อันตรายจากสารสเตียรอยด์

 สเตียรอยด์ (Steroid) คืออะไร  
สเตียรอยด์ เป็นกลุ่มฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เอง ในปริมาณเพียงเล็กน้อยเพื่อ ทำหน้าที่ในกระบวนการต่างๆ ของร่างกายให้เป็นปกติ ตัวอย่าง เช่น ต้านการอักเสบ ลดอาการปวด ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเป็นปกติ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวของสารสเตียรอยด์จึงทำให้มีการผลิต และสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ทางการแพทย์ มีหลายชนิด และหลายรูปแบบทั้งยาฉีด ยาเม็ด และยาครีม
  ผลของสเตียรอยด์ต่อร่างกาย  
  • บรรเทาการอักเสบ ฤทธิ์ครอบจักรวาลของสเตียรอยด์ จึงทำให้การใช้สเตียรอยด์ที่สังเคราะห์ขึ้นมานั้นเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์นอกเหนือจากเป้าหมายในการรักษา
  • กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เป็นผลให้แผลหายช้า บางรายแผลลุกลาม ทั่วร่างกาย หรืออาจปิดบังอาการของโรคติดเชื้อกว่าจะตรวจพบจนเกิดการติดเชื้อสู่กระแสเลือดทำให้เสียชีวิตได้
  • ทำให้กระดูกพรุน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไขกระดูก ผู้ที่อยู่ในวัยทอง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรตรวจภาวะกระดูกพรุนหรือปรึกษาหมอก่อนใช้ยา
  • กระเพาะอาหารบางลง สเตอรรอยด์มีผลยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารใหม่ ทำให้กระเพาะอาหารบางลง อาจทำให้ทะลุ หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหารโดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อน
  • ระดับน้ำตาลสูง สเตอรรอยด์มีผลทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาหมอก่อนใช้ยา
  • ทำให้อ่อนเพลีย สเตอรรอยด์มีผลทำให้กล้ามเนื้อบริเวณแขน และขาไม่มีแรง จึงปวดข้อปวดกล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดจังหวะหรืออาจหยุดเต้นได้
  อันตรายจากการใช้สเตียรอยด์  
  • การติดเชื้อ กดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงเป็นผลทำให้ติดเชื้อง่าย
  • กดการทำงานของระบบที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมน การใช้สเตียรอยด์ในปริมาณที่สูงจะกดการทำงานของต่อมไร้ท่อที่ทำหน้าที่สร้างและหลั่งฮอร์โมน
  • เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารบางลง และยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ทดแทนเนื้อเยื่อเก่าที่หลุดไป
  • ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ และอารมณ์ยังพบอาการไม่พึงประสงค์อื่น เช่น นอนไม่หลับ เจริญอาหาร กระสับกระส่าย หงุดหงิด
  • กระดูกผุ การใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานานมีผลทำให้กระดูกผุ
  • ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือโปแตสเซียมทางปัสสาวะมากทำให้
  • เกิดอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อไม่มีแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะอาจหยุดเต้นได้
  • ผลต่อตา ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย บางรายอาจทำให้ตาบอดได้
  • ยับยั้งการเจริญเติบโตของเด็ก การใช้ยาสเตียรอยด์ ชนิดรับประทานในขนาดสูง มีผลยับยั้งการเจริญเติบโต
สเตียรอยด์ชนิดยาทาภายนอก
หากใช้นานๆ ติดต่อกัน จะทำให้ผิวหนังบาง เส้นเลือด ที่ผิวหนังแตกง่าย จะเห็นรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา ผิวหนังมีลักษณะเป็นมันอักเสบมีผื่นแดง บางรายอาจเป็นสิวเห่อขึ้นทั้งตัว เกิดอาการที่เรียกว่า คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome) คือ ใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่าผู้ที่มีอาการ คุชชิ่ง ซินโดรมจะมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคไตสูงถึง 12 เท่า เสี่ยงต่อกระดูกหักจากกระดูกผุ 23 เท่า

ภาพจาก : https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/1104780

  ประโยชน์ของสเตียรอยด์  
  • ทดแทนการขาดฮอร์โมนกับวัยทอง ทดแทนการขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ที่มีสาเหตุมาจาก ความบกพร่องของต่อมหมวกไต และจากความบกพร่องของต่อมใต้สมองส่วนหน้า
  • รักษาโรคต่าง ๆ ถูกใช้เมื่อใช้ยาอื่นไม่ได้ผล หรือโรคนั้นไม่อาจควบคุมด้วยยาอื่น เนื่องจากมีอาการข้างเคียงสูง โดยเฉพาะการบรรเทาอาการอักเสบ
  • รักษาโรคภูมิแพ้ สามารถควบคุมอาการหลายอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับโรคภูมิแพ้ แต่เนื่องมีอันตรายจากการใช้สูงจึงควรเก็บไว้ใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ และใช้ในระยะเวลาสั้น
  • ลดอาการทางผิวหนังที่เกิดจากการแพ้  สเตียรอยด์ไม่ใช่เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ เป็นเพียงยับยั้งอาการคันและอาการอักเสบที่เกิดจากเชื้อรา หากหยุดยาก็จะกลับมาเป็นอีก เพราะสเตียรอยด์มีผลในการกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • รักษาโรคของตาที่เกิดจากอาการแพ้สารบางชนิด ห้ามใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ในการรักษาในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น จนเกิดเป็นโรคต้อหินได้
  • โรคข้ออักเสบชนิดรูมาตอยด์  ปกติการรักษาจะใช้ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของสาร      สเตียรอยด์ก่อน หากมีอาการอักเสบที่รุนแรงแพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านการอักเสบชนิดที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ในการรักษา  
  ข้อพึงปฏิบัติในการใช้สเตียรอยด์  
  1. ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนว่า มีความจำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์
  2. ซื้อยาจากร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรแนะนำการใช้ยา
  3. สำหรับผู้ที่นิยมยาลูกกลอน หลีกเลี่ยงการซื้อยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือยาชุด ที่จัดเตรียมไว้แล้ว
  4. แผนโบราณประเภทยาลูกกลอน เพื่อให้มีความมั่นใจว่าปลอดภัยจากสเตียรอยด์ในการเลือกซื้อให้ตรวจดูฉลากที่ปิดผนึกบนภาชนะบรรจุ ว่ามีเลขทะเบียนตำรับยาซึ่งแสดงว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  5. การใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ไม่ควรซื้อมาใช้เองเพราะอาจทำให้ตาบอดได้

เรียบเรียง :
นางประทุม โพธิ์งาม   ครูชำนาญการพิเศษ
กลุ่มวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง

อ้างอิง :
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป). โทษของสเตียรอยด์. สืบค้น 23 กันยายน 2563 จาก http://www.steroidsocial.org/steroid2.html/

สำนักงานส่งเสริมสนับสนุนกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ. (2560). ภัยร้ายจากยาสเตียรอยด์. สืบค้น
23 กันยายน 2563 จาก https://w2.med.cmu.ac.th/dis/index.php?option=com


บทความที่เดี่ยวข้อง