จุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนรู้ คือ ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนจากการที่ยังไม่มี ไม่รู้ ไปสู่การให้มี ให้รู้ ฉะนั้นในการจัดการเรียนรู้โดยทั่วไป ผู้สอนจะต้องตั้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้ว่า สิ่งที่ต้องการจัดกระบวนการเรียนรู้คืออะไร เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอย่างไร เพราะวัตถุประสงค์ที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดวิธีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียน และเมื่อครูจัดประสบการณ์ได้อย่างเหมาะสมตามวัตถุประสงค์แล้ว จะต้องมีการวัดและประเมินผลเพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนรู้จริงตามวัตถุประสงค์หรือไม่
ในการจัดการเรียนรู้ ต้องมีกระบวนการที่คอยตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของผู้เรียนว่ามีคุณสมบัติตรงตามจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ที่กำหนดไว้หรือไม่ กระบวนการนี้จะพยายามให้ได้มาซึ่งข้อมูลอันเป็นผลจากการเรียนรู้ เพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจพัฒนาองค์ประกอบต่าง ๆ ของการจัดการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น เช่น เนื้อหาวิชา วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ระบบการวัดและประเมินผล การเรียนการบริหารหลักสูตรและการแนะแนว เป็นต้น กระบวนการที่ให้ได้มาซึ่งข้อมูลทางการเรียนรู้และนำข้อมูลเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับจุดมุ่งหมายที่ตั้งเอาไว้ว่าสอดคล้องกันดีหรือไม่ เรียกว่า “การวัดและประเมินผลการเรียนรู้”
ครู มีบทบาทสำคัญในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เพราะครูเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างระบบการศึกษากับผู้เรียน สิ่งที่ครูพูด ครูจัดกิจกรรม มีอิทธิพลอย่างสูงสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาสมรรถภาพของผู้เรียน ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้และประเมินผลเอง ผลการวัดของผู้เรียนสามารถนำมาประเมินประสิทธิภาพการสอนของครูได้ ดังนั้น ครูต้องรู้จักวิธีการวัดและประเมินผล เช่น การสร้างแบบสำรวจ แบบมาตราส่วนประมาณค่า แบบทดสอบ การดำเนินการสอบ เป็นต้น นอกจากนี้ครูยังต้องมีความสามารถในการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลให้มีคุณภาพและยังต้องรู้ว่าในการวัดผลนั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะวัดอะไร ต้องการวัดสมรรถภาพทางด้านใดของผู้เรียน
ลักษณะสำคัญของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
การวัดผลการเรียนรู้ เป็นกระบวนการวัดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนนิยมวัดผลการเรียนรู้ เป็น 3 ด้านคือ พุทธิพิสัย (cognitive domain) จิตพิสัย (affective domain) และทักษะพิสัย (psychomotor domain) ซึ่งมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
- การวัดผลเป็นการวัดทางอ้อม (Indirect Measurement)
คุณลักษณะที่ตรวจวัดในทางการศึกษา เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สติปัญญา ความถนัด ความสนใจ บุคลิกภาพ เจตคติ ฯลฯ ของผู้เรียนนั้น มีลักษณะเป็นสภาพทางจิตวิทยาในตัวผู้เรียน เป็นนามธรรมที่ไม่สามารถวัดได้โดยตรง เพราะไม่สามารถสังเกตเห็นหรือสัมผัสได้ วิธีการตรวจวัดจึงเริ่มโดยการแปลงคุณลักษณะนั้นออกมาให้เป็นพฤติกรรมที่วัดได้หรือสังเกตได้ จากนั้นจึงใช้เครื่องมือเป็นสิ่งเร้าแก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนตอบสนองโดยแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาผู้สอนจึงสามารถตรวจวัดพฤติกรรมนั้น ๆ ได้ในเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพแล้วแต่กรณี - การวัดผลการเรียนรู้เป็นการวัดที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Measurement)
การจัดการเรียน การสอนในห้องเรียน เป็นการจัดตามเนื้อหาและจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในหลักสูตรระดับชั้นต่าง ๆ เนื้อหาและพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนจะมีอยู่มาก ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่วัดผลและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อาจไม่สามารถตรวจวัดหรือทดสอบให้ครอบคลุมหรือครบถ้วนในทุกประเด็นของเนื้อหาและทุกพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดของเวลา งบประมาณ ค่าใช้จ่ายและสภาพการณ์ที่เป็นจริง เช่น ถ้าผู้สอนจะใช้แบบทดสอบเป็นเครื่องมือวัดความสามารถในการบวกเลขหลักเดียวของผู้เรียนให้ครบถ้วนในเนื้อหา ครูต้องเขียนข้อสอบจำนวน 100 ข้อ คือ 0+0, 0+1, 0+2, ......, จนถึง 9+9 ให้ผู้เรียนตอบจึงครอบคลุมเนื้อหา ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ ในทางปฏิบัตินั้นครูจะเลือกข้อสอบบางข้อมาเป็นตัวอย่าง (Sample) โดยพิจารณาว่าเป็นตัวแทนของเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งเปรียบได้กับประชากร (Population) ดังนั้น การวัดผลการศึกษาจึงเป็นการวัดที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วนทั้งหมด เพราะข้อจำกัดหลาย ๆ ประการ การนำข้อมูลจากการวัดผลไปใช้ในการประเมินผลเพื่อตัดสินคุณลักษณะนั้น จึงจำเป็นต้องตรวจสอบให้เกิดความมั่นใจว่าตัวอย่างที่นำมาใช้วัดผลนั้น เป็นตัวแทนที่ดีของเนื้อหาและพฤติกรรมอย่างแท้จริงก่อน - การวัดผลการเรียนรู้เป็นการวัดเชิงสัมพัทธ์ (Relative Measurement)
จำนวนหรือตัวเลขที่ได้จากการวัดผลที่เรียกว่า คะแนน (Score) นั้น มีระดับการวัดได้สูงสุดในมาตราอันตรภาค (Interval Scale) เท่านั้น ซึ่งเป็นมาตราการที่ไม่มี ศูนย์แท้ (Non absolute Zero) หมายความว่า เลข 0 ในการวัดผลการศึกษาไม่ได้มีความหมายว่า “ไม่มีคุณลักษณะที่วัด” เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้วัดผลไม่สามารถจะวัดลงไปได้ครบถ้วนจนถึงจุดที่เป็นศูนย์แท้จริง เช่น ผู้เรียนที่สอบได้ 0 คะแนน จากการทดสอบด้วยแบบทดสอบฉบับหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าผู้เรียนไม่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน อาจเป็นเพราะแบบทดสอบที่ใช้วัดผลไม่สามารถบรรจุเนื้อหาทั้งหมดทุกประเด็นที่ผู้สอนไว้ได้ แต่ใช้ตัวอย่างของเนื้อหาและพฤติกรรมมาสอบวัดเท่านั้น นอกเหนือจากสาระในแบบทดสอบแล้วผู้เรียนอาจตอบได้แต่ไม่ปรากฏอยู่ในข้อสอบ สำหรับคะแนนที่ได้จากการวัดผลก็ไม่มีความหมายในตัวมันเอง ไม่สามารถประเมินผลว่าผู้ที่ได้คะแนนนั้นมีความสามารถอยู่ในระดับใด เช่น ผู้เรียนสอบได้คะแนน 42 คะแนน สรุปไม่ได้ว่าคะแนนเท่านี้เก่งหรืออ่อนมากน้อยเพียงใด จนกว่าจะนำคะแนนที่ได้ไปเปรียบเทียบหรือสัมพันธ์กับเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะให้ความหมายได้ดีขึ้น เช่น คะแนน 42 คะแนน เมื่อเทียบกับคะแนนเต็ม 50 คะแนน หรือเมื่อนำคะแนนไปสัมพันธ์กับเกณฑ์อื่น ๆ อีก ก็จะให้ความหมายที่เด่นชัดขึ้น เช่น เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย (Mean) หรือเปรียบเทียบกับคะแนนปกติวิสัย (Norm) เป็นต้น
Image by rawpixel.com on Freepik
ลักษณะการประเมินผลทางการศึกษาที่นิยมใช้ มี 2 ลักษณะคือ
- ประเมินผลเพื่อการพัฒนา (formative valuation) เป็นการประเมินผลระหว่างการจัดการเรียนการสอน นิยมใช้เพื่อตรวจสอบการเรียนรู้และความก้าวหน้า ของผู้เรียนหรือปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน จะใช้แบบทดสอบ การสังเกต การซักถาม หรือเครื่องมือวัดอื่น ๆ ที่เหมาะสม ซึ่งจะใช้วัดเมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนของแต่ละครั้ง
- การประเมินผลสรุป (summative valuation) เป็นการประเมินผลเมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอน มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนปลายภาคการศึกษา และตัดสินผลการเรียน โดยมีเกณฑ์ตัดสินที่ชัดเจน เช่น การตัดสินแบบอิงกลุ่ม(เกรด A, B, C, D, F) การตัดสินแบบอิงเกณฑ์ (60 เปอร์เซ็นต์ สอบผ่าน) เป็นต้น โดยทั่วไปของการวัดสิ่งใดก็ตาม จะต้องกําหนดเป้าหมายหรือสิ่งที่จะวัดให้ชัดเจนว่าจะประเมินอะไรและประเมินอย่างไร จากนั้นจึงเลือกใช้เครื่องมือและเทคนิคที่สอดคล้องกับสิ่งที่จะประเมิน หากไม่มีเครื่องมือที่เป็นมาตรฐาน นิยมสร้างขึ้นเองอย่างมีหลักการ และขั้นตอนสุดท้ายคือการนําวิธีการและเครื่องมือไปประเมินอย่างไม่มีอคติและยุติธรรม ผู้วัดควรตระหนักว่า การวัดผลจะมีความคาดเคลื่อนหรือข้อผิดพลาดเสมอ
Image by photoroyalty on Freepik
- ประโยชน์ต่อตัวผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนทราบจุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ผลการวัดและประเมินดีขึ้น ช่วยสร้างนิสัยในการใฝ่รู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เมื่อไม่สามารถตอบคำถามหรือตอบแบบทดสอบได้ผู้เรียนจะไปศึกษาเพิ่มเติมก่อให้เกิดนิสัยอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น และทำให้ทราบถึงสถานภาพทางการเรียนของตนเองว่า เด่น-ด้อยในเรื่องใด ควรได้รับการปรับปรุงอย่างไร
- ประโยชน์ต่อครูผู้สอน ทราบข้อมูลเบื้องต้นในด้านต่าง ๆ ของผู้เรียนทราบถึงผลการสอนของครูว่ามีประสิทธิผลมากน้อยเพียงไร ทำให้ครูได้ข้อมูลในการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการสอนหรือการกำหนดจุดมุ่งหมายในการสอนที่เหมาะสมต่อไป และช่วยให้ครูกำหนดเทคนิควิธีสอนที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล กรณีที่ประสงค์จะสอนเพิ่มเติมหรือสอนซ่อมเสริม
- ประโยชน์ต่อผู้ปกครองผู้เรียน ผู้ปกครอง ที่ส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาในสถานศึกษานั้น ต้องการทราบถึงพัฒนาการหรือความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนในความปกครองเป็นระยะ ๆ และต้องการทราบถึงสมรรถภาพในการเรียนของผู้เรียนด้วย การวัดผลและการประเมินผลทางการศึกษาจะเป็นข้อมูลที่บ่งบอกรายการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ผลการประเมินจึงต้องให้ผู้ปกครองของผู้เรียนทราบด้วยเพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ใช้เป็นพื้นฐานการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาต่อไป
- ประโยชน์ต่องานแนะแนว เพราะผู้เรียนต้องการได้รับคำแนะนำหรือข้อชี้แนะเกี่ยวกับการเลือกอาชีพ การศึกษาต่อและปัญหาส่วนตัวที่ประสบอยู่ สถานศึกษาทุกแห่งจึงมีหน่วยงานบริการแนะแนวที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้แสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ในการจัดดำเนินงานการแนะแนวให้มีประสิทธิภาพข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียนเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีอยู่อย่างครบถ้วนและถูกต้องตามความเป็นจริง ข้อมูลเหล่านี้จะได้มาจากกระบวนการของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา เช่น การจัดเจตคติ การวัดความสนใจ การวัดบุคลิกภาพ การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวัดความถนัด เป็นต้น
- ประโยชน์ต่อการบริหารการศึกษา ผลการประเมินโดยภาพรวมของสถานศึกษานั้น ๆ จะเป็นข้อมูลบอกถึงประสิทธิภาพในการจัดและการบริหารการศึกษา นอกจากนี้ในระบบการบริหารการศึกษายังมีความจำเป็นต้องใช้การวัดผลและประเมินผลเพื่อเป็นเครื่องมือการดำเนินกิจกรรมหลาย ๆ ด้าน เช่น การคัดเลือกบุคลากรในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ การสอบคัดเลือก การจัดแยกประเภทผู้เรียนและการประเมินผลการปฏิบัติงาน เป็นต้น
- ประโยชน์ในการวิจัยการศึกษา ข้อมูลทางการศึกษาที่ได้จากการวัดผลและประเมินผลการศึกษาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านผู้เรียน ครู ผู้บริหาร บุคลากรในสถานศึกษา งบประมาณ ระบบการบริหาร การจัดการ และอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ นั้นจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สามารถนำไปใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์เพื่อศึกษา วิจัยในประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
เรียบเรียง :
สุมาลี อริยะสม ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ
อ้างอิง :
สถาบัน กศน. ภาคเหนือ. (2565). คู่มือการสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. ลำปาง : สถาบัน กศน.ภาคเหนือ.
สำนักงาน กศน.. (2555). คู่มือการสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : รังษีการพิมพ์.
สำนักงาน กศน.. (2555). คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2555) (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : รังษีการพิมพ์.
สมชาย รัตนทองคำ. การวัดและการประเมินผลการศึกษา (เอกสารประกอบการสอน 475 788 การสอนทางกายภาพ บำบัด ภาคต้นปีการศึกษา 2554). https://ams.kku.ac.th/aalearn/resource/edoc/tech/54/13eva.pdf