การสอนให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ : การจัดกลุ่มย่อย (Small Group)

การจัดกลุ่มย่อย เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน และให้ผู้เรียนเรียนแบบร่วมมือ โดยแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ตั้งแต่ 2 - 6 คน ซึ่งแนวทางการจัดกิจกรรมดังกล่าว ผู้สอนสามารถนำมาใช้ในชั้นเรียน โดยจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการสอน ความสำคัญจะอยู่ที่การพิจารณามอบงานหรือ
ใบงานให้ผู้เรียนได้ดำเนินกิจกรรมในเนื้อหาวิชาที่ต้องการ กิจกรรมการเรียนการสอนในลักษณะของการแบ่งกลุ่มย่อยที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์และเรียนแบบร่วมมือกัน มีดังต่อไปนี้
  • Three-Step Interview แนวทางการจัดกิจกรรมประกอบด้วย
    1. แบ่งผู้เรียนเป็นคู่ ๆ คนหนึ่งจะเป็นผู้ถาม และอีกคนหนึ่งเป็นคนตอบ
    2. ผู้เรียนในแต่ละคู่จะสลับกันเป็นผู้ถาม และเป็นตอบคำถาม
    3. ตัวแทนของแต่ละคู่จะเสนอความรู้ให้กลุ่มใหญ่ได้รับทราบเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ได้มาจากการถามและตอบ

  • Roundtable ในแต่ละกลุ่มหรือแต่ละทีม จะมีกระดาษ 1 แผ่น และปากกา 1 ด้าม สำหรับดำเนินกิจกรรมดังนี้
    1. ผู้เรียนแต่ละคนจะเสนอความคิดเห็นหรือตอบคำถาม โดยการเขียนบนกระดาษ
    2. เมื่อเขียนเสร็จแล้วจะให้ส่งกระดาษให้แก่ผู้ที่อยู่ด้านซ้ายมือของตนเอง
    3. ผู้เรียนทุกคนในกลุ่มจะเสนอความคิดเห็น หรือตอบคำถามจนครบทุกคน

    4. การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนี้ ถ้าผู้เรียนเสนอความคิดเห็น หรือตอบคำถามโดยการพูด จะเรียกกิจกรรมนี้ว่า Round Robin

  • Think-Pair-Share กิจกรรมประกอบด้วย
    1. ผู้สอนจะตั้งคำถามหรือปัญหาให้แก่ผู้เรียน
    2. ผู้เรียนจะต้องคิดเพื่อหาคำตอบ
    3. ผู้สอนแบ่งผู้เรียนเป็นคู่ ๆ เพื่อให้แต่ละคนเสนอคำตอบของตนเอง และใช้วิธีการถาม-ตอบ กันเองในแต่ละคู่ เพื่อตอบคำถามของผู้สอนในกลุ่มใหญ่

  • Solve-Pair-Share กิจกรรมมีดังนี้
    1. ผู้สอนกำหนดคำถาม หรือปัญหา
    2. ผู้เรียนแต่ละคนจะคิดวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยตนเอง
    3. ผู้เรียนจะอธิบายวิธีการแก้ปัญหา หรือเสนอความคิดเห็นของตนเองในการแก้ปัญหากับเพื่อน ในลักษณะเป็นคู่ ๆ โดยการถาม-ตอบ ซึ่งกันและกัน หรือใช้วิธีการแบบ Roundtable เพื่อให้ได้คำตอบ วิธีการ หรือแนวความคิดเห็นที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา หรือตอบคำถามนั้น ๆ

  • Number Heads เป็นการกำหนดกลุ่มโดยให้ผู้เรียนนับตัวเลข และจัดให้ผู้เรียนที่มีเลขที่เดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งกิจกรรมมีดังนี้
    1. ผู้เรียนที่นับได้เลขที่เดียวกันจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นทีมเดียวกัน
    2. ผู้สอนกำหนดปัญหา หรือตั้งคำถาม
    3. ผู้เรียนแต่ละกลุ่มจะร่วมกันคิดหาวิธีการตอบปัญหา และผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มเดียวกันจะมีความรู้เหมือนกัน เกี่ยวกับคำตอบ และวิธีการแก้ปัญหา
    4. เมื่อผู้สอนเรียกเฉพาะหมายเลข ผู้เรียนที่อยู่ในกลุ่มที่ผู้สอนเรียกชื่อจะสามารถตอบคำถามของผู้สอน เช่นเดียวกัยการสอนในชั้นเรียนปกติ

  • Brainstorming มีกิจกรรมดังนี้
    1. ผู้สอนกำหนดหัวข้อเรื่องหรือปัญหา
    2. ผู้เรียนแต่ละคน ซึ่งผู้สอนอาจจะจัดให้อยู่เป็นคู่ หรือเป็นทีม ช่วยกันระดมความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ ให้มากที่สุดตามศักยภาพ โดยการเขียนหรือการพูด
    3. ผู้เรียนจะร่วมกันพิจารณาข้อเสนอแนะ หรือความคิดเห็นเหล่านั้น นำมาจัดลำดับความสำคัญ ให้ตรงประเด็นกับปัญหา สรุปข้อคิดเห็น และนำเสนอให้เพื่อนกลุ่มอื่น ๆ รับทราบในกลุ่มใหญ่

  • One-Three-Six Consensus Group มีกิจกรรมดังนี้
    1. ผู้สอนกำหนดปัญหา หัวข้อเรื่อง หรือสถานการณ์
    2. ผู้เรียนแต่ละคนจะกำหนดแนวคิดของตนเอง
    3. ผู้เรียนจะปรึกษาหารือและสรุปเป็นแนวคิดของกลุ่ม จำนวน 3 คน
    4. ผู้เรียน 2 กลุ่ม จำนวน 6 คน จะร่วมกันปรึกษาหารือ และสรุปแนวคิดของกลุ่ม เพื่อนำเสนอต่อเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ ในชั้นเรียน

  • Fishbowl Technique เป็นเทคนิคการทำงานในลักษณะกลุ่ม เพื่อให้ทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วมในการทำงาน มีกิจกรรมดังนี้
    1. ผู้สอนเสนอปัญหา แนวคิด เพื่อให้ผู้เรียนร่วมกันตัดสินใจแก้ปัญหา
    2. แบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อยและให้แต่ละกลุ่มร่วมกันปรึกษาหารือกันภายในกลุ่ม
    3. ให้แต่ละกลุ่มส่งผู้แทนออกมาเสนอความคิดเห็น ตามความคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม
    4. สมาชิกกลุ่มทุกกลุ่มจะต้องนั่งฟังผู้แทนของกลุ่มตนเอง และกลุ่มอื่น ๆ เสนอความคิดเห็นอย่างเดียว การเสนอความคิดเห็นในแนวอื่น ๆ สมาชิกกลุ่มจะต้องเขียนแล้วนำไปให้ผู้แทนของกลุ่มตนเองอภิปรายในกลุ่ม ซึ่งอยู่บริเวณตรงกลางของทุกกลุ่ม
    5. ในบางกรณี อาจจะให้เวลาพักช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้ผู้แทนกลุ่มกลับออกมาปรึกษาหารือกับสมาชิกในกลุ่มของตนเองได้
    6. การปรึกษาหารือให้กลุ่มย่อยจะสิ้นสุดลงภายในเวลาที่กำหนด และผู้สอนจะเป็นผู้นำการอภิปรายในการปรึกษาหารือในกลุ่มใหญ่ต่อไป
การจัดกลุ่มย่อยเพื่อปรึกษาหารือกันในรูปแบบใดก็ตาม จะต้องมีการสรุปประเด็นสำคัญในตอนท้าย โดยประธานกลุ่ม ตัวแทน หรือผู้สอน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสมาชิกกลุ่มได้ศึกษาค้นคว้าหาแนวคิดใหม่ในเรื่องที่ผู้สอนกำหนด และผู้ฟัง หรือเพื่อนในชั้นเรียนได้รับความรู้หรือแนวทางที่ถูกต้องในเรื่องนั้น ๆ

ผู้เขียน/เรียบเรียง:
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญการพิเศษ
รสาพร หม้อศรีใจ ครู ชำนาญการพิเศษ
ส่วนวิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง:
ระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน. (2545). เทคนิคการสอน (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.