รู้จักภัยคุกคามทางไซเบอร์

 

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีผู้คนสื่อสารโดยส่งข้อมูลและทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านโลกไซเบอร์หรือโลกของสารสนเทศ ปัญหาภัยคุกคามในโลกดิจิทัลจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีความซับซ้อนและมีการโจมตีหลากหลายรูปแบบมากขึ้นโดยอ้างอิงจากข่าวต่าง ๆ การโจมตีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบันมีดังนี้

ฟิชชิ่ง (Phishing)
เป็นภัยที่พบได้มากที่สุดคนร้ายจะปลอมเป็นเว็บไซต์หรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือส่งข้อความเข้ามาเพื่อให้เหยื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวลงไปข้อความที่ส่งมานั้นจะเหมือนจริงมากหากเปิดข้อความที่เป็นลิงก์อันตรายหรือกรอกข้อมูลลงไปคนร้ายจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับหรือข้อมูลส่วนตัวรวมถึงติดตั้งไวรัสเข้าเครื่องซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอีกด้วย

มัลแวร์ (Malware)
เป็นซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตรายสามารถพบเจอได้พร้อมกับไฟล์เอกสารที่ดาวน์โหลดเข้ามา มัลแวร์ที่เข้ามานั้นจะกระจายตัวในระบบคอมพิวเตอร์และจะทำให้คอมพิวเตอร์เสียหาย ข้อมูลถูกขโมยและระบบถูกทำลาย

แรนซัมแวร์ (Ransomware)
เป็นมัลแวร์ประเภทหนึ่ง แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูลเหมือนมัลแวร์อื่นๆ แต่จะเป็นการล็อคไฟล์ต่าง ๆ เช่นเอกสารรูปภาพหรือวิดีโอนำไปสู่การสูญเสียข้อมูลความลับ เพื่อให้ได้ไฟล์ข้อมูลเหล่านั้นกลับคืนมาเหยื่อจะต้องจ่ายเงินตามข้อความที่ปรากฏจึงเป็นการเรียกค่าไถนั่นเอง

การโจมตีแบบดักกลางทาง (Man-in-the-middle attack)
เป็นการโจมตีแบบดักฟังบนเครือข่ายคนร้ายจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับส่งข้อมูลระหว่างสองฝ่ายโดยคนร้ายจะสวมรอยเป็นอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อรับฟังข้อมูลที่สำคัญโดยการโจมตีประเภทดังกล่าวอาจนำไปสู่การขโมยข้อมูลเกี่ยวกับการเงิน ข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นเรื่องส่วนตัวและอื่น ๆ


การโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการ (Distributed Denial of Service: DDOS)
เป็นการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์หลายส่วนพร้อมกันคอมพิวเตอร์จะถูกบุกรุกจากคนร้ายที่มี IP จากหลายเครื่องพร้อมๆกันทั่วโลกเพื่อสร้างความหนาแน่นบนเซิร์ฟเวอร์ส่วนระบบและไม่สามารถใช้งานได้ หรือ “เว็บไซต์ล่ม”

พาสเวิร์ดแอทแทค (Password Attacks)
ทุกวันนี้เวลาเราเข้าใช้ระบบต่างๆ จะต้องมีการเข้าสู่ระบบด้วยรหัสผ่าน ซึ่งจะช่วยสร้างความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง สิ่งที่คุณควรจะต้องทำ คือการสร้างรหัสผ่านที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละประเภทเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่คุณเข้าใช้บริการ เพราะถ้าหากคุณตั้งรหัสผ่านไว้ในแบบเดียวกัน หากคุณโดนขโมยข้อมูลไปส่วนหนึ่ง อาจเกิดความเสียหายกับหลายๆ บัญชีที่คุณใช้บริการอยู่อย่างง่ายดาย

สปายแวร์ (Spyware)
เป็นซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่ง ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อการสอดส่องการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณหรืออาจจะเป็นเพื่อการโฆษณาสินค้าต่างๆ สปายแวร์บางตัวก็สร้างความรำคาญเพราะจะเปิดหน้าต่างโฆษณาบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไหนก็จะโชว์หน้าต่างโฆษณา Pop Up หลาย ๆ หน้าต่างแต่บางตัวร้ายกว่านั้นทำให้คุณใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้เลย

นอกเหนือจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กล่าวมายังมีการโจมตีอีกหลากหลายรูปแบบที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก หากมีความรู้ความเข้าใจเท่าทันก็จะป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ได้


ข้อแนะนำในการป้องกันตนเองจากอาชญากรรมทางไซเบอร์
สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศได้แนะนำวิธีป้องกันตนเองจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ ดังนี้
  1. ติดตั้งโปรแกรม Antivirus และ Update โปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ
  2. สํารองข้อมูลที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ และแยกเก็บไว้อีกทีหนึ่งเพื่อความปลอดภัย
  3. ไม่กดลิงก์และไม่ดาวน์โหลดไฟล์จากอีเมลและเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัย
  4. ติดตามข่าวสารด้านภัยคุกคามไซเบอร์อยู่เสมอ

เรียบเรียง :
สราวุธ เบี้ยจรัส  นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
6 การโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Attack) ที่ควรรู้จัก และวิธีรับมือ. (2566, 10 สิงหาคม). True digital academy.  https://www.truedigitalacademy.com/blog/6-types-of-cyber-security-threats
7 ประเภท ของภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่พบบ่อย. (2565, 21 กันยายน). Cyber Elite. https://www.cyberelite.co.th/blog/7-ประเภท-ของภัยคุกคามทาง/