เทคโนโลยี Blockchain อนาคตของการทำธุรกรรม

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำอย่างรวดเร็ว หนึ่งในนวัตกรรมที่โดดเด่นและมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลกดิจิทัลอย่างสิ้นเชิง คือ “บล็อกเชน (Blockchain)” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลายคนเชื่อว่าจะสามารถปฏิวัติหลายอุตสาหกรรมและการดำเนินชีวิตของเราได้

Blockchain คืออะไร ?
Blockchain เป็นระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ที่มีความปลอดภัยและโปร่งใส โดยที่ข้อมูลจะถูกบันทึกอยู่ใน “บล็อก (Block)” แต่ละบล็อกจะถูกเชื่อมต่อกันเป็น “ห่วงโซ่ (Chain)” ซึ่งทำให้ข้อมูลไม่สามารถถูกแก้ไขหรือปลอมแปลงได้ง่าย ๆเพราะทุกคนจะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูล
ส่งผลให้ Blockchain เป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง


จุดเริ่มต้นของบล็อกเชน
บล็อกเชน ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2535 ในรูปแบบเอกสารงานวิจัยระบบรักษาความปลอดภัยด้วยห่วงโซ่ของบล็อกที่มีการเข้ารหัสลับ (Chain of cryptographically secured blocks) โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ในช่วงวิกฤตเศษฐกิจครั้งใหญ่ที่เราเรียกว่า Global Financial Crisis มีบุคคลนิรนามผู้หนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Satoshi Nakamoto ได้ให้กำเนิดสิ่งที่เรียกว่าบิทคอยน์ (Bitcoin) ขึ้นมา

บิทคอยน์เป็นเงินดิจิทัลสกุลแรกในประวัติศาสตร์ที่ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้ ทุกคนสามารถถือเงินดิจิทัลและโอนเงินดิจิทัลหากันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใด ๆ อย่างเช่น ธนาคาร และที่สำคัญ มันไม่ได้ถูกสร้างหรือควบคุมโดยรัฐหรือองค์กรใด ๆ

หลักการทำงานของ ของ Blockchain
การทำงานของ Blockchain สามารถอธิบายได้ใน 3 ขั้นตอนหลัก:
  1. การสร้างธุรกรรม (Transaction Creation) เมื่อผู้ใช้ทำการสร้างธุรกรรม เช่น การโอนเงินหรือการทำข้อตกลง ข้อมูลของธุรกรรมจะถูกบันทึกในรูปแบบดิจิทัลและรอการยืนยัน
  2. การตรวจสอบและการยืนยัน (Verification and Validation) ธุรกรรมที่สร้างขึ้นจะถูกส่งไปยังเครือข่ายของผู้ใช้งาน (Nodes) แต่ละ Node จะตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมโดยใช้กฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เช่น การตรวจสอบว่าผู้ส่งมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำธุรกรรมหรือไม่
  3. การเพิ่มธุรกรรมลงในบล็อกและการเชื่อมต่อ (Block Addition and Linking) เมื่อธุรกรรมได้รับการยืนยัน ธุรกรรมนั้นจะถูกรวมเข้ากับธุรกรรมอื่น ๆ ที่ได้รับการยืนยันแล้วในบล็อกใหม่บล็อกใหม่จะถูกเพิ่มลงในห่วงโซ่โดยการเชื่อมต่อกับบล็อกก่อนหน้า ซึ่งทำให้เกิดห่วงโซ่ของบล็อก (Blockchain)
ประโยชน์ของ Blockchain
  1. ความปลอดภัยสูง การเข้ารหัสและการกระจายข้อมูลทำให้การทำธุรกรรมในบล็อกเชนมีความปลอดภัยสูง ข้อมูลไม่สามารถถูกแก้ไขหรือปลอมแปลงได้โดยง่าย ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบใหญ่ในการป้องกันการโกงและการละเมิดข้อมูล
  2. ความโปร่งใส ทุกการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นในบล็อกเชนจะถูกบันทึกและสามารถตรวจสอบได้อย่างเปิดเผย ทำให้เกิดความโปร่งใสที่สูงขึ้นในการดำเนินการของธุรกิจและองค์กร
  3. ลดความจำเป็นในการมีคนกลาง Blockchain สามารถลดหรือกำจัดความจำเป็นในการมีคนกลางหรือหน่วยงานกลางในการดำเนินธุรกรรม ทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้นและลดค่าใช้จ่าย
  4. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การใช้ Blockchain สามารถทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การโอนเงิน การจัดการสินทรัพย์ หรือการทำสัญญา มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การประยุกต์ใช้ Blockchain ในโลกปัจจุบัน
Blockchain มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในหลายๆ อุตสาหกรรม
  1. การเงินและการธนาคาร
    • การโอนเงินระหว่างประเทศที่รวดเร็วและมีค่าธรรมเนียมต่ำ
    • สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin และ Ethereum
  2. การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)
    • การติดตามและตรวจสอบที่มาของสินค้าเพื่อป้องกันการปลอมแปลง
    • การเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการผลิตและการจัดส่ง
  3. สุขภาพ (Healthcare)
    • การจัดเก็บและแบ่งปันข้อมูลผู้ป่วยอย่างปลอดภัยและเป็นส่วนตัว
    • การติดตามการใช้ยาจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค
  4. การจัดการทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์
    • การบันทึกและการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สินแบบดิจิทัล
    • การใช้ Smart Contracts ในการทำธุรกรรมที่ต้องการเงื่อนไขหลายขั้นตอน

ความท้าทายและอนาคตของ Blockchain
ถึงแม้ว่า Blockchain จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ
  1. ปัญหาด้านการขยายตัว (Scalability) ระบบ Blockchain อาจมีปัญหาในการรองรับปริมาณธุรกรรมที่สูงมาก
  2. การใช้พลังงานสูง (High Energy Consumption การประมวลผลและการยืนยันธุรกรรมบน Blockchain ต้องใช้พลังงานจำนวนมาก
  3. การรับรองมาตรฐานและกฎระเบียบ (Regulation and Compliance) เรื่องของกฎหมายและการรับรองมาตรฐานในแต่ละประเทศยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
อย่างไรก็ตาม อนาคตของ Blockchain ยังคงสดใส ด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และ
การปรับปรุงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ที่ถูกพัฒนาขึ้น และจะสร้างประโยชน์ในการใช้งานอย่างมหาศาล



เรียบเรียง :
สราวุธ เบี้ยจรัส  นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือภาคเหนือ

อ้างอิง :
เทคโนโลยีบล็อกเชนคืออะไร. aws. https://aws.amazon.com/th/what-is/blockchain/
• ณัฐพล ตันติวงศ์ไชยชาญ. Blockchain กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในวงการเงิน. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลhttps://www.depa.or.th/th/article-view/blockchain-change

ชนเผ่า "มละบริ"

ความเป็นมาของชนเผ่ามละบริ

มละบริเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในภาคเหนือ เป็นชนเผ่าที่เร่รอนมีอาชีพล่าสัตว์และหาของป่า มีความรักความผูกพันกับป่าและมักเดินทางข้ามไปมาระหว่างเทือกเขาต่าง ๆ เพื่อรอเวลาให้ป่ากลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แล้วจึงวนกลับมาที่เดิมก่อนจะเร่ร่อนต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น 

คนทั่วไปไม่คุ้นเคยกับคำว่า “มละบริ” ส่วนใหญ่จะรู้จักคนกลุ่มนี้ในนามของ “ผีตองเหลือง” เนื่องจากที่พักอาศัยทำจากใบตองหรือไม้ต่าง ๆ และมีการย้ายที่พักและพื้นที่หาอาหารอยู่เสมอ เมื่อมีคนอื่นเข้าไปใกล้ มละบริจะกลัวและหลบหนีเข้าป่าอย่างรวดเร็ว ทำให้คนทั่วไปเห็นแต่เพิงพักที่อาศัยที่ทำด้วยใบตองที่แห้งเหี่ยวและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแต่ไม่พบคน จึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ผีตองเหลือง” การเรียกชื่อนี้คนมละบริไม่ชอบ แต่ให้เรียกตองเหลืองก็ไม่เป็นไร แต่ห้ามเรียกว่า “ผีตองเหลือง” เพราะพวกเขาไม่ใช่ผี
 

เมื่อชนเผ่ามละบริไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในป่าได้ เพราะพื้นที่ป่าเริ่มไม่มีพื้นที่ให้อาศัยอยู่ ประกอบกับของป่าก็เริ่มหาได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องลงมาพบปะกับผู้คนในหมู่บ้าน แม้จะมีความกลัวแต่ก็ต้องย้ายลงมา คนกลุ่มแรกที่ชาวเผ่ามละบริพบก็คือชนเผ่าม้ง โดยจะนำเผือก มัน หรือของป่ามาแลกของกับชนเผ่าม้ง สิ่งของที่ชนเผ่ามละบริต้องการ ได้แก่ ข้าว ปลา อาหาร มีด หรือเครื่องนุ่งห่ม ชนเผ่ามละบริก็ถูกจ้างให้ใช้งานในไร่สวน โดยมีข้าวปลาอาหารเป็นสิ่งตอบแทนเป็นมื้อเป็นวันไป หรือบางครอบครัวเมื่อรับงานจ้างทำงานนาน ๆ ก็จะได้สัตว์เลี้ยง เช่น หมูตัวเล็กมาเลี้ยง

ลักษณะทางสังคมและครอบครัว
ชนเผ่ามละบรินิยมอยู่กันเป็นครอบครัว เมื่อลูก ๆ แต่งงานก็จะแยกบ้านออกไป สมัยก่อนชนเผ่ามละบริมีลูกมาก บางคนมีมากถึง 10 คน เนื่องจากไม่รู้วิธีคุมกำหนด ลูกชายเมื่อแต่งงานมีครอบครัวแล้ว จะย้ายออกไปสร้างบ้านใหม่อยู่อีกหลังหนึ่ง ส่วนลูกสาวเมื่อแต่งงานมีครอบครัวก็จะย้ายไปอาศัยอยู่กับฝ่ายชาย แต่ถึงแม้จะย้ายออกไปอยู่บ้านอีกหลังหนึ่งทั้งลูกชายและลูกสาวก็ยังช่วยเหลือดูแลพ่อและแม่ของตนเองอยู่สม่ำเสมอ

ลักษณะที่อยู่อาศัย

ยุคแรก เมื่อ 70-80 ปีก่อน ที่พักอาศัยของชนเผ่ามละบริเป็นเพิงหมาแหงน ใช้เสาไม้เล็ก ๆ 4-6 ต้น เป็นไม้ง่ามทำง่าย ๆ มุงด้วยใบตองกล้วยป่า ใบก้อ ใบต๋าว ใบกุ๊ก ผู้ชายทำหน้าที่ล่าสัตว์ เฝ้าระวังอันตรายจากสัตว์ร้าย และอื่น ๆ ส่วนผู้หญิงจะสร้างบ้าน หาน้ำ หาฟืน ขุดดิน ทำอาหาร เลี้ยงดูเด็ก ๆ
มีจำนวนครอบครัวประมาณ 2-3 ครอบครัว มากที่สุด 5 ครอบครัว

ยุคที่ 2 มีลักษณะเป็นตูบ (เพิง) มีแง๊บกันแดดกันฝน มีครอบครัวเพิ่มมากขึ้น 5-10 ครอบครัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่รวมกันกับญาติพี่น้อง


ยุคที่ 3  ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นตูบ (เพิง) ยกพื้นประมาณ 50-60 เซนติเมตร เริ่มหาของป่า และหัตถกรรมนำไปแลกเสื้อผ้า และเหล็กแหนบสำหรับตีมีด หอก และเสียม

ยุคที่ 4  ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นบ้านปิดล้อมสี่ด้านด้วยฟากไม้ไผ่ เป็นยุคทำงานรับจ้างเผ่าม้ง เผ่าเย้า คนพื้นเมือง เพื่อแลกหมู ข้าวสาร โดยจะทำตั้งแต่การถางไร่ จนถึงการเก็บเกี่ยว มละบริจะถูกเอารัด
เอาเปรียบจากนายจ้างแต่ก็ต้องยอม

วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อ
ชนเผ่ามละบริ มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าภูตผี วิญญาณ ป่าเขา หรือธรรมชาติ สัตว์ป่า เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ก็จะมีการทำพิธีเรียกขวัญ หรือทำพิธีขอขมายังที่ที่คิดว่าเขาได้ไปล่วงเกินหรือลบหลู่ ซึ่งจะมีผู้เฒ่าผู้แก่ทำห่วงกลม ๆ โดยใช้ไม่ไผ่หลายห่วงมารวมกันแล้วไปทำพิธีบริเวณนั้น และจะมีการกล่าวบทสวดเล็กน้อย เมื่อคนไม่สบายป่วยหนักลุกไปไหนไม่ไหว ก็จะมีผู้เฒ่าผู้แก่ใช้ยาสมุนไพรรักษาให้ หรือบางทีก็ใช้คาถาเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากร่างกาย โดยคาถาทีใช้จะเป็นภาษาของชนเผ่ามละบริเอง แต่ในปัจจุบันการรักษาโดยการใช้ยาสมุนไพรยังพอมีอยู่บ้าง แต่ก็น้อยลงเนื่องจากส่วนใหญ่จะเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ส่วนเรื่องการใช้คาถาอาคมในการรักษาเมื่อผู้รู้คนเก่าหรือภูมิปัญญา เสียชีวิตไปก็ไม่ได้มีการสอนหรือสืบทอดต่อมายังลูกหลาน ทำให้สิ่งเหล่านี้ได้เลือนหายไปด้วย

ลักษณะการแต่งกาย
การแต่งกายของชนเผ่ามละบรินั้น ในสมัยก่อนจะใช้เปลือกปอมาปกปิดร่างกายและเพื่อความอบอุ่น โดยจะลอกเปลือกต้นปอมาทุบให้ละเอียด นำไปตากให้แห้ง แล้วนำมาทำเป็นเครื่องแต่งกายของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จะไม่มีการนำไปตองมาทำเป็นเครื่องแต่งกายอย่างที่สังคมเข้าใจ เนื่องจากใบตองฉีกขาดง่าย แต่จะใช้ใบตองสำหรับทำเพิงพักเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันชาวมละบริส่วนใหญ่ก็ใส่เสื้อผ้าเหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีการแต่งกายแบบดั้งเดิมให้เห็น จะมีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านบางคนเท่านั้น


การเกิด (คลอดลูก)
เมื่อผู้หญิงในเผ่าใกล้จะคลอดลูก ก็จะไปคลอดยังที่ที่หางจากที่อยู่อาศัย โดยจะมีหญิงที่เป็นหมอตำแยในเผ่าไปช่วยทำคลอดให้ ส่วนผู้ชายจะห้ามไม่ให้เข้าไปหรือเข้าใกล้ ระหว่างที่ผู้หญิงกำลังคลอดลูกนั้น ผู้ชายก็จะออกไปหาอาหารในป่า เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วก็จะใช้เสี้ยนไม้ที่แหลม ๆ ตัดสะดือของเด็ก จากนั้นก็ใช้ใบตองหรือเปลือกปอที่เตรียมไว้ห่อตัวเด็ก ส่วน “รก” ของเด็กก็จะถูกฝังไว้ในดิน จากนั้นแม่ก็จะอุ้มเด็กกลับไปยังที่พักอาศัย เมื่อผู้หญิงคลอดลูกเสร็จไม่มีการอยู่ไฟหลังคลอด จะทำงานเบา ๆ เช่น ตักน้ำ ทำอาหาร ประมาณ 2-3 วัน ก็สามารถออกไปทำงานหนักหรือเดินทางไปไกล ๆ ได้ และเป็นที่สังเกตคือ ชนเผ่ามละบริส่วนใหญ่ต้องการเด็กที่คลอดเป็นเด็กผู้ชาย

การแต่งงาน
ชนเผ่ามละบริในสมัยก่อนไม่มีการทำพิธีกรรมเวลาหนุ่มสาวจะแต่งงานกัน หากว่าหนุ่มสาวชอบรักกันชอบกัน ทางฝ่ายชายก็จะพาพ่อแม่มาพูดคุยเจรจากับพ่อแม่ฝ่ายหญิง เมื่อครอบครัวของทั้งสองฝ่ายรับรู้และต่างตกลงปรงใจ

ปัจจุบันพื้นที่ที่ชนเผ่ามละบริอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งถาวร คือ บ้านห้วยฮ่อมพัฒนา ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ บ้านท่าวะ ตำบลสะเอียด ตำบลบ้านเวียง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ บ้านห้วยหยวก ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน และชุมชนห้วยลู่ ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน


เรียบเรียง:
วราพรรณ  พูลสวัสดิ์  ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง:
• กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. ภาษามละบริ. วารสารวัฒนธรรม. http://article.culture.go.th/index.php/layouts-modules-positions/3-column-layout-8/233-2020-12-18-08-47-31
• โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองชายขอบและเปราะบางที่สุดในประเทศไทย. ชนเผ่าพื้นเมืองมละบริ. https://mlabri.thaiipportal.info/ชนเผาพนเมองมละบร
• ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชนเผ่ามละบริ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา. (2553). มละบริ [จุลสาร]. น่าน: กศน.อำเภอบ่อเกลือ  

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ : เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 240 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน 12 แห่งของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2527 และอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ชื่อเรียก “ศรีเทพ” นั้น ชื่อเรียกตามพระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2447

ภาพโดย : กรมศิลปากร  
จาก UNESCO World Heritage convention.  whc.unesco.org/en/documents/192160

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วน คือ พื้นที่เมืองโบราณศรีเทพ และพื้นที่นอกเมืองโบราณศรีเทพพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพ

พื้นที่เมืองโบราณศรีเทพ 

เมืองโบราณศรีเทพ
เป็นเมืองที่มีคูเมืองและกำแพงเมืองล้อมรอบ มีพื้นที่รวมประมาณ 2,889 ไร่ หรือประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองโบราณที่ยังคงรักษารูปแบบแต่เดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ไม่ค่อยพบในเมืองอื่นในยุคเดียวกัน คือ มีการแบ่งพื้นภายในเมืองออกเป็น 2 ส่วน “เมืองใน” และ “เมืองนอก

แผนผังเมืองโบราณศรีเทพ

  • เมืองใน มีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ หรือประมาณ 1.87 ตารางกิโลเมตร ลักษณะผังเมืองค่อนข้างกลม ภายในตัวเมืองในมีโบราณสถานสำคัญ ซึ่งมีขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และเขาคลังใน นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานขนาดเล็กตั้งกระจายตัวอยู่อีก จำนวน 45 แห่ง สระน้ำโบราณขนาดใหญ่และเล็กกระจายตัวอยู่ทั่วไปราว 70 แห่ง ปัจจุบันพื้นที่ในเขตเมืองในได้รับการพัฒนาแล้ว และเป็นพื้นทีที่เปิดให้นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และประชาชน เข้าเที่ยวชมได้ 

  • เมืองนอก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีคูเมืองและกำแพงเมืองล้อมรอบทุกด้าน ยกเว้นด้านที่เชื่อมต่อกับเมืองใน มีพื้นที่ประมาณ 1,589 ไร่ หรือ 2.83 ตารางกิโลเมตร ทำให้ผังเมืองศรีเทพเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ภายในตัวเมืองนอกพบโบราณสถานขนาดเล็ก ราว 54 แห่ง มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่กลางเมืองค่อนไปทางทิศเหนือ พื้นที่บางส่วนชาวบ้านยังใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
พื้นที่นอกเมืองโบราณศรีเทพ
นอกคูเมืองกำแพงเมืองโบราณ มีการสำรวจพบโบราณสถานอีกจำนวน 50 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศเหนือของเมือง โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ เขาคลังนอก ปรางค์ฤๅษี กลุ่มเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว สระน้ำโบราณขนาดใหญ่

ส่วนทางด้านทิศตะวันตกนอกเมืองโบราณศรีเทพห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ศาสนสถานสมัยทราวดีที่ เขาถมอรัตน์ เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะซึ่งใช้เป็นจุดสังเกตในการเดินทางที่สำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยบริเวณเชิงเขาเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือและกำไลหินที่สำคัญ ต่อมาในสมัยทวารวดีได้มีการดัดแปลงถ้ำหินปูนที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแบบมหายาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14

โบราณสถานที่สำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

เขาคลังใน 
ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองใน เป็นศาสนสถานสำคัญประจำเมือง อาคารประธานมีขนาดใหญ่ ก่อสร้างตามแบบวัฒนธรรมทวารวดีด้วยศิลาแลง ฉาบปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก เขาคลังในมีเอกลักษณะความโดดเด่นที่แตกต่างจากโบราณสถานในวัฒนธรรม
ทวาราวดีแห่งอื่น ๆ คือ ประติมากรรมรูปคนแคระประดับที่ฐานของอาคารที่มีศีรษะเป็นบุคคลหรือสัตว์ ต่าง ๆ สลับกับรูปสัตว์ประกอบลายพันธ์พฤกษา ซึ่งยังคงหลงเหลือประดับอยู่บริเวณฐานด้านทิศใต้และตะวันตก นอกจากอาคารประธานแล้ว รอบ ๆ ยังพบฐานเจดีย์ราย วิหาร และอาคารขนาดเล็กหลายแห่ง เขาคลังในสร้างขึ้นสมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิหินยาน ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 จนเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18  



ปรางค์สองพี่น้อง 
ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองใน เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะเขมรโบราณ ประกอบด้วยด้วยปราสาทสององค์ ปราสาทประธาน มีผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง ส่วนเรือนธาตุก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนปราสาทองค์เล็กตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ ซึ่งสร้างขึ้นเพิ่มเติมอยู่บนฐานเดียวกัน ปราสาททั้งสองส่วนยอดพังทลายไปแล้ว นอกจากนี้ยังพบแนวทางเดินและอาคารขนาดเล็กสำหรับประกอบพิธีกรรมอีกหลายหลัง จากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบประติมากรรมรูปพระสุริยเทพ ศิวลึงค์ ฐานโยนี รูปโคนนทิ และทับหลังจำหลักรูป "อุมามเหศวร" ศิลปะแบบบาปวน-นครวัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู และต่อมาได้รับการดัดแปลงให้เป็นพุทธสถานแบบมหายาน

ภาพโดย กรมศิลปากร 
จาก UNESCO World Heritage Convention  https://whc.unesco.org/en/documents/192155

ภาพโดย ธนากร หน่อแก้ว และ บุษษา มาลินีกุล

ปรางค์ศรีเทพ  
ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองใน เป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางด้านตะวันตกในแนวแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบโดยเฉพาะทับหลังทำให้อนุมานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ลัทธิไศวนิกาย ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17  ต่อมามีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลงเพื่อใช้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายานแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  (พ.ศ. 1724-1760)  เช่นเดียวกันกับปรางค์สองพี่น้อง 

ปรางค์ศรีเทพ   ภาพโดย บุษบา มาลินีกุล

เขาคลังนอก  
เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่แบบวัฒนธรรมสมัยทวารวดีเช่นเดียวกับเขาคลังใน ตั้งอยู่ในพื้นที่นอกเมืองโบราณศรีเทพ ทางด้านทิศเหนือ ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นมหาสถูป มีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลงที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประดับตกแต่งฐานด้วยอาคารจำลองขนาดต่าง ๆ อยู่โดยรอบ ภายในทึบตัน มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน มีสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ด้านบนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและซุ้มประตู สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับโบราณสถานเขาคลังในที่ตั้งอยู่ภายในเมือง คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เขาคลังนอกเป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์มากที่สุดในบรรดาศาสนสถานที่ร่วมสมัยเดียวกัน

ปรางค์ศรีเทพ   ภาพโดย บุษบา มาลินีกุล

ปรางค์ฤาษี  
ตั้งอยู่นอกเมืองโบราณศรีเทพ ทางด้านทิศเหนือ ห่างออกไปราว 3 กิโลเมตร เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดไม่สูงนัก และมีอาคารขนาดเล็กในบริเวณเดียวกัน ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง พบโบราณวัตถุในศาสนาฮินดู ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานประติมากรรม และชิ้นส่วนโคนนทิ สันนิษฐานว่าปรางค์ฤาษีน่าจะมีอายุเก่ากว่า หรือร่วมสมัยกับโบราณสถานปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16

ปรางค์ฤาษี    ภาพโดย บุษบา มาลินีกุล

ถ้ำเขาถมอรัตน์ 
บริเวณนอกเมืองโบราณศรีเทพทางด้านทิศตะวันตก ห่างออกไปประมาณ 20กิโลเมตร มีภูเขาขนาดใหญ่คือเขาถมอรัตน์ ภายในถ้ำบนภูเขา มีภาพสลักนูนต่ำเป็นภาพพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ซึ่งสร้างขึ้นตามความเชื่อของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ลักษณะศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 ได้แก่ภาพพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับยืนแสดงธรรมอยู่บนฐานรูปดอกบัว พระโพธิสัตว์สี่กร สถูปและธรรมจักร ส่วนเศียรและพระหัตถ์ของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เคยถูกสกัดออกไป ต่อมาติดตามกลับคืนมาได้ ปัจจุบันนำไปจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ภาพสลักนูนต่ำ ในถ้ำเขาถมอรัตน์

เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก นับเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 4 ในประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ "เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments)" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่กรุงรียาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์พิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก 2 ข้อ ดังนี้

(ii) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
 
(iii) เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

พื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ปรากฎร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยวัฒนธรรมทวารวดี จนถึงเขมรตามลำดับ รวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไป ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึง ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย



เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
• กรมศิลปากร. (2550). อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977).
• กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. https://www.finearts.go.th/main/view/8207-อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
• พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง. http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/sithep/index.php/th/about-us.html
The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments. UNESCO World Heritage Convention. https://whc.unesco.org/en/list/1662

วัดสวนดอก พระอารามหลวงชั้นตรี

วัดสวนดอก เป็นวัดที่สำคัญยิ่งของอาณาจักรล้านนาและเมืองเชียงใหม่ มีประวัติมายาวนาน อดีตวัดสวนดอกเป็นสถานที่พระภิกษุสามเณรในบรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ในล้านนาเป็นจำนวนมาก เดินทางมาศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะบาลีภาษา แล้วนำกลับไปเผยแผ่ในภูมิลำเนาของตน


วัดสวนดอก เป็นวัดที่พญากือนา กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 6 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1898-1928 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระอารามหลวง ในปี พ.ศ. 1914 เพื่อเป็นที่จำพรรษาของ “พระมหาสุมนเถระ” ซึ่งพระองค์ทรงนิมนต์มาจากสุโขทัย ให้มาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ ในอาณาจักรล้านนา เพราะทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พระองค์ทรงพระราชทานอุทยานสวนดอกไม้ของราชวงศ์ ที่เต็มไปด้วยต้นพะยอม พร้อมกับพระราชทานนามว่า “วัดบุปผาราม”
ซึ่งหมายถึง วัดแห่งสวนดอกไม้ ต่อมานิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดสวนดอก” โดยที่พระมหาสุมนเถระได้อยู่บำเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติปกครองวัดสวนดอก เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

หลังจากสิ้นราชวงศ์มังราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจของพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดสวนดอก จึงกลายสภาพเป็นวัดร้าง ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 (พ.ศ. 2325-2358)
ได้บูรณะวัดให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น ภายหลังจากทรงกู้เอกราชสำเร็จ

ในปี พ.ศ. 2475 พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 ระหว่างปี พ.ศ. 2452-2482 และเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบข่าวการปฏิบัติเคร่งครัดในศีลาจารวัตร ของครูบาศรีวิชัย ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างและบูรณะพุทธศาสนสถานหลายแห่งทั่วภาคเหนือของประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่า นักบุญแห่งล้านนา จึงได้นิมนต์มาเป็นประธานสร้างวิหาร อีกทั้งบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ และกำแพงซุ้มประตูของวัด ซึ่งเป็นซุ้มประสาทแบบล้านนาขนาดใหญ่ ด้วยบุญบารมีของครูบาศรีวิชัย ผู้ยิ่งด้วยศีล เมตตา สัจจะ อธิษฐาน และทานบารมี ทำให้มีสาธุชนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ สละทรัพย์และแรงกายตามศรัทธา บ้างก็บริจาคทองคำช่วยทำยอดฉัตรเจดีย์ 9 ชั้น เมื่อบูรณะวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในบริเวณวัดให้เป็นศาสนสถานที่ร่มรื่น

เมื่อปี พ.ศ. 2509 รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของวัดสวนดอก จึงส่งเสริม สนับสนุนและยกย่องชมเชย พร้อมกับยกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 วัดสวนดอกได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เก่าแก่และสวยงาม ได้แก่

พระวิหารหลวง 
ในปี พ.ศ. 2474 พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี และประชาชนได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัย มาเป็นประธานในการก่อสร้าง ซึ่งเป็นวิหารหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาจำนวน 56 ต้น มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นวิหารที่ไม่มีผนังปิดทึบเหมือนวิหารโดยทั่วไป มีเพียงเหล็กดัดเป็นรูปลายแบบศิลปะล้านนา หน้าบันทั้งสองด้านมีลายปูนปั้นแบบเครือเถาที่สวยงาม พระวิหารหลวงวัดสวนดอกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

พระวิหารหลวง 

พระเจ้าค่าคิง 
พระประธานในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สร้างในปี พ.ศ. 1916 สมัยพญากือนา หล่อด้วยทองสำริดขนาดเท่าพระวรกายของท่าน ตามตำนานล้านนากล่าวว่า สร้างขึ้นโดยบัญชาของพระราชมารดา เมื่อครั้งพญากือนาทรงประชวรหนัก
พระเจ้าค่าคิง

ด้านหลังของพระเจ้าค่าคิง มีพระพุทธรูปยืนหันหลังชนกัน ส่วนทางด้านซ้ายและด้านขวาขององค์พระประธาน มีรูปหล่อของพระมหาสุมนเถระและครูบาศรีวิชัยขนาดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่

รูปหล่อพระมหาสุมนเถระและครูบาศรีวิชัยภายในวิหารหลวง

พระเจดีย์ใหญ่ หรือพระบรมธาตุเจดีย์ 
ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวง สร้างขึ้นในสมัยพญากือนา ปีเดียวกับที่สร้างวัดสวนดอก เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย แต่เดิมเป็นเจดีย์แบบสุโขทัย ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะลังกาวงศ์ผสมล้านนา ลักษณะฐานสี่เหลี่ยม มีทางขึ้น 4 ด้าน สูง 24 วา ชั้นกลางลักษณะระฆังคว่ำ และสร้างเจดีย์บริวารอีกเจ็ดองค์ รอบบริเวณเจดีย์ใหญ่ ปัจจุบันพระเจดีย์ได้รับการบูรณะใหม่และหุ้มแผ่นทองจังโก คือการปิดทองคำเปลวแบบล้านนา

พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาล้อมรอบด้วยเจดีย์บริวาร ปัจจุบัน (มิถุนายน 2567) อยู่ระหว่างการบูรณะซ่อมแซม

ซุ้มประตูวัด 
เป็นซุ้มประสาทแบบล้านนาขนาดใหญ่ จำนวน 3 ซุ้ม อยู่บริเวณกำแพงวัดทางทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือ ด้านละ 1 ซุ้ม สร้างขึ้นเมื่อครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดสวนดอกเมื่อปี พ.ศ. 2474

ซุ้มประตูวัด

พระเจ้าเก้าตื้อ  
เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่และงดงามที่สุดองค์หนึ่งในศิลปะล้านนา หล่อด้วยทองสำริด หนัก 9 ตื้อ (“ตื้อ” เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนึ่งโกศตำลึง หรือเท่ากับ 1,000 กิโลกรัม พระเจ้าเก้าตื้อ จึงหมายถึง พระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะหนัก 9,000 กิโลกรัม) พญาแก้ว หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งอาณาจักรล้านนาจาก ราชวงศ์มังราย ครองเมืองระหว่าง ปีพ.ศ. 2038-2068 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง วัดพระสิงห์เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ปางมารวิชัย ประทับบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง เมื่อหล่อเสร็จแล้วองค์พระมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ พญาแก้วจึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เพื่อสร้างพระวิหาร และพระราชทานชื่อว่า “วัดเก้าตื้อ” และต่อมาได้รวมเป็นวัดเดียวกับวัดสวนดอก  

พระเจ้าเก้าตื๊อ

กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ 
กู่เจ้าหน้าฝ่ายเหนือ หรือสุสานราชตระกูล ณ เชียงใหม่  "กู่" เป็นภาษาถิ่นเหนือ หมายถึง สถูปหรือโกฎิ กู่ที่วัดสวนดอก เป็นที่บรรจุอัฐิอดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระประยูรญาติในตระกูล ณ เชียงใหม่ และผู้สืบเชื้อสายสกุลเจ้าเจ็ดตน 

เมื่อคราวที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2451 ได้มีพระดำริรวบรวมพระอัฐิอดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และพระญาติในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งขณะนั้นประดิษฐานกระจัดกระจายใกล้ฝั่งแม่น้ำปิง (ปัจจุบันคือ บริเวณตลาดวโรรส แถวตรอกข่วงเมรุ) ในฤดูฝนจะมีน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ และทรงเห็นว่าวัดสวนดอกมีอาณาบริเวณกว้างขวาง น่าจะนำพระอัฐิดังกล่าวมาประดิษฐานไว้ที่เดียวกัน ณ บริเวณลานของวัดสวนดอก เมื่อก่อสร้างกู่เรียบร้อยแล้วในปี พ.ศ. 2452 จึงอัญเชิญพระอัฐิของพระญาติผู้ใหญ่มาประดิษฐานไว้เป็นปฐม ทั้งนี้ พระองค์ได้ให้การทำนุบำรุงมาโดยตลอด เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ได้มีการแบ่งพระอัฐิมาประดิษฐานไว้บริเวณเดียวกันจนทุกวันนี้ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือได้รับการจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

กู่บรรจุพระอัฐิเจ้านายฝ่ายเหนือ 

กู่ครูบาศรีวิชัย 
เป็นสถานที่บรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2490 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในคราวที่ครูบาศรีวิชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสวนดอก เมื่อปี พ.ศ. 2474-2475 และเพื่อเป็นที่สักการะบูชาของทธศาสนิกชนทั่วไป

กู่บรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย


เรียบเรียง/ภาพประกอบ :
ณิชากร เมตาภรณ์

อ้างอิง :
• วัดสวนดอก. Thailand Tourism Directory. https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/3307
• อาบแสงจันทร์ ต. (2563, 12 มีนาคม). วัดสวนดอก. tureID. https://travel.trueid.net/detail/Amz99dkOL946
วัดสวนดอก (จังหวัดเชียงใหม่). (2567, 2 มิถุนายน). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/วัดสวนดอก_(จังหวัดเชียงใหม่)
พระเจ้าเก้าตื้อ. (2565, 20 กันยายน). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าเก้าตื้อ
รู้จักตำนาน "วัดบุปผาราม" หรือวัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ เป็นมาอย่างไร จวบจนปัจจุบัน. (2562, 16 พฤศจิกายน). Line Today. https://today.line.me/th/v2/article/8Pa65V
วัดสวนดอก.  มิวเซียมไทยแลนด์. https://www.museumthailand.com/th/3867/storytelling/วัดสวนดอก/
วัดสวนดอก เชียงใหม่. ธรรมะไทย. https://www.dhammathai.org/watthai/dbview.php?No=171
พระเจ้าเก้าตื้อ : พระพุทธรูปสำคัญของล้านนา. (2565, 5 พฤษจิกายน). ประวัติศาสตร์. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/history/article_16294
เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่. (2565, 24 เมษายน). สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. https://www.cuartculture.chula.ac.th/news/10925/
• เอิงเอย. (2564, 2 มกราคม). ไหว้พระ วัดสวย วัดสวนดอก เชียงใหม่ สักการะพระบรมสารีริกธาตุ เสริมสิริมงคล. tureID. https://travel.trueid.net/detail/2x4aeJN7Z7RV

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร...พระอารามหลวงชั้นเอก

 เชียงใหม่จังหวัดที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ สถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาด คือ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวงที่สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะแบบล้านนาอย่างวิจิตรตระการตา เป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติมายาวนาน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรปีมะโรง นอกจากนี้ วัดพระสิงห์ ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ที่ให้ความศรัทธาและเคารพสักการะมาโดยตลอด

วัดพระสิงห์ เดิมเรียกว่า “วัดลีเชียง” สร้างในสมัยพญาผายู กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 5 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1879-1898 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 1888 เริ่มแรกทรงให้ก่อสร้างพระเจดีย์ (สถูปหรือกู่) เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาพระองค์โปรดให้สร้างวิหาร พระธาตุหลวง ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ จากนั้นทรงตั้งชื่อว่า "วัดลีเชียง" (ลี เป็นภาษาล้านนา แปลว่า ตลาด) เนื่องจากหน้าวัดเป็นสนามที่ประชาชนมาชุมนุมซื้อขายสินค้ากันเป็นประจำ จนกลายเป็นตลาด 

ประมาณปี พ.ศ 1943 เจ้ามหาพรหม ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองกำแพงเพชร และนำไปถวายแด่พญาแสนเมืองมา กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 7 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1928-1944 เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดสวนดอก (วัดบุปผาราม) แต่เมื่อไปถึงวัดลีเชียง คานราชรถหัก ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานไว้ที่วัดลีเชียง ประชาชนจึงเรียกว่า “วัดลีเชียงพระ” และต่อมาเรียกว่า “วัดพระสิงห์”

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี วัดพระสิงห์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร” ภายในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่

วิหารหลวง  
วิหารหลวง อาคารหลังปัจจุบันนี้ ครูบาศรีวิชัย เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ เจ้าดารารัศมี และพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 ร่วมกับประชาชนสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2467-2468 แทนที่วิหารหลวงทรงจัตุรมุขหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม ด้านหน้าอาคารวิหารหลวงมีอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ประดิษฐานอยู่ในแท่นวงเวียน สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงครูบาศรีวิชัย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

วิหารหลวง และ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยหน้าวิหารหลวง

วิหารหลวงหลังใหม่นี้ ผสมผสานระหว่างศิลปะรัตนโกสินทร์และศิลปะล้านนา หลังคามุงกระเบื้อง ซ้อนลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้ามุขประดับด้วยรูปนารายณ์ทรงครุฑ ล้อมรอบด้วยลายพันธุ์พฤกษาที่งดงามวิจิตรตระการตา และมีการแทรกรูปเสือ สัญลักษณ์ประจำปีเกิดของครูบาศรีวิชัย มีลายปูนปั้นรูปนาคราชประดับที่เชิงบันได

หน้ามุขวิหารหลวง ประดับด้วยรูปนารายณ์ทรงครุฑ

ปูนปั้นรูปนาคราชบริเวณเชิงบันได้ด้านหน้าวิหาร 

ภายในวิหารหลวง ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ (หลวงพ่อโต) พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ 
ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระประธานองค์เดิมของวิหารหลวงหลังเก่า 

พระศรีสรรเพชญ (หลวงพ่อโต) ภายในวิหารหลวง

วิหารลายคำ
เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่มีความสวยงามมาก สร้างในสมัยพญาแก้ว กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 11 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 2038-2068 วิหารลายคำ ได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อกันมาหลายสมัย ด้านหน้าอาคารมีหลังคาซ้อน 3 ชั้น ด้านหลังซ้อน 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ภายนอกตกแต่งด้วยไม้แกะสลักปิดทอง มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่บันไดด้านหน้าวิหาร และมีรูปสิงห์ปูนปั้น 2 ตัว อยู่ข้าง ๆ บันไดนาค

วิหารลายคำ และ รูปปั้นพญานาคและสิงห์หน้าวิหารลายคำ

องค์พระประธานที่ประดิษฐานภายในวิหารลายคำ คือ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อสำริดลงรักปิดทอง ลักษณะองค์อวบอ้วน พระอุระใหญ่ พระพักตร์กลมคล้ายผลมะตูม พระหนุเป็นรอยหยักกลม พระองคุลีไม่เสมอกัน เม็ดพระศกใหญ่ พระรัศมีเป็นต่อมกลมแบบบัวตูม พระกรขวาวางเหนือพระชานุ พระพุทธสิหิงค์ได้รับการยกย่องว่างดงามที่สุดในล้านนา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนามาแต่โบราณ เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาและสรงน้ำ

พระพุทธสิหิงค์ ภายในวิหารลายคำ

ผนังด้านหลังพระประธาน ทำลวดลายทองล่องชาด (การฉลุลายสีทองบนพื้นสีแดง) รูปกู่พระเจ้า มังกรจีน หงส์ และลายเมฆ อีกทั้งยังทำลวดลายทองล่องชาดบนเสากลางวิหาร และเสาระเบียงหน้าพระวิหารอีกด้วย

ส่วนผนังด้านซ้ายและขวามีจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่น เรื่องสังข์ทอง ตอนนางยักษ์พันธุรัตพบพระสังข์ จนถึงตอนที่เงาะป่ากำลังไปทำภารกิจของท้าวสามนต์ในการหาปลา 100 ตัว และเรื่องสุวรรณหงส์ ตั้งแต่ตอนที่พระสุวรรณหงส์เสด็จฯ ตามว่าวไปจนถึงปราสาทที่นางเกศสุริยงอยู่ จนถึงตอนที่ยักษ์กุมภัณฑ์ช่วยพระสุวรรณหงส์จากนางผีเสื้อน้ำที่แปลงเป็นเกศสุริยง

จิตรกรรมฝาผนังภายในในวิหารลายคำ

พระอุโบสถสองสงฆ์ 
ตั้งอยู่ระหว่างวิหารหลวงและพระธาตุเจดีย์ ตามหลักศิลาจารึก กล่าวว่า สร้างในสมัยพระเจ้ากาวิละและเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ในสมัยนั้น พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา ครึ่งปูนครึ่งไม้ มุงกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้า ใบระกา มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซุ้มประตูตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ด้านบนเป็นหน้าต่างขนาดใหญ่ตีเป็นช่องแบบไม้ระแนง แต่ภายในเป็นหน้าต่างจริง ที่เรียกว่าพระอุโบสถสองสงฆ์ เป็นการสร้างเพื่อจำลองการทำสังฆกรรมของพระภิกษุและพระภิกษุณี


ภายในพระอุโบสถสองสงฆ์มีซุ้มปราสาทตั้งอยู่ตรงกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน คือ พระเจ้าทองทิพย์ พระพุทธรูปที่คล้ายพระสิงห์ ชาวบ้านเรียกว่า “พระสิงห์น้อย” สร้างด้วยทองแดง นากและทองคำ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 9 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1984-2030 โปรดให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2020 ภายในอุโบสถยังรายล้อมด้วยรูปจำลองเกจิอาจารย์ต่าง ๆ

พระธาตุหลวง หรือพระมหาเจดีย์ 
สร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มการสร้างวัดในสมัยพญาผายู จากนั้นได้รับการปฏิสังขรณ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ในสมัยของพญากือนา กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 6 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1898-1928 องค์พระธาตุหลวงเป็นเจดีย์ช้างล้อม ทรงระฆังกลมแบบพื้นเมืองล้านนา ฐานล่างมีช้างปูนปั้นประดับอยู่ ด้านละ 3 เชือก รวมทั้งหมด 12 เชือก ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุส่วนข้อมือเบื้องซ้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปี พ.ศ. 2469 องค์พระธาตุหลวงได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยครูบาศรีวิชัย เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์  


พระธาตุหลวงองค์ปัจจุบัน ที่ฐานพระธาตุมีช้างปูนปั้น ด้านละ 1 เชือก นอกจากเป็นพระธาตุหลวงที่เก่าแก่แล้ว ยังเป็นพระธาตุหนึ่งใน 12 นักษัตรประจำปีมะโรงหรือปีงูใหญ่ ตามคติของชาวล้านนา มีความเชื่อว่า ผู้เกิดปีมะโรง หากมีโอกาสได้มานมัสการจะเป็นมงคลอันสูงสุดในชีวิต รอบๆ องค์พระธาตุหลวง มีการสร้างเจดีย์เจดีย์ล้อมรอบ อีก 3 องค์ แต่ละองค์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ

พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือวิหารพระนอน 
ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้นเก่าแก่สีทอง นอนหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2094 และได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ทั้งในสมัยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตฺตสิวมหาเถร) ปี พ.ศ. 2493 พระธรรมสิทธาจารย์ (หนู ถาวรมหาเถร) ปี พ.ศ. 2537 และพระราชสิงหวรมุนี (โสภณ โสภโณ) ปี พ.ศ. 2554 อดีตเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์


พระวิหารพระพุทธไสยาสน์

หอไตร 
เป็นโบราณสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์และหีบธรรม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2354 ในสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 (พ.ศ. 2325-2358) ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2460 ด้วยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาที่มีความงดงาม ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมและวัฒนธรรม เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ผนังตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นเทวดา 16 องค์ ในอิริยาบถแตกต่างกัน บริเวณท้องไม้ประดับด้วยรูปปั้นสัตว์หิมพานต์อยู่ในกรอบทรงสี่เหลี่ยม 75 ตัว  ชั้นบนสร้างด้วยไม้ ผนังด้านข้างเป็นฝาลิ้นปิดทึบ มีลวดลายปูนปั้นลงรักปิดทอง ประดับกระจกด้วยรูปดอกจันทน์ 8 กลีบ ประตูทางเข้ามีซุ้มโขง มีลวดลายปูนปั้นประดับ

หอไตร

พระสถูปพญาคำฟู (เจดีย์หรือกู่พญาคำฟู) 
พญาคำฟูทรงเป็นกษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา องค์ที่ 4 ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1877-1879 หลังจากสวรรคต พญาผายูพระราชโอรส ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ องค์ที่ 5 พระองค์โปรดให้สร้างเจดีย์องค์หนึ่ง เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระบิดา ในปี พ.ศ. 1888 ต่อมา ในปี 2088 เจดีย์หักพังลงมาเพราะแผ่นดินไหว จึงได้รับการบูรณะ ซ่อมแซม จากนั้นมา เมื่อมีการปฏิสังขรณ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ ในวัดพระสิงห์ พระสถูปพญาคำฟู ก็ได้รับการบูรณะด้วยเช่นกัน

รูปพระสถูปพญาคำฟู

นอกจากนี้ ภายในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น อนุสาวรีย์พญามังราย ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา และพญาผายู ผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระสิงห์ ศาลาพระเจ้าทันใจที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ หอระฆัง กู่สีขาวสร้างติดกับด้านหลังของวิหารลายคำ มีพระพุทธรูปประดิษฐาน 3 ด้าน ๆ ละ 1 รูป ฯลฯ


เรียบเรียง/ภาพประกอบ :
ณิชากร เมตาภรณ์

อ้างอิง :
• ประวัติพระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่. (2563, 29 เมษายน). Kachon. https://historyoftemples.kachon.com/353648
• ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. (2562, 14 พฤษภาคม). วัดพระสิงห์. The Cloud. https://readthecloud.co/wat-phra-singh
• พงศกร แก้วกระจ่าง. (2559, 7 กันยายน). วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร. สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์. https://www.asaconservationaward.com/index.php/temple2544/192-wihan-lai-kham
พญาผายู. (2566, 24 มีนาคม). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/พญาผายู
พญาแสนเมืองมา. (2566, 24 มีนาคม). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/พญาแสนเมืองมา
• รายพระนามพระมหากษัตริย์ล้านนา. (2566, 24 มีนาคม). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/รายพระนามพระมหากษัตริย์ล้านนา
วัดพระสิงห์วรวิหาร. (ม.ป.ป.).Thailand Tourism Directory. https://www.thailandtourismdirectory.go.th/attraction/5166
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร. (2557). วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร [แผ่นพับ]. ครองช่างพริ้นติ้1 จำกัด. 
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร. (2566, 5 กันยายน). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร. (2567). พระธาตุประจำนักษัตรปีมะโรง [จุลสาร]. (ม.ป.พ.)
• วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ ไหว้พระพุทธสิหิงค์และพระธาตุประจำปีมะโรง. (2566, 27 ตุลาคม). kapook. https://travel.kapook.com/view274263.html
• Point of View. (2564, 3 เมษายน). เปิดคำทำนายลึกลับ 600 ปี วัดพระสิงห์ เชียงใหม่. [วีดิโอ]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=WiGJzTBm8P0
• SummerB. (2564, 26 พฤษภาคม). วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ที่เที่ยวเชียงใหม่ ชมหอธรรมสุดวิจิตร ศิลปะแบบล้านนา. tureID.  https://travel.trueid.net/detail/2BQrzRpKw59x