ขันแก้วทั้งสาม เครื่องสักการะของชาวล้านนา

คำว่า “ขัน” ในภาษาล้านนา หมายถึง “พาน” ในภาษากลาง โดย “ขัน” เป็นภาชนะที่ใช้บรรจุหรือวางสิ่งของต่างให้สูงจากระดับพื้น ดังนั้นสิ่งของที่วางอยู่บนขันจึงมักเป็นสิ่งที่มีความพิเศษ เช่น เป็นสิ่งของ สำหรับการบูชาตามความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ จึงถูกใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ โดยขันแบ่งออกเป็นหลายชนิด ขึ้นอยู่กับการใช้งานและวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน

ขันแก้วทั้งสาม หรือในภาษาท้องถิ่นภาคเหนือเรียกว่า ขันแก้วตังสาม หรือ ขันแก้ว คือ พานสำหรับใส่ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อบูชาแก้วสามประการ คือ พระรัตนตรัยได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีลักษณะ เป็นกระบะทรงสามเหลี่ยม ที่มีขาตั้งสามขา ทรงสูง มักสูงจากพื้นประมาณ 30 นิ้ว ปากพานเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือทรงกลม นิยมทาด้วยรักและสีชาด ปิดทอง และเขียนด้วยลายรดน้ำให้สวยงาม ประดับตกแต่งด้วยการลงรักและปิดทองประดับกระจก ตามแต่ความถนัดและความชำนาญของช่างในแต่ละท้องถิ่น มักวางตั้งไว้บริเวณหน้าพระประธานในวิหาร สำหรับให้พุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญในวันธรรมสวนะนำดอกไม้ธูปเทียน มาใส่ในขันแก้วทั้งสาม โดยวางไว้ที่มุมทั้ง 3 มุม แทนการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ลักษณะของขันแก้วทั้งสาม
ภาพจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ลำพูน https://www.finearts.go.th/hariphunchaimuseum/view/34678

โดยถือเป็นธรรมเนียมของชาวล้านนาว่า เมื่อมาถึงวัดแล้วจะเข้าไปกราบพระประธานในพระวิหารก่อน แล้วจึงนำข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนมาใส่รวมกันในขันแก้วทั้งสาม ในสมัยก่อนหมู่บ้านหรือชุมชนต้องการให้ชาวบ้านร่วมใจกันนำดอกไม้และธูปเทียนมาถวายรวมกันในที่เดียวกัน เพื่อความรักความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยวิธีการใส่ดอกไม้ต้องให้รู้ความหมายและลำดับวิธีการใส่ จึงจะเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์

ภาพจาก Facebook. ราชอาณาจักล้านนา. (2563, 7 มกราคม). 
https://www.facebook.com/photo/?fbid=2877947448934840

ภาพจาก Facebook หมู่เฮาจาวเหนือ. (2557, 22 กรกฎาคม). 
https://www.facebook.com/photo?fbid=691770430872766

การ “ใส่ขันแก้วทั้งสาม” จะต้องจัดแบ่งดอกไม้ธูปเทียนออกเป็น 3 ชุด เพื่อวาง 3 มุมของขันแก้ว ซึ่งแต่ละมุมหมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก่อนใส่หรือวางดอกไม้ธูปเทียนต้องกล่าวคำบูชา ซึ่งอาจแตกต่างอันไปตามท้องถิ่น เช่น
  • มุมแรก เป็นการบูชาแก่พระพุทธเจ้า ก่อนวางกล่าวคำบูชาว่า “พุทธคุณัง ปูเชมิ” แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาคุณของพระพุทธเจ้า หรือบางท้องถิ่นกล่าวคำว่า “อรหัง” หรือ “พุทโธ อะระหัง”
  • มุมที่สอง เป็นการบูชาพระธรรมกับพระวินัย ก่อนวางกล่าวคำบูชาว่า “ธัมมคุณัง ปูเชมิ” แปลว่าข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรม หรืออาจกล่าวคำว่า “ปัจจตตัง” หรือ “ธัมโมปัจจัตตัง”
  • มุมที่สาม เป็นถวายบูชาคุณพระสงฆ์ ก่อนวางกล่าวคำบูชาว่า “สังฆคุณัง ปูเชมิ” แปลว่าข้าพเจ้าขอบูชาคุณพระสงฆ์ หรืออาจกล่าวคำว่า “ยทิทัง” หรือ “สังโฆ ยะทิทัง”

ขันแก้วทั้งสาม ซึ่งผู้มาทำบุญวางดอกไม้ธูปเทียนแล้วนี้ จะใช้ประเคนเมื่อถึงเวลาไหว้พระรับศีลหรือสวดมนต์ถวายไทยทาน ผู้รับหน้าที่ถวายจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณรจะยกขันแก้วทั้งสามไปไว้หน้าพระพุทธรูปประธาน โดยการประเคน คือยกขันแก้วไปแตะบริเวณฐานชุกชีหรือแท่นแก้วเบา ๆ แล้ววางไว้บริเวณนั้น พร้อมกราบ 3 หน ถือว่าเป็นเสร็จพิธี


เรียบเรียง :
วราพรรณ  พูลสวัสดิ์ ครูชำนาญการพิเศษ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ

อ้างอิง :
• จักรพงษ์ คำบุญเรือง. (2561, 24 มกราคม). เครื่องใช้ในพิธีกรรม…ของคนล้านนา. เชียงใหม่นิวส์ https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/664587
• สนั่น ธรรมธิ. (2563, 16 เมษายน). ไปวัด. คลังความรู้ล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. https://accl.cmu.ac.th/Knowledge/details/1270
• หมู่เฮาจาวเหนือ. (2557, 22 กรกฎาคม). วันนี้เฮาจะมาอู้จ๋ากั๋นถึงเรื่องก๋านใส่ “ขันแก้วทั้งสาม” โดยทางล้านนาเฮาฮ้องว่า “ขันแก้วตังสาม” [โพสต์]. Facebook. https://www.facebook.com/photo?fbid=691770430872766
• ราชอาณาจักรล้านนา. (2563, 7 มกราคม). #ขันแก้วตังสาม ในล้านนา แก้วตังสาม หมายถึง พระรัตนตรัย ขัน หมายถึง พานขนาดใหญ่ [รูปภาพ]. Facebook. https://www.facebook.com/photo/?fbid=2877947448934840
• พนมกร นันติ. (2555, 23 สิงหาคม). เครื่องสักการะชาวล้านนา ศรัทธาที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง [รูปภาพ]. Chiangrai Focus. https://forums.chiangraifocus.com/?topic=287299
• อริสรา คงประเสริฐ. (ม.ป.ป). ขันแก้วทั้งสาม. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. https://www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/view/33569-ขันแก้ว
ทั้งสาม