ชนเผ่า "มละบริ"

ความเป็นมาของชนเผ่ามละบริ

มละบริเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในภาคเหนือ เป็นชนเผ่าที่เร่รอนมีอาชีพล่าสัตว์และหาของป่า มีความรักความผูกพันกับป่าและมักเดินทางข้ามไปมาระหว่างเทือกเขาต่าง ๆ เพื่อรอเวลาให้ป่ากลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แล้วจึงวนกลับมาที่เดิมก่อนจะเร่ร่อนต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น 

คนทั่วไปไม่คุ้นเคยกับคำว่า “มละบริ” ส่วนใหญ่จะรู้จักคนกลุ่มนี้ในนามของ “ผีตองเหลือง” เนื่องจากที่พักอาศัยทำจากใบตองหรือไม้ต่าง ๆ และมีการย้ายที่พักและพื้นที่หาอาหารอยู่เสมอ เมื่อมีคนอื่นเข้าไปใกล้ มละบริจะกลัวและหลบหนีเข้าป่าอย่างรวดเร็ว ทำให้คนทั่วไปเห็นแต่เพิงพักที่อาศัยที่ทำด้วยใบตองที่แห้งเหี่ยวและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแต่ไม่พบคน จึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ผีตองเหลือง” การเรียกชื่อนี้คนมละบริไม่ชอบ แต่ให้เรียกตองเหลืองก็ไม่เป็นไร แต่ห้ามเรียกว่า “ผีตองเหลือง” เพราะพวกเขาไม่ใช่ผี
 

เมื่อชนเผ่ามละบริไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในป่าได้ เพราะพื้นที่ป่าเริ่มไม่มีพื้นที่ให้อาศัยอยู่ ประกอบกับของป่าก็เริ่มหาได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องลงมาพบปะกับผู้คนในหมู่บ้าน แม้จะมีความกลัวแต่ก็ต้องย้ายลงมา คนกลุ่มแรกที่ชาวเผ่ามละบริพบก็คือชนเผ่าม้ง โดยจะนำเผือก มัน หรือของป่ามาแลกของกับชนเผ่าม้ง สิ่งของที่ชนเผ่ามละบริต้องการ ได้แก่ ข้าว ปลา อาหาร มีด หรือเครื่องนุ่งห่ม ชนเผ่ามละบริก็ถูกจ้างให้ใช้งานในไร่สวน โดยมีข้าวปลาอาหารเป็นสิ่งตอบแทนเป็นมื้อเป็นวันไป หรือบางครอบครัวเมื่อรับงานจ้างทำงานนาน ๆ ก็จะได้สัตว์เลี้ยง เช่น หมูตัวเล็กมาเลี้ยง

ลักษณะทางสังคมและครอบครัว
ชนเผ่ามละบรินิยมอยู่กันเป็นครอบครัว เมื่อลูก ๆ แต่งงานก็จะแยกบ้านออกไป สมัยก่อนชนเผ่ามละบริมีลูกมาก บางคนมีมากถึง 10 คน เนื่องจากไม่รู้วิธีคุมกำหนด ลูกชายเมื่อแต่งงานมีครอบครัวแล้ว จะย้ายออกไปสร้างบ้านใหม่อยู่อีกหลังหนึ่ง ส่วนลูกสาวเมื่อแต่งงานมีครอบครัวก็จะย้ายไปอาศัยอยู่กับฝ่ายชาย แต่ถึงแม้จะย้ายออกไปอยู่บ้านอีกหลังหนึ่งทั้งลูกชายและลูกสาวก็ยังช่วยเหลือดูแลพ่อและแม่ของตนเองอยู่สม่ำเสมอ

ลักษณะที่อยู่อาศัย

ยุคแรก เมื่อ 70-80 ปีก่อน ที่พักอาศัยของชนเผ่ามละบริเป็นเพิงหมาแหงน ใช้เสาไม้เล็ก ๆ 4-6 ต้น เป็นไม้ง่ามทำง่าย ๆ มุงด้วยใบตองกล้วยป่า ใบก้อ ใบต๋าว ใบกุ๊ก ผู้ชายทำหน้าที่ล่าสัตว์ เฝ้าระวังอันตรายจากสัตว์ร้าย และอื่น ๆ ส่วนผู้หญิงจะสร้างบ้าน หาน้ำ หาฟืน ขุดดิน ทำอาหาร เลี้ยงดูเด็ก ๆ
มีจำนวนครอบครัวประมาณ 2-3 ครอบครัว มากที่สุด 5 ครอบครัว

ยุคที่ 2 มีลักษณะเป็นตูบ (เพิง) มีแง๊บกันแดดกันฝน มีครอบครัวเพิ่มมากขึ้น 5-10 ครอบครัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่รวมกันกับญาติพี่น้อง


ยุคที่ 3  ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นตูบ (เพิง) ยกพื้นประมาณ 50-60 เซนติเมตร เริ่มหาของป่า และหัตถกรรมนำไปแลกเสื้อผ้า และเหล็กแหนบสำหรับตีมีด หอก และเสียม

ยุคที่ 4  ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นบ้านปิดล้อมสี่ด้านด้วยฟากไม้ไผ่ เป็นยุคทำงานรับจ้างเผ่าม้ง เผ่าเย้า คนพื้นเมือง เพื่อแลกหมู ข้าวสาร โดยจะทำตั้งแต่การถางไร่ จนถึงการเก็บเกี่ยว มละบริจะถูกเอารัด
เอาเปรียบจากนายจ้างแต่ก็ต้องยอม

วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อ
ชนเผ่ามละบริ มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าภูตผี วิญญาณ ป่าเขา หรือธรรมชาติ สัตว์ป่า เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ก็จะมีการทำพิธีเรียกขวัญ หรือทำพิธีขอขมายังที่ที่คิดว่าเขาได้ไปล่วงเกินหรือลบหลู่ ซึ่งจะมีผู้เฒ่าผู้แก่ทำห่วงกลม ๆ โดยใช้ไม่ไผ่หลายห่วงมารวมกันแล้วไปทำพิธีบริเวณนั้น และจะมีการกล่าวบทสวดเล็กน้อย เมื่อคนไม่สบายป่วยหนักลุกไปไหนไม่ไหว ก็จะมีผู้เฒ่าผู้แก่ใช้ยาสมุนไพรรักษาให้ หรือบางทีก็ใช้คาถาเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากร่างกาย โดยคาถาทีใช้จะเป็นภาษาของชนเผ่ามละบริเอง แต่ในปัจจุบันการรักษาโดยการใช้ยาสมุนไพรยังพอมีอยู่บ้าง แต่ก็น้อยลงเนื่องจากส่วนใหญ่จะเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ส่วนเรื่องการใช้คาถาอาคมในการรักษาเมื่อผู้รู้คนเก่าหรือภูมิปัญญา เสียชีวิตไปก็ไม่ได้มีการสอนหรือสืบทอดต่อมายังลูกหลาน ทำให้สิ่งเหล่านี้ได้เลือนหายไปด้วย

ลักษณะการแต่งกาย
การแต่งกายของชนเผ่ามละบรินั้น ในสมัยก่อนจะใช้เปลือกปอมาปกปิดร่างกายและเพื่อความอบอุ่น โดยจะลอกเปลือกต้นปอมาทุบให้ละเอียด นำไปตากให้แห้ง แล้วนำมาทำเป็นเครื่องแต่งกายของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จะไม่มีการนำไปตองมาทำเป็นเครื่องแต่งกายอย่างที่สังคมเข้าใจ เนื่องจากใบตองฉีกขาดง่าย แต่จะใช้ใบตองสำหรับทำเพิงพักเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันชาวมละบริส่วนใหญ่ก็ใส่เสื้อผ้าเหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีการแต่งกายแบบดั้งเดิมให้เห็น จะมีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านบางคนเท่านั้น


การเกิด (คลอดลูก)
เมื่อผู้หญิงในเผ่าใกล้จะคลอดลูก ก็จะไปคลอดยังที่ที่หางจากที่อยู่อาศัย โดยจะมีหญิงที่เป็นหมอตำแยในเผ่าไปช่วยทำคลอดให้ ส่วนผู้ชายจะห้ามไม่ให้เข้าไปหรือเข้าใกล้ ระหว่างที่ผู้หญิงกำลังคลอดลูกนั้น ผู้ชายก็จะออกไปหาอาหารในป่า เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วก็จะใช้เสี้ยนไม้ที่แหลม ๆ ตัดสะดือของเด็ก จากนั้นก็ใช้ใบตองหรือเปลือกปอที่เตรียมไว้ห่อตัวเด็ก ส่วน “รก” ของเด็กก็จะถูกฝังไว้ในดิน จากนั้นแม่ก็จะอุ้มเด็กกลับไปยังที่พักอาศัย เมื่อผู้หญิงคลอดลูกเสร็จไม่มีการอยู่ไฟหลังคลอด จะทำงานเบา ๆ เช่น ตักน้ำ ทำอาหาร ประมาณ 2-3 วัน ก็สามารถออกไปทำงานหนักหรือเดินทางไปไกล ๆ ได้ และเป็นที่สังเกตคือ ชนเผ่ามละบริส่วนใหญ่ต้องการเด็กที่คลอดเป็นเด็กผู้ชาย

การแต่งงาน
ชนเผ่ามละบริในสมัยก่อนไม่มีการทำพิธีกรรมเวลาหนุ่มสาวจะแต่งงานกัน หากว่าหนุ่มสาวชอบรักกันชอบกัน ทางฝ่ายชายก็จะพาพ่อแม่มาพูดคุยเจรจากับพ่อแม่ฝ่ายหญิง เมื่อครอบครัวของทั้งสองฝ่ายรับรู้และต่างตกลงปรงใจ

ปัจจุบันพื้นที่ที่ชนเผ่ามละบริอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งถาวร คือ บ้านห้วยฮ่อมพัฒนา ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ บ้านท่าวะ ตำบลสะเอียด ตำบลบ้านเวียง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ บ้านห้วยหยวก ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน และชุมชนห้วยลู่ ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน


เรียบเรียง:
วราพรรณ  พูลสวัสดิ์  ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง:
• กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. ภาษามละบริ. วารสารวัฒนธรรม. http://article.culture.go.th/index.php/layouts-modules-positions/3-column-layout-8/233-2020-12-18-08-47-31
• โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองชายขอบและเปราะบางที่สุดในประเทศไทย. ชนเผ่าพื้นเมืองมละบริ. https://mlabri.thaiipportal.info/ชนเผาพนเมองมละบร
• ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชนเผ่ามละบริ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา. (2553). มละบริ [จุลสาร]. น่าน: กศน.อำเภอบ่อเกลือ