เทคนิควิธีและเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล

การเก็บรวบรวมข้อมูล จัดเป็นขั้นตอนหนึ่งในการวิจัย/พัฒนาหลักสูตรที่มีความสำคัญ และสามารถสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของการวิจัย/พัฒนาหลักสูตร ดังนั้นนักวิจัย/นักพัฒนาหลักสูตรจึงต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับเทคนิควิธีและขั้นตอนต่าง ๆ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นอย่างมากเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ


เทคนิควิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ช่วยให้นักวิจัย/นักพัฒนาหลักสูตรสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวิจัย/พัฒนาหลักสูตรได้อย่างเป็นระบบ การเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้เราสามารถได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นคน วัตถุ ปรากฏการณ์ หรือสภาพที่เรากำลังศึกษา ในการวิจัย/พัฒนาหลักสูตร หากข้อมูลถูกเก็บรวบรวมมาได้ด้วยวิธีการที่ไม่มีระบบ ระเบียบ หรือแบบแผนที่ดี ก็จะเป็นการยากที่นักวิจัย/นักพัฒนาหลักสูตรจะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการวิจัย/พัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อสภาพปัญหาและความต้องการ

โดยทั่วไป เทคนิควิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่นิยมใช้มีหลายวิธี แต่จะกล่าวเฉพาะวิธีที่สำคัญ 6 วิธี ได้แก่

1. การใช้ข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว 

ในสถานการณ์ทำงานทั่วไป เราสามารถพบได้ว่า มีข้อมูลเดิมมากมายที่เราสามารถนำมาใช้ศึกษาวิเคราะห์ได้โดยไม่จำเป็นต้องออกสำรวจหรือเก็บรวบรวมข้อมูลใหม่ หรือบ่อยครั้งที่อาจมีผู้ที่ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลบางประการไว้แล้วภายใต้ภารกิจหรือบทบาทหน้าที่ของพวกเขา โดยที่พวกเขาไม่ได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาทำการศึกษาวิเคราะห์หรือเผยแพร่แต่อย่างใด ดังนั้น นักวิจัยหรือนักพัฒนาหลักสูตรมือใหม่ อาจเริ่มต้นจากการมองหาข้อมูลในลักษณะดังกล่าวนี้ เพื่อมาพัฒนาเป็นงานวิจัยหรือพัฒนาหลักสูตรของตนเอง เช่น การนำผลการประเมินสถานศึกษาของ สมศ. มาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานการวิจัยหรือการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา เป็นต้น

การใช้ “ผู้รู้” หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” เป็นอีกเทคนิควิธีหนึ่งของการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่แล้ว

สิ่งสำคัญสำหรับเทคนิควิธีการใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วนั้น อยู่ที่การออกแบบเครื่องมือเพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเหมาะสม โดยนักวิจัยจำต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ และมีการวางแผนอย่างรอบคอบและชัดเจน

ข้อดีของการเก็บรวบรวมข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้วคือเรื่องของความประหยัด ทั้งในรูปแบบของตัวเงินและเวลา อย่างไรก็ตามการใช้ข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้วซึ่งเป็นข้อมูลขั้นรองหรือข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data) อาจมีจุดอ่อนการเข้าถึงแหล่งข้อมูลอาจเป็นอุปสรรคสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการแบบนี้ และในบางกรณีข้อมูลที่ได้อาจมีปริมาณน้อย ไม่สมบูรณ์ หรือขาดการจัดหมวดหมู่ ทำให้มีความยุ่งยากต่อการใช้งาน

2. การสังเกต 
เป็นเทคนิควิธีหนึ่งของการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งผู้ให้ข้อมูลโดยตรง นับว่าเป็นข้อมูลปฐมภูมิที่มีความสำคัญต่อการวิจัยหรือการพัฒนาหลักสูตรอย่างมากเพราะเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ตรงตามความต้องการของผู้วิจัยหรือผู้พัฒนาหลักสูตร เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือก การเฝ้าดู และการจดบันทึกลักษณะพฤติกรรม หรือความเป็นไปของสิ่งหรือเรื่องที่เราศึกษาอย่างเป็นระบบ

3. การสัมภาษณ์ 
เป็นเทคนิควิธีการรวบรวมข้อมูลวิธีหนึ่งซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิโดยอาศัยการเผชิญหน้า (face-to-face) โดยอาจเป็นการสัมภาษณ์แบบเดี่ยวเป็นรายบุคคล หรืออาจสัมภาษณ์เป็นกลุ่มก็ได้ แต่ผู้ให้ข้อมูลจะให้ข้อมูลจากปากของตนเอง ในยุคปัจจุบัน การสัมภาษณ์อาจดำเนินการโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศช่วย เช่น การสัมภาษณ์ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) แต่สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องมีการเผชิญหน้ากันเสมอ และผู้ถูกสัมภาษณ์จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลด้วยตนเองเสมอ

การเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ อาจทำการจดบันทึกคำตอบไว้บนกระดาษ หรืออาจใช้การบันทึกเสียงของผู้ให้สัมภาษณ์โดยตรงเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยมารยาทและจรรยาบรรณของนักวิจัย/นักพัฒนาหลักสูตร หากมีการบันทึกเสียงของผู้ให้สัมภาษณ์ นักวิจัย/นักพัฒนาหลักสูตรควรต้องขออนุญาตผู้ถูกสัมภาษณ์ก่อนเสมอ

สิ่งที่นักวิจัย/นักพัฒนาหลักสูตรควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ คือ การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เนื่องจากในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง ผู้ถูกสัมภาษณ์อาจมีการตอบนอกประเด็นไปบ้าง ด้วยเหตุนี้ การจัดเตรียมลำดับและการตั้งคำถามไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ข้อเด่นของการสัมภาษณ์
• สามารถใช้ได้กับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่มีความรู้ดี และไม่มีความรู้
• เปิดโอกาสให้มีการซักถามเพื่อปรับ
• ความเข้าใจในประเด็นคำถามต่าง ๆ
• มีอัตราการตอบสูงกว่า เมื่อเทียบกับการเขียนตอบ
ข้อด้อยของการสัมภาษณ์
• จำนวนผู้ถูกสัมภาษณ์มีผลต่อคำตอบที่ได้
• ข้อมูลที่ได้อาจด้อยกว่าข้อมูลที่ได้จากการสังเกต

4. การสอบถาม 
ในที่นี้หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิ โดยการใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ การใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล นับเป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัยหรือการพัฒนาหลักสูตรที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งสายสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ข้อเด่น
ข้อเด่นของการสอบถาม
• ประหยัดค่าใช้จ่าย
• ผู้ตอบมักให้ความร่วมมือ และยินดีให้ข้อมูล เนื่องจากสามารถปกปิดสถานะได้
• ช่วยลดความลำเอียงที่เกิดจากการเลือกถามคำถามที่ต่างกันในการสัมภาษณ์
ข้อด้อยของการสอบถาม
• ไม่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่ความรู้น้อย หรืออ่านหนังสือไม่ออก มักมีอัตราการตอบกลับต่ำ
• หากคำถามไม่ชัดเจน เข้าใจยาก ผู้ตอบอาจตอบผิดประเด็น

5.การสนทนากลุ่ม 

เป็นเทคนิควิธีการรวบรวมข้อมูลวิธีหนึ่งซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิเป็นการรวบรวมข้อมูลจากการนั่งสนทนาของกลุ่มผู้ให้ข้อมูล (Key Informant) เป็นกลุ่ม โดยผู้เข้าร่วมการสนทนากลุ่มจะถูกคัดเลือกจากผู้ที่มีประสบการณ์ตรง หรือเป็นผู้สามารถให้ข้อมูลที่ต้องการได้ ดังนั้น ผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่มจึงจะเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะหลาย ๆ ประการที่คล้ายคลึงกัน (Homogeneity) โดยกลุ่มคนเหล่านี้ จะถูกเชิญให้มาร่วมวงสนทนากันอย่างเป็นธรรมชาติ ในบรรยากาศที่เหมาะสม โดยมีจำนวนสมาชิกอยู่ระหว่าง 8 - 10 คน (บางตำราระบุจำนวน 6 - 12 คน)

จากข้อเด่นและข้อด้อยของเทคนิควิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ปัจจุบันนักวิจัย/นักพัฒนาหลักสูตรจึงอาจเลือกใช้วิธีผสม (mixed method) ดังนั้น ในระยะหลัง จึงมักพบว่างานวิจัยหรือการพัฒนาหลักสูตรชิ้นหนึ่ง ๆ อาจเลือกใช้เทคนิควิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลมากกว่า 1 วิธี

6.การทดสอบ 

เป็นเทคนิควิธีการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิ ใช้วัดความสามารถด้านสติปัญญาของกลุ่มตัวอย่างหรือผู้ถูกทดสอบ อาจจะใช้แบบทดสอบหรือข้อสอบที่มีอยู่แล้วหรือสร้างใหม่เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น ข้อสอบแบบอัตนัย ข้อสอบแบบปรนัย เป็นต้น

นอกเหนือจากวิธีการเก็บรวบรวบข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีเทคนิควิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่หน่วยงาน/สถานศึกษา กศน.นิยมใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลชุมชน คือ การจัดเวทีประชาคม
เวทีประชาคม คือ การรวมตัวของสมาชิกในชุมชนเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆของชุมชนด้วยตนเอง เป็นเวทีของการพูดคุย แลกเปลี่ยนถกแถลง(ไม่ใช่โต้เถียง) เกี่ยวกับข้อมูล เช่น การแก้ไขปัญหาในชุมชน การวางแผนพัฒนาชุมชน การกำหนดข้อตกลงร่วมกัน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีวัตถุประสงค์หรือสนใจในเรื่องเดียวกัน เป็นการรวมตัวกันตามสถานการณ์หรือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น มี 2 ลักษณะ คือ
1) อย่างเป็นทางการ  โดยการจัดเวทีหรือการจัดประชุม
2) อย่างไม่เป็นทางการ  เช่นการสนทนากลุ่มเล็กในศาลาวัด การพบปะพูดคุยอาจเป็นครั้งคราว


เขียน/เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญการพิเศษ 
รสาพร หม้อศรีใจ ครู ชำนาญการพิเศษ
ส่วนวิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. (2560). คู่มือการพัฒนาหลักสูตร สำหรับครู กศน.. ลำปาง : บอยการพิมพ์.

บทความที่เกี่ยวข้อง :
>> การเลือกใช้วิธีการและเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล
>> เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูล : การสนทนากลุ่ม (Focus group)