บทบาทสถาบัน กศน.ภาค กับการวิจัย : ตอนที่ 2 การประเมินผลโครงการฝึกอบรม

จากที่ได้กล่าวถึงสถาบัน กศน.ภาค กับการวิจัย ในเรื่องการวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียนไปแล้วนั้น สำหรับตอนที่ 2 นี้ จะกล่าวถึงการประเมินโครงการซึ่งเป็นการวิจัยแบบหนึ่ง ซึ่งงานจัดและส่งเสริมการศึกษาของสถาบัน กศน.ภาค น่าจะมี 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
  1. งาน/โครงการฝึกอบรม ซึ่งเป็นการศึกษาต่อเนื่อง ได้แก่โครงการพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาของสถาบัน กศน.ภาค
  2. งาน/โครงการเกี่ยวส่งเสริมกับการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ หลักสูตร สื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรมทางการศึกษา บุคลากร และระบบข้อมูลดสารสนเทศที่เกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
ดังนั้น ในตอนที่ 2 นี้ จะกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบัน กศน.ภาคกับการประเมินผลโครงการการฝึกอบรมเท่านั้น โดยมีรายละเอียดย่อ ๆ ดังต่อไปนี้

ความหมายของการประเมินผลการฝึกอบรม
เชาว์ อินใย (2553) ให้ความเห็นว่า การฝึกอบรม (Training) เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เพิ่มพูนประสบการณ์ด้านความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และเจตคติ (Attitude) เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการทำงานในทางที่ดีขึ้น นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในการพัฒนาบุคลากรทั้งก่อนการทำงานและระหว่างการทำงาน

พิชิต ฤทธิ์จรูญ (2560, อ้างในสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา, 2561 ) กล่าวว่า การประเมินผลการฝึกอบรม หมายถึงกระบวนการตรวจสอบและตัดสินคุณภาพของโครงการฝึกอบรมเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นและความพร้อมที่จัดโครงการฝึกอบรม ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการโครงการฝึกอบรม และผลที่เกิดขึ้นจากการจัดดำเนินโครงการฝึกอบรมว่า บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรมหรือไม่ อย่างไร โครงการช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรม มีความรู้ ทักษะ เจตคติ และศักยภาพในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพียงใด ซึ่งจะช่วยให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการโครงการฝึกอบรมว่า ควรจะยุติ หรือปรับปรุงและพัฒนาโครงการฝึกอบรมในระยะต่อไป


ความสำคัญของการประเมินผลการฝึกอบรม 
พิชิต ฤทธิ์จรูญ (2560, อ้างในสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา, 2561, น. 29) เห็นว่าการประเมินโครงการฝึกอบรมมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริหารและผู้รับผิดชอบโครงการโดยสรุป ดังนี้ 
  1. ช่วยให้ได้สารสนเทศต่างๆเกี่ยวกับสภาพความต้องการจำเป็นในการฝึกอบรม ซึ่งจะนำไปใช้ในการตัดสินใจกำหนดโครงการฝึกอบรมให้เหมาะสม ตอบสนองความต้องการของบุคลากรและองค์การมีการวางแผนการฝึกอบรมและการบริหารจัดการโครงการฝึกอบรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  2. ช่วยให้ได้สารสนเทศที่สะท้อนถึงสภาพการบริหารจัดการโครงการฝึกอบรมว่า มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารจัดการโครงการ และการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  3. ช่วยให้ได้สารสนเทศเพื่อตัดสินความสำเร็จหรือความล้มเหลวของโครงการฝึกอบรม ซึ่งจะบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่เกิดผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานหรือเพิ่มศักยภาพในการทำงานของบุคลากรหรือไม่ อย่างไร คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ โดยจะนามาใช้ในการตัดสินใจและวินิจฉัยว่าจะดำเนินโครงการฝึกอบรมในช่วงต่อไปอย่างไร จะยุติหรือปรับขยายการดำเนินโครงการฝึกอบรมต่อไปอีก
  4. ช่วยเสริมแรง สร้างพลังจูงใจให้กับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม เมื่อทราบผลสำเร็จ จุดเด่น หรือจุดที่ควรปรับปรุงพัฒนาโครงการ ผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรมก็จะมุ่งมั่นปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการโครงการให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้น ซึ่งจะเกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุดต่อบุคลากรหรือองค์การ

สำหรับรูปแบบการประเมินผลโครงการฝึกอบรมนั้น ในครั้งนี้ขอเสนอรูปแบบของ Kirkpatrick รูปแบบเดียวก่อน ดังนี้

รูปแบบการประเมินโครงการฝึกอบรมของ Kirkpatrick
เชาว์ อินใย (2553, น. 143) Donald L. Kirkpatrick ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการฝึกอบรมและการประเมินผลการฝึกอบรมว่า การฝึกอบรมเป็นการช่วยเหลือบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการฝึกอบรมใด ๆ ควรจัดให้มีการประเมินผลการฝึกอบรม ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้รู้ว่าการจัดโปรแกรมการฝึกอบรมมีประสิทธิภาพเพียงใด 

สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (2547, อ้างในเชาว์ อินใย, 2553, น. 144-145) กล่าวว่า การประเมินผลการฝึกอบรมควรเก็บข้อมูล 4 ประเภทคือ
  1. การประเมินปฏิกิริยาตอบสนอง (Reactive Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อให้ทราบว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้สึกอย่างไรต่อการฝึกอบรม พอใจหรือไม่ต่อสิ่งที่ได้รับจากการฝึกอบรม เช่น หลักสูตร เนื้อหาสาระ วิทยากร เอกสาร สถานที่ โสตทัศนูปกรณ์ ระยะเวลา บรรยากาศในการฝึกอบรม ฯลฯ และพอใจมากน้อยเพียงใด
  2. การประเมินการเรียนรู้ (Learning Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อให้ทราบว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้ความเข้าใจและทักษะอะไรบ้าง นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือไม่
  3. การประเมินพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังการฝึกอบรม (Behavior Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อให้ทราบว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานไปในทิศทางที่พึงประสงค์หรือไม่ 
  4. การประเมินผลลัพธ์ที่เกิดต่อองค์กร (Result Evaluation) ) เป็นการประเมินเพื่อให้ทราบว่าการฝึกอบรมได้ก่อให้เกิดผลดีต่อหน่วยงานอย่างไรบ้าง เช่น การลดค่าใช่จ่าย การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เป็นต้น
สำหรับรายละเอียดของรูปแบบการประเมินโครงการฝึกอบรมของ Kirkpatrick จะได้กล่าวในตอนต่อไป

เขียนและเรียบเรียง: 
ศุภกร ศรีศักดา 

อ้างอิง:
เชาว์ อินใย. (2553). การประเมินโครงการ (น.143-145). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา. (2561). รายงานการติดตามและประเมินผลโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ (นบส.ศธ.) รุ่นที่ 8 2561 (น. 29-30, 32-35). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.


บทความที่เกี่ยวข้อง
• บทบาทสถาบัน กศน.ภาค กับการวิจัย: ตอนที่ 2 การประเมินผลโครงการฝึกอบรม