บทบาทสถาบัน กศน.ภาค กับการวิจัย : ตอนที่ 1 การวิจัยพัฒนาผู้เรียน

ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดอำนาจและหน้าที่ของสถานศึกษา ซึ่ง ประกาศ ณ วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาค (สถาบัน กศน.ภาค) มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1)
  1. จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยประเภทการศึกษาต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความสนใจของกลุ่มเป้าหมายและประชาชนในภูมิภาค
  2. วิจัย และพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่สอดคล้องกับบริบทของภาค
  3. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา คุณภาพทางวิชาการ หลักสูตร สื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรมทางการศึกษา บุคลากรและระบบข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่สถานศึกษาในภูมิภาคและภาคีเครือข่าย
  4. ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
จากบทบาทหน้าที่ดังกล่าว จะเห็นว่า การวิจัย และพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่สอดคล้องกับบริบทของภาค เป็นบทบาทสำคัญประการหนึ่ง ดังนั้นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ ขอบเขตการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ควรจะเป็นเรื่องอะไรบ้าง ดูจากอะไร แน่นอนปัญหาอุปสรรคในการจัดและส่งเสริมการศึกษาก็เป็นเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าใคร่เสนอให้ลองไปศึกษาประเด็นต่าง ๆ ในพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แล้วจะพบว่า สถาบัน กศน.ภาค ควรวิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่สอดคล้องกับบริบทของภาค ในประเด็นอะไรบ้าง

การวิจัยตามบทบาทหน้าที่ของสถาบัน กศน.ภาคอาจมีรูปแบบตามวัตถุประสงค์การวิจัยหลายรูปแบบ เช่น การวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียน การวิจัยประเมินผล เป็นต้น ในโอกาสนี้จะกล่าวถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียนประเด็นเดียวเท่านั้น

การวิจัยและพัฒนาผู้เรียน เป็นการวิจัยเพื่อหานวัตกรรมสำหรับแก้ปัญหา หรือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นการแก้ปัญหาและ/หรือพัฒนางานเกี่ยวกับการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยอาศัยกระบวนการวิจัย เป็นการค้นหาลักษณะที่เหมาะสมของรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้และเป็นการวิจัยของครู

การวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียน กศน. วิจัยอะไร 
คำถามนี้หากพิจารณาจาก พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จะเห็นประเด็นที่ สถาบัน กศน.ภาคควรวิจัยเกี่ยวการพัฒนาผู้เรียน ดังต่อไปนี้ (2)

1. มาตรา 7 กล่าวว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสานึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

2. มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคน มีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

3. มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 
(1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ และความถนัดของผู้เรียน
โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล 
(2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา 
(3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น 
ทำเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
(4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
(5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกัน จากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
(6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ


สรุปประเด็นวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียน 

  1. หลักสูตรหลากหลาย ตรงกับจุดมุ่งหมายการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะตามมาตร 7 ตามความต้องการที่แตกต่างของแต่ละบุคคล
  2. รูปแบบ กระบวนการเรียนรู้ในการที่จัดและส่งเสริมการเรียนรู้ตามรูปแบบในมาตร 22 และมาตรา 24
  3. หลักสูตรและรูปแบบการจัดการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (มาตรา 22 (1))
  4. สื่อการเรียนรู้
  5. การวัดผล ประเมินผลการเรียนรู้ที่สอดคล้องจุดมุ่งหมายการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ หลักสูตร รูปแบบการจัดการเรียนรู้ การวัดผล ประเมินผลการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้เป็นรายบุคคล เป็นต้น
  6. กิจกรรมพิเศษ
  7. ฯลฯ

ตัวอย่างหลักสูตร การเสริมสร้างความเป็นพลเมืองสู่ความรัก สามัคคี ปรองดองและสมานฉันท์ (3)

จากที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพราะเชื่อถึงความสำคัญของการวิจัยว่า “สังคมจะก้าวหน้าได้ คนในสังคมต้องมีความรู้ ๆ ได้มาจากหลายทาง ทั้งจากการบอกเล่า การอ่าน การฟัง ความเชื่อส่วนตัว การใช้หลักเหตุผล การลองผิดลองถูก แต่ความรู้ที่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นจริง ตรวจสอบได้คือ ความรู้จาการวิจัย” การวิจัยเป็นกระบวนการที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษา และวิเคราะห์มูล เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ๆ ความรู้จากการวิจัยจึงเป็นความรู้ที่มีคุณภาพ เรียกง่าย ๆ ว่า การวิจัยให้ข้อมูลที่มีคุณภาพ
การพัฒนาการส่งเสริมการเรียนรู้ต้องอาศัยฐานข้อมูล ๆ ที่ดีนำไปสู่การตัดสินในที่ดี การประเมินและการวิจัยเป็นกระบวนการที่ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ สามารถนำไปวางแผนพัฒนาโรงเรียนได้อย่างถูกต้อง โดยมีฐานข้อมูลสำคัญสำหรับการพัฒนาของสถานศึกษา ดังนี้
  1.  ฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
  2. ฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการสอน
  3. ฐานข้อมูลเพื่อการบริหารและจัดการองค์กร

(1) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 60 เรื่อง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดอำนาจและหน้าที่ของสถานศึกษา 25 มีนาคม 2551
(2) ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 เล่มที่ 116 ตอนที่ 74 หน้า 1  19 สิงหาคม 2542
(3) พัฒนาโดย ศุภกร ศรีศักดา

เขียนและเรียบเรียง: ศุภกร ศรีศักดา 

บทความที่เกี่ยวข้อง: