ความเป็นมาของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.)

ในบทความก่อนหน้านี้ เราได้เคยพูดถึงการจัดการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่ดำเนินการโดย สำนักงาน กศน. การจัดการศึกษารูปแบบศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” หรือที่เรียก ศศช. ซึ่งสามารถไปอ่านย้อนหลังได้ที่บทความเรื่อง การจัดการศึกษารูปแบบ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ของสำนักงาน กศน. บทความตอนนี้จะขอกล่าวถึงประวัติความเป็นมาและการก่อตั้งของ ศศช. เนื่องจากถนนที่ชื่อว่า ศศช. มีเส้นทางและเรื่องราวอันยาวนาน และในปัจจุบันยังมีคนที่สนใจติดตามข้อมูลเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนได้ศึกษาและเรียบเรียงจากเอกสาร ภาพถ่าย สัมภาษณ์ ที่ค้นหาแหล่งข้อมูลได้ยาก มาก ๆ กว่าจะได้มาและสภาพก็เก่าไปตามกาลเวลา 

หลายสิบปีที่ผ่านมา กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับชาวไทยภูเขาตลอดมา โดยเฉพาะในช่วงเวลา 20 ปีแรก (พ.ศ. 2517- 2537) กรมการศึกษานอกโรงเรียนมีความพยายามจะพัฒนากิจกรรมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดการศึกษาสายอาชีพ การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย (การบริการข่าวสารข้อมูล) ให้มีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของชุมชนบนพื้นที่สูง มีความผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรม ไม่ทำลายเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่มีอยู่ ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จสำหรับชาวไทยภูเขา (ในปี พ.ศ. 2517) และต่อมาได้พัฒนาการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง รูปแบบศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ ศศช. นั้น หลายหน่วยงานที่จัดการศึกษาเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูง ได้นำเอาปรัชญาการดำเนินงานที่ยึดหลักการจัดการศึกษาเพื่อชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน นำไปสู่การพึ่งพาตนเองใช้เป็นแม่แบบ ในฐานะที่ทั้งสองโครงการเป็นนวัตกรรมในการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนพื้นที่สูงของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ที่มีการพัฒนาต่อเนื่องซึ่งกันและกัน อีกยังเป็นแนวคิดพื้นฐานในการกำหนดนโยบายของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ในการจัดการศึกษาเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูง ให้สอดคล้องกับสภาพชุมชนบนพื้นที่สูง 


โครงการศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) เป็นโครงการทดลองที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานของรัฐ คือ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ กรมการศึกษานอกโรงเรียน เป็นผู้ดำเนินงาน (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ สังกัดสำนักงานพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) โครงการทดลองมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 6 ปี ระหว่างเดือนมีนาคม 2523 ถึง กันยายน 2529 โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับชาวไทยภูเขาโดยเฉพาะ ซึ่งหลังจากสิ้นสุดโครงการทดลองแล้ว การดำเนินงานโครงการศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ก็เข้าสู่งานปกติของกรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนางานวิชาการของ ศศช.

สรุป TIMELINE เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นกับ “ศศช.”
  • พ.ศ. 2511 ได้มีการทดลองโครงการแก้ไขการไม่รู้หนังสือ ขึ้นที่จังหวัดลำปาง โดยสอนความรู้เรื่องอาชีพ ควบคู่ไปกับการอ่านออก เขียนภาษาไทยได้ 
  • พ.ศ. 2513 ได้เปลี่ยนชื่อโครงการใหม่ว่า การศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ (Functional Literacy) โดยเน้นการเรียนการสอน เพื่อการแก้ปัญหาของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบ “คิดเป็น” 
  • พ.ศ. 2518 มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ โดยการศึกษาสำรวจสภาพปัญหาของชุมชน แล้วนำมาทำเป็นหลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียนได้ร่วมกันคิดและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยจัดกลุ่มเป็น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ อนามัย ด้านอาชีพ การเกษตร และด้านสิทธิหน้าที่พลเมือง หลักสูตรนี้ใช้กับผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือซึ่งเป็นคนไทยโดยทั่วไป
 

ระยะแรกดำเนินการ ในลักษณะทดลองใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดน่าน โดยใช้รูปแบบครูอาสาสมัครสอนการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จสำหรับชาวเขา เดินทางเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านชาวเขาและสอนผู้ใหญ่ในตอนกลางคืน 

ในระยะเวลาทดลองนั้น พบว่า นอกจากครูอาสาสมัครจะสอนผู้ใหญ่ให้รู้หนังสือ ซึ่งส่วนมากเป็นเวลากลางคืนที่ผู้ใหญ่กลับจากการทำงานในไร่ในสวนเสร็จแล้ว ในช่วงเวลากลางวัน ครูอาสาสมัครยังสามารถสอนเด็กที่มีอยู่มากมายในหมู่บ้านได้ด้วย เนื่องจากหมู่บ้านชาวเขาส่วนใหญ่ 90% เป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลจากโรงเรียนประถมศึกษา เด็ก ๆ ชาวเขาไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ครูอาสาสมัครซึ่งอยู่ในหมู่บ้าน จึงเอาเด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในหมู่บ้าน มานั่งเรียนหนังสือในบ้านครู  ที่ชาวบ้านสร้างไว้โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น นอกจากครูอาสาสมัครจะสอนผู้ใหญ่ในตอนกลางคืนและสอนเด็กในตอนกลางวันแล้ว ยังมีครูอาสาสมัครบางคนยังสามารถทำงานพัฒนาชุมชน โดยการประสานงานกับหน่วยงานทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากใช้รูปแบบให้ครูอาสาสมัครเข้าไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน มิใช่ใช้วิธีเช้าเข้าไปสอน บ่ายกลับมานอนบ้านในเมือง ครูอาสาสมัครเข้าไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้าน


นอกจากนี้ยังพบว่า มีเด็กชาวเขาอีกเป็นจำนวนมากในหมู่บ้านต่าง ๆ ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาจากโรงเรียนประถมศึกษา ในหมู่บ้าน ไม่มีโรงเรียน เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กและหมู่บ้านขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีโรงเรียนประถมศึกษา

จากการค้นพบในการทดลองในโครงการการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จสำหรับชาวเขาดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวคิดในการดำเนินการพัฒนา โครงการศูนย์การเรียนเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง :

ผู้เขียน: 
ธนากร หน่อแก้ว ครู สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง:
กรมการศึกษานอกโรงเรียน. (2538). นโยบายการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง. ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ.

ธนากร หน่อแก้วและคณะ. (2561). แนวทางการดำเนินงานศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”  (พิมพ์ครั้งที่ 2). : บอยการพิมพ์.