การจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน สำหรับผู้เรียน กศน.


ศูนย์การเรียนเป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนหรือยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ใช้เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยการแบ่งผู้เรียนออกเป็น 4 - 6 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 5 - 12 คน ให้เข้าเรียนในศูนย์กิจกรรม โดยแต่ละกลุ่มมีการประกอบกิจกรรมต่างกันไปตามที่กำหนดไว้ในชุดการสอน แต่ละกลุ่มใช้เวลาประมาณ 1 - 25 นาที สำหรับประกอบกิจกรรมตามคำสั่ง เมื่อผู้เรียนทุกศูนย์ประกอบกิจกรรมเสร็จแล้วจึงเปลี่ยนศูนย์กิจกรรม จนกระทั่งครบทุกศูนย์ จึงจะถือว่าเรียนเนื้อหาในแต่ละหน่วยครบตามที่กำหนด การสอนในลักษณะนี้ทำให้บทบาทของผู้สอนและผู้เรียนต่างไปจากเดิม โดยครูเป็นผู้ประสานงาน คอยดูแล กระตุ้นการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน

ลักษณะของศูนย์การเรียน
ในแต่ละศูนย์ความรู้ ประกอบด้วยสื่อประสมชนิดต่าง ๆ ซึ่งผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ตนเอง หรือเรียนในลักษณะกลุ่มและปรึกษาหารือกัน โดยการอ่านคำแนะนำการใช้สื่อในแต่ละศูนย์ความรู้ และดำเนินกิจกรรมหรือศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองตามที่กำหนดในใบงาน ซึ่งผู้เรียนบางกลุ่มจะเรียนโดยตรงกับครูผู้สอน และบางกลุ่มจะศึกษาจากเอกสาร หนังสือเรียน รูปภาพ หรือเครื่องมือต่าง ๆ ในศูนย์ความรู้ เช่น ชุดการสอน ซีดี วีซีดี เครื่องคอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ ดังนั้น ในศูนย์การเรียนจะประกอบด้วยศูนย์ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งมีอุปกรณ์การเรียนรู้ที่เพียงพอ เหมาะสม และอยู่ในตำแหน่งที่ผู้เรียนจะสามารถศึกษาได้โดยไม่รบกวนผู้อื่น นอกจากนี้ผู้สอนจะกำหนด ติดประกาศ หรือเขียนให้ผู้เรียนรับทราบว่า เมื่อผู้เรียนศึกษาหรือเรียนในศูนย์ความรู้หนึ่ง ๆ เสร็จแล้ว ควรจะศึกษาในศูนย์ความรู้ใดต่อไป

ลักษณะสำคัญของวิธีสอนแบบนี้คือ การที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรม ศึกษาด้วยตนเอง นับเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น ฝึกการตัดสินใจ และมีความรับผิดชอบ การสอนด้วยวิธีนี้เป็นการนำเนื้อหาในบทเรียนมาแบ่งเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทีละหน่วย

ทฤษฎีการเรียนรู้และสื่อการสอน สำหรับการสอนแบบศูนย์การเรียน
  1. ทฤษฎีกระบวนการกลุ่ม (Group Process) เป็นการที่ผู้เรียนศึกษาเนื้อหาด้วยวิธีทำงานกลุ่ม โดยเชื่อว่าการทำงานเป็นกลุ่มหรือการร่วมมือกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ต้องอาศัยการฝึกฝน การที่ผู้เรียนมีโอกาสฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในชีวิตจริง
  2. ทฤษฎีสื่อประสม (Multi-media) การเรียนรู้ที่อาศัยประสาทสัมผัสหลายด้าน จะทำให้เกิดความคงทนในการเรียน ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนควรบูรณาการการใช้สื่อการสอนชนิดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดห้องเรียน
การจัดห้องเรียนแบบศูนย์การเรียน จะแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ละประมาณ 4 - 6 กลุ่ม ทั้งนี้ขึ้นกับเนื้อหาที่แบ่งเป็นตอน ๆ ในแต่ละกลุ่มจะมีเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน และสื่อการเรียนการสอนที่ต่างกันออกไป ผู้เรียนจะผลัดกันเรียนรู้และทำกิจกรรมในแต่ละศูนย์จนครบ จะมีศูนย์สำรองสำหรับกลุ่มที่เรียน เร็วกว่ากลุ่มอื่น

ขั้นตอนการสอนแบบศูนย์การเรียน  
ขั้นตอนแบบศูนย์การเรียน แบ่งเป็น 5 ขั้น ดังนี้ 
ขั้นที่ 1 ประเมินผลก่อนเรียน ในขั้นแรกจะทำการทดสอบเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะเรียน โดยอาจทดสอบประมาณ 5-10 นาที ต่อจากนั้นจึงตรวจให้คะแนนเก็บไว้
ขั้นที่ 2 นำเข้าสู่บทเรียน ผู้สอนจะนำเข้าสู่บทเรียนประมาณ 5 - 10 นาที เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียน โดยอาจใช้การเล่นเกม เล่านิทาน ใช้โสตทัศนูปกรณ์ เช่น วีดิทัศน์ ภาพยนตร์ หรือรูปภาพ เป็นต้น ต่อจากนั้นก็อธิบายวิธีเรียน
ขั้นที่ 3 ขั้นประกอบกิจกรรมการเรียน แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มตามจำนวนของศูนย์กิจกรรม แต่ละกลุ่มอาจคละกันระหว่างเด็กเก่งและอ่อน หรือให้ผู้เรียนเลือกกลุ่มเอง แต่ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ ได้แก่
- ความสามารถทางการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน
- ความสามารถทางการพูดและการอ่าน
- วุฒิภาวะทางอารมณ์และสังคม
- เพศ
- วัย
ต่อจากนั้นให้ผู้เรียนเข้าประจำศูนย์กิจกรรม อ่านบัตรคำสั่งและปฏิบัติกิจกรรมตามลำดับขั้น หมุนเวียนกันจนครบทุกศูนย์ การเปลี่ยนกลุ่มทำได้ 3 วิธี คือ
  1. เปลี่ยนกลุ่มพร้อมกันทุกกลุ่ม จากศูนย์ที่ 1 ไปศูนย์ที่ 2, 3, 4 ตามลำดับ การเปลี่ยนกลุ่มในลักษณะนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนทุกคนทำกิจกรรมเสร็จพร้อมกัน
  2. เปลี่ยนเฉพาะกลุ่มที่เสร็จพร้อมกัน เช่น กลุ่ม 2 และกลุ่ม 4 เสร็จ อาจเปลี่ยนกลุ่มได้ทันที
  3. กลุ่มใดเสร็จก่อนไปทำกิจกรรมที่ศูนย์สำรอง
ขั้นที่ 4 สรุปบทเรียน เมื่อผู้เรียนทุกกลุ่มประกอบกิจกรรมจนครบทุกศูนย์แล้ว ผู้สอนจะสรุปบทเรียนอีกครั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจกระจ่างขึ้น
ขั้นที่ 5 ประเมินผลการเรียน หลังจากสรุปบทเรียนแล้ว ผู้สอนจะให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังเรียนเพื่อวัดผลการเรียน ซึ่งเป็นแบบทดสอบชุดเดียวกับที่ให้ทำก่อนเรียน นำคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนมาเปรียบเทียบกันเพื่อให้ทราบความก้าวหน้าในการเรียน ส่วนกิจกรรมที่ผู้เรียนปฏิบัติในแต่ละศูนย์นั้น ผู้สอนต้องนำมาพิจารณาประกอบการประเมินผลด้วย

เทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนสำหรับผู้เรียน กศน.
ด้านครูผู้สอน
  1. การนำเข้าสู่บทเรียนที่ใช้สื่อวิดีทัศน์ ควรผ่านสื่อที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เช่น จอ LCD ที่มีขนาดใหญ่ หรือโปรเจคเตอร์
  2. ครูควรกระตุ้นให้ผู้เรียนมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
  3. ครูควรจัดเตรียมบัตรเนื้อหา บัตรคำสั่ง ในชุดการสอนแต่ละศูนย์ความรู้ให้เพียงพอกับจำนวนผู้เรียน
  4. ครูควรแบ่งกลุ่มผู้เรียนให้คละความสามารถ เช่น เพศ วัย ความรู้พื้นฐาน (อาจดูจากคะแนนทดสอบก่อนเรียน)
  5. ครูควรชี้แจงกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละศูนย์ความรู้ให้ผู้เรียนเข้าใจอย่างชัดเจนก่อนให้เข้าศึกษาในศูนย์
  6. กรณีผู้เรียนมาไม่พร้อมเพื่อน ครูควรดำเนินการให้ผู้เรียนทดสอบก่อนเรียนก่อนที่จะจัดให้ผู้เรียนเข้าเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนในศูนย์ความรู้ที่กำลังจะเริ่มเรียน และให้ผู้เรียนที่มาทีหลังเข้าเรียนรู้ในศูนย์ความรู้อื่น ๆ ที่เพื่อนเรียนผ่านมาแล้วให้ครบทุกศูนย์ความรู้
ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
1. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน ให้กันผู้เรียน กศน. สามารถจัดได้ 2 กรณี ดังนี้
1.1 กรณีที่ผู้เรียนเข้าเรียนพร้อมกัน สามารถจัดการเรียนรู้ได้ตามขั้นตอนกระบวนการของการจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน ดังนี้
1.1.1 ครูชี้แจงกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละศูนย์ความรู้ให้ผู้เรียนได้เข้าใจอย่างชัดเจนก่อนให้ผู้เรียนเข้าศึกษาในศูนย์การเรียน
1.1.2 ครูทำการทดสอบก่อนเรียน
1.1.3 ครูนำเข้าสู่บทเรียนประมาณ 5-10 นาที เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียน
1.1.4 ครูจัดแบ่งกลุ่มผู้เรียน ก่อนให้ผู้เรียนเข้าศึกษาในศูนย์การเรียน
1.1.5 ครูคอยให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนในระหว่างการเรียนรู้แต่ละศูนย์ความรู้
1.1.6 เมื่อผู้เรียนทุกกลุ่มประกอบกิจกรรมจนครบทุกศูนย์แล้ว ครูให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มสรุปองค์ความรู้ และนำเสนอหน้าชั้นเรียน
1.1.7 ครูผู้สอนจะสรุปบทเรียนอีกครั้งเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้น
1.1.8 ครูให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังเรียนเพื่อวัดผลการเรียน
1.1.9 ครูให้ผู้เรียนแลกกันตรวจกระดาษตอบ เพื่อให้ผู้เรียนทราบผลการประเมินการเรียนรู้ของตนเองย้อนกลับในทันที
1.2 กรณีที่ผู้เรียนเข้าเรียนไม่พร้อมกัน สามารถจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนได้ โดยชี้แจงกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละศูนย์ความรู้ให้ผู้เรียนได้เข้าใจอย่างชัดเจนก่อนให้ผู้เรียนเข้าศึกษาในศูนย์การเรียนและทำการทดสอบก่อนเรียน จากนั้นจัดให้ผู้เรียนเข้าเรียนในศูนย์ความรู้ที่กำลังเปลี่ยนศูนย์และเริ่มเรียนในศูนย์ความรู้ใหม่จนครบทุกศูนย์ หลังจากนั้นจึงให้ผู้เรียนที่มาเข้าเรียนช้า เข้าเรียนในศูนย์ความรู้ที่ยังไม่ได้เข้าเรียน แต่เพื่อนในกลุ่มได้เรียนผ่านมาแล้วจนครบทุกศูนย์ ทำให้ผู้เรียนที่มาเรียนไม่พร้อมเพื่อนได้เรียนครบเนื้อหาเท่ากับเพื่อนคนอื่น ๆ เมื่อผู้เรียนจนครบทุกศูนย์แล้วให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังเรียนเพื่อวัดผลการเรียน

2. ผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าออกมานำเสนองาน ครูควรใช้เทคนิคการสอนในการกระตุ้นให้ผู้เรียนกล้าแสดงความคิดเห็น เช่น การใช้เทคนิค Roundtable โดยให้ผู้เรียนแต่ละคนเสนอความคิดเห็นหรือตอบคำถาม โดยการเขียนบนกระดาษ เมื่อเขียนเสร็จแล้วจะให้ส่งกระดาษให้แก่ ผู้ที่อยู่ด้านซ้ายมือของตนเอง แต่ถ้าให้ผู้เรียนเสนอความคิดเห็นหรือตอบคำถามโดยการพูด จะเรียกกิจกรรมนี้ว่า Round Robin เป็นต้น

3. การจัดกิจกรรมของศูนย์สำรอง ควรจัดหลากหลายกิจกรรม เพื่อให้ผู้เรียนที่กลับมาใช้ศูนย์สำรองมากกว่าหนึ่งครั้ง ไม่เกิดความเบื่อหน่ายกับกิจกรรมเดิมที่ได้ปฏิบัติไปแล้ว เช่น เกมต่อภาพ กิจกรรมผ่านสื่อออนไลน์ สื่อวีดิทัศน์ เป็นต้น

4. ครูควรจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบในแต่ละศูนย์ความรู้ เพื่อกระตุ้นความสนใจผู้เรียน ให้มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ เช่น การใช้สื่อวีดิทัศน์ สื่อICT สื่อบุคคล (ภูมิปัญญา) สมาร์ทโฟน ฯลฯ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างการจัดศูนย์การเรียนที่จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบในแต่ละศูนย์ความรู้ ดังภาพ

ตัวอย่างการจัดศูนย์การเรียนที่จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบในแต่ละศูนย์ความรู้

ด้านบรรยากาศการจัดการเรียนรู้
  1. การจัดศูนย์ความรู้ ควรมีระยะห่างให้เหมาะสม ไม่ควรจัดชิดกันเกินไป เพราะจะเกิดเสียงรบกวนสมาชิกกลุ่มอื่น
  2. ครูควรจัดที่นั่งให้เพียงพอต่อจำนวนผู้เรียนในแต่ละศูนย์ความรู้
  3. ครูควรจัดป้ายศูนย์ความรู้แต่ละศูนย์ให้ชัดเจน รวมทั้งป้ายศูนย์สำรองด้วย
ด้านประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดการเรียนรู้
  1. ครูควรให้ผู้เรียนรับทราบคะแนนเป็นรายบุคคล เนื่องจากผู้เรียนเป็นผู้ใหญ่อาจเกิดความอาย หรือบอกคะแนนให้ทราบโดยภาพรวม เช่น คะแนนสูงสุด/ต่ำสุด เป็นต้น
  2. ครูควรแจ้งคะแนนพัฒนาการด้วย (ผลต่างระหว่างคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน)

เขียน/เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญการพิเศษ 
รสาพร หม้อศรีใจ ครู ชำนาญการพิเศษ
ส่วนวิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน. (2545). เทคนิคการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. (2559). คู่มือการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน สำหรับครู กศน. ในเขตภาคเหนือ. ลำปาง : สถาบัน กศน. ภาคเหนือ.

อรนุช ลิมตศิริ. (2545). นวัตกรรรมและเทคโนโลยีการเรียนการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.