Cloud Computing คือ การเข้าถึงบริการต่าง ๆ มากมาย ทั้งการประมวลผล Server หน่วยจัดเก็บข้อมูล การสร้างเครือข่าย และบริการอื่น ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมีผู้ให้บริการเป็นคนจัดการให้ทุกอย่าง เป็นการก้าวข้ามเส้นแบ่งของฮาร์ดแวร์ที่เป็นชิ้นเป็นอันไปอยู่บนโลกเสมือนจริงมากขึ้น
Image by studiogstock on Freepik
ข้อดีของ Cloud Computing
- ต้นทุนต่ำ เพราะไม่ต้องลงทุนไปกับการซื้ออุปกรณ์ ติดตั้งเครื่องมือทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ แต่ Cloud มีการบริการแบบ pay as you go หรือจ่ายเท่าที่ใช้เท่านั้น
- เพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว ผู้ใช้งานสามารถอัปโหลดข้อมูลขึ้นสู่บนคลาวด์ได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มความสะดวกสบายในการดาวน์โหลดข้อมูลกลับมาใช้งาน จึงสามารถใช้งานได้ทุกที่ทั่วโลก
- ความปลอดภัยของข้อมูล ข้อมูลบนคลาว์ดจะถูกจัดเก็บไว้ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้ให้บริการ ป้องกันการสูญหายของข้อมูล และมีความเสถียรในการใช้งาน โดยระบบจะมีคำสั่งในการ Backup ข้อมูล หรือกู้ฐานข้อมูลกลับ (Data Recovery) ช่วยให้ดูแลระบบได้ง่ายขึ้น และยังมีระบบด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่ช่วยป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์
- เข้าถึงบริการใหม่ ๆ อยู่เสมอ เนื่องปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Cloud Computing จำนวนมาก จึงทำให้มีการแข่งขันกันระหว่างผู้ให้บริการ ทั้งในเรื่องราคา พื้นที่จัดเก็บเริ่มต้น ไปจนถึงบริการใหม่ ๆ เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลบนคลาวด์ แต่ละแห่งต้องมีการอัปเกรดระบบเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุด
ระบบ Cloud Computing เหมาะกับงานแบบใด
- งานที่ต้องมีผู้เข้าใช้งานจำนวนมาก มีข้อมูลที่ต้องแชร์หรือใช้ร่วมกัน
- งานที่ต้องมีพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ และมีการเติบโตของข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
- งานที่ต้องการการประมวลผลขั้นสูง ต้องการนำข้อมูลไปต่อยอดใช้งานกับเทคโนโลยีอื่น ๆ
โดยทั่วไประบบคลาวด์ประกอบด้วยบริการ 3 รูปแบบ ได้แก่
- การให้บริการใช้หรือเช่าใช้ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชัน (Software as a Service : SaaS) เป็นการที่ใช้หรือเช่าใช้บริการซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชันผ่านอินเทอร์เน็ต โดยซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันจะติดตั้งไว้ในศูนย์ข้อมูลระบบคลาวด์ และประมวลผลบนระบบคลาวด์ของผู้ให้บริการ ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบ ค่าซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชัน และผู้ใช้เสียค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง
ข้อดี คือ ไม่ต้องลงทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์เอง ซอฟต์แวร์จะถูกเรียกใช้งานผ่าน Cloud จากที่ไหนก็ได้
ตัวอย่างการให้บริการคลาว์ดแบบ SaaS ที่เราคุ้นเคย เช่น Google Docs ซึ่งคือการใช้ซอฟต์แวร์ผ่านเว็บบราวเซอร์ โดยไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ลงบนเครื่อง หรือ Web-based Email Service ต่าง ๆ เช่น Hotmail Gmail Facebook Twitter ที่มีการเก็บโปรแกรมและข้อมูลต่าง ๆ ไว้ที่ Host แล้วให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้ Application ต่าง ๆ ผ่านทางเว็บได้ ถือว่าเป็นบริการประเภทนี้อีกเช่นเดียวกัน - บริการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอที Infrastructure as a Service (IaaS)
เป็นการบริการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอที ครอบคลุมทั้งระบบเครือข่าย (Network) ระบบจัดเก็บข้อมูล (Database) ระบบประมวลผล (CPU) อุปกรณ์พื้นฐาน เช่น Servers และ ระบบปฏิบัติการ (OS) ในรูปแบบระบบเสมือน (Virtualization) โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อ Hardware ที่มีราคาแพง
ข้อดี คือ ไม่ต้องลงทุนซื้อเอง สามารถขยายได้ง่ายตามการเติบโตขององค์กรและมีความยืดหยุ่นสูง ลดความยุ่งยากในการดูแลระบบเอง แต่จำเป็นต้องมีผู้ดูแลระบบด้านไอที
ตัวอย่างของบริการให้เช่ากำลังประมวลผล บริการให้เช่าเซิร์ฟเวอร์เสมือน เพื่อใช้ลงและรันแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เราต้องการเช่น OpenLandscape Cloud Google Compute Engine Amazon Web Services และ Microsoft Azure เป็นต้น - การให้บริการแพลตฟอร์มในการพัฒนาซอฟท์แวร์และแอปพลิเคชัน Platform as a Service (PaaS)
เป็นการให้บริการแพลตฟอร์มในการพัฒนาซอฟท์แวร์และแอปพลิเคชัน โดยมุ่งเน้นให้บริการกับองค์กรขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแอปพลิเคชัน การให้บริการประเภทนี้จะรวบรวมทรัพยากรที่เกี่ยวข้องไว้ในระบบคลาว์ด ทั้งเซิร์ฟเวอร์ ระบบเครือข่าย ระบบการจัดเก็บข้อมูล ระบบปฏิบัติการ สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อทดสอบและรันซอฟต์แวร์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาซอฟท์แวร์และแอปพลิเคชัน ทำให้สามารถลดต้นทุนและเวลาที่ใช้ในการพัฒนาซอฟท์แวร์เป็นอย่างมาก
ข้อดี คือ สามารถช่วยลดต้นทุนและเวลาที่ใช้ในการพัฒนาซอฟท์แวร์ได้ สามารถนำมาพัฒนาแอปพลิเคชันที่ให้บริการคนจำนวนมากได้ โดยใช้เวลาพัฒนาไม่นาน และใช้บุคลากรเพียงไม่กี่คน
ตัวอย่างบริการทางด้านนี้ เช่น Google App Engine, Microsoft Azure
Image by macrovector on Freepik
ประเภทของ Cloud Computing
ประเภทของ Colud Computing แบ่งตามลักษณะการให้บริการ มี 3 ประเภท หลัก คือ- Public Cloud เหมือนกับการใช้ทรัพยากรรวมกัน โดยจะมีทรัพยากรจากผู้ให้บริการคลาว์ด เช่น Hardware Software เซิร์ฟเวอร์ ระบบการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงระบบความปลอดภัย ผู้ใช้ไม่ต้องลงทุนอุปกรณ์หรือระบบเหล่านั้น แค่เช่าตามขนาดหรือบริการที่เหมาะ จะขยายขนาดเพิ่มขึ้น หรือลดลงก็ได้ตามต้องการ ค่อนข้างมีความคล่องตัวในการใช้งาน
- Private Cloud เป็นการใช้งานระบบคลาว์ดที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการใช้งานในองค์กร โดยจะเป็นผู้ลงทุนด้านทรัพยากรและใช้งานภายในองค์กรเท่านั้น ไม่ต้องไปใช้งานร่วมกับบุคคลอื่นภายนอก ระบบนี้เป็นระบบปิดที่สามารถเข้าใช้งานได้องค์กรท่านั้น ซึ่งระบบแบบ Privat Cloud จะไม่ค่อยคล่องตัวในขยายขนาดการใช้งาน
- Hybrid Cloud เป็นการให้บริการแบบผสมผสานระหว่างแบบ public cloud และ private cloud โดยจะมีเทคโนโลยีที่สามารถผสมทั้ง 2 ส่วนนี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้ข้อมูลสามารถเชื่อมต่อกันได้ ย้ายไปมาระหว่างกันได้ ทำให้องค์กรสามารถเก็บข้อมูลบางส่วนที่ต้องการความปลอดภัยสูงไว้ที่ Private Cloud ในขณะที่อีกบางส่วนอาจใช้งานบน Public Cloud เพื่อความคล่องตัวในการใช้งาน หากต้องการขยายเพิ่มขึ้น
เรียบเรียง :
ธนวัฒน์ นามเมือง ครู สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ
อ้างอิง :
• DataTH. (2566). Cloud Computing มีประเภทอะไรบ้าง บริการด้าน Data ที่คุณต้องรู้. https://blog.datath.com/cloud-computing-types/
• Cloud Computing คืออะไรและทำงานอย่างไร?. (2561, 20กรกฎาคม). VPSHISPEED. https://www.vpshispeed.com/blogs/what-is-cloud-computing-and-how-does-it-work-th/
• กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ. Cloud Computing คืออะไร มีกี่ประเภท. Apps NCAD Website. https://www.ncad.navy.mi.th/?p=722