ภาพโดย : กรมศิลปากร
จาก UNESCO World Heritage convention. whc.unesco.org/en/documents/192160
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วน คือ พื้นที่เมืองโบราณศรีเทพ และพื้นที่นอกเมืองโบราณศรีเทพพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพ
พื้นที่เมืองโบราณศรีเทพ
เมืองโบราณศรีเทพ
เป็นเมืองที่มีคูเมืองและกำแพงเมืองล้อมรอบ มีพื้นที่รวมประมาณ 2,889 ไร่ หรือประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองโบราณที่ยังคงรักษารูปแบบแต่เดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ไม่ค่อยพบในเมืองอื่นในยุคเดียวกัน คือ มีการแบ่งพื้นภายในเมืองออกเป็น 2 ส่วน “เมืองใน” และ “เมืองนอก”
แผนผังเมืองโบราณศรีเทพ
- เมืองใน มีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ หรือประมาณ 1.87 ตารางกิโลเมตร ลักษณะผังเมืองค่อนข้างกลม ภายในตัวเมืองในมีโบราณสถานสำคัญ ซึ่งมีขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และเขาคลังใน นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานขนาดเล็กตั้งกระจายตัวอยู่อีก จำนวน 45 แห่ง สระน้ำโบราณขนาดใหญ่และเล็กกระจายตัวอยู่ทั่วไปราว 70 แห่ง ปัจจุบันพื้นที่ในเขตเมืองในได้รับการพัฒนาแล้ว และเป็นพื้นทีที่เปิดให้นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และประชาชน เข้าเที่ยวชมได้
- เมืองนอก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีคูเมืองและกำแพงเมืองล้อมรอบทุกด้าน ยกเว้นด้านที่เชื่อมต่อกับเมืองใน มีพื้นที่ประมาณ 1,589 ไร่ หรือ 2.83 ตารางกิโลเมตร ทำให้ผังเมืองศรีเทพเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ภายในตัวเมืองนอกพบโบราณสถานขนาดเล็ก ราว 54 แห่ง มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่กลางเมืองค่อนไปทางทิศเหนือ พื้นที่บางส่วนชาวบ้านยังใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
พื้นที่นอกเมืองโบราณศรีเทพ
นอกคูเมืองกำแพงเมืองโบราณ มีการสำรวจพบโบราณสถานอีกจำนวน 50 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศเหนือของเมือง โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ เขาคลังนอก ปรางค์ฤๅษี กลุ่มเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว สระน้ำโบราณขนาดใหญ่ส่วนทางด้านทิศตะวันตกนอกเมืองโบราณศรีเทพห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ศาสนสถานสมัยทราวดีที่ เขาถมอรัตน์ เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะซึ่งใช้เป็นจุดสังเกตในการเดินทางที่สำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยบริเวณเชิงเขาเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือและกำไลหินที่สำคัญ ต่อมาในสมัยทวารวดีได้มีการดัดแปลงถ้ำหินปูนที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแบบมหายาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14
โบราณสถานที่สำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
เขาคลังใน
ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองใน เป็นศาสนสถานสำคัญประจำเมือง อาคารประธานมีขนาดใหญ่ ก่อสร้างตามแบบวัฒนธรรมทวารวดีด้วยศิลาแลง ฉาบปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก เขาคลังในมีเอกลักษณะความโดดเด่นที่แตกต่างจากโบราณสถานในวัฒนธรรม
ทวาราวดีแห่งอื่น ๆ คือ ประติมากรรมรูปคนแคระประดับที่ฐานของอาคารที่มีศีรษะเป็นบุคคลหรือสัตว์ ต่าง ๆ สลับกับรูปสัตว์ประกอบลายพันธ์พฤกษา ซึ่งยังคงหลงเหลือประดับอยู่บริเวณฐานด้านทิศใต้และตะวันตก นอกจากอาคารประธานแล้ว รอบ ๆ ยังพบฐานเจดีย์ราย วิหาร และอาคารขนาดเล็กหลายแห่ง เขาคลังในสร้างขึ้นสมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิหินยาน ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 จนเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18
ปรางค์สองพี่น้อง
ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองใน เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะเขมรโบราณ ประกอบด้วยด้วยปราสาทสององค์ ปราสาทประธาน มีผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง ส่วนเรือนธาตุก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนปราสาทองค์เล็กตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ ซึ่งสร้างขึ้นเพิ่มเติมอยู่บนฐานเดียวกัน ปราสาททั้งสองส่วนยอดพังทลายไปแล้ว นอกจากนี้ยังพบแนวทางเดินและอาคารขนาดเล็กสำหรับประกอบพิธีกรรมอีกหลายหลัง จากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบประติมากรรมรูปพระสุริยเทพ ศิวลึงค์ ฐานโยนี รูปโคนนทิ และทับหลังจำหลักรูป "อุมามเหศวร" ศิลปะแบบบาปวน-นครวัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู และต่อมาได้รับการดัดแปลงให้เป็นพุทธสถานแบบมหายานจาก UNESCO World Heritage Convention https://whc.unesco.org/en/documents/192155
ภาพโดย ธนากร หน่อแก้ว และ บุษษา มาลินีกุล
ปรางค์ศรีเทพ
ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองใน เป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางด้านตะวันตกในแนวแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบโดยเฉพาะทับหลังทำให้อนุมานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ลัทธิไศวนิกาย ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ต่อมามีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลงเพื่อใช้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายานแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1760) เช่นเดียวกันกับปรางค์สองพี่น้อง
ปรางค์ศรีเทพ ภาพโดย บุษบา มาลินีกุล
เขาคลังนอก
เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่แบบวัฒนธรรมสมัยทวารวดีเช่นเดียวกับเขาคลังใน ตั้งอยู่ในพื้นที่นอกเมืองโบราณศรีเทพ ทางด้านทิศเหนือ ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นมหาสถูป มีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลงที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประดับตกแต่งฐานด้วยอาคารจำลองขนาดต่าง ๆ อยู่โดยรอบ ภายในทึบตัน มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน มีสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ด้านบนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและซุ้มประตู สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับโบราณสถานเขาคลังในที่ตั้งอยู่ภายในเมือง คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เขาคลังนอกเป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์มากที่สุดในบรรดาศาสนสถานที่ร่วมสมัยเดียวกันปรางค์ศรีเทพ ภาพโดย บุษบา มาลินีกุล
ปรางค์ฤาษี
ตั้งอยู่นอกเมืองโบราณศรีเทพ ทางด้านทิศเหนือ ห่างออกไปราว 3 กิโลเมตร เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดไม่สูงนัก และมีอาคารขนาดเล็กในบริเวณเดียวกัน ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง พบโบราณวัตถุในศาสนาฮินดู ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานประติมากรรม และชิ้นส่วนโคนนทิ สันนิษฐานว่าปรางค์ฤาษีน่าจะมีอายุเก่ากว่า หรือร่วมสมัยกับโบราณสถานปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16ปรางค์ฤาษี ภาพโดย บุษบา มาลินีกุล
ถ้ำเขาถมอรัตน์
บริเวณนอกเมืองโบราณศรีเทพทางด้านทิศตะวันตก ห่างออกไปประมาณ 20กิโลเมตร มีภูเขาขนาดใหญ่คือเขาถมอรัตน์ ภายในถ้ำบนภูเขา มีภาพสลักนูนต่ำเป็นภาพพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ซึ่งสร้างขึ้นตามความเชื่อของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ลักษณะศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 ได้แก่ภาพพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับยืนแสดงธรรมอยู่บนฐานรูปดอกบัว พระโพธิสัตว์สี่กร สถูปและธรรมจักร ส่วนเศียรและพระหัตถ์ของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เคยถูกสกัดออกไป ต่อมาติดตามกลับคืนมาได้ ปัจจุบันนำไปจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพสลักนูนต่ำ ในถ้ำเขาถมอรัตน์
เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก นับเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 4 ในประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ "เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments)" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่กรุงรียาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์พิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก 2 ข้อ ดังนี้
(ii) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
(iii) เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ
อ้างอิง :
• กรมศิลปากร. (2550). อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977).
• กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. https://www.finearts.go.th/main/view/8207-อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
• พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง. http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/sithep/index.php/th/about-us.html
• The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments. UNESCO World Heritage Convention. https://whc.unesco.org/en/list/1662