สารเคมีในบ้าน

ทุกครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องครัว ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนบุคคล หรือแม้แต่ยาฆ่าแมลง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้านเหล่านี้ประกอบด้วยสารเคมีบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัวและสัตว์เลี้ยง โดยถ้านำไปใช้ เก็บ หรือทำลายทิ้ง อย่างไม่ถูกวิธี อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม หรืออาจติดไฟทำลายทรัพย์สินได้ อย่างไรก็ตามถ้ารู้จักใช้ เก็บและทิ้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างถูกวิธี เราก็จะสามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย

ภาพจาก freepix

ทำไมสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านจึงเป็นอันตราย
ผลิตภัณฑ์เคมีที่ใช้ภายในบ้านบางชนิดอาจมีอันตราย โดยอย่างน้อยอาจมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น เป็นพิษ มีฤทธิ์กัดกร่อน ติดไฟได้ หรือทำปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ น้ำยาทำความสะอาดทั่วไป ยาฆ่าแมลง สเปรย์ชนิดต่าง ๆ น้ำยาขจัดคราบไขมัน น้ำมันเชื้อเพลิง สีและผลิตภัณฑ์ที่ถูกทาสีมาแล้ว แบตเตอรี่ และหมึก 

ผลิตภัณฑ์และสารเคมีต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนมากถ้าได้รับหรือสัมผัสในปริมาณที่น้อยคงไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก แต่ถ้าได้รับหรือสัมผัสในปริมาณที่มาก หรือในกรณีอุบัติเหตุ เช่น สารเคมีหกรดร่างกาย หรือรั่วออกจากภาชนะบรรจุ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ในชีวิตประจำวัน เราจะต้องเกี่ยวข้องกับสารซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันหลายชนิด สารที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะมีสารเคมีเป็นองค์ประกอบ สามารถจำแนกเป็นสารสังเคราะห์และสารธรรมชาติ เช่น สารปรุงรสอาหาร สารแต่งสีอาหาร สารทำความสะอาด สารกำจัดแมลงและศัตรูพืช เป็นต้น ในการจำแนกสารเคมี เราใช้วัตถุประสงค์ในการใช้เป็นเกณฑ์การจำแนก ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประเภทสารเคมีที่ใช้ในบ้านจำแนกตามวัตถุประสงค์ในการใช้
1. สารปรุงแต่งอาหาร หมายถึง สารปรุงรสอาหาร ใช้ใส่ในอาหารเพื่อทำให้อาหารมีรสดีขึ้น เช่น น้ำตาล น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว ซอสมะเขือเทศ และให้รสชาติต่าง ๆ เช่น น้ำตาลให้รสหวาน เกลือ น้ำปลา ให้รสเค็ม น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว ซอสมะเขือเทศ ให้รสเปรี้ยว สารปรุงแต่งอาหาร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 ได้จากการสังเคราะห์ เช่น น้ำส้มสายชู น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น
1.2 ได้จากธรรมชาติ เช่น เกลือ น้ำมะนาว น้ำมะขามเปียก อัญชัน เป็นต้น

2. เครื่องดื่ม มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก บางประเภทได้คุณค่าทางโภชนาการ บางประเภทดื่มแล้วไปกระตุ้นระบบประสาท และบางประเภทดื่มเพื่อดับกระหาย แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ น้ำดื่มสะอาด น้ำผลไม้ นม น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ชาและกาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

3. สารทำความสะอาด มีคุณสมบัติในการกำจัดความสกปรกต่าง ๆ และฆ่าเชื้อโรค แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
3.1 ได้จากการสังเคราะห์ เช่น น้ำยาล้างจาน สบู่ก้อน สบู่เหลว แชมพูสระผม ผงซักฟอก สารทำความสะอาดพื้นเป็นต้น
3.2 ได้จากธรรมชาติ เช่น น้ำมะกรูด มะขามเปียก เกลือ เป็นต้น

4. สารกำจัดแมลง และสารกำจัดศัตรูพืช คือสารเคมีที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ป้องกัน กำจัด และควบคุมแมลงต่าง ๆ ไม่ให้มารบกวน มีทั้งชนิดผง ชนิดเม็ด และชนิดน้ำ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
4.1 ได้จากการสังเคราะห์ เช่น สารฆ่ายุง สารกำจัดแมลง เป็นต้น
4.2 ได้จากธรรมชาติ เช่น เปลือกมะนาว เปลือกมะกรูด เปลือกส้ม เป็นต้น


5. เครื่องสำอาง
เครื่องสำอาง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบร่างกาย เพื่อใช้ทำความสะอาด ให้เกิดความสดชื่น ความสวยงาม และเพิ่มความมั่นใจ เครื่องสำอาง แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ 
5.1 สำหรับผม เช่น แชมพู ครีมนวด เจลแต่งผม ฯลฯ
5.2 สำหรับร่างกาย เช่น สบู่ ครีม และโลชั่นทาผิว ยาทาเล็บ น้ำยาดับกลิ่นตัว แป้งโรยตัว ฯลฯ
5.3 สำหรับใบหน้า เช่น ครีม โฟมล้างหน้า แป้งผัดหน้า ลิปสติก ดินสอเขียนคิ้ว และดินสอเขียนขอบตา
5.4 น้ำหอม
5.5 เบ็ดเตล็ด เช่น ครีมโกนหนวด ผ้าอนามัย ยาสีฟัน ฯลฯ


สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อให้บ้านของคุณปลอดภัย
1. การจัดเก็บผลิตภัณฑ์ จัดเก็บผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไว้ในที่ที่แห้งและเย็น ห่างจากความร้อน จัดวางบนพื้นหรือชั้นที่มั่นคง และเก็บให้เป็นระบบ ควรแยกเก็บผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ติดไฟได้ ทำปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ หรือเป็นพิษ ไว้บนชั้นต่างหาก และทำความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ควรจดจำให้ได้ว่าเก็บไว้ที่ใด และแต่ละผลิตภัณฑ์มีวัตถุประสงค์ในการใช้อย่างไร เมื่อใช้เสร็จแล้วควรนำมาเก็บไว้ที่เดิมทันที และตรวจให้แน่ใจว่าภาชนะทุกชิ้นมีฝาปิดที่แน่นหนา ผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตราย ได้แก่
  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้าน เช่น น้ำยาเช็ดกระจก แอมโมเนีย น้ำยาฆ่าเชื้อ น้ำยาทำความสะอาดพรม น้ำยาขัดเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งสเปรย์ปรับอากาศ เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์ซักผ้า เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาฟอกสีผ้า เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เช่น สเปรย์ใส่ผม น้ำยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ น้ำยากำจัดขน น้ำยาย้อมผม เครื่องสำอางอื่น ๆ เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสวน เช่น ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงรักษาบ้าน เช่น สีทาบ้าน กาว น้ำยากันซึม น้ำมันล้างสี เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเบรค น้ำมันเครื่อง น้ำยาล้างรถ น้ำยาขัดเงา เป็นต้น
2. อ่านฉลากก่อนใช้งาน ผลิตภัณฑ์สารเคมีทุกชนิดต้องมีฉลาก และต้องอ่านฉลากก่อนใช้งานทุกครั้ง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายควรต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อ่านฉลากและทำตามวิธีใช้อย่างถูกต้องรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าฉลากมีคำว่า อันตราย (Danger)  สารพิษ (Poison)  คำเตือน (Warning)  หรือ  ข้อควรระวัง (Caution) โดยมีรายละเอียดอธิบายได้ดังนี้
  • อันตราย (Danger) แสดงให้เห็นว่าควรใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ สารเคมีที่ไม่ได้ถูกทำให้เจือจาง เมื่อสัมผัสถูกกับตาหรือผิวหนังโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกกัดทำลาย หรือสารบางอย่างอาจติดไฟได้ถ้าสัมผัสกับเปลวไฟ
  • สารพิษ (Poison) คือ สารที่ทำให้เป็นอันตราย หรือ ทำให้เสียชีวิต ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง รับประทาน หรือ สูดดม คำนี้เป็นเป็นข้อเตือนถึงอันตรายที่รุนแรงที่สุด
  • เป็นพิษ (Toxic) หมายถึง เป็นอันตราย ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำหน้าที่ผิดปกติไป หรือ ทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง รับประทาน หรือ สูดดม
  • สารก่อความระคายเคือง (Irritant) หมายถึง สารที่ทำให้เกิดความระคายเคือง หรืออาการบวมต่อผิวหนัง ตา เยื่อบุ และระบบทางเดินหายใจ
  • ติดไฟได้ (Flammable หรือ Combustible) หมายถึง สามารถติดไฟได้ง่าย และมีแนวโน้มที่จะเผาไหม้ได้อย่างรวดเร็ว
  • สารกัดกร่อน (Corrosive) หมายถึง สารเคมี หรือไอระเหยของสารเคมีนั้นสามารถทำให้วัสดุถูกกัดกร่อน ผุ หรือสิ่งมีชีวิตถูกทำลายได้
3. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เท่าที่ต้องการใช้เท่านั้น อย่าซื้อสิ่งที่ไม่ต้องการใช้ เพราะเสมือนกับเป็นการเก็บสารพิษไว้ใกล้ตัวโดยไม่จำเป็น พยายามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้หมดก่อนซื้อมาเพิ่ม ถ้ามีของที่ไม่จำเป็นต้องใช้แล้วเหลืออยู่ ควรบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการใช้ต่อไป หรือไม่ก็ควรเก็บและทำฉลากให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉลากใกล้หลุดหรือฉีกขาด และควรทิ้งผลิตภัณฑ์ที่เก่ามากๆ ซึ่งไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป
4. เก็บให้ไกลจากเด็ก สารทำความสะอาดหรือสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ควรเก็บในตู้ที่เด็กเอื้อมไม่ถึง อาจล็อคตู้ด้วยถ้าจำเป็น สอนเด็ก ๆ ในบ้านให้ทราบถึงอันตรายจากสารเคมี นอกจากนี้ ควรจดเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ใกล้กับโทรศัพท์หรือที่เห็นชัดเจน เบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ ได้แก่ รถพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสารพิษ และแพทย์ประจำตัว
5. ไม่เก็บสารเคมีปะปนกับอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากสารเคมีอาจหกหรือมีไอระเหยทำให้ปนเปื้อนกับอาหารได้ และเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีเสร็จแล้วควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
6. ไม่เก็บของเหลวหรือก๊าซที่ติดไฟได้ไว้ในบ้าน น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์หรือถังบรรจุก๊าซ ถ้าสามารถทำได้ไม่ควรนำมาเก็บไว้ภายในบ้าน ถังบรรจุก๊าซควรเก็บไว้นอกบ้านในบริเวณใต้ร่มเงาที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ต้องไม่เก็บของเหลวหรือก๊าซที่ติดไฟได้ไว้ใกล้กับแหล่งของความร้อนหรือเปลวไฟ และเก็บไว้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมหรือภาชนะที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น
7. เก็บสารเคมีไว้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมเท่านั้น ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านลงในภาชนะชนิดอื่นๆ ยกเว้นภาชนะที่ติดฉลากไว้อย่างเหมาะสมและเข้ากันได้กับสารเคมีนั้น ๆ โดยไม่ทำให้เกิดการรั่วซึม นอกจากนี้ ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายสารเคมีลงในภาชนะที่ใช้สำหรับบรรจุอาหาร เช่น ขวดน้ำอัดลม กระป๋องนม ขวดนม เป็นต้น เพื่อป้องกันผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำไปรับประทาน
8. ผลิตภัณฑ์หลายชนิดสามารถแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อลดปริมาณสารเคมีที่เป็นพิษในสิ่งแวดล้อม
9. ใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีอันตรายน้อยกว่าทดแทน สำหรับงานบ้านทั่วไป อาจใช้ผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนสารเคมีได้ ตัวอย่างเช่น สามารถใช้ผงฟูและน้ำส้มสายชู เทลงในท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันการอุดตันได้

10. ทิ้งผลิตภัณฑ์และภาชนะบรรจุให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่เทผลิตภัณฑ์ลงในดินหรือในท่อระบายน้ำทิ้ง ผลิตภัณฑ์หลายชนิดไม่ควรทิ้งลงในถังขยะหรือเทลงในโถส้วม ควรอ่านฉลากเพื่อทราบวิธีการทิ้งที่เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้ผลิต

ทำอย่างไรให้ปลอดภัยขณะใช้สารเคมี
  1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นพิษแทน 
  2. อ่านฉลากและปฏิบัติตามวิธีการใช้ทุกครั้ง
  3. สวมถุงมือและเสื้อคลุมทุกครั้ง ถ้าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้เกิดอันตรายได้โดยการสัมผัสต่อผิวหนัง
  4. สวมแว่นตาป้องกันสารเคมี ถ้าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อตา
  5. ห้ามสวมคอนแทคเลนส์เมื่อใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น ทินเนอร์ เป็นต้น
  6. หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ทันทีถ้ารู้สึกวิงเวียน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดศีรษะ
  7. ควรใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ในที่โล่งแจ้ง
  8. ห้ามสูบบุหรี่เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดไฟได้
  9. ห้ามผสมผลิตภัณฑ์สารเคมีเอง เนื่องจากสารเคมีบางชนิดอาจทำปฏิกิริยาต่อกันเกิดเป็นไอควันพิษ หรืออาจระเบิดได้
  10. พบแพทย์ทันทีถ้าสงสัยว่าได้รับสารพิษ หรือได้รับอันตรายเมื่อสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ในบ้าน

เรียบเรียง :
กาญจนภัสส์ ทวีกิตติกร  ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง:
อันตรายที่แฝงจากสารเคมีที่ใช้ในบ้านเรือน. (ม.ป.ป.). https://www.lyondellbasell.com/globalassets
/sustainability/lifebeats/monthly/2017/04/householdchemicals-th.pdf

Khunnatham.K. (2563, 20 พฤษภาคม). รวม “สารพิษ” ที่เป็นอันตรายภายในบ้าน พร้อมวิธีป้องกันง่าย ๆ ที่คุณอาจมองข้าม. Thinkofliving. https://thinkofliving.com/ไอเดียตกแต่ง/รวม-สารพิษ-ที่เป็นอันตรายภายในบ้าน-พร้อมวิธีป้องกันง่ายๆ-ที่คุณอาจมองข้าม-636713

Wichaya Pongklam. (2564, 23 ธันวาคม). 8 สารเคมีอันตรายในบ้าน เก็บให้ห่างจากเด็ก ป้องกันตัวเองก่อนใช้. OfficeMate. https://www.ofm.co.th/blog/toxic-household-chemicals-products/

สมาธิกับวิทยาศาสตร์

หลายคนปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดในหัวของคนเรามักคิดวนเวียนไปเรื่อย ๆ บางคนมักคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำเรื่องความสุข ความเศร้า ซึ่งส่วนใหญ่มักจะคิดถึงประสบการณ์ที่เลวร้าย น้อยมากที่จะคิดถึงความสุข นอกจากนี้ยังกังวลถึงอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน เป็นต้น ในหลายงานวิจัยที่ทำการสแกนสมองของผู้ที่ฝึกสติหรือฝึกสมาธิมาอย่างยาวนานต่างให้ผลคล้ายกันคือ ระหว่างการทำสมาธิหรือเจริญสติ ทำให้เราเป็นนายของจิตหรือควบคุมอารมณ์ของจิตได้ ทำให้เราสามารถคลายความทุกข์ที่มีอยู่ในใจได้ คนทั่วไปในเวลาปกติมักจะส่งคลื่นเบต้าออกมา ซึ่งมีความถี่ของคลื่นประมาณ 21 รอบต่อวินาที เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก เช่น โกรธ กลัว เกลียด อิจฉา ตื่นเต้น คลื่นสมองก็จะมีความถี่สูงขึ้นทันที ทำให้บุคคลผู้นั้นมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง มีความตึงเครียดสูง มีสมาธิน้อยลง มีความสามารถในการเรียนรู้ต่ำ มีภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายลดลง ฯลฯ ในทางตรงกันข้าม คนเราจะมีภูมิคุ้มกันโรคสูง มีสมาธิดี มีอารมณ์เยือกเย็น มีความคิดที่เฉียบคม มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สูง เมื่อคลื่นสมองมีความถี่ต่ำกว่า 19 รอบต่อวินาที ดังนั้นหากปล่อยให้คลื่นสมองมีความถี่สูงเกินกว่า 21 รอบต่อวินาทีเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดโรคเครียดและวิตกกังวล ซึ่งเป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งของโลก

การฝึกสมาธิแบบการทำจิตให้ว่างและรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมจะส่งคลื่นอัลฟ่าออกมา การฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่องมีผลต่อสมองคือสมาธิสามารถเปลี่ยนโครงสร้างสมองได้ ทำให้เปลือกสมองหนาขึ้น ลดความเสื่อมของสมองส่งผลต่ออารมณ์เกิดความสมเหตุสมผลมากขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ปรับการแสดงออกทางหน้าตา ท่าทาง ไม่โกรธง่าย ไม่เคียดแค้นชิงชัง กลับมาเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น รักตนเองมากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์ในงานได้ดีขึ้น

การนั่งสมาธิ
การนั่งสมาธิ คือการฝึกปฏิบัติใช้ความตั้งมั่น จดจ่อ และแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสงบ ความรู้สึกตัว หรือมีสติ ชาวตะวันตกมักใช้คำว่า "Concentration" และ "Meditation" ที่สื่อถึงการทำสมาธิให้จิตใจสงบ 

ภาพโดย pressfoto จาก Freepix

การทำสมาธินั้นถูกปฏิบัติมาประมาณพันปี โดยแรกเริ่มจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทางศาสนา ซึ่งปัจจุบันการทำสมาธินั้นได้แพร่กระจายไปทั่วโลก และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ เพราะการฝึกทำสมาธิช่วยให้สมองทำงานได้รวดเร็วขึ้นและตัดสินใจได้ดีขึ้นด้วย มีงานที่วิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การฝึกสติแบบทั่วไปสามารถส่งผลต่อสมองได้อย่างลึกซึ้ง ภายในระยะเวลาเพียง 8 สัปดาห์ ผู้ที่ไม่เคยฝึกสมาธิอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า การนั่งหลับตาแล้วหายใจเข้าหายใจออก จะทำให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า การฝึกสมาธิส่งผลดีต่อสมองอย่างไรบ้าง และเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นภายในสมองหลังจากที่ฝึกสมาธิเป็นเวลานาน ๆ บทความนี้จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้ลองอ่านกัน มีการทดลองเปรียบเทียบระหว่างคนที่ทำสมาธิและคนที่ไม่ทำสมาธิ ผลปรากฏว่าคนที่นั่งสมาธิมีความแข็งแรงของเส้นประสาทมากกว่าคนที่ไม่ได้นั่งสมาธิอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นการนั่งสมาธิมีประโยชน์แน่นอนทำให้เราจะมีความเป็นกลางมากขึ้นโดยไม่ตัดสินในสิ่งที่เห็นทันทีทันใด ทนกับสภาวะปกติได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะดีหรือร้าย และสามารถแยกความเจ็บออกไปจากร่างกายได้

จากภาพสแกนสมองของผู้ที่ฝึกสมาธิพบว่าเนื้อสมองในส่วนของเปลือกสมองด้านนอกที่เรียกว่า Gray matter ซึ่งเป็นที่อยู่ของเซลล์สมองมีความหนากว่าคนที่ไม่ฝึกสมาธิ และพบว่าบริเวณสมองส่วนหน้าด้านซ้ายมีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น คลื่นสมองก็ทำงานได้ดีขึ้นกว่าปกติ จากเดิมที่มีความถี่สูงซึ่งบ่งบอกถึงความคิดที่ฟุ้งซ่าน ก็เปลี่ยนเป็นคลื่นความถี่ต่ำและสม่ำเสมอมากขึ้นแสดงถึงความสงบผ่อนคลาย คนที่ฝึกสมาธิเป็นเวลานาน ๆ สมองมีส่วนเปลือกนอกสีเทา ๆ ที่เรียกว่า Gray Matter ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ของเซลล์ประสาท จะหนาตัวขึ้น นั่นหมายถึง มีเซลล์สมองเพิ่มขึ้น และบริเวณส่วนหน้าแถวหน้าผากด้านซ้าย จะมีการทำงานของคลื่นสมองดีขึ้น มีลักษณะของคลื่นสมองช้าลงและสม่ำเสมอมากขึ้น ที่เรียกว่า “คลื่นแกรมม่า” ซึ่งพบในคนที่จิตเป็นสมาธิลึก ๆ

ภาพโดย Maxim P บน Adobe Stock 

เมื่อมีการศึกษาและมีงานวิจัยที่รองรับและแสดงให้เห็นประโยชน์ของการฝึกสมาธิ ทำให้ศาสตร์นี้เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น ชาวตะวันตกส่วนมากก็เริ่มหันมาฝึกสมาธิกันอย่างแพร่หลาย หน่วยงานใหญ่ ๆ หลายหน่วยงานต่างให้ความสำคัญกับการฝึกสมาธิและมีนโยบายให้พนักงานฝึกสมาธิด้วยเช่นกัน การทำสมาธิเป็นการลดความเครียด คลายความวิตกกังวล ฝึกความอดทน ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น และยังช่วยเพิ่มเซลล์ประสาทในสมองในส่วนการควบคุมและการตอบสนองทางอารมณ์

ขั้นตอนการฝึกสมาธิ (แบบไม่อิงศาสนาใด ๆ )
  1. หาที่นั่งที่เราคิดว่าสบายสำหรับเราอาจจะเป็นสนามหญ้า ห้องพระ หรือห้องนอนก็ได้แต่ต้องเป็นสถานที่ที่เงียบสงบ
  2. นั่งหลับตาและไล่ดูจุดที่เกร็งให้คลายกล้ามเนื้อส่วนนั้นลง
  3. หายใจเข้า-ออกอย่างช้า ๆ หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ
  4. โฟกัสไปจุดใดจุดหนึ่งตรงที่ลมหายใจชัดตรงนั้น เช่น ตรงจมูก ตรงท้อง หรือหาเสียงนำสมาธิใน youtube เป็นต้น
  5. ถ้าความคิดผุดขึ้นมา เราจะไม่มีอารมณ์กับสิ่งนั้น มองแบบไม่ตัดสิน และกลับไปที่จุดโฟกัสเดิม
  6. ใช้เวลาในการฝึกอย่างพอประมาณอย่างต่ำ 10 นาที และสม่ำเสมอ
ร่างกายของคนเราจะแข็งแรงได้ด้วยการออกกำลังกาย สมองของคนเราก็เช่นกันต้องการฝึกฝนจนแข็งแรง และการฝึกสมาธิเป็นหนทางที่จะเกิดผลดีต่อสมอง ดังนั้นการหาเวลาบริหารสมองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพียงใช้ความเพียรและความสม่ำเสมอในการฝึกฝน เพียงเท่านี้อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อชีวิตของคุณได้ เริ่มทำได้เลยในวันนี้แล้วคุณจะค้นพบว่าความสุขไม่ได้หามาจากที่ไหนไกลเลย แต่อยู่ใกล้ ๆ ตัวคุณนั่นคือจิตใจของคุณเอง


เรียบเรียง
กาญจนภัสส์ ทวีกิตติกร  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง
การนั่งสมาธิกับผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์. (ม.ป.ป.). หอมหวล. https://www.homhuan.com/news/detail.php?id=25

สมาธิกับวิทยาศาสตร์. (2563, 27 พฤษภาคม).  trueID. https://news.trueid.net/detail/31dOWp5a5LY8

MGR Online. (2566, 6 สิงหาคม). สมองพัฒนาได้ ด้วยการเจริญสติ (ตอนที่ 1). https://mgronline.com/dhamma/detail/9560000079672


อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามอุทยานดาราศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ หมู่ 4 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อุทยานดาราศาสตร์ ว่า “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” (Princess Sirindhorn AstroPark) เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางดาราศาสตร์ของประเทศไทย เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลก ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางดาราศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มภาคภูมิ เป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ เป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษาวิจัย บ่มเพาะและสร้างนักวิจัยดาราศาสตร์ เป็นศูนย์บริการข้อมูล ฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีดาราศาสตร์ จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการที่สำคัญ และใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)


ภายในพื้นที่ 54 ไร่ ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ประกอบไปด้วย

อาคารสำนักงาน สำนักงานสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ประกอบด้วย งานวิจัยและพัฒนา ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์ ศูนย์ปฏิบัติการดาราศาสตร์วิทยุ ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ห้องสมุดดาราศาสตร์ ศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติ และส่วนงานสนับสนุนภารกิจหลัก

อาคารปฏิบัติการ เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการหอดูดาวแห่งชาติ และวิศวกรรม ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ห้องปฏิบัติการเคลือบกระจก


อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ ประกอบด้วย ส่วนท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล 360 องศา รองรับความละเอียดสูงสุด 8K ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร ความจุ 160 ที่นั่ง และพื้นที่สำหรับรถผู้พิการ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของไทย แต่มีความคมชัดที่สุดในอาเซียน ส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ 19 โซน ได้แก่ การสำรวจระบบสุริยะ เสียงแห่งเอกภพ การเกิดเฟสดวงจันทร์ การเกิดน้ำขึ้น-น้ำลง  เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิกฝีมือคนไทย สเปกตรัมกับการศึกษาทางดาราศาสตร์ การสังเกตกลุ่มดาวบนท้องฟ้า รูม่านตากับความเข้มแสง การเกิดฤดูกาล การเปรียบเทียบน้ำหนักบนดาวเคราะห์ น้ำหนักของคุณบนดาวเคราะห์ การเกิดพายุบนดาวเคราะห์แก๊ส อุกกาบาต วิวัฒนาการดาวฤกษ์ ไทม์ไลน์การกำเนิดเอกภพ ลูกตุ้มเพนดูลัมกับการพิสูจน์การหมุนของโลก ภารกิจยานสำรวจดาวอังคาร ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ นิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์


นิทรรศการ ภายในอาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ

หอดูดาว หอดูดาวสำหรับให้บริการประชาชน ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่ เป็นอาคารสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบต่าง ๆ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีขีดความสามารถสูง จำนวน 5 ชุด สำหรับให้บริการดูดาว สังเกตวัตถุท้องฟ้า รวมทั้งถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า เปิดบริการทุกวันเสาร์ 18:00-22:00 น. ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม

ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง ใช้ในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ และกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ เช่น กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน การสังเกตปรากฏการณ์ท้องฟ้าและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

อาคารหอดูดาวและลานกิจกรรม

อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมศิลปะวิทยการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ ให้บริการในการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย 

การเดินทาง
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ อยู่บนถนนเส้นเดียวกับสนามกีฬาสมโภชน์เชียงใหม่ 700 ปี คือถนนเลียบคลองชลประทาน 


จากหน้าสนามกีฬาสมโภชน์เชียงใหม่ 700 ปี ไปตามถนนหมายเลข 121 (ถนนเลียบคลองชลประทาน) จะผ่านโรงเรียนนวมินทราชูทิศพายัพ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะเจอเจอสามแยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานคลองชลประทาน (สะพานจะตรงกับประตูทางเข้าหมวดซ่อมบำรุงส่วนหน้าที่ 1 กองทัพบก)  พอข้ามฝั่งคลองมาแล้วให้เลี้ยวขวา จะเห็นทางเข้า "อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร" จะอยู่ซ้ายมือ 


เรียบเรียง:
นางสาวนัชรี อุ่มบางตลาด  ครู ชำนาญการ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

ถ่ายภาพ:
สราวุธ เบี้ยจรัส  นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง:
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. (ม.ป.ป.). Princess Sirindhotn AstroPark อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร. [แผ่นพับ]. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน). อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร. https://www.narit.or.th/index.php/sirindhorn-astro-park

ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดในภาคเหนือ ตอนที่ 1 (กำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย ตาก)

ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด เป็นพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด เพื่อให้นำไปปลูกเป็นสิริมงคลแก่จังหวัด และเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในส่วนของพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำในภาคเหนือ ในตอนนี้ จะมีกล่าวถึงไม้มงคลประจำจังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ และตาก ดังนี้

1. ไม้มงคลประจำจังหวัดกำแพงเพชร : ต้นสีเสียดแก่น

ภาพ ดอกและฝักสีเสียด โดย J.M.Garg 
จาก https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4252959
และ https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4252968

  • ชื่อ : สีเสียดแก่น หรือ สีเสียด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acacia catechu (L. f.) Wild.  ชื่อสามัญ Catechu tree หรือ Cutch tree  และมีชื่อเรียกท้องถิ่นอื่นๆ ของไทย ได้แก่ เสียด (ภาคเหนือ)  สีเสียดเหนือ (ภาคกลาง)  สีเสียดเหลือง (เชียงใหม่) เดิมเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียว ศรีลังกา และพม่า นำเข้ามาปลูกในไทยเป็นไม้สวนป่า
  • ลักษณะทั่วไป สีเสียดแก่น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง สูงประมาณ 10-15 เมตร เรือนยอดโปร่ง แตกกิ่งต่ำ ตามกิ่งมีหนามแหลมโค้งเป็นคู่ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมดำหรือสีเทาเข้ม ค่อนข้างขรุขระ สามารถลอกเปลือกผิวออกมาได้เป็นแผ่น ๆ เปลือกข้างในเป็นสีแดง ตามกิ่งก้านมีหนามเล็ก ๆ เป็นคู่
    • ใบ เป็นใบประกอบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ยาวประมาณ 9-17 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว มีขนห่าง ๆ ใบย่อยมีขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน ประมาณ 30-50 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว มีขนขึ้นประปราย หลังใบและท้องใบเรียบ ไม่มีก้าน
    • ดอก ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบ ลักษณะช่อคล้ายหางกระรอก ยาว 5-10 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กจำนวนมาก อัดแน่นเป็นช่อ สีเหลืองอ่อนหรือขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ออกดอกช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 
    • ผล สีเสียดจะออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ผลเป็นฝักแบน กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ปลายและโคนฝักเรียวแหลม เมื่อแก่เต็มที่จะมีสีน้ำตาลดำเป็นมัน เมื่อฝักแก่จะแห้งแล้วแตกอ้าออกตามด้านข้าง ภายในฝักมีเมล็ด 3-10 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก แบน สีน้ำตาลเป็นมัน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด 
  • ประโยชน์ สีเสียดมีเนื้อไม้สีน้ำตาลแดง แข็งเหนียว ไสกบ ตกแต่งยาก จึงใช้ประโยชน์ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ เช่น เสา ตง คาน สะพาน หรือทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตร น้ำฝาดจากแก่นใช้ฟอกหนัง เปลือกให้สีน้ำตาลและน้ำตาลแดงสำหรับย้อมผ้า แห อวน นอกจากนี้ยางต้นสีเสียดนำมาเคี่ยวจนงวดเป็นก้อนสีดำ หรือแก่นที่สับและเคี่ยวกับน้ำ นำมาปั้นเป็นก้อนเหนียว มีสรรพคุณทางยา เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ไข้จับสั่น แก้ไอ แก้ปากเป็นแผล รักษาเหงือก ลิ้น ฟัน และช่วยรักษาแผลในลำคอ แก้อาการท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ แก้บิด ริดสีดวง รักษาโรคผิวหนัง โรคหิด
2. ไม้มงคลประจำจังหวัดเชียงราย : ต้นกาซะลองคำ กาสะลองคำ

ภาพจาก อุทยานหลวงราชพฤกษ์ https://www.royalparkrajapruek.org/news/news_detail?newsid=573

  • ชื่อ : ต้นกาซะลองคำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Radermachera ignea (Kurz) Steenis ชื่อสามัญคือ Tree Jasmine และมีชื่อเรียกท้องถิ่นอื่น ๆ ของไทยแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ได้แก่ กากี (สุราษฎร์ธานี)  แคะเป๊าะ สำเภาหลามต้น (ลำปาง)  จางจืด (เชียงใหม่)  สะเภา อ้อยช้าง (ภาคเหนือ) ปีบทอง (ภาคกลาง) 
  • ลักษณะทั่วไป : กาซะลองคำเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงประมาณ 6-20 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อย 2-5 คู่ แผ่นใบย่อยรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร ปลายแหลมเป็นติ่ง โคนสอบแหลม ออกดอกเป็นกระจุกตามกิ่งและลำต้น กระจุกละ 5-10 ดอก ดอกมีสีเหลืองอมส้มหรือสีส้ม กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ยาว 4.5-7 เซนติเมตร ปลายเป็นแฉกสั้นๆ 5 แฉก ออกดอกเดือนมกราคม-เมษายน ผลัดใบก่อนออกดอก ผลเป็นฝักยาว 35-90 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดมีปีก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง และแยกหน่อ
  • ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับ
3. ไม้มงคลประจำจังหวัดเชียงใหม่ : ต้นทองกวาว

  • ชื่อ  ทองกวาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Butea monosperma (Lam.) Taub. ชื่อสามัญ Flame of the Forest และ Bastard Teak และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น ๆ ของไทย คือ กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ)  จอมทอง (ภาคใต้)  จ้า จาน (เขมร)  ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง)
  • ลักษณะทั่วไป  ต้นทองกวาวเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขึ้นกระจายห่าง ๆ ตามป่าเบญพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือป่าละเมาะในทุกภาคของไทย พบมากทางภาคเหนือ ต้นสูงประมาณ 8-15 เมตร เปลือกสีเทาคล้ำแตกเป็นร่องตื้น ๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ออกสลับกัน ใบย่อยส่วนยอดมีลักษณะรูปไข่ ปลายมน โคนสอบ ส่วนอีก 2 ใบมีรูปไข่ค่อนข้างกว้าง โคนเบี้ยว ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง ยาว 2-15 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกถั่วขนาดใหญ่ มีกลีบดอก 5 กลีบ ยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีสีเหลืองถึงแดงแสด ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ผลเป็นฝักรูปขอบขนาน แบน กว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร มีเมล็ด1-2 เมล็ด ที่ปลายฝัก ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด
  • ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ เปลือกใช้ทำเชือกและกระดาษ และมีสรรพคุณทางยา ใบตำพอกฝีและสิว ถอนพิษ แก้ปวด ท้องขึ้น ริดสีดวง เข้ายาบำรุงกำลัง ดอกใช้ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ นอกจากนี้ยังให้สีเหลืองใช้ในการย้อมผ้า เมล็ดใช้ขับพยาธิตัวกลม บดให้ละเอียดผสมกับน้ำมะนาว ทาแก้คันและแสบร้อน ยางใช้ฝาดสมานภายนอก และกินแก้ท้องร่วง
4. ไม้มงคลประจำจังหวัดตาก : ต้นแดง

  • ชื่อ ชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นแดง คือ Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub. ชื่อสามัญ Iron Wood และมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ได้แก่ กร้อม (นครราชสีมา) ตะกร้อม (จันทบุรี) ปราน (สุรินทร์)  ไปร (ศรีษะเกษ) ปราน ผ้าน (เชียงใหม่)  ไคว เพร่ (แพร่, แม่ฮ่องสอน)  เพ้ย (กะเหรี่ยง ตาก) เป็นต้น
  • ลักษณะทั่วไป ต้นแดงเป็นไม้ยืนต้น สูง 15–30 เมตร กิ่งก้านและยอดอ่อนมีขนละเอียดสีเหลือง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ ประกอบด้วย 2 ช่อ ใบแตกออกเป็น 2 ง่าม ใบย่อย 4–5 คู่รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อทรงกลมคล้ายดอกกระถิน ที่ปลายกิ่งและซอกใบ กลีบดอกสีขาว ผลเป็นฝักรูปไต แบน แข็ง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
  • ประโยชน์ ไม้แดง เป็นไม้เนื้อแข็งเหนียว มีความทนทานสูง จึงนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ใช้ทำพื้น เสา คาน ได้ดี นอกจากนี้ ยังใช้ทำเกวียน ต่อเรือ ทำหมอนรองรางรพไฟ ทำเครื่องมือทางการเกษตร

    เรียบเรียง :
    วราพรรณ พูลสวัสดิ์  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบัน สกร.ภาคเหนือ

    อ้างอิง :
    กรมป่าไม้. สำนักส่งเสริมการปลูกป่า. (ม.ป.ป.). ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด. https://www.forest.go.th/nursery/สาระน่ารู้/ไม้มงคลประจำจังหวัด/

    โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี. ต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัด. http://www.rspg.or.th/plants_data/homklindokmai/province_pl/p_plant.htm

    ต้นแดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแดง 15 ข้อ. (2563, 28 พฤศจิกายน). Medthai. https://medthai.com/ต้นแดง/

    นพพล เกตุประสาท. (ม.ป.ป.). กาสะลองคำ. ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.
    http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/new-fragrant/radermachera.html

    สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้. ส่วนส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ. (ม.ป.ป). แดง.
    https://site-matching.forest.go.th/plant.php?id=12


    สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน). สีเสียด. https://www.wisdomking.or.th/th/tree-knowledge/สีเสียด

    อาหารขึ้นบ้านใหม่ล้านนา

    การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นพิธีที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการส่งเสริมสิริมงคลแก่เจ้าบ้านและผู้อยู่อาศัยเมื่อย้ายบ้านหรือที่อยู่ใหม่ นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้อยู่อาศัยรักใคร่ปรองดอง ไม่ทะเลาะวิวาทกัน ป้องกันสิ่งอันตราย ขับไล่สิ่งชั่วร้าย ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ รวมไปถึงกิจการค้าขายรุ่งเรืองอีกด้วย

    การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ของชาวล้านนา ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย และแม่ฮ่องสอน นอกจากจะให้ความสำคัญกับพิธีทางศาสนาแล้ว อาหารที่นำมาทำบุญเลี้ยงพระก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน อาหารล้านนาไม่เพียงแต่มีรสชาติที่อร่อย แต่ยังแสดงถึงเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของความเป็นล้านนา มีการสอดแทรกความเชื่อ ดังเช่น อาหารที่นิยมนำมาทำบุญในวันขึ้นบ้านใหม่ ได้แก่ แกงขนุน ลาบ แกงฟักเขียวใส่ไก่ แกงฮังเล และแกงอ่อม


    1. แกงขนุน 
    ภาษาเหนือเรียกกันว่า “แก๋งบะหนุน” โดยมีความเชื่อว่าการนำแกงขนุนไปใช้ในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ จะทำให้ชีวิตมีแต่คนอุดหนุนค้ำจุ้น จะมีแต่สิ่งดี ๆ ช่วยหนุนนำให้พบกับแต่ความเจริญรุ่งเรือง ประกอบกิจการใดก็จะสำเร็จดั่งที่หมาย และเกิดความเป็นสิริมงคลต่อคนในครอบครัว ตามชื่ออาหาร คือ ขนุน หมายถึง เกื้อหนุน หนุนนำ

    2. ลาบ
    เป็นอาหารยอดนิยมของชาวล้านนามาช้านาน และมีบทบาทเสริมส่งในด้านความเชื่อและวิถีชีวิตอีกหลายประการ ด้วย “ลาบ” พ้องเสียงกับคำว่า “ลาภ” ที่มีความหมายว่า โชคลาภ ลาภลอย การประสบและรับโชคลาภโดยไม่คาดฝัน คนโบราณจึงเชื่อว่าการนำลาบมาทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และถวายพระจะทำให้เจ้าของบ้าน บริวาร ลูกหลานมีโชคลาภ พบแต่สิ่งที่ดี ลาบที่ใช้เป็นลาบหมู ลาบวัว และ ลาบควาย จะเป็นลาบสุกหรือดิบก็ได้

    3. แกงฟักเขียวใส่ไก่ 
    แกงฟักเขียวใส่ไก่เป็นอาหารมงคลสำหรับการขึ้นบ้านใหม่ เพื่อเอาเคล็ดว่าให้เป็นที่รักของคนและเทวดาทั้งหลาย ชีวิตครอบครัวจะชุ่มเย็น ดั่งฟัก ฟักเขียวมีความหมายแทนความร่มเย็นอุดมสมบูรณ์ ในยามที่ได้กินเป็นแห่งการรำลึกถึงความเป็นพี่น้องไปพร้อมกัน

    4. แกงฮังเล 
    อาหารยอดนิยมของชาวล้านนาที่นิยมนำมาถวายพระในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ คือ แกงฮังเล เนื่องจากวัตถุดิบหลักคือเนื้อสัตว์ซึ่งมีราคาสูง ประกอบกับความพิถีพิถันในการปรุง ที่ต้องใช้เวลานานในการเคี่ยวเนื้อหมูให้เปื่อย นอกจากนี้แกงฮังเล ยังมีส่วนผสมของเครื่องเทศ เมื่อรับประทานแล้วส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมะขามเปียก มีรสเปรี้ยว ทำให้ชุ่มคอ ลดความร้อนของร่างกายได้ดี มะขามเปียกอุดมด้วยกรดอินทรีย์ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ขิงแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ป้องกันอาหารคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยลดอาการไอและระคายคอ พริกช่วยบรรเทาอาการหวัด ลดการอุดตันของหลอดเลือด ลดคอเรสเตอรอลในเลือด หอมแดงช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืดแน่น ช่วยย่อย ทำให้เจริญอาหาร บรรเทาอาการบวมน้ำ กระเทียมแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น แกงฮังเลจึงนับเป็นอาหารสำคัญในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่

    5. แกงอ่อม 
    นอกจาก แกงขนุน ลาบ แกงฝักเขียวใส่ไก่ และแกงฮังเล ที่นิยมนำมาใช้ในการในงานขึ้นบ้านใหม่ของคนทางภาคเหนือ (ล้านนา) แล้ว ยังมีแกงอ่อมที่นิยมนำมาใช้เลี้ยงเลี้ยงพระ และเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน เพราะแกงอ่อมมีสมุนไพรเป็นวัตถุดิบที่ช่วยบำรุงสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผักชีลาว ตะไคร้ ข่า ต้นหอมผักชี ใบมะกรูด เมล็ดผักชี มะแหลบ มะแขว่น ฯลฯ ซึ่งแกงอ่อมของชาวล้านนาก็มีทั้ง 
    แกงอ่อมหมู แกงอ่อมเนื้อ หรือแกงอ่อมเครื่องในอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นเมนูอาหารชั้นดีของชาวล้านนาเลยทีเดียว

    การขึ้นบ้านใหม่เป็นพิธีมงคลที่ทุกบ้านควรทำ เนื่องจากเป็นพิธีการป้องกันไม่ให้มีสิ่งอัปมงคลเข้ามาในบ้านของเรา และยังเป็นพิธีที่ช่วยเสริมสิริมงคลให้กับผู้อยู่อาศัยทั้งทางสุขภาพร่างกาย ความปลอดภัย ความมั่งคั่ง และความสงบให้กับผู้อยู่อาศัย เมื่อคุณได้ทราบถึงความสำคัญของการขึ้นบ้านใหม่ การเตรียมข้าวของต่างๆ ขั้นตอนปฏิบัติพิธีขึ้นบ้านใหม่ รวมถึงอาหารที่ใช้ในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน ก็จะได้ดำเนินการประกอบพิธีได้อย่างครบถูกต้องสมบูรณ์แบบ ทำให้บ้านมีแต่สิ่งดีๆ ชีวิตของเจ้าของบ้านรวมทั้งผู้อยู่อาศัยก็จะเจริญก้าวหน้าดำเนินไปอย่างสงบสุขอีกด้วย


    เรียบเรียง :
    พรวิมล พันลา  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

    อ้างอิง :
    A.P.Y. (2563, 21 เมษายน). ความเชื่อของการแกงขนุนทางภาคเหนือ. ทรูไอดี. https://food.trueid.net/detail/kXlYeO7YYJnD/

    พิธีขึ้นบ้านใหม่มีขั้นตอนอย่างไร. (2566, 3 กุมภาพันธ์). The Gen C. https://www.ananda.co.th/blog/thegenc/พิธีขึ้นบ้านใหม่มีขั้นตอนอย่างไร

    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม. (2565, 8 มีนาคม). ลาบเหนือ วัฒนธรรมของชายชาตรี. https://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/articleDetail/2547

    ฐิติวรฎา ใยสาลี, สุรีย์พร ธัญญะกิจ, จุฑารัตน์ ศักดิ์มั่นวงศ์, และนพพร แพทย์รัตน์. “แกงฮังเล” วัฒนธรรมและความเชื่อ. วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์), 9(2), 172-186. 
    https://so06.tci-thaijo.org/index.php/var/article/download/213511/149805/684838