วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร...พระอารามหลวงชั้นเอก

 เชียงใหม่จังหวัดที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ สถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาด คือ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวงที่สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะแบบล้านนาอย่างวิจิตรตระการตา เป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติมายาวนาน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรปีมะโรง นอกจากนี้ วัดพระสิงห์ ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ที่ให้ความศรัทธาและเคารพสักการะมาโดยตลอด

วัดพระสิงห์ เดิมเรียกว่า “วัดลีเชียง” สร้างในสมัยพญาผายู กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 5 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1879-1898 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 1888 เริ่มแรกทรงให้ก่อสร้างพระเจดีย์ (สถูปหรือกู่) เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาพระองค์โปรดให้สร้างวิหาร พระธาตุหลวง ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ จากนั้นทรงตั้งชื่อว่า "วัดลีเชียง" (ลี เป็นภาษาล้านนา แปลว่า ตลาด) เนื่องจากหน้าวัดเป็นสนามที่ประชาชนมาชุมนุมซื้อขายสินค้ากันเป็นประจำ จนกลายเป็นตลาด 

ประมาณปี พ.ศ 1943 เจ้ามหาพรหม ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองกำแพงเพชร และนำไปถวายแด่พญาแสนเมืองมา กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 7 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1928-1944 เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดสวนดอก (วัดบุปผาราม) แต่เมื่อไปถึงวัดลีเชียง คานราชรถหัก ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานไว้ที่วัดลีเชียง ประชาชนจึงเรียกว่า “วัดลีเชียงพระ” และต่อมาเรียกว่า “วัดพระสิงห์”

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี วัดพระสิงห์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร” ภายในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่

วิหารหลวง  
วิหารหลวง อาคารหลังปัจจุบันนี้ ครูบาศรีวิชัย เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ เจ้าดารารัศมี และพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 ร่วมกับประชาชนสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2467-2468 แทนที่วิหารหลวงทรงจัตุรมุขหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม ด้านหน้าอาคารวิหารหลวงมีอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ประดิษฐานอยู่ในแท่นวงเวียน สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงครูบาศรีวิชัย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

วิหารหลวง และ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยหน้าวิหารหลวง

วิหารหลวงหลังใหม่นี้ ผสมผสานระหว่างศิลปะรัตนโกสินทร์และศิลปะล้านนา หลังคามุงกระเบื้อง ซ้อนลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้ามุขประดับด้วยรูปนารายณ์ทรงครุฑ ล้อมรอบด้วยลายพันธุ์พฤกษาที่งดงามวิจิตรตระการตา และมีการแทรกรูปเสือ สัญลักษณ์ประจำปีเกิดของครูบาศรีวิชัย มีลายปูนปั้นรูปนาคราชประดับที่เชิงบันได

หน้ามุขวิหารหลวง ประดับด้วยรูปนารายณ์ทรงครุฑ

ปูนปั้นรูปนาคราชบริเวณเชิงบันได้ด้านหน้าวิหาร 

ภายในวิหารหลวง ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ (หลวงพ่อโต) พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ 
ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระประธานองค์เดิมของวิหารหลวงหลังเก่า 

พระศรีสรรเพชญ (หลวงพ่อโต) ภายในวิหารหลวง

วิหารลายคำ
เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่มีความสวยงามมาก สร้างในสมัยพญาแก้ว กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 11 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 2038-2068 วิหารลายคำ ได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อกันมาหลายสมัย ด้านหน้าอาคารมีหลังคาซ้อน 3 ชั้น ด้านหลังซ้อน 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ภายนอกตกแต่งด้วยไม้แกะสลักปิดทอง มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่บันไดด้านหน้าวิหาร และมีรูปสิงห์ปูนปั้น 2 ตัว อยู่ข้าง ๆ บันไดนาค

วิหารลายคำ และ รูปปั้นพญานาคและสิงห์หน้าวิหารลายคำ

องค์พระประธานที่ประดิษฐานภายในวิหารลายคำ คือ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อสำริดลงรักปิดทอง ลักษณะองค์อวบอ้วน พระอุระใหญ่ พระพักตร์กลมคล้ายผลมะตูม พระหนุเป็นรอยหยักกลม พระองคุลีไม่เสมอกัน เม็ดพระศกใหญ่ พระรัศมีเป็นต่อมกลมแบบบัวตูม พระกรขวาวางเหนือพระชานุ พระพุทธสิหิงค์ได้รับการยกย่องว่างดงามที่สุดในล้านนา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนามาแต่โบราณ เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาและสรงน้ำ

พระพุทธสิหิงค์ ภายในวิหารลายคำ

ผนังด้านหลังพระประธาน ทำลวดลายทองล่องชาด (การฉลุลายสีทองบนพื้นสีแดง) รูปกู่พระเจ้า มังกรจีน หงส์ และลายเมฆ อีกทั้งยังทำลวดลายทองล่องชาดบนเสากลางวิหาร และเสาระเบียงหน้าพระวิหารอีกด้วย

ส่วนผนังด้านซ้ายและขวามีจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่น เรื่องสังข์ทอง ตอนนางยักษ์พันธุรัตพบพระสังข์ จนถึงตอนที่เงาะป่ากำลังไปทำภารกิจของท้าวสามนต์ในการหาปลา 100 ตัว และเรื่องสุวรรณหงส์ ตั้งแต่ตอนที่พระสุวรรณหงส์เสด็จฯ ตามว่าวไปจนถึงปราสาทที่นางเกศสุริยงอยู่ จนถึงตอนที่ยักษ์กุมภัณฑ์ช่วยพระสุวรรณหงส์จากนางผีเสื้อน้ำที่แปลงเป็นเกศสุริยง

จิตรกรรมฝาผนังภายในในวิหารลายคำ

พระอุโบสถสองสงฆ์ 
ตั้งอยู่ระหว่างวิหารหลวงและพระธาตุเจดีย์ ตามหลักศิลาจารึก กล่าวว่า สร้างในสมัยพระเจ้ากาวิละและเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ในสมัยนั้น พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา ครึ่งปูนครึ่งไม้ มุงกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้า ใบระกา มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซุ้มประตูตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ด้านบนเป็นหน้าต่างขนาดใหญ่ตีเป็นช่องแบบไม้ระแนง แต่ภายในเป็นหน้าต่างจริง ที่เรียกว่าพระอุโบสถสองสงฆ์ เป็นการสร้างเพื่อจำลองการทำสังฆกรรมของพระภิกษุและพระภิกษุณี


ภายในพระอุโบสถสองสงฆ์มีซุ้มปราสาทตั้งอยู่ตรงกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน คือ พระเจ้าทองทิพย์ พระพุทธรูปที่คล้ายพระสิงห์ ชาวบ้านเรียกว่า “พระสิงห์น้อย” สร้างด้วยทองแดง นากและทองคำ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 9 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1984-2030 โปรดให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2020 ภายในอุโบสถยังรายล้อมด้วยรูปจำลองเกจิอาจารย์ต่าง ๆ

พระธาตุหลวง หรือพระมหาเจดีย์ 
สร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มการสร้างวัดในสมัยพญาผายู จากนั้นได้รับการปฏิสังขรณ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ในสมัยของพญากือนา กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 6 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1898-1928 องค์พระธาตุหลวงเป็นเจดีย์ช้างล้อม ทรงระฆังกลมแบบพื้นเมืองล้านนา ฐานล่างมีช้างปูนปั้นประดับอยู่ ด้านละ 3 เชือก รวมทั้งหมด 12 เชือก ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุส่วนข้อมือเบื้องซ้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปี พ.ศ. 2469 องค์พระธาตุหลวงได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยครูบาศรีวิชัย เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์  


พระธาตุหลวงองค์ปัจจุบัน ที่ฐานพระธาตุมีช้างปูนปั้น ด้านละ 1 เชือก นอกจากเป็นพระธาตุหลวงที่เก่าแก่แล้ว ยังเป็นพระธาตุหนึ่งใน 12 นักษัตรประจำปีมะโรงหรือปีงูใหญ่ ตามคติของชาวล้านนา มีความเชื่อว่า ผู้เกิดปีมะโรง หากมีโอกาสได้มานมัสการจะเป็นมงคลอันสูงสุดในชีวิต รอบๆ องค์พระธาตุหลวง มีการสร้างเจดีย์เจดีย์ล้อมรอบ อีก 3 องค์ แต่ละองค์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ

พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือวิหารพระนอน 
ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้นเก่าแก่สีทอง นอนหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2094 และได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ทั้งในสมัยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตฺตสิวมหาเถร) ปี พ.ศ. 2493 พระธรรมสิทธาจารย์ (หนู ถาวรมหาเถร) ปี พ.ศ. 2537 และพระราชสิงหวรมุนี (โสภณ โสภโณ) ปี พ.ศ. 2554 อดีตเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์


พระวิหารพระพุทธไสยาสน์

หอไตร 
เป็นโบราณสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์และหีบธรรม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2354 ในสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 (พ.ศ. 2325-2358) ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2460 ด้วยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาที่มีความงดงาม ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมและวัฒนธรรม เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ผนังตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นเทวดา 16 องค์ ในอิริยาบถแตกต่างกัน บริเวณท้องไม้ประดับด้วยรูปปั้นสัตว์หิมพานต์อยู่ในกรอบทรงสี่เหลี่ยม 75 ตัว  ชั้นบนสร้างด้วยไม้ ผนังด้านข้างเป็นฝาลิ้นปิดทึบ มีลวดลายปูนปั้นลงรักปิดทอง ประดับกระจกด้วยรูปดอกจันทน์ 8 กลีบ ประตูทางเข้ามีซุ้มโขง มีลวดลายปูนปั้นประดับ

หอไตร

พระสถูปพญาคำฟู (เจดีย์หรือกู่พญาคำฟู) 
พญาคำฟูทรงเป็นกษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 4 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1877-1879 หลังจากสวรรคต พญาผายูพระราชโอรส ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ องค์ที่ 5 พระองค์โปรดให้สร้างเจดีย์องค์หนึ่ง เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระบิดา ในปี พ.ศ. 1888 ต่อมา ในปี 2088 เจดีย์หักพังลงมาเพราะแผ่นดินไหว จึงได้รับการบูรณะ ซ่อมแซม จากนั้นมา เมื่อมีการปฏิสังขรณ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ ในวัดพระสิงห์ พระสถูปพญาคำฟู ก็ได้รับการบูรณะด้วยเช่นกัน

รูปพระสถูปพญาคำฟู

นอกจากนี้ ภายในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น อนุสาวรีย์พญามังราย ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา และพญาผายู ผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระสิงห์ ศาลาพระเจ้าทันใจที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ หอระฆัง กู่สีขาวสร้างติดกับด้านหลังของวิหารลายคำ มีพระพุทธรูปประดิษฐาน 3 ด้าน ๆ ละ 1 รูป ฯลฯ


เรียบเรียง/ภาพประกอบ :
ณิชากร เมตาภรณ์

อ้างอิง :
• ประวัติพระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่. (2563, 29 เมษายน). Kachon. https://historyoftemples.kachon.com/353648
• ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. (2562, 14 พฤษภาคม). วัดพระสิงห์. The Cloud. https://readthecloud.co/wat-phra-singh
• พงศกร แก้วกระจ่าง. (2559, 7 กันยายน). วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร. สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์. https://www.asaconservationaward.com/index.php/temple2544/192-wihan-lai-kham
พญาผายู. (2566, 24 มีนาคม). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/พญาผายู
พญาแสนเมืองมา. (2566, 24 มีนาคม). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/พญาแสนเมืองมา
• รายพระนามพระมหากษัตริย์ล้านนา. (2566, 24 มีนาคม). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/รายพระนามพระมหากษัตริย์ล้านนา
วัดพระสิงห์วรวิหาร. (ม.ป.ป.).Thailand Tourism Directory. https://www.thailandtourismdirectory.go.th/attraction/5166
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร. (2557). วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร [แผ่นพับ]. ครองช่างพริ้นติ้1 จำกัด. 
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร. (2566, 5 กันยายน). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร. (2567). พระธาตุประจำนักษัตรปีมะโรง [จุลสาร]. (ม.ป.พ.)
• วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ ไหว้พระพุทธสิหิงค์และพระธาตุประจำปีมะโรง. (2566, 27 ตุลาคม). kapook. https://travel.kapook.com/view274263.html
• Point of View. (2564, 3 เมษายน). เปิดคำทำนายลึกลับ 600 ปี วัดพระสิงห์ เชียงใหม่. [วีดิโอ]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=WiGJzTBm8P0
• SummerB. (2564, 26 พฤษภาคม). วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ที่เที่ยวเชียงใหม่ ชมหอธรรมสุดวิจิตร ศิลปะแบบล้านนา. tureID.  https://travel.trueid.net/detail/2BQrzRpKw59x