การเรียนแบบร่วมมือ : กลุ่มการเรียนที่เสริมการอ่านและการเขียน


กลุ่มการเรียนที่เสริมการอ่านและการเขียน (Cooperative Integrated Reading and Composition : CIRC) เป็นการจัดการเรียนการสอนในลักษณะกลุ่มที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้ภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านและการเขียน โดยร่วมกันสรุปข้อความที่อ่าน ถามคำถาม ชี้แจงความเข้าใจหรือความถูกต้องให้แก่เพื่อนร่วมกลุ่ม

กิจกรรมการเรียนการสอน มีดังต่อไปนี้
  1. ผู้สอนจัดเตรียมเอกสารสำหรับการอ่านให้แก่ผู้เรียน ซึ่งอาจจะอยู่ในชุดของการอ่าน ประกอบด้วยเนื้อเรื่องต่าง ๆ หรือนิทาน
  2. แบ่งกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มอย่างน้อย 2-4 คน ซึ่งผู้เรียนในกลุ่มจะต้องมีระดับความสามารถในการอ่านที่แตกต่างกัน
  3. มอบใบงานและเอกสารสำหรับการอ่านให้แก่ผู้เรียนแต่ละกลุ่ม ผู้สอนอาจจะเล่าเรื่องราวอย่างคร่าว ๆ ให้ผู้เรียนฟังในเรื่องที่ต้องการให้ผู้เรียนอ่าน ถามความคิดเห็น ทั้งนี้เพื่อเร้าความสนใจของผู้เรียนให้ศึกษาหรืออ่านต่อไป อาจจะใช้เวลาประมาณวันละ 10-20 นาที
  4. ผู้เรียนในกลุ่มเมื่อได้รับเอกสารการอ่าน อาจจะอ่านให้เพื่อฟังด้วยการอ่านออกเสียง หรือเปลี่ยนกันอ่าน หรือต่างคนต่างอ่านเอกสาร และจะต้องร่วมกันทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่ได้รับ สรุปความเข้าใจ ชี้แจงข้อถูกต้อง อธิบาย หรือให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเนื้อเรื่องให้เพื่อร่วมกลุ่มฟัง และร่วมกันเขียนตอบคำถาม สะกดตัวอักษรที่ถูกต้อง เพื่อตอบคำถาม สรุปเนื้อเรื่องที่ได้อ่าน โดยการเขียน หรือเขียนความคิดเห็น ตามที่ได้รับในใบงาน
  5. ให้ผู้เรียนพิมพ์หรือเขียนผลงานในด้านการเขียนของกลุ่มตนเอง แจกจ่ายให้เพื่อน ๆ ในกลุ่มอื่นอ่าน หรือนำลงในสมุดประจำห้องเรียนหรือชั้นเรียน เพื่อเผยแพร่ให้ผู้อ่านต่อไป
การจัดการเรียนการสอนในลักษณะกลุ่มการเรียนที่เน้นในด้านการอ่านและการเขียน ผู้สอนอาจจะให้ผู้เรียนทำงาน ปรึกษาหารือกัน เขียนสรุปเรื่องราวที่ได้อ่านนอกเวลาเรียน นอกจากนี้การเรียนร่วมกันจะช่วยให้ผู้ที่เรียนอ่อนมีทักษะในด้านการอ่านและการเขียนเพิ่มขึ้น มีโอกาสเข้าใจเนื้อเรื่องที่อ่านมากขึ้น โดยได้รับการชี้แจง ฟังการอธิบายจากเพื่อน ๆ และร่วมกับเพื่อน ๆ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน มีโอกาสฝึกทักษะในด้านที่เขียนและแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ พร้อมทั้งมีความสนุกสนานในด้านการอ่านอีกด้วย

ผู้เขียน/เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญการพิเศษ
รสาพร หม้อศรีใจ ครู ชำนาญการพิเศษ
ส่วนวิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบัน กศน.ภาคเหนือ


อ้างอิง :
ระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน. (2545). เทคนิคการสอน (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.


บทความที่เกี่ยวข้อง :
+ การเรียนแบบร่วมมือ : จิ้กซอ II (Jigsaw II)
+ การเรียนแบบร่วมมือ : Roundtable