อาหารขึ้นบ้านใหม่ล้านนา

การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นพิธีที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการส่งเสริมสิริมงคลแก่เจ้าบ้านและผู้อยู่อาศัยเมื่อย้ายบ้านหรือที่อยู่ใหม่ นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้อยู่อาศัยรักใคร่ปรองดอง ไม่ทะเลาะวิวาทกัน ป้องกันสิ่งอันตราย ขับไล่สิ่งชั่วร้าย ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ รวมไปถึงกิจการค้าขายรุ่งเรืองอีกด้วย

การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ของชาวล้านนา ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย และแม่ฮ่องสอน นอกจากจะให้ความสำคัญกับพิธีทางศาสนาแล้ว อาหารที่นำมาทำบุญเลี้ยงพระก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน อาหารล้านนาไม่เพียงแต่มีรสชาติที่อร่อย แต่ยังแสดงถึงเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของความเป็นล้านนา มีการสอดแทรกความเชื่อ ดังเช่น อาหารที่นิยมนำมาทำบุญในวันขึ้นบ้านใหม่ ได้แก่ แกงขนุน ลาบ แกงฟักเขียวใส่ไก่ แกงฮังเล และแกงอ่อม


1. แกงขนุน 
ภาษาเหนือเรียกกันว่า “แก๋งบะหนุน” โดยมีความเชื่อว่าการนำแกงขนุนไปใช้ในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ จะทำให้ชีวิตมีแต่คนอุดหนุนค้ำจุ้น จะมีแต่สิ่งดี ๆ ช่วยหนุนนำให้พบกับแต่ความเจริญรุ่งเรือง ประกอบกิจการใดก็จะสำเร็จดั่งที่หมาย และเกิดความเป็นสิริมงคลต่อคนในครอบครัว ตามชื่ออาหาร คือ ขนุน หมายถึง เกื้อหนุน หนุนนำ

2. ลาบ
เป็นอาหารยอดนิยมของชาวล้านนามาช้านาน และมีบทบาทเสริมส่งในด้านความเชื่อและวิถีชีวิตอีกหลายประการ ด้วย “ลาบ” พ้องเสียงกับคำว่า “ลาภ” ที่มีความหมายว่า โชคลาภ ลาภลอย การประสบและรับโชคลาภโดยไม่คาดฝัน คนโบราณจึงเชื่อว่าการนำลาบมาทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และถวายพระจะทำให้เจ้าของบ้าน บริวาร ลูกหลานมีโชคลาภ พบแต่สิ่งที่ดี ลาบที่ใช้เป็นลาบหมู ลาบวัว และ ลาบควาย จะเป็นลาบสุกหรือดิบก็ได้

3. แกงฟักเขียวใส่ไก่ 
แกงฟักเขียวใส่ไก่เป็นอาหารมงคลสำหรับการขึ้นบ้านใหม่ เพื่อเอาเคล็ดว่าให้เป็นที่รักของคนและเทวดาทั้งหลาย ชีวิตครอบครัวจะชุ่มเย็น ดั่งฟัก ฟักเขียวมีความหมายแทนความร่มเย็นอุดมสมบูรณ์ ในยามที่ได้กินเป็นแห่งการรำลึกถึงความเป็นพี่น้องไปพร้อมกัน

4. แกงฮังเล 
อาหารยอดนิยมของชาวล้านนาที่นิยมนำมาถวายพระในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ คือ แกงฮังเล เนื่องจากวัตถุดิบหลักคือเนื้อสัตว์ซึ่งมีราคาสูง ประกอบกับความพิถีพิถันในการปรุง ที่ต้องใช้เวลานานในการเคี่ยวเนื้อหมูให้เปื่อย นอกจากนี้แกงฮังเล ยังมีส่วนผสมของเครื่องเทศ เมื่อรับประทานแล้วส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมะขามเปียก มีรสเปรี้ยว ทำให้ชุ่มคอ ลดความร้อนของร่างกายได้ดี มะขามเปียกอุดมด้วยกรดอินทรีย์ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ขิงแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ป้องกันอาหารคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยลดอาการไอและระคายคอ พริกช่วยบรรเทาอาการหวัด ลดการอุดตันของหลอดเลือด ลดคอเรสเตอรอลในเลือด หอมแดงช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืดแน่น ช่วยย่อย ทำให้เจริญอาหาร บรรเทาอาการบวมน้ำ กระเทียมแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น แกงฮังเลจึงนับเป็นอาหารสำคัญในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่

5. แกงอ่อม 
นอกจาก แกงขนุน ลาบ แกงฝักเขียวใส่ไก่ และแกงฮังเล ที่นิยมนำมาใช้ในการในงานขึ้นบ้านใหม่ของคนทางภาคเหนือ (ล้านนา) แล้ว ยังมีแกงอ่อมที่นิยมนำมาใช้เลี้ยงเลี้ยงพระ และเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน เพราะแกงอ่อมมีสมุนไพรเป็นวัตถุดิบที่ช่วยบำรุงสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผักชีลาว ตะไคร้ ข่า ต้นหอมผักชี ใบมะกรูด เมล็ดผักชี มะแหลบ มะแขว่น ฯลฯ ซึ่งแกงอ่อมของชาวล้านนาก็มีทั้ง 
แกงอ่อมหมู แกงอ่อมเนื้อ หรือแกงอ่อมเครื่องในอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นเมนูอาหารชั้นดีของชาวล้านนาเลยทีเดียว

การขึ้นบ้านใหม่เป็นพิธีมงคลที่ทุกบ้านควรทำ เนื่องจากเป็นพิธีการป้องกันไม่ให้มีสิ่งอัปมงคลเข้ามาในบ้านของเรา และยังเป็นพิธีที่ช่วยเสริมสิริมงคลให้กับผู้อยู่อาศัยทั้งทางสุขภาพร่างกาย ความปลอดภัย ความมั่งคั่ง และความสงบให้กับผู้อยู่อาศัย เมื่อคุณได้ทราบถึงความสำคัญของการขึ้นบ้านใหม่ การเตรียมข้าวของต่างๆ ขั้นตอนปฏิบัติพิธีขึ้นบ้านใหม่ รวมถึงอาหารที่ใช้ในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน ก็จะได้ดำเนินการประกอบพิธีได้อย่างครบถูกต้องสมบูรณ์แบบ ทำให้บ้านมีแต่สิ่งดีๆ ชีวิตของเจ้าของบ้านรวมทั้งผู้อยู่อาศัยก็จะเจริญก้าวหน้าดำเนินไปอย่างสงบสุขอีกด้วย


เรียบเรียง :
พรวิมล พันลา  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
A.P.Y. (2563, 21 เมษายน). ความเชื่อของการแกงขนุนทางภาคเหนือ. ทรูไอดี. https://food.trueid.net/detail/kXlYeO7YYJnD/

พิธีขึ้นบ้านใหม่มีขั้นตอนอย่างไร. (2566, 3 กุมภาพันธ์). The Gen C. https://www.ananda.co.th/blog/thegenc/พิธีขึ้นบ้านใหม่มีขั้นตอนอย่างไร

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม. (2565, 8 มีนาคม). ลาบเหนือ วัฒนธรรมของชายชาตรี. https://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/articleDetail/2547

ฐิติวรฎา ใยสาลี, สุรีย์พร ธัญญะกิจ, จุฑารัตน์ ศักดิ์มั่นวงศ์, และนพพร แพทย์รัตน์. “แกงฮังเล” วัฒนธรรมและความเชื่อ. วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์), 9(2), 172-186. 
https://so06.tci-thaijo.org/index.php/var/article/download/213511/149805/684838