ซึ่งหมายถึง วัดแห่งสวนดอกไม้ ต่อมานิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดสวนดอก” โดยที่พระมหาสุมนเถระได้อยู่บำเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติปกครองวัดสวนดอก เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
หลังจากสิ้นราชวงศ์มังราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจของพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดสวนดอก จึงกลายสภาพเป็นวัดร้าง ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 (พ.ศ. 2325-2358)
ได้บูรณะวัดให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น ภายหลังจากทรงกู้เอกราชสำเร็จ
ได้บูรณะวัดให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น ภายหลังจากทรงกู้เอกราชสำเร็จ
เมื่อปี พ.ศ. 2509 รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของวัดสวนดอก จึงส่งเสริม สนับสนุนและยกย่องชมเชย พร้อมกับยกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 วัดสวนดอกได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เก่าแก่และสวยงาม ได้แก่
พระวิหารหลวง
ในปี พ.ศ. 2474 พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี และประชาชนได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัย มาเป็นประธานในการก่อสร้าง ซึ่งเป็นวิหารหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาจำนวน 56 ต้น มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นวิหารที่ไม่มีผนังปิดทึบเหมือนวิหารโดยทั่วไป มีเพียงเหล็กดัดเป็นรูปลายแบบศิลปะล้านนา หน้าบันทั้งสองด้านมีลายปูนปั้นแบบเครือเถาที่สวยงาม พระวิหารหลวงวัดสวนดอกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
พระวิหารหลวง
พระเจ้าค่าคิง
พระประธานในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สร้างในปี พ.ศ. 1916 สมัยพญากือนา หล่อด้วยทองสำริดขนาดเท่าพระวรกายของท่าน ตามตำนานล้านนากล่าวว่า สร้างขึ้นโดยบัญชาของพระราชมารดา เมื่อครั้งพญากือนาทรงประชวรหนัก พระเจ้าค่าคิง
ด้านหลังของพระเจ้าค่าคิง มีพระพุทธรูปยืนหันหลังชนกัน ส่วนทางด้านซ้ายและด้านขวาขององค์พระประธาน มีรูปหล่อของพระมหาสุมนเถระและครูบาศรีวิชัยขนาดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่
รูปหล่อพระมหาสุมนเถระและครูบาศรีวิชัยภายในวิหารหลวง
พระเจดีย์ใหญ่ หรือพระบรมธาตุเจดีย์
ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวง สร้างขึ้นในสมัยพญากือนา ปีเดียวกับที่สร้างวัดสวนดอก เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย แต่เดิมเป็นเจดีย์แบบสุโขทัย ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะลังกาวงศ์ผสมล้านนา ลักษณะฐานสี่เหลี่ยม มีทางขึ้น 4 ด้าน สูง 24 วา ชั้นกลางลักษณะระฆังคว่ำ และสร้างเจดีย์บริวารอีกเจ็ดองค์ รอบบริเวณเจดีย์ใหญ่ ปัจจุบันพระเจดีย์ได้รับการบูรณะใหม่และหุ้มแผ่นทองจังโก คือการปิดทองคำเปลวแบบล้านนาพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาล้อมรอบด้วยเจดีย์บริวาร ปัจจุบัน (มิถุนายน 2567) อยู่ระหว่างการบูรณะซ่อมแซม
ซุ้มประตูวัด
เป็นซุ้มประสาทแบบล้านนาขนาดใหญ่ จำนวน 3 ซุ้ม อยู่บริเวณกำแพงวัดทางทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือ ด้านละ 1 ซุ้ม สร้างขึ้นเมื่อครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดสวนดอกเมื่อปี พ.ศ. 2474
ซุ้มประตูวัด
พระเจ้าเก้าตื้อ
เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่และงดงามที่สุดองค์หนึ่งในศิลปะล้านนา หล่อด้วยทองสำริด หนัก 9 ตื้อ (“ตื้อ” เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนึ่งโกศตำลึง หรือเท่ากับ 1,000 กิโลกรัม พระเจ้าเก้าตื้อ จึงหมายถึง พระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะหนัก 9,000 กิโลกรัม) พญาแก้ว หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งอาณาจักรล้านนาจาก ราชวงศ์มังราย ครองเมืองระหว่าง ปีพ.ศ. 2038-2068 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง วัดพระสิงห์เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ปางมารวิชัย ประทับบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง เมื่อหล่อเสร็จแล้วองค์พระมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ พญาแก้วจึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เพื่อสร้างพระวิหาร และพระราชทานชื่อว่า “วัดเก้าตื้อ” และต่อมาได้รวมเป็นวัดเดียวกับวัดสวนดอก
พระเจ้าเก้าตื๊อ
กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ
กู่เจ้าหน้าฝ่ายเหนือ หรือสุสานราชตระกูล ณ เชียงใหม่ "กู่" เป็นภาษาถิ่นเหนือ หมายถึง สถูปหรือโกฎิ กู่ที่วัดสวนดอก เป็นที่บรรจุอัฐิอดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระประยูรญาติในตระกูล ณ เชียงใหม่ และผู้สืบเชื้อสายสกุลเจ้าเจ็ดตน
เมื่อคราวที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2451 ได้มีพระดำริรวบรวมพระอัฐิอดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และพระญาติในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งขณะนั้นประดิษฐานกระจัดกระจายใกล้ฝั่งแม่น้ำปิง (ปัจจุบันคือ บริเวณตลาดวโรรส แถวตรอกข่วงเมรุ) ในฤดูฝนจะมีน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ และทรงเห็นว่าวัดสวนดอกมีอาณาบริเวณกว้างขวาง น่าจะนำพระอัฐิดังกล่าวมาประดิษฐานไว้ที่เดียวกัน ณ บริเวณลานของวัดสวนดอก เมื่อก่อสร้างกู่เรียบร้อยแล้วในปี พ.ศ. 2452 จึงอัญเชิญพระอัฐิของพระญาติผู้ใหญ่มาประดิษฐานไว้เป็นปฐม ทั้งนี้ พระองค์ได้ให้การทำนุบำรุงมาโดยตลอด เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ได้มีการแบ่งพระอัฐิมาประดิษฐานไว้บริเวณเดียวกันจนทุกวันนี้ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือได้รับการจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
กู่บรรจุพระอัฐิเจ้านายฝ่ายเหนือ
กู่ครูบาศรีวิชัย
เป็นสถานที่บรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2490 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในคราวที่ครูบาศรีวิชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสวนดอก เมื่อปี พ.ศ. 2474-2475 และเพื่อเป็นที่สักการะบูชาของทธศาสนิกชนทั่วไป
กู่บรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย
เรียบเรียง/ภาพประกอบ :
ณิชากร เมตาภรณ์
อ้างอิง :
• วัดสวนดอก. Thailand Tourism Directory. https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/3307
• อาบแสงจันทร์ ต. (2563, 12 มีนาคม). วัดสวนดอก. tureID. https://travel.trueid.net/detail/Amz99dkOL946
• วัดสวนดอก (จังหวัดเชียงใหม่). (2567, 2 มิถุนายน). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/วัดสวนดอก_(จังหวัดเชียงใหม่)
• พระเจ้าเก้าตื้อ. (2565, 20 กันยายน). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าเก้าตื้อ
• รู้จักตำนาน "วัดบุปผาราม" หรือวัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ เป็นมาอย่างไร จวบจนปัจจุบัน. (2562, 16 พฤศจิกายน). Line Today. https://today.line.me/th/v2/article/8Pa65V
• วัดสวนดอก. มิวเซียมไทยแลนด์. https://www.museumthailand.com/th/3867/storytelling/วัดสวนดอก/
• วัดสวนดอก เชียงใหม่. ธรรมะไทย. https://www.dhammathai.org/watthai/dbview.php?No=171
• พระเจ้าเก้าตื้อ : พระพุทธรูปสำคัญของล้านนา. (2565, 5 พฤษจิกายน). ประวัติศาสตร์. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/history/article_16294
• เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่. (2565, 24 เมษายน). สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. https://www.cuartculture.chula.ac.th/news/10925/
• เอิงเอย. (2564, 2 มกราคม). ไหว้พระ วัดสวย วัดสวนดอก เชียงใหม่ สักการะพระบรมสารีริกธาตุ เสริมสิริมงคล. tureID. https://travel.trueid.net/detail/2x4aeJN7Z7RV