แนวปฏิบัติที่ดี ตอนที่ 3 : การเขียนเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice)


จากบทความเรื่องแนวปฏิบัติที่ดี : ตอนที่ 2 แนวปฏิบัติที่ดีกับวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle : PDCA) ได้กล่าวถึงหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี อาจมีหัวข้อการนำเสนอแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหน่วยงาน/สถานศึกษาเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ควรต้องมีส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดี ดังนี้

ส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดี
1. ข้อมูลทั่วไป
2. ผลงาน/ระบบงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี (ดีอย่างไร How) ซึ่งอาจเขียนโดยการแยกเป็น 2 ส่วน คือ
2.1 ขั้นตอนการดำเนินงาน หรือ แผนภูมิ (Flow Chart) ของระบบงาน
2.2 วิธีการและนวัตกรรมที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) หรือ อาจเขียนเป็นขั้นตอนการดำเนินงานจนประสบผลสำเร็จเป็นผลงานที่ดีเลิศเป็นความเรียงก็ได้
3. ปัจจัยเกื้อหนุน (ดีเพราะอะไร What) หรือปัจจัยแห่งความสำเร็จ/ความภาคภูมิใจ และบทเรียนที่ได้รับ
4. ผลการดำเนินงาน (ดีเพียงใด Why) ทั้งนี้ ควรเน้นตัวชี้วัดสำคัญต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจใช้แผนภูมิ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานจนเกิดผลสำเร็จ และอาจมีแผนงานในอนาคตด้วยก็ได้

แนวทางการเขียนเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี
การนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี สามารถนำเสนอได้หลายรูปแบบ ในที่นี้จะขอนำเสนอตัวอย่างหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี ดังนี้

1. ชื่อผลงาน ให้ระบุชื่อผลงานแนวปฏิบัติที่ดี โดยควรใช้ชื่อที่น่าสนใจ มีความเฉพาะเจาะจง สะท้อนภาพรวมของผลงานแนวปฏิบัติที่ดี
2. ชื่อหน่วยงาน/สถานศึกษา/ศศช. ให้ระบุชื่อหน่วยงาน/สถานศึกษา/ศศช. ที่จัดทำแนวปฏิบัติที่ดี
3. ชื่อคณะทำงานพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดี ให้ระบุชื่อคณะบุคคลหรือบุคคลที่เป็นเจ้าของผลงานแนวปฏิบัติที่ดี
4. บทคัดย่อ ประเด็นที่สรุปในบทคัดย่อ ควรประกอบด้วย วัตถุประสงค์ของโครงการ/กิจกรรมที่เสนอเป็นผลงานแนวปฏิบัติที่ดี รูปแบบ/วิธีการดำเนินงาน ผลการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะ/แนวทางการพัฒนาต่อเนื่อง
5. ความสำคัญของ “แนวปฏิบัติที่ดี” ให้เขียนระบุเหตุผล/ความจำเป็นว่าทำไมต้องทำโครงการ/กิจกรรมนี้ และระบุสภาพปัญหา ความต้องการหรือเหตุผล ความจำเป็นที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน สถานศึกษา ชุมชนที่จะพัฒนา “แนวปฏิบัติที่ดี” ในด้านที่ระบุไว้ได้ชัดเจน มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา มีแนวทางแก้ปัญหาหรือการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน สถานศึกษา และชุมชน
6. วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน ให้ระบุวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน “แนวปฏิบัติที่ดี” อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม โดยระบุว่า เมื่อได้ทำโครงการ/กิจกรรมนี้แล้วเสร็จจะเกิดอะไรขึ้น หรือคาดหวังว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่เป็นผลจากการทำโครงการ/กิจกรรมนี้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียน สถานศึกษา ชุมชน โดยอาจเขียนเป็นข้อ ๆ
7. เป้าหมายของการดำเนินงาน ให้กำหนดเป้าหมายของการดำเนินงาน “แนวปฏิบัติที่ดี” อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียน สถานศึกษา ชุมชน
8. กระบวนการดำเนินงาน ให้ระบุกระบวนการหรือขั้นตอนในการดำเนินงาน  “แนวปฏิบัติที่ดี” ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมาย มีการนำเสนอเป็นรูปแบบ ( Model ) อย่างชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยอธิบายกระบวนการหรือขั้นตอนในการดำเนินงานตามรูปแบบที่กำหนดไว้ เช่น การดำเนินงานตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle : PDCA) เป็นต้น ในการเขียนอธิบายอาจกระทำได้ ดังนี้
8.1 เขียนอธิบายขั้นตอนการดำเนินงานโดยละเอียด เช่น ขั้นตอนที่ 1 เป็นขั้นตอนศึกษาอะไร ศึกษาหรือแบ่งกลุ่มศึกษาอย่างไร และดูผลจากอะไร โดยวิธีใด อย่างไร เป็นต้น หลังจากนั้น ให้อธิบายขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนที่ 4 ทำอย่างไรตามลำดับ
8.2 หากเป็นการทดลอง ให้เขียนวิธีการทดลอง โดยเรียงลำดับก่อนหลัง ใส่หมายเลขเป็นข้อ ๆ เขียนให้ได้ใจความต่อเนื่อง ชัดเจน กะทัดรัด อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่วกวน
8.3 บอกวิธีการหาข้อมูลว่าทำอย่างไร เช่น นำมาเขียนในรูปตาราง แผนภูมิ กราฟ ฯลฯ
9. ผลการดำเนินงาน ให้ระบุผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จว่าสามารถแก้ปัญหาและ/หรือพัฒนาผู้เรียนตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างไร
10. ประโยชน์ที่ได้รับ ให้ระบุผลสำเร็จของการดำเนินงานว่าก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งผู้เรียน สถานศึกษาและชุมชนอย่างไร
11. การเผยแพร่ ให้ระบุวิธีการที่ทำให้เห็นร่องรอยหลักฐานการเผยแพร่ผลงาน “แนวปฏิบัติที่ดี” และได้รับการยอมรับ
12. ปัจจัยความสำเร็จ ให้ระบุบุคคล/หน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการ รวมถึงทรัพยากรที่มาสนับสนุนให้งานประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
13. ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ ให้ระบุปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานแนวปฏิบัติที่ดี พร้อมทั้งข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา
14. แนวทางการพัฒนาต่อเนื่อง ระบุแนวทางการนำผลการดำเนินงาน/ผลงานแนวปฏิบัติที่ดีไปใช้หรือประยุกต์ใช้ หรือพัฒนาการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม หรือต่อยอดโครงการ/กิจกรรมตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ หรือโครงการ/กิจกรรมอื่น ๆ 
15. เอกสารอ้างอิง ให้ระบุแหล่งที่มาของข้อความที่ใช้อ้างอิง หรือข้อมูลที่ใช้ค้นคว้า ศึกษาหาข้อมูลที่นำมาใช้ประโยชน์ในการทำโครงการ/กิจกรรมนี้ สำหรับรูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิงที่ใช้ในการทำโครงการมีการเขียนได้หลายรูปแบบ เช่น ระบบนาม-ปี ระบบ APA เป็นต้น

สำหรับแนวทางการเขียนเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีในรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจมีการปรับหัวข้อการนำเสนอ ท่านสามารถนำแนวทางการเขียนจากตัวอย่างนี้ ไปปรับใช้ในการเขียนตามหัวข้อการนำเสนอที่หน่วยงาน/สถานศึกษากำหนด

หากพิจารณาส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดีเปรียบเทียบกับตัวอย่างหัวข้อการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีที่ยกมา จะเห็นได้ว่ามีส่วนประกอบสำคัญปรากฎอยู่ในตัวอย่างหัวข้อดังกล่าว ดังตาราง


การเขียนเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เป็นลักษณะของการเขียนเอกสารวิชาการประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการเขียนเอกสารวิชาการ เพื่อนำมาใช้ในการเขียนเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี นอกจากนี้ ผู้นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี ยังต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในเรื่องแนวทางการเขียนแนวปฏิบัติที่ดี ส่วนประกอบสำคัญของการเขียนแนวปฏิบัติที่ดี จึงจะทำให้แนวปฏิบัติที่ดีนั้นมีความถูกต้องตรงตามหลักวิชาการ

บทความที่เกี่ยวข้อง :
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. (2560). แนวทางการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice). บอยการพิมพ์.