ดังนั้นครูผู้สอนของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ต้องมีการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ ผู้สอนทุกคนต้องตระหนักว่าการพัฒนาผู้เรียนในการจัด ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ หรือการจัดการศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเดิม ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ซึ่งมิได้ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาไม่ว่าด้วยเหตุใด เพื่อให้ได้รับคุณวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านสามัญศึกษาหรืออาชีวศึกษา ให้สามารถเรียนรู้ได้ตามความถนัดและตามความสนใจ ซึ่งในการประเมินผล ให้ใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อใช้กับผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม โดยต้องไม่ใช้วิธีการทดสอบความรู้ในทางวิชาการเพียงด้านเดียว ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มาตรา 12 ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ในสาระการประเมินเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ และการทดสอบเพื่อพัฒนาค้นหาศักยภาพ จุดเด่น จุดด้อยของผู้เรียน และที่สำคัญผู้สอนต้องศึกษาเกี่ยวกับการประเมินสภาพจริง จะต้องประเมินให้ครบทุกด้าน ทั้งด้านพุทธพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย ซึ่งผู้สอนต้องเลือกใช้เทคนิค และเครื่องมือประเมินที่หลากหลาย เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และเกณฑ์การประเมิน
การประเมินสภาพจริง
การประเมินสภาพจริง เป็นวิธีการประเมินที่ออกแบบมาเพื่อสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมและทักษะที่จําเป็นของผู้เรียนในสถานการณ์ที่เป็นจริง และเป็นวิธีการประเมินที่เน้นงานหรือกิจกรรมที่ผู้เรียนได้แสดงออกโดยการกระทำ เน้นกระบวนการเรียนรู้ผลผลิตและผลงาน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินและร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งวิธีการนี้เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาการ การเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างต่อเนื่อง
กระบวนการประเมินอาจใช้วิธีการสังเกต การบันทึก การรวบรวมข้อมูลจากผลงานและวิธีการที่ผู้เรียนได้เคยทำไว้ด้วยวิธีการที่หลายหลาย กลยุทธ์สำคัญของการประเมินตามสภาพจริงคือ การกระตุ้นหรือท้าทายให้ผู้เรียนได้แสดงออกโดยการกระทำว่า ตนเองมีความสามารถอะไร และได้เคยททำสิ่งใดบ้าง แทนการทำแบบทดสอบหรือข้อสอบเหมือนการประเมินแบบเดิม ๆ นอกจากเน้นเรื่องการกระทำและผลงานแล้ว การประเมินนี้ยังเน้นความสามารถทางสติปัญญา กระบวนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การแก้ปัญหา มากกว่าการเน้นเรื่องการท่องจำ หรือการหาคําตอบจากแบบทดสอบ
ลักษณะสำคัญของการวัดประเมินสภาพจริง
การประเมินสภาพจริง เป็นการประเมินทางเลือกใหม่ (alternative assessment) ที่เน้นการประเมินผลจากการปฏิบัติงานซึ่งต่างจากการประเมินที่เน้นการทดสอบเป็นสำคัญ ลักษณะสำคัญของการวัดประเมินผลตามสภาพจริงมี ดังนี้
- การประเมินสภาพจริง เน้นแนวคิดที่ว่าความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีความหมายได้หลากหลาย ดังนั้นการวัดควรใช้วิธีการอย่างหลากหลาย
- การเรียนรู้เป็นกระบวนการตามความต้องการของผู้เรียน มากกว่าการบังคับให้เรียน ดังนั้นผู้เรียนจึงมีความกระตือรือร้น และแสวงหาความรู้เพื่อความอยากรู้มากกว่าการเรียนเพื่อให้ทำข้อสอบได้คะแนนสูง ๆ
- การวัดประเมินผลตามสภาพจริง เน้นกระบวนการเรียนรู้และผลผลิต โดยพิจารณาจากสิ่งที่ผู้เรียน เรียนรู้และทําไมจึงเกิดการเรียนรู้เช่นนั้น
- การวัดประเมินผลตามสภาพจริง มุ่งเน้นในการสืบเสาะ พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาตามสภาพจริงที่เกิดขึ้น ผู้เรียนต้องสังเกต วิเคราะห์และทดสอบความรู้ของตนเองจากการปฏิบัติ
- การวัดประเมินสภาพจริงมีจุดประสงค์เพื่อ กระตุ้น และอํานวยความสะดวกให้กับผู้เรียน และสะท้อนผลการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาให้กับผู้เรียน
เครื่องมือวัดและประเมินตามสภาพจริง
การวัดและประเมินผลให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการวัด จะต้องอาศัยเทคนิค การเก็บรวบรวมข้อมูล และใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพเหมาะสมกับคุณลักษณะที่ต้องการศึกษา รวมถึงเงื่อนไขบริบทอื่นๆ อาทิ จุดประสงค์การวัด ลักษณะผู้สอบ ปริมาณ ระยะเวลา สถานที่ งบประมาณ การประเมินตามสภาพจริง จะใช้วิธีการประเมินหลากหลาย ส่วนเทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย การทดสอบ การสอบสัมภาษณ์ การสังเกต การตรวจผลงาน การใช้แฟ้มสะสมงาน การประเมินโดยใช้ศูนย์ประเมิน
Image by rawpixel.com on Freepik
- การทดสอบ การทดสอบจะใช้แบบทดสอบ เพื่อประเมินความรู้ ความสามารถของผู้เรียน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแบบสอบเขียนตอบ แบบสอบเลือกตอบ และสอบภาคปฏิบัติและแบบวัดต่าง ๆ เป็นต้น
- การสอบสัมภาษณ์ เป็นวิธีการวัดผลด้วยการซักถาม สนทนา โต้ตอบ เพื่อประเมินความคิด ทัศนคติ เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (เตรียมคําถามไว้ล่วงหน้า) และคําถามแบบไม่มีโครงสร้าง (กำหนดเฉพาะแนวทาง หรือประเด็นแต่ไม่มีคําถามที่ชัดเจน)
- การสังเกต เป็นการวัดและประเมินที่มีรายการ พฤติกรรมเป้าหมายที่ต้องการเก็บข้อมูล ด้วยประสาทสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางหูและตา เพื่อศึกษาพฤติกรรมที่มีความละเอียด ชัดเจนของผู้เรียนในสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบตรวจสอบรายการ แบบมาตรวัดประเมินค่า และแบบบันทึก เป็นต้น
- การตรวจผลงาน เป็นการวัดและประเมินด้วยการกำหนดงาน กิจกรรม หรือแบบฝึก ให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติฝึกฝน โดยผู้สอนจะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้อง ด้วยตนเองหรือเพื่อนผู้เรียนที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้ได้ข้อมูลจริงสำหรับสะท้อนผลการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบต่อไป เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบประเมินผลงาน
- การใช้แฟ้มสะสมงาน เป็นการวัดและประเมินที่ใช้หลักการเก็บหลักฐานผลงานที่ดีและมีความภาคภูมิใจ ที่เป็นตัวแทนงานที่ปฏิบัติของผู้เรียนเกี่ยวกับ ทักษะ แนวคิด ความสนใจ ความสำเร็จ โดยมีผลการประเมิน จุดเด่น จุดด้อยของชิ้นงาน อันแสดงถึงความก้าวหน้าในการเรียนด้วยตนเองของผู้เรียนเอง เพื่อนร่วมชั้น หรือผู้สอน แล้วนําหลักฐานมาบรรจุลงในแฟ้ม สมุดโน๊ต แผ่นบันทึกข้อมูล เป็นต้น ลักษณะแฟ้มสะสมงานที่ดีควรมีความหลากหลาย สามารถสะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียนแต่ละคน เครื่องมือที่ใช้สำหรับประเมินแฟ้มสะสมงาน ได้แก่ แบบบันทึก แบบประเมิน ผลงาน และแบบประเมินตนเอง เป็นต้น
- การประเมินโดยใช้ศูนย์ประเมิน ศูนย์ประเมิน คือสถานที่ หรือคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ที่สร้าง หรือกำหนดขึ้นเพื่อให้สำหรับทดสอบหรือประเมินผู้เรียนภายใต้สถานการณ์จําลอง หรือสิ่งเร้า เพื่อให้ผู้เรียนตอบสนองโดยการแสดงออกตามพฤติกรรมบ่งชี้ การประมวลความรู้ และทักษะด้านต่าง ๆ ของผู้เรียนว่ามีมากน้อยเพียงใด และอยู่ในระดับใด กิจกรรมหรือสถานการณ์ที่กําหนดให้มีหลากหลาย ได้แก่ เกม แบบฝึกขั้นตอนการทำงาน ใบงาน การสนทนากลุ่ม การทำงานเป็นกลุ่ม และการแสดงบทบาทสมมุติ การนําเสนองาน เครื่องมือที่ใช้วัดประกอบด้วย แบบตรวจสอบรายการ แบบมาตรวัดประเมินค่า แบบบันทึกพฤติกรรม แบบประเมินผลงาน และแบบทดสอบ เป็นต้น
เรียบเรียง :
สุมาลี อริยะสม ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ
อ้างอิง :
พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566. (2566, 19 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 140 ตอนที่ 20.
หน้า 60-72.
สมชาย รัตนทองคำ. การวัดและการประเมินผลการศึกษา (เอกสารประกอบการสอน 475 788 การสอนทางกายภาพ บำบัด ภาคต้นปีการศึกษา 2554). https://ams.kku.ac.th/aalearn/resource/edoc/tech/54/13eva.pdf
สุคนธ์ สินธพานนท์และคณะ. (2545). การจัดกระบวนการเรียนรู้ : เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.