ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21


ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนคนรุ่นเก่าปรับตัวแทบไม่ทันกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และค่านิยมเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้มากขึ้น กลุ่มภาคีเครือข่ายเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (The Partnership for 21st Century Skill) หรือมีชื่อย่อว่าเครือข่าย P21 ได้กำหนดกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาผู้เรียน เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 รู้จักคิด รู้จักเรียนรู้ ทำงาน แก้ปัญหา และการสื่อสาร และเพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติบูรณาการทักษะเข้าในการสอนเนื้อหาหลักด้านวิชาการ โดยผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะเฉพาะด้าน ความชำนาญการและความรู้เท่าทันด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต กรอบแนวคิดข้างต้นเองเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตใหม่สำหรับประเทศไทย

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นี้ ยึดผลลัพธ์ของผู้เรียน (Student Outcome) กล่าวคือเมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษาจะต้องมีความเชี่ยวชาญในวิชาแกน (Core Subjects) และจะต้องมีทักษะที่จะประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนความรู้เหล่านั้น ให้เข้ากับเป้าหมายที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ รวมถึงเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตามเนื้อหาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

กรอบความคิดข้างต้นจำเป็นต้องมีระบบสนับสนุนการศึกษาที่จำเป็น ได้แก่ มาตรฐานการเรียนรู้ การประเมินผล หลักสูตรและวิธีการสอน การพัฒนาวิชาชีพและบรรยากาศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้มากขึ้นและจบการศึกษาออกไปด้วยความพร้อมที่จะประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจโลกของทุกวันนี้


1. สาระวิชาหลักและทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 -- 3Rs
สาระวิชาหลักเป็นทักษะพื้นฐานในการรู้หนังสือ ได้แก่ สามารถค้นคว้า ใฝ่หาความรู้จากทรัพยากรการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายผ่านการอ่านออก (Reading) เขียนได้ (Writing) การคิดคำนวณ (Arithmetics) สาระวิชาหลักมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของผู้เรียน แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21 จึงต้องส่งเสริมความเข้าใจเนื้อหาวิชาการให้อยู่ในระดับสูงด้วยการสอดแทรกทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เข้าในทุกวิชาหลัก วิชาแกนหลักสำคัญซึ่งนำมาสู่การกำหนดกรอบแนวคิดที่สำคัญในการจัดการเรียนรู้ในเนื้อหาเชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary) เพื่อให้เกิดคุณลักษณะและเกิดแนวคิดสำคัญที่ผู้เรียนพึงมี ประกอบด้วย
วิชาหลัก (Core Subjects) ได้แก่
• ภาษาแม่ และภาษาสำคัญของโลก
• ศิลปะ
• คณิตศาสตร์
• เศรษฐศาสตร์
• วิทยาศาสตร์
• ภูมิศาสตร์
• ประวัติศาสตร์
• รัฐและความเป็นพลเมืองดี
ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้แก่
• ความรู้เรื่องโลก (Global Awareness)
• ความรู้ด้านการเงิน, เศรษฐกิจ, ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ (Financial, Economic, Business and Entrepreneurial Literacy)
• ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองที่ดี (Civic Literacy)
• ความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)
• ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy)
2. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills) -- 4Cs
ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรมจะเป็นตัวกำหนดความพร้อมในการเข้าสู่การทำงานซึ่งมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นในโลกปัจจุบัน ทักษะด้านนี้ได้แก่:
• ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation)
• การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving)
• การสื่อสาร (Communication)
• ความร่วมมือ (Collaboration)
3. ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และ เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Media and Technology Skills)
ปัจจุบันเราอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสื่อและเทคโนโลยี จะสังเกตได้จากการที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจำนวนมากมายได้อย่างรวดเร็ว พลเมืองและแรงงานที่มีประสิทธิภาพต้องสามารถรับรู้ เข้าใจการใช้และการจัดการสื่อสารสนเทศ เปิดใจรับสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเท่าทัน สามารถบริหารจัดการเทคโนโลยี เรียนรู้เทคนิควิทยาการต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณ และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม และเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งทักษะเหล่านี้ได้แก่
• ทักษะด้านสารสนเทศ (Information Literacy)
• ทักษะด้านสื่อ (Media Literacy)
• ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information, Communications and Technology, Literacy)
4. ทักษะชีวิตและอาชีพ (Life and Career Skills)
ในศตวรรษที่ 21 นี้ ชีวิตและสภาพการทำงานที่มีการแข่งขันกันด้านข้อมูลข่าวสารและการดำรงชีวิตที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นต้องมีทักษะการคิดและองค์ความรู้หลากหลายด้าน จึงจะสามารถทำงานให้ประสบผลสำเร็จได้ ทักษะชีวิตและอาชีพ ประกอบด้วย
• ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Flexibility and Adaptability)
• การริเริ่มและการกำกับดูแลตนเองได้ (Initiative and Self-Direction)
• ทักษะด้านสังคมและทักษะข้ามวัฒนธรรม (Social and Cross-Cultural Skills)
• การมีผลงานและความรับผิดชอบตรวจสอบได้ (Productivity and Accountability)
• ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (Leadership and Responsibility)
 ระบบส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
การพัฒนากรอบความคิดที่ครอบคลุมเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จะต้องมีระบบส่งเสริมเพิ่มขึ้นจากทักษะเฉพาะด้าน องค์ความรู้ ความชำนาญการและความสามารถในการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนที่รอบรู้มีความสามารถที่จำเป็นและหลากหลาย เครือข่าย P21 ได้ระบุระบบส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนได้รอบรู้ทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ไว้ด้วยกันห้าระบบดังนี้:
• มาตรฐานการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21st Century Standards)
• การประเมินผลทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Assessments of 21st Century Skills)
• หลักสูตรและวิธีการสอนในศตวรรษที่ 21 (21st Century Curriculum and Instruction)
• การพัฒนาวิชาชีพในศตวรรษที่ 21 (21st Century Professional Development)
• บรรยากาศการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21st Century Learning Environments)

เรียบเรียง : 
นัชรี อุ่มบางตลาด  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
กระทรวงศึกษาธิการ. (2557). การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21. สืบค้น 20 ตุลาคม 2561, จาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=38880&Key=news_research

วิจารณ์ พาณิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด.

Partnership for 21st Century Learning. (2015). Framework for 21 Century Learning. Retrieved October 20, 2018, from http://www.p21.org/about-us/p21-framework