เทคโนโลยี Blockchain อนาคตของการทำธุรกรรม

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำอย่างรวดเร็ว หนึ่งในนวัตกรรมที่โดดเด่นและมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลกดิจิทัลอย่างสิ้นเชิง คือ “บล็อกเชน (Blockchain)” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลายคนเชื่อว่าจะสามารถปฏิวัติหลายอุตสาหกรรมและการดำเนินชีวิตของเราได้

Blockchain คืออะไร ?
Blockchain เป็นระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ที่มีความปลอดภัยและโปร่งใส โดยที่ข้อมูลจะถูกบันทึกอยู่ใน “บล็อก (Block)” แต่ละบล็อกจะถูกเชื่อมต่อกันเป็น “ห่วงโซ่ (Chain)” ซึ่งทำให้ข้อมูลไม่สามารถถูกแก้ไขหรือปลอมแปลงได้ง่าย ๆเพราะทุกคนจะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูล
ส่งผลให้ Blockchain เป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง


จุดเริ่มต้นของบล็อกเชน
บล็อกเชน ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2535 ในรูปแบบเอกสารงานวิจัยระบบรักษาความปลอดภัยด้วยห่วงโซ่ของบล็อกที่มีการเข้ารหัสลับ (Chain of cryptographically secured blocks) โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ในช่วงวิกฤตเศษฐกิจครั้งใหญ่ที่เราเรียกว่า Global Financial Crisis มีบุคคลนิรนามผู้หนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Satoshi Nakamoto ได้ให้กำเนิดสิ่งที่เรียกว่าบิทคอยน์ (Bitcoin) ขึ้นมา

บิทคอยน์เป็นเงินดิจิทัลสกุลแรกในประวัติศาสตร์ที่ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้ ทุกคนสามารถถือเงินดิจิทัลและโอนเงินดิจิทัลหากันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใด ๆ อย่างเช่น ธนาคาร และที่สำคัญ มันไม่ได้ถูกสร้างหรือควบคุมโดยรัฐหรือองค์กรใด ๆ

หลักการทำงานของ ของ Blockchain
การทำงานของ Blockchain สามารถอธิบายได้ใน 3 ขั้นตอนหลัก:
  1. การสร้างธุรกรรม (Transaction Creation) เมื่อผู้ใช้ทำการสร้างธุรกรรม เช่น การโอนเงินหรือการทำข้อตกลง ข้อมูลของธุรกรรมจะถูกบันทึกในรูปแบบดิจิทัลและรอการยืนยัน
  2. การตรวจสอบและการยืนยัน (Verification and Validation) ธุรกรรมที่สร้างขึ้นจะถูกส่งไปยังเครือข่ายของผู้ใช้งาน (Nodes) แต่ละ Node จะตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมโดยใช้กฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เช่น การตรวจสอบว่าผู้ส่งมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำธุรกรรมหรือไม่
  3. การเพิ่มธุรกรรมลงในบล็อกและการเชื่อมต่อ (Block Addition and Linking) เมื่อธุรกรรมได้รับการยืนยัน ธุรกรรมนั้นจะถูกรวมเข้ากับธุรกรรมอื่น ๆ ที่ได้รับการยืนยันแล้วในบล็อกใหม่บล็อกใหม่จะถูกเพิ่มลงในห่วงโซ่โดยการเชื่อมต่อกับบล็อกก่อนหน้า ซึ่งทำให้เกิดห่วงโซ่ของบล็อก (Blockchain)
ประโยชน์ของ Blockchain
  1. ความปลอดภัยสูง การเข้ารหัสและการกระจายข้อมูลทำให้การทำธุรกรรมในบล็อกเชนมีความปลอดภัยสูง ข้อมูลไม่สามารถถูกแก้ไขหรือปลอมแปลงได้โดยง่าย ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบใหญ่ในการป้องกันการโกงและการละเมิดข้อมูล
  2. ความโปร่งใส ทุกการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นในบล็อกเชนจะถูกบันทึกและสามารถตรวจสอบได้อย่างเปิดเผย ทำให้เกิดความโปร่งใสที่สูงขึ้นในการดำเนินการของธุรกิจและองค์กร
  3. ลดความจำเป็นในการมีคนกลาง Blockchain สามารถลดหรือกำจัดความจำเป็นในการมีคนกลางหรือหน่วยงานกลางในการดำเนินธุรกรรม ทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้นและลดค่าใช้จ่าย
  4. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การใช้ Blockchain สามารถทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การโอนเงิน การจัดการสินทรัพย์ หรือการทำสัญญา มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การประยุกต์ใช้ Blockchain ในโลกปัจจุบัน
Blockchain มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในหลายๆ อุตสาหกรรม
  1. การเงินและการธนาคาร
    • การโอนเงินระหว่างประเทศที่รวดเร็วและมีค่าธรรมเนียมต่ำ
    • สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin และ Ethereum
  2. การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)
    • การติดตามและตรวจสอบที่มาของสินค้าเพื่อป้องกันการปลอมแปลง
    • การเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการผลิตและการจัดส่ง
  3. สุขภาพ (Healthcare)
    • การจัดเก็บและแบ่งปันข้อมูลผู้ป่วยอย่างปลอดภัยและเป็นส่วนตัว
    • การติดตามการใช้ยาจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค
  4. การจัดการทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์
    • การบันทึกและการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สินแบบดิจิทัล
    • การใช้ Smart Contracts ในการทำธุรกรรมที่ต้องการเงื่อนไขหลายขั้นตอน

ความท้าทายและอนาคตของ Blockchain
ถึงแม้ว่า Blockchain จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ
  1. ปัญหาด้านการขยายตัว (Scalability) ระบบ Blockchain อาจมีปัญหาในการรองรับปริมาณธุรกรรมที่สูงมาก
  2. การใช้พลังงานสูง (High Energy Consumption การประมวลผลและการยืนยันธุรกรรมบน Blockchain ต้องใช้พลังงานจำนวนมาก
  3. การรับรองมาตรฐานและกฎระเบียบ (Regulation and Compliance) เรื่องของกฎหมายและการรับรองมาตรฐานในแต่ละประเทศยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
อย่างไรก็ตาม อนาคตของ Blockchain ยังคงสดใส ด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และ
การปรับปรุงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ที่ถูกพัฒนาขึ้น และจะสร้างประโยชน์ในการใช้งานอย่างมหาศาล



เรียบเรียง :
สราวุธ เบี้ยจรัส  นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือภาคเหนือ

อ้างอิง :
เทคโนโลยีบล็อกเชนคืออะไร. aws. https://aws.amazon.com/th/what-is/blockchain/
• ณัฐพล ตันติวงศ์ไชยชาญ. Blockchain กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในวงการเงิน. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลhttps://www.depa.or.th/th/article-view/blockchain-change