การจัดการศึกษารูปแบบ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ของ สำนักงาน กศน.


ชุมชนบนพื้นที่สูงในประเทศไทยโดยทั่วไป หมายถึง ชุมชนชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่กระจัดกระจาย ตามภูเขาสูงทางภาคเหนือตอนบนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อต่าง ๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป เป็นชุมชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนา พร้อมทั้งยังประสบปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาสิทธิการเป็นพลเมืองไทย ปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน ปัญหาการได้รับบริการจากรัฐ ปัญหาการรักษาเอกลักษณ์ของชนเผ่า ปัญหาสุขภาพอนามัย ปัญหายาเสพติด ปัญหาการจัดการทรัพยากรและปัญหาด้านการศึกษา


จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าว หน่วยงานหลายหน่วยงานทั้งรัฐ และเอกชน ได้เข้าไปพัฒนาและจัดการศึกษาในชุมชนบนพื้นที่สูงด้วยรูปแบบ วิธีการ ตามทัศนะของแต่ละองค์กร แต่โดยภาพรวมแล้ว ยังไม่สามารถจัดการศึกษาได้ทั่วถึงและเหมาะสมเท่าที่ควร

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” เป็นศูนย์การให้บริการการศึกษาประจำหมู่บ้าน หรือหย่อมบ้าน มีครูประจำ 1-2 คน โดยเรียกชื่อโดยย่อว่า “ครู ศศช.” ซึ่งจะทำหน้าที่ในการจัดการศึกษา ควบคู่กับการพัฒนา

หลักการดำเนินงานของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ที่สำคัญ มีดังนี้
  1. การศึกษากับการพัฒนาต้องควบคู่กันไป ไม่แยกออกจากกัน การศึกษาจะต้องเอื้อต่อการพัฒนาในทุกรูปแบบ ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา
  2. จัดการศึกษาโดยยึดชุมชนเป็นฐาน ใช้การศึกษาให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง
  3. ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อหมู่บ้านของตนเอง
  4. บทบาทของครูต้องเอื้อต่อการพัฒนา ดังนั้น นอกจากครูจะมีบทบาทหลักเป็นนักจัดการศึกษาทั้งเด็กและผู้ใหญ่แล้ว ครูจึงต้องมีบทบาททางด้านการให้บริการด้านอนามัย สาธารณสุขพื้นฐาน ด้านการเกษตร และด้านการพัฒนาชุมชนด้วย
  5. ถือว่า “ชาวบ้านทุกคน” ในหมู่บ้าน จะเป็นผู้รับบริการทางการศึกษา มิใช่เฉพาะผู้เป็น “ผู้เรียน” ของศูนย์เท่านั้น



ผู้เขียน : ธนากร หน่อคำ
สถาบัน กศน.ภาคเหนือ