แนวปฏิบัติที่ดี ตอนที่ 4 : การเผยแพร่ผลงานแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice)

การเผยแพร่ผลงานเป็นกระบวนการถ่ายทอดผลงานที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมไปสู่สาธารณะ โดยผ่านช่องทางของสื่อ ซึ่งรูปแบบของสื่อมีหลากหลายประเภท ในที่นี้ขอนำเสนอประเภทของสื่อประชาสัมพันธ์ ดังนี้ (เรวดี ไวยวาสนา, ม.ป.ป.)

1. สื่อคำพูดหรือสื่อบุคคล (Spoken Words or Personal Media)
สื่อคำพูดหรือสื่อบุคคล หมายถึง บุคคลที่หน่วยงาน/สถานศึกษาใช้เป็นผู้นำข่าวสารไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสื่อบุคคลจัดเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการจูงใจและการโน้มน้าวใจ ก่อให้เกิดการสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงาน/สถานศึกษากับกลุ่มเป้าหมาย เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดการสื่อสารแบบสองทางและมีปฏิสัมพันธ์แบบทันทีทันใด


2. สื่อสิ่งพิมพ์ (Printed Media)
สื่อสิ่งพิมพ์ หมายถึง สิ่งที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอข่าวสาร ให้ข้อมูล คำแนะนำ ผ่านวัสดุประเภทเอกสารหรือกระดาษ รวมไปถึงวัสดุใด ๆ ก็ตามที่สามารถพิมพ์ข้อความต่าง ๆ ได้ ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ อาจมีการจัดพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แผ่นพับ ใบปลิว โปสเตอร์ หนังสือ นิตยสาร เป็นต้น  สื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้จะน่าสนใจก็ต่อเมื่อมีการออกแบบให้สวย ทันสมัย


ในที่นี้ จะขอนำเสนอสื่อสิ่งพิมพ์บางประเภทที่สามารถนำไปใช้ในการเผยแพร่ผลงานแนวปฏิบัติ
ที่ดี ดังนี้

2.1 โปสเตอร์ (Poster) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ประกอบด้วยภาพ ตัวอักษร สัญลักษณ์ อธิบายเป็นข้อความสั้น ๆ ให้ผู้อ่านเกิดความสนใจได้ทันที
วัตถุประสงค์ของโปสเตอร์
1) เพื่อใช้ในการประกอบการสอนในระดับต่าง ๆ
2) เพื่อใช้ให้ความรู้/เกิดพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์
3) เพื่อใช้ในการโฆษณาสินค้า องค์กร และบริการ
4) เพื่อใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลและโครงการต่าง ๆ
5) เพื่อใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร

2.2 แผ่นพับ (Folder) เป็นสิ่งพิมพ์ที่บรรจุข่าวสาร ข้อความและรูปภาพที่องค์กรต้องการเผยแพร่/ประชาสัมพันธ์ตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ สามารถบรรจุข้อมูลได้มาก และพกพาได้สะดวก มีลักษณะเป็นกระดาษแผ่นเดียวกัน พับเป็นเล่ม
วัตถุประสงค์ของแผ่นพับ
1) เพื่อใช้ในการประกอบการสอนในระดับต่าง ๆ
2) เพื่อใช้ให้ความรู้/เกิดพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์
3) เพื่อใช้ในการโฆษณาสินค้า องค์กร และบริการ
4) เพื่อใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลและโครงการต่าง ๆ
5) เพื่อใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร


ลักษณะของแผ่นพับ
1) เล็ก กะทัดรัด พกพาสะดวก
2) มีภาพและข้อความอยู่ในแผ่นเดียวกัน แต่จะเน้นข้อความมากกว่าภาพ และไม่นิยมใส่คำบรรยายใต้ภาพ

ขนาดของแผ่นพับ
• แบบ 4 หน้า มีลักษณะการพับเป็นแบบพับครึ่ง



• แบบ 6 หน้า มีลักษณะการพับหลายลักษณะ เช่น พับแบบตัว Z พับแบบ 2 ทบ 3 ตอน และพับแบบหน้าต่าง เป็นต้น


• แบบ 8 หน้า มีลักษณะการพับหลายลักษณะ เช่น พับแบบหน้าต่าง 4 ตอน  พับแบบม้วน  พับแบบ 2 ทบ 4 ตอน  พับแบบขนาน 3 ทบ 4 ตอน  พับแบบพับครึ่งแล้วพับ 2 ตอน เป็นต้น


• แบบ 12 หน้า มีลักษณะการพับหลายลักษณะ เช่น พับแบบพับครึ่งแล้วพับ 3 ตอน พับแบบขนาน 5 ทบ 6 ตอน เป็นต้น


• แบบ 16 หน้า มีลักษณะการพับหลายลักษณะ เช่น พับแบบพับครึ่งแล้วพับ 4 ตอน พับแบบขนาน 5 ทบ 6 ตอน เป็นต้น


2.3 สื่อออนไลน์ เป็นสื่อดิจิทัลประเภทหนึ่งที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการทางสังคม (Social Tool) โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้สื่อสารระหว่างบุคคลในเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ผ่านทางเว็บไซต์ รวมถึงโปรแกรมประยุกต์ที่มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตบนสื่อต่าง ๆ โดยต้องการให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเนื้อหา (User-Generated Content: UGC) ในรูปแบบของข้อมูล ภาพ และเสียงขึ้นเอง โดยมีแหล่งให้ บริการเครือข่ายทางสังคมเกิดขึ้นบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น Facebook Twitter LinkedIn Google Plus Myspace YouTube Blog Wiki รวมทั้งเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เป็นให้บริการ File Sharing Photo Sharing Video Sharing และกระดานข่าว (Web board) เป็นต้น


2.4 สื่อกิจกรรม เป็นสื่อหรือกิจกรรมชนิดหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ นอกเหนือจากเครื่องมือหรือสื่อประชาสัมพันธ์ที่กล่าวมา ซึ่งสื่อกิจกรรมเน้นให้ประชาชนหรือกลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสเข้าร่วมงานกับหน่วยงาน/สถานศึกษา เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดประชุมวิชาการ เป็นต้น





บทความที่เกี่ยวข้อง


เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
เรวดี ไวยวาสนา. (ม.ป.ป.). บทที่ 5 ประเภทของสื่อประชาสัมพันธ์. https://elcca.ssru.ac.th/rewadee_wa
/pluginfile.php/473/mod_resource/content/1/บทที่%205%20ประเภทของสื่อปชส.pdf