลวให้ดีขึ้น 
15. ต้นไม้มงคลประจำจังหวัดสุโขทัย : มะค่าโมง
  • ชื่อ : มะค่าโมง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib ไทยเรียก มะค่าโมง และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นของไทย เช่น ภาคกลางเรียก มะค่าใหญ่ มะค่าโมง ฟันฤาษี แต้โหล่น  ภาคเหนือเรียก มะค่าหลวง มะค่าหัวคำ ภาคอิสานเรียก เขง เบง (สุรินทร์) ปิ้น (นครราชสีมา) ภาคตะวันออกเรียก บิง (จันทบุรี)
  • ลักษณทั่วไป : เป็นต้นไม้ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร อาจสูงได้ถึง 30 เมตร ผลัดใบช่วงสั้น ๆ  
    • ลำต้น เปลือกของลำต้นมีสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมชมพู ต้นแก่มักมีปุ่มปม ผิวต้นขรุขระ กิ่งอ่อนมีขนประปรายปกคลุม เนื้อไม้มีลวดลายสวยงามสีน้ำตาลอมเหลือง 
    • ใบ ใบมะค่าโมงเป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับตรงกันข้ามบนกิ่งแขนง ก้านใบหลักยาวประมาณ 18-30 เซนติเมตร ประกอบด้วยใบย่อยรูปไข่ 3-5 คู่ ใบย่อยมีก้านสั้น โคนใบมน ปลายใบแหลมมีติ่งสั้น ๆ ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา 
    • ดอก มะค่าโมงออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งหรือซอกใบ ช่อดอกยาว 5–15 เซนติเมตร มีขนคลุมบาง ๆ ดอกคล้ายดอกถั่ว ดอกมีสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีชมพู ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม  
    • ผล เป็นฝักแบนรูปขอบขนาน ผิวเปลือกเรียบ แข็ง หนา ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ พอแห้งแตกออกเป็น 2 ซีก ด้านในมีเมล็ด 2-5 เมล็ด ขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเมล็ด
  • ประโยชน์ : มะค่าโมงมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง ทนทานเนื้อไม้จะมีสีน้ำตาลอมแดงและมีลวดลายที่สวยงาม นิยมนำไปใช้แปรรูปเป็นไม้แผ่นปูพื้น ไม้วงกบ ทำเสาบ้าน ฯลฯ และทำเฟอร์นิเจอร์ เปลือกของมะค่าโมงจะมีรสฝาด นิยมใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง 
16. ไม้มงคลประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ : ต้นสัก
  • ชื่อ : ต้นสักมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tectona grandis L.f. ชื่อสามัญ Teak ชื่อท้องถิ่นอื่นของไทย ได้แก่ ปีฮี ปีฮือ เป้อยี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ปายี้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เส่บายี้ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), เคาะเยียโอ (ละว้า-เชียงใหม่) เป็นต้น
  • ลักษณะทั่วไป : ไม้ต้นขนาดใหญ่ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ ผลัดใบในฤดูร้อน ลำต้น เป็นเปลาตรงเปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กๆ สีเทา โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เปลือกหนาประมาณ 0.3-1.7 เซนติเมตร เนื้อไม้มีสีเหลืองทองถึงน้ำตาลแก่ เสี้ยนตรง เนื้อหยาบ 
    • ใบ เป็นใบเดี่ยวใหญ่มาก ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ปลายใบแหลมโคนมน ยาว 25-30 เซนติเมตร กว้างเกือบเท่ายาว ใบของต้นอ่อนจะใหญ่กว่านี้มาก ผิวใบมีขนสากคายสีเขียวเข้ม ขยี้ใบสดจะมีสีแดงเหมือนเลือด 
    • ดอก มีขนาดเล็ก สีขาวนวลออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ออกดอกและเป็นผลในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 
    • ผล เป็นผลแห้งค่อนข้างกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร เปลือกแข็ง ภายในมี 1-3 เมล็ด
  • ประโยชน์ : ไม้สักทองเป็นไม้โตเร็วปานกลางและเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีลักษณะพิเศษกว่าไม้ชนิดอื่น โดยเฉพาะเนื้อไม้ มอด ปลวก และแมลง ไม่ทำอันตราย เนื้อไม้มีสีเหลืองทอง ลวดลายสวยงาม เลื่อยไสกบตบแต่งง่าย จึงนิยมใช้ทำบ้านเรือนที่ วงกบ กรอบและบานประตูหน้าต่าง ทำเฟอร์นิเจอร์ แกะสลัก 
17. ต้นไม้มงคลประจำจังหวัดอุทัยธานี : ต้นสะเดา

ชื่อ : สะเดามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Azadirachta indica A. Juss. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น สะเลียม (ภาคเหนือ)  กะเดา (ภาคใต้)

  • ลักษณะทั่วไป : เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูง 20 เมตร สูง 5-10 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกต้นสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นร่องลึกตามยาว 
    • ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบย่อยเรียวแหลม รูปใบหอก กว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. โคนใบเบี้ยว ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย โคนใบมนไม่เท่ากัน แผ่นใบเรียบ สีเขียวเป็นมัน 
    • ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งขณะแตกใบอ่อน ดอกสีขาวนวล กลีบเลี้ยงมี 5 แฉก โคนติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก 
    • ผล รูปทรงรี ขนาด 0.8-1 ซม. ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว สุกเป็นสีเหลืองส้ม ผิวบาง มีเนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดเดี่ยว รูปรีขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
  • ประโยชน์ : ดอกและยอดอ่อนนิยมบริภาคเป็นผัก ใบและผลใช้เป็นยาฆ่าแมลงและควบคุมแมลงศตรูพืชโดยไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ทุกส่วนสะเดายังมีสรรพคุณเป็นยา เช่น ราก แก้ลม เสมหะที่แน่นในอก จุกคอ  ใบเป็นยาพอกฝี เป็นยาฆ่าแมลง ดอกเป็นยาช่วยเจริญอาหารและช่วยย่อยอาหาร แก้พิษ เลือดกำเดา บำรุงธาตุ  ผลแก้โรคหัวใจผลอ่อน ใช้ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง และปัสสาวะพิการ นอกจากนี้ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนและทำเฟอร์นิเจอร์ได้ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรียบเรียง :
วราพรรณ พูลสวัสดิ์  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
• กรมป่าไม้. สำนักงานส่งเสริมการปลูกป่า. ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด.  https://www.forest.go.th/nurseryสาระน่ารู้/ไม้มงคลประจำจังหวัด
• อุทยานหลวงราชพฤกษ์. (2560, 5 กันยายน). จามจุรี. https://www.royalparkrajapruek.org/Plants/view?id=1256
• ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. มะค่าโมง. http://www.qsbg.org/database
/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=964 964
• สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย). มะค่าโมง. https://adeq.or.th/มะค่าโมง/
• สัก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสัก 20 ข้อ ! (สักทอง). (2563. 10 มิถุนายน). Medthai. https://medthai.com/สัก/
• อุทยานหลวงราชพฤกษ์. (2560, 05 กันยายน). สัก. https://www.royalparkrajapruek.org/Plants/view?id=1371
• ระบบจัดการข้อมูลพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ข้อมูลต้นไม้ : สัก. https://buildings.oop.cmu.ac.th/plant/index.php?op=plants&do=treedetail&treeid=572