ในส่วนของพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดภาคเหนือ ในตอนนี้ คือ ไม้มงคลประจำจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง
- ชื่อ : ต้นปีบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Millingtonia hortensis L.f. ชื่อสามัญ คือ Indian cork tree, Tree jasmine ชื่อท้องถิ่นในประเทศไทย ได้แก่ ปีบ กาซะลอง กาสะลอง (ภาคเหนือ) เต็กตองโพ่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
- ลักษณะทั่วไป : ปีบ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นตรงสูงโปร่ง สูงประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาในระดับสูง
- ลำต้น เปลือกลำต้นหนา ขรุขระ สีเทาหรือน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามยาว
- ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสามชั้น เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อยจำนวนมาก ลักษณะใบมีรูปไข่แกมรูปใบหอก รูปขอบขนาน หรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือตัดขอบหยักเป็นซี่ฟัน และเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านล่างมีขนตามซอกระหว่างเส้นกลางใบกับเส้นแขนงใบ
- ดอก ออกดอกในช่วงเดือนพศจิกายน-พฤษภาคม ดอกบานให้กลิ่นหอมตลอดทั้งวัน ออกดอกตามปลายกิ่งเป็นช่อกระจุกแยกแขนง แต่ละช่อยาว 10-35 เซนติเมตร ในช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกย่อยประกอบด้วย กลีบเลี้ยงสีเขียว กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาวประมาณ 0.5 ซม. เชื่อมกันเป็นรูประฆังปลายตัด กลีบดอกมีสีขาว กลิ่นหอม โคนดอกมีลักษณะเป็นหลอดแคบ ๆ ยาว 6-9 ซม. ปลายหลอดบานออกเป็นปากแตรแยกออกเป็น 5 แฉก ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 2 คู่ ก้านเกสรยาวไม่เท่ากัน มีทั้งก้านสั้นและยาวอย่างละ 1 คู่ และมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบดอก
- ผล เป็นฝักแบนยาว มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีปีก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
- ประโยชน์ : ปีบเป็นพืชที่นำมาใช้ในการรักษาโรคได้หลายชนิด ในตำรายาของไทย เช่น รากใช้ บำรุงปอด รักษาวัณโรค อาการหอบหืด ดอกใช้รักษาอาการหอบหืด ไซนัสอักเสบ เพิ่มการหลั่งน้ำดี (cholagogue) เพิ่มรสชาติ นำดอกปีบแห้ง 6-7 ดอก ผสมยาสูบมามวนเป็นบุหรี่ สำหรับสูบสูด เพื่อรักษาอาการหอบหืด ใบใช้มวนบุหรี่สูบขยายหลอดลม ใช้รักษาอาการหอบหืดได้เช่นกัน
- ชื่อ : ต้นมะขาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tamarindus indica L.ชื่อสามัญ คือ Tamarind ชื่อท้องถิ่นในประเทศไทย ได้แก่ มะขามไทย (ภาคกลาง) ขาม (ภาคใต้) ตะลูบ (โคราช) ม่วงโคล้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) อำเปียล (จังหวัดสุรินทร์)
- ลักษณะทั่วไป : ต้นมะขามเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 6-20 เมตร ขนาดทรงพุ่มแน่น แตกกิ่งก้านสาขามาก ไม่มีหนาม
- ลำต้น ลำต้นแข็งแรง เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อน หนา ขรุขระและแตกเป็นร่องเล็ก
- ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเป็นคู่ 10–15 คู่ เรียงกันตามก้านใบ ปลายใบและโคนใบมน
- ดอก ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ อยู่ตามบริเวณปลายกิ่ง ขนาดเล็ก มีกลีบสีเหลือง และมีจุดประสีแดง/ม่วงแดงอยู่กลางดอก ผล เป็นฝักยาวโค้ง ยาว 3-20 ซม.
- ผล ผลเป็นฝัก ฝักอ่อนมีเปลือกสีเขียวอมเทา สีน้ำตาลเกรียม เนื้อในติดกับเปลือก เมื่อแก่ฝักเปลี่ยนเป็นเปลือกแข็งกรอบหักง่าย สีน้ำตาล เนื้อในกลายเป็นสีน้ำตาลหุ้มเมล็ด เนื้อมีทั้งรสเปรี้ยวและหวาน ในฝักมีเมล็ด 3–12 เมล็ด เมล็ดแก่จะแบนเป็นมัน และมีสีน้ำตาล
- ประโยชน์ : นำมาใช้เป็นยา ใช้เนื้อฝักแก่ (มะขามเปียก) แก้อาการท้องผูก แก้ไอขับเสมหะ เปลือกต้นทั้งสดหรือแห้งประมาณ ต้มกับน้ำปูนใสหรือน้ำรับประทานแก้อาการท้องผูก เมล็ดคั่วกะเทาะเปลือกเอาออกเนื้อในเมล็ดแช่น้ำเกลือจนนุ่ม รับประทานถ่ายพยาธิได้ ส่วนเนื้อไม้มะขามใช้ทำเขียง ครก สาก กระดุมเกวียน หรือเผาถ่าน
11. ไม้มงคลประจำจังหวัดแพร่ : ต้นยมหิน
- ชื่อ : ยมหินมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chukrasia velutina Wight & Arn. ชื่อสามัญคือ Almond-wood ชื่มีอท้องถิ่นในไทยแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น มะเฟืองช้าง สะเดาช้าง สะเดาหิน ยมหิน (ภาคกลาง) ยมขาว (ภาคเหนือ) ช้ากะเดา (ภาคใต้) เสียดค่าย (สุราษฎร์ธานี) โค้โย่ง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ฝักดาบ (จันทบุรี) เสียดกา (ปราจีนบุรี)
- ลักษณะทั่วไป : เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงขประมาณ 15-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มรูปกรวยต่ำ ๆ
- ลำต้น ลำต้นเปลาตรง มีพูพอนที่โคนต้น เปลือกสีน้ำตาลคล้ำ สีเทา หรือเทาปนดำ แตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้น และมีรูระบายอากาศทั่วไป
- ใบ เป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับเยื้องกันเล็กน้อย แผ่นใบย่อยรูปดาบ ท้องใบมีขนนุ่ม หลังใบเกลี้ยง
- ดอก ดอกเล็ก สีเขียวแกมเหลือง ออกเป็นช่อตาม ปลายกิ่ง ผล ออกผลเป็นพวง ผลเป็นรูปทรงรีหรือรูปไข่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.8-4 เซนติเมตร
- ผล ผลเป็นสีน้ำตาล เมื่อสุกจะเปลี่ยนสีดำ เมื่อแห้งหรือแก่จะแตกเป็น 3-5 เสี่ยง
- ประโยชน์ : เนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลือง เป็นมัน เนื้อละเอียด ไสกบตกแต่งง่าย ชักเงาได้ดี ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเสา ขื่อ รอด ตง กระดาน ทำเครื่องเรือน ด้ามเครื่องมือ และไม้อัด
12. ไม้มงคลจังหวัดแม่ฮ่องสอน
: ต้นกระพี้จั่น
- ชื่อ : ต้นกระพี้จั่นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Millettia brandisiana Kurz และมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นของไทย คือ จั่น (ภาคกลาง สุโขทัย) พี้จั่น(ภาคกลาง จันทบุรี) ปี๊จั่น (ภาคเหนือ)
- ลักษณะทั่วไป : กระพี้จั่นเป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 8-20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลม โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกสีน้ำตาลหรือน้ำตาลเทาแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามกิ่งมีรอยแผลทั่วไป
- ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงเวียนสลับ ใบย่อยรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบทู่ โคนใบมนหรือสอบเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีจางกว่า ใบแก่เกลี้ยง มีขนประปรายตามเส้นกลางใบด้านล่าง
- ดอก ดอกเป็นช่อแยกแขนง ออกตามกิ่งและง่ามใบ ดอกย่อยสีม่วงแกมขาว หรือสีชมพูอมม่วง รูปถั่ว กลีบเลี้ยงสีม่วงดำเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
- ผล ติดผลเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ผลแห้งแก่แล้วแตกสองแนว ฝักแบน โคนแคบกว่าปลาย กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 9-12 เซนติเมตร เปลือกเกลี้ยงหนาคล้ายแผ่นหนัง ขอบเป็นสัน เมล็ดสีน้ำตาลดำ 1-4 เมล็ด
- ประโยชน์ : เป็นไม้ประดับเนื่องจากมีช่อดอกที่สวยงาม เมื่อออกดอกจะทิ้งใบ และผลิดอกสีม่วงอมครามกระจ่างไปทั้งต้น เนื้อไม้ นำใช้ในการก่อสร้าง ใช้ทำเครื่องมือช่าง หรือเครื่องมือการเกษตร ทำเยื่อกระดาษ
13. ไม้มงคลประจำจังหวัดลำปาง : ต้นขะจาว
- ชื่อ : ขะจาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Holoptelea integrifolia (Roxb.) Planch. ชื่อสามัญคือ Indian Elm ชื่อท้องถิ่นในไทย ได้แก่ กระเจา กระเชา (ภาคกลาง) กระเจาะ ขะเจา (ภาคใต้) กระเช้า (กาญจนบุรี) กะเซาะ (ราชบุรี) กาซาว (เพชรบุรี) ขะจาวแดง ฮังคาว (ภาคเหนือ) ตะสี่แค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) พูคาว (นครพนม) มหาเหนียว (นครราชสีมา) ฮ้างค้าว (อุดรธานี เชียงราย ชัยภูมิ)
- ลักษณะทั่วไป : ขะจาว เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร มักแตกง่ามใกล้โคนต้น เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนเทา มีต่อมระบายอากาศเป็นจุดกลมเล็ก ๆ สีขาวตามลำต้น เรือนยอดเป็นพุ่มรูปไข่กว้างค่อนข้างทึบ
- ลำต้น ลำต้นเปลา (สูงชะลูดไม่มีกิ่งที่ลำต้น) เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนเทา
- ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรีป้อมกว้าง 4-9 เซนติเมตร ยาว 7-14 เซนติเมตร โคนใบมนหรือป้าน ปลายใบเรียวแหลม ก้านใบมีขน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นจักฟันเลื่อยห่าง ๆ
- ดอก ขะจาวออกดอกเป็นช่อกระจุก ช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก สีแดงออกน้ำตาล มีกลีบ 5-6 กลีบ ออกดอกเดือนธันวาคม-มกราคม
- ผล ผลเป็นรูปโล่แบน มีปีกบางล้อมรอบ มีก้านเกสรเพศเมีย 2 อันติดอยู่ส่วนบนสุด บริเวณปีกมีลายเส้นออกเป็นรัศมีโดยรอบมีปีกบางล้อมรอบ
- ประโยชน์ : ต้นขะจาวเป็นไม้เนื้อแข็ง มีเปลือกหุ้มต้นที่เหนียวมาก มีกลิ่นเหม็นเขียว สามารถนำมาทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เนื้อไม้ ใช้ทำสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในร่ม ทำเครื่องมือทางการเกษตร เช่น ด้ามจอบ เสียม ทำพานท้ายปืน เส้นใยจากเปลือกเหนียว ใช้ทำเชือก ผ้าและกระสอบ เปลือกมีสรรพคุณทางยา ใช้ทำยารักษาเรื้อนสุนัข กันตัวไร และเป็นยาแก้ปวดตามข้อ
บทความที่เกี่ยวข้อง
เรียบเรียง :
วราพรรณ พูลสวัสดิ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ
อ้างอิง :
• กรมป่าไม้. สำนักส่งเสริมการปลูกป่า. ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด. https://www.forest.go.th/nursery/สาระน่ารู้/ไม้มงคลประจำจังหวัด
• อุทยานหลวงราชพฤกษ์. ปีบ. https://rpplant.royalparkrajapruek.org/Display/Details_fn/3656
• ยมหิน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นยมหิน 5 ข้อ !. (2563, 20 พฤษภาคม). Medthai. https://medthai.com/ยมหิน/