ภูมิปัญญาและแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสาน นายสุริยา ขันแก้ว

การใช้ชีวิตโดยปกติทั่วไป แน่นอนว่าเราทุกคนต้องทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพ การมีงานดี ๆ รายได้ดี ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต เช่นเดียวกับนายสุริยา ขันแก้ว อดีตจ่าสิบเอกทหารช่างและอดีตวิศวกร บริษัทเอกชนญี่ปุ่น รายได้หลักแสนต่อเดือน แต่บริษัทได้ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศญี่ปุ่น ทำให้ต้องตัดสินใจเลือกกลับภูมิลำเนา ก่อนกลับไปบ้านได้ไปเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ศูนย์เกษตรเลี้ยงชีพของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นแปลงสาธิตเกษตรผสมผสาน ที่ใช้เนื้อที่เพียง 1 งาน จึงได้นำความรู้มาออกแบบพื้นที่เพื่อทำแปลงเกษตรแบบผสมผสาน พร้อมกับได้ไปขอคำแนะนำจาก ผอ.นนทกร พุ่มกล่อม ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการเกษตร มูลนิธิชัยพัฒนา จนเข้าใจและสามารถนำความรู้สู่การปฏิบัติได้จริง

ซึ่งท่านก็ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ตัวคุณสุริยาเองก็ได้สรุปได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ ปลูกผักไว้กิน เหลือก็ไว้ขาย ใช้ชีวิตปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ ทำยังไงก็ได้ที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาจากสิ่งภายนอก เมื่อได้เรียนรู้จนเข้าใจแล้ว ก็ตัดสินใจขายบ้านในกรุงเทพฯ เพื่อใช้หนี้สินทั้งหมด แล้วกลับบ้านเกิดเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

นายสุริยา ขันแก้ว ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทำเกษตรผสมผสาน

ในการเริ่มต้นทำการเกษตรนั้นคุณสุริยา ก็ได้ประสบกับคำเตือนมากมายว่า ทำการเกษตรจะพอกินได้อย่างไร ทำการเกษตรไม่มีวันที่จะร่ำรวยหรอก แต่ตัวคุณสุริยา นั้นกลับมีความเห็นที่แตกต่างออกไป 
คือการทำการเกษตรนั้นถ้าเกษตรแบบเดิม ๆ ก็จะได้แบบเดิม ดังนั้นถ้าอยากได้ผลลัพธ์ใหม่
ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ ซึ่งตัวเขาก็เองมีความรู้ทางด้านวิศวกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงนำความรู้นั้น
มาประยุกต์ใช้กับการเกษตร ซึ่งแรกเริ่มในการลงมือทำการเกษตรนั้นก็ได้มีการวางแผนทำการเพาะปลูก 
หัวใจหลักของการเกษตรคือดินกับน้ำ การจะปลูกผักได้ต้องทำดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ นั่นคือต้องเพิ่มอาหารให้ดิน ซึ่งอาหารดินนั้นก็ได้มาจากมูลไส้เดือน เพื่อปรับปรุงดินให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งคุณสุริยา
มีโรงเพาะเลี้ยงไส้เดือน นอกจากมูลของไส้เดือนจะสามารถนำไปเป็นปุ๋ยชั้นดีแล้วฉี่ของไส้เดือนก็ยังสามารถนำไปผสมเป็นปุ๋ยน้ำชั้นดีอีกเช่นกัน ในส่วนของแหล่งน้ำก็ได้ขุดสระเพื่อให้มีน้ำสำหรับการปลูกผัก และยังสามารถเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาหารได้อีกด้วย จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการลงมือทำการเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขณะนี้ได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอลอง (ศพก.) และยังได้รับรางวัลชนะเลิศศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอลอง (ศพก.) ระดับจังหวัด ปี พ.ศ. 2567 อีกด้วย

พื้นที่ทำแปลงเกษตร ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอลอง (ศพก.)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ค Suriya Khunkeaw

การวางแผนทำการเพาะปลูกนั้นจะปลูกพืชแบบอินทรีย์ไม่มีการใช้สารเคมี พื้นที่ได้ถูกจัดสรรการปลูกผัก ครึ่งหนึ่งของแปลงเกษตรทั้งหมดจะปลูกผักที่มีความต้องการของตลาด เช่น ผักบุ้ง ต้นหอม ผักชี ผักกาด เป็นต้น ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็จะปลูกผักทดลอง เช่น ปลูกผักกาดพร้อมกับปลูกมะเขือ นอกจากนี้ยังมีการแบ่งการปลูกผักเป็นโซน ได้แก่ โซนปลูกฟักทอง โซนโรงเรือนปลูกผัก โซนซุ้ม และโซนปลูกผักพระราชทาน ในการปลูกผักนั้นพื้นที่ของแปลง แรกเริ่มของการทำการเกษตรผักชนิดแรกที่ถูกเริ่มต้นปลูกคือผักบุ้งจีน เนื่องจากปลูกง่าย โตไว และเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังมีการนำความรู้ทางเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมที่ช่วยทุ่นแรงและอำนวยความสะดวกในการทำการเกษตรอีกด้วย เช่น มีการประดิษฐ์เครื่องรดน้ำผักอัตโนมัติ ซึ่งเครื่องนี้จะสามารถตั้งเวลารดน้ำผักได้ และสามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือได้อีกด้วย 

เครื่องตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติเพื่อรดน้ำแปลงผัก ภาพจาก : เฟซบุ๊ค Suriya Khunkeaw

ถึงแม้ว่าจะสามารถทำการเกษตรได้และถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง นั่นคือ มีพืช ผักเป็นอาหารไว้ทานเองแล้ว คุณสุริยาได้พัฒนาตนเอง ด้วยการเข้ารับการอบรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้โอกาส เช่น เข้าร่วมอบรมกับ ศกร.ระดับอำเภอลอง กองอำนวยการและรักษาความมั่นคงจังหวัดแพร่ เกษตรอำเภอลอง สำนักงานตรวจบัญชีอำเภอลอง เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่ได้รับความรู้ต่าง ๆ มากมายแล้ว คุณสุริยานี้ก็ได้แบ่งปันความรู้ให้กับคนในชุมชนและผู้ที่มาศึกษาดูงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สะท้อนให้เห็นว่า ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์แห่งการแบ่งปันแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นการนำแนวคิดสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคุณสุริยาได้ทำให้เห็นแล้วว่า การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถทำได้จริง และหลักสำคัญอีกประการหนึ่งของการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงคือการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจดบันทึกรายรับ รายจ่าย ที่จะทำให้เราเห็นว่ารายรับและรายจ่ายสมดุลกันหรือไม่ ซึ่งคุณสุริยาเองตั้งแต่เริ่มลงมือทำการเกษตรก็มีการจดบันทึกและบริหารรายรับ รายจ่ายให้สมดุลกัน คุณสุริยามีความรู้ในการทำบัญชีครัวเรือน จากการเข้ารับการอบรมจากสำนักงานตรวจบัญชีอำเภอลอง และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน จนปัจจุบันก็ได้นำความรู้นั้นมาใช้และถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่น จนได้รับยกย่องให้เป็น หมอบัญชี และได้มีโอกาสเป็นวิทยากรแบ่งปันความรู้นี้สู่ผู้อื่น ในการเป็นวิทยากรให้กับคนในชุมชน ให้ความรู้แก่คณะนักเรียนที่มาศึกษาดูงาน เป็นต้น ตลอดจนส่งผลให้ได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2566 ระดับจังหวัด รางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2567 ระดับภาค รางวัลที่ 1 การปฏิบัติงาน สกร.ดีเด่น ระดับจังหวัดและระดับภาคเหนือ ประจำปี 2566 ประเภท ภูมิปัญญา/ปราชญ์ชาวบ้านดีเด่น เป็นต้น

รางวัลเกษตรกรต้นแบบ



หน่วยงานมาศึกษาดูงาน  ภาพจาก : เฟซบุ๊ค Suriya Khunkeaw

จากหนุ่มวิศวกรสู่การทำการเกษตรผสมผสานโดยการนำความรู้ทางวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงระบบน้ำและการจัดการพลังงานในแปลงเกษตร ทำให้การทำงาน มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้เขายังทดลองปลูกพืชหลายชนิดและเลี้ยงสัตว์น้ำหลายประเภทในพื้นที่เดียวกันเพื่อให้เกิดความหลากหลายและเสถียรภาพในระบบเกษตรกรรม ซึ่งการทำการเกษตรผสมผสาน ไม่เพียงแต่ทำให้คุณสุริยามีรายได้ที่เพียงพอแต่ยังทำให้เขาและครอบครัวมีความสุขและพึงพอใจกับการได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและครอบครัวอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าอีกด้วย เรื่องราวของคุณสุริยาอาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลาย ๆ คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตและหาความสุขในวิถีทางใหม่

เรียบเรียง :
สิริลักษณ์ เป็งคำ ครู  สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
• บุญฤทธิ์ เผือกวัฒนะ (2565, 7 พฤษภาคม). วิศวกรหนุ่มวิศวกรทิ้งรายได้เกือบแสนทำเกษตรผสมผสานที่แพร่. http://www.health546.com/article/44/
• สุริยา ขันแก้ว. (2563, 2 กุมภาพันธ์). เกษตรสร้างสุข สร้างชีวิต [เอกสารประกอบการบรรยาย]. ตลาดนัด “ความรัก ความสุข กับวิถีเกษตร”. https://www.wisdomking.or.th/ch/media-article/download_attachment
/multimedia_article_detail_9.pdf
• Bright TV. (2561, 15 สิงหาคม). รายการปลอดหนี้ วิถีปราชญ์ ตอน "วิถีพอเพียง" วิถี... แห่งความมั่นคง P.19/2 [วีดิโอ]. Youtube. https://www.youtube.com/watch?v=07D27SXeFLU