การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการทดลองนำร่อง (Pilot Study)

การทดลองนำร่อง (Pilot Study) เป็นอีกวิธีหนึ่งในการตรวจสอบและประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้จริง ซึ่งการทดลองนำร่องหรือการทดลองใช้หลักสูตร หมายถึง การนำหลักสูตรนั้น ๆ ไปทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของหลักสูตร แต่ลดขนาดและจำนวนกลุ่มเป้าหมายลง โดยเหลือเพียงจำนวนน้อยและระยะเวลาสั้นลง ตลอดจนเลือกเอาเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งของหลักสูตรมาทำการทดลอง

วัตถุประสงค์ในการใช้การทดลองนำร่องในการประเมินผลหลักสูตรก่อนดำเนินการ ก็เพื่อจะรู้ว่าหากมีการดำเนินการใช้หลักสูตรแล้วจะมีผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีอุปสรรคข้อจำกัดอะไรที่อาจจะทำให้วัตถุประสงค์ของหลักสูตรไม่ได้รับการสนองตอบ นอกจากนี้การทดลองนำร่องยังทำให้ผู้พัฒนาหลักสูตรได้ตรวจสอบความเที่ยงตรงและความเชื่อถือได้ของเครื่องมือที่สร้างขึ้น ข้อมูลที่ได้จากการทดลองนำร่องจะนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ภาพโดย pikisuperstar จาก Freepik

เมื่อเราใช้เทคนิคการทดลองแล้ว หลักสูตรหรือกิจกรรมต่าง ๆ ในหลักสูตรที่จัดทำขึ้นก็คือสาเหตุหรือสิ่งที่เราจัดกระทำ ในขณะที่ผลที่เกิดขึ้นจากหลักสูตรหรือจากการดำเนินกิจกรรมตามหลักสูตรที่มีต่อกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มข้างเคียงก็คือผล

การทดลองนำร่องสำหรับประเมินผลหลักสูตรนี้ จะเกี่ยวข้องกับการกำหนดออกแบบแผนการทดลอง (Experimental Design) ในลักษณะเป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) โดยนิยมใช้แบบทดสอบ แบบสอบถาม และการสังเกต เป็นเครื่องมือและวิธีการในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งการใช้การทดลองเพื่อประเมินผลหลักสูตรมีรูปแบบหรือแบบแผนการทดลอง ที่อาจนำมาใช้ได้ดังนี้

1. แบบสองกลุ่มสุ่มทดสอบก่อน-หลัง (Randomized Two Group Pretest-Posttest Design) หรืออาจเรียกว่า แบบกลุ่มควบคุมที่แท้จริง ทดสอบก่อน-หลังการทดลอง (The True Control Group Pretest-Posttest Design) ลักษณะรูปแบบเป็นดังนี้

รูปแบบที่ 1 นี้ เป็นการจัดกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยวิธีสุ่ม (R) หน่วยการสุ่ม
อาจเป็นผู้เรียน ห้องเรียน หรือสถานศึกษา แล้วแต่ความประสงค์ในการประเมิน ทั้งสองกลุ่มได้รับการทดสอบก่อน (O1) จากนั้นกลุ่มทดลองจะได้รับการทดลองหรือเรียนตามหลักสูตร (X) ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้รับ เมื่อทดลองเสร็จแล้วจะมีการทดสอบทั้งสองกลุ่มหลังการทดลอง (O2) อีกครั้ง แล้วเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้น

การใช้แบบแผนการทดลองนี้มีข้อดีคือ ทำให้ผู้ประเมินหลักสูตรสามารถรู้ได้ว่า
ผลที่เกิดขึ้นกับกลุ่มทดลองนั้น เป็นผลจากการจัดกิจกรรมตามหลักสูตรโดยตรง เมื่อเปรียบเทียบกับ
อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้รับกิจกรรมตามหลักสูตร แต่อย่างไรก็ตามแบบแผนการทดลองนี้อาจมีข้อจำกัด
ไม่สามารถนำไปใช้ได้ หากไม่มีจำนวนกลุ่มบุคคลเพียงพอต่อการเลือกสุ่มหรือในกรณีมีกลุ่มเฉพาะเจาะจงอยู่แล้ว

2. แบบสองกลุ่มทดสอบเฉพาะหลังการทดลอง (Randomized Two Group Posttest Only Design) หรืออาจเรียกว่า แบบกลุ่มควบคุมที่แท้จริง ทดสอบเฉพาะหลังการทดลอง (The True Control Group Posttest Only Design) ลักษณะรูปแบบเป็นดังนี้


รูปแบบที่ 2 นี้ เป็นการจัดกลุ่มผู้เรียนหรือชั้นเรียนหรือโรงเรียน ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยวิธีสุ่มให้กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มทดลองเข้ารับการทดลองหรือเรียนตามหลักสูตร (X) อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับ ไม่มีการทดสอบก่อนการทดลองทั้งสองกลุ่ม จะมีการทดสอบเฉพาะหลังเสร็จสิ้นการทดลอง (O) เท่านั้น

3. แบบสองกลุ่มเปรียบเทียบทดสอบก่อน-หลัง (Two Group Pretest-Posttest Design) หรืออาจเรียกว่า แบบกลุ่มควบคุมที่ไม่เท่าเทียมกัน ทดสอบก่อน-หลังการทดลอง (Non-Equivalent Control Group Pretest-Posttest Design) ลักษณะรูปแบบเป็นดังนี้

รูปแบบที่ 3 นี้ อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รูปแบบกึ่งการทดลอง” (Quasi-Experimental Design) ซึ่งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมิได้จัดโดยวิธีการสุ่ม ดังนั้นจะต้องจัดกลุ่มควบคุมให้มีคุณลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มทดลองให้มากที่สุด โดยมีขั้นตอนในการใช้รูปแบบนี้ ดังนี้
  1. กำหนดกลุ่มตัวอย่างที่จะให้เข้ารับหลักสูตรทดลอง
  2. กำหนดกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มปรียบเทียบ ซึ่งมีคุณลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกับกลุ่มทดลอง ถือเป็นกลุ่มควบคุม
  3. รวบรวมข้อมูลที่แสดงความคล้ายกันและความต่างกันของกลุ่มตัวอย่างทั้งสอง
  4. ทำการทดสอบกลุ่มตัวอย่างทั้งสองก่อนการทดลองหลักสูตร (O1)
  5. ทดลองหลักสูตรโดยให้กลุ่มทดลองรับหลักสูตรทดลอง (X) ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้รับหรืออาจรับหลักสูตรอื่นก็ได้
  6. ทำการทดสอบทั้งสองกลุ่มเมื่อจบการทดลอง (O2)
การใช้แบบแผนการทดลองนี้มีข้อดี คือ มีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มและมีการเปรียบเทียบระหว่างก่อน-หลังการรับหลักสูตร แต่มีข้อจำกัดคือ มีปัญหาในเรื่องความเท่าเทียมกันของกลุ่มตัวอย่าง เนื่องจากไม่มีการสุ่ม ทำให้การเลือกกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมอาจเกิดความลำเอียงได้ นั่นคือ กลุ่มทดลองอาจจะมีความสนใจ ความพร้อม ตลอดจนความกระตือรือร้นมากกว่ากลุ่มควบคุม

4. แบบกลุ่มเดียวอนุกรมเวลา (One Group Time Series Design) หรืออาจเรียกว่า แบบกลุ่มทดลองเพียงกลุ่มเดียว ทดสอบแบบอนุกรมเวลา (The Single Group Pretest-Posttest Time Series Design) ลักษณะรูปแบบเป็นดังนี้

รูปแบบที่ 4 นี้ ไม่มีการสุ่ม เป็นการใช้กลุ่มทดลองเป็นกลุ่มควบคุมภายในตัวของมันเอง การวัดกลุ่มทดลองมีการวัดผลหลาย ๆ ช่วง ทั้งก่อนและหลังการทดลอง โดยมีขั้นตอนในการใช้รูปแบบนี้ ดังนี้
  1. เตรียมหรือเลือกวิธีการวัดผลหลักสูตรที่สามารถจะกระทำซ้ำ ๆ กันได้
  2. เลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มทดลองซึ่งเป็นกลุ่มที่จะสามารถทำการวัดได้หลาย ๆ ครั้ง
  3. ทำการวัดผลกลุ่มทดลองก่อนรับหลักสูตรทดลองอย่างน้อย 3 ครั้ง (O1, O2, O3)
  4. ทดลองหลักสูตรกับกลุ่มทดลอง (X)
  5. ทำการวัดผลกลุ่มทดลองเมื่อเสร็จสิ้นการทดลองหลักสูตรแล้ว โดยใช้ช่วงเวลาเดียวกับการวัดก่อนการทดลอง (O4, O5, O6) ต่อจากนั้นก็นำผลเฉลี่ยของข้อมูลก่อนและหลังการรับหลักสูตรที่จัดเก็บเป็นระยะ มาเปรียบเทียบกันว่าแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
การใช้แบบแผนการทดลองนี้มีข้อดี คือ ทำให้รู้ถึงพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มทดลองหรือกลุ่มเป้าหมายทั้งก่อนและหลังการรับหลักสูตร นอกจากนั้นก็ยังมีความเหมาะสมสำหรับการนำไปใช้กับหลักสูตรที่มีกลุ่มเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจงเพียงกลุ่มเดียวและหลักสูตรที่มีลักษณะการดำเนินกิจกรรมระยะยาว ในทางตรงกันข้าม หลักสูตรที่มีช่วงการดำเนินกิจกรรมหรือช่วงระยะเวลาดำเนินงานสั้น ๆ ก็ไม่เหมาะสม และเป็นข้อจำกัดในการนำแบบแผนการทดลองนี้ไปใช้

5. แบบสองกลุ่มอนุกรมเวลา (Control Group Time Series Design) หรืออาจเรียกว่า แบบกลุ่มควบคุมไม่เท่าเทียมกัน ทดสอบแบบอนุกรมเวลา (Non-Equivalent Control Group Pretest-Posttest Time Series Design) ลักษณะรูปแบบเป็นดังนี้

6. แบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อน-หลัง (One Group Pretest-Postest Design) หรืออาจเรียกว่า แบบกลุ่มเดียว ทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (The Single Group Pretest-Posttest Design) ลักษณะรูปแบบเป็นดังนี้

รูปแบบที่ 6 นี้ ไม่มีการสุ่ม ใช้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียว มีการวัดผล 2 ครั้ง ก่อนและหลังการทดลอง เป็นรูปแบบที่มีความสมบูรณ์น้อยมาก ไม่ว่าจะใช้กับการประเมินแบบรวบยอดหรือแบบย่อยก็ตาม จึงเป็นรูปแบบที่เสนอแนะให้ใช้เป็นรูปแบบสุดท้าย โดยมีขั้นตอนในการใช้รูปแบบนี้ ดังนี้
  1. ทำการทดสอบกลุ่มตัวอย่างทุกคน (O1)
  2. ให้กลุ่มตัวอย่างรับหลักสูตรทดลอง (X)
  3. ทำการทดสอบกลุ่มตัวอย่างเมื่อจบการทดลอง (O2)
ข้อดีของรูปแบบนี้คือ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้เมื่อหลักสูตรได้รับการจัดทำขึ้นเพื่อใช้กับกลุ่มเป้าหมายใดกลุ่มเป้าหมายหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวนั้นไม่อาจจะทำการเลือกสุ่มเป็นกลุ่มตัวอย่างเพื่อเข้ารับหลักสูตรได้ และแบบแผนการทดลองนี้ยังเหมาะสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาดำเนินการสั้น ข้อดีอีกข้อหนึ่งของรูปแบบนี้คือ ช่วยให้เป็นการเปรียบเทียบผลระหว่างก่อนการดำเนินหลักสูตรและหลังการดำเนินหลักสูตร

ส่วนข้อจำกัดก็คือ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการคัดเลือกให้รับหลักสูตรเป็นกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจง ซึ่งอาจเป็นการเลือกมาโดยขาดการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นผลที่พึงเกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายจึงไม่อาจกล่าวชัดเจนได้ว่าดีหรือไม่ประการใด หากจะมีการนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ นอกจากจะเปรียบเทียบได้เฉพาะกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนั้นเป็นการภายใน

การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการทดลองนำร่อง (Pilot Study) ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการดำเนินการในลักษณะการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ซึ่งจะต้องมีการเลือกแบบแผนการทดลอง (Experimental Design) ที่เหมาะสม ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการประเมิน อาจกล่าวได้ว่า การวิจัยเชิงทดลองเป็นการวิจัยที่สามารถสรุปความเป็นเหตุเป็นผลได้ชัดเจนมากกว่าการวิจัยแบบอื่น และเมื่อกลุ่มตัวอย่างมีความเป็นตัวแทนของประชากร จะสามารถสรุปอ้างอิงข้อค้นพบกลับไปยังประชากรได้ ดังนั้น การสุ่ม (Randomizstion) จึงใช้ในขั้นการเลือกกลุ่มตัวอย่างของการวิจัย เพื่อให้เป็นตัวแทนที่ดี วัตถุประสงค์ของการสุ่มก็เพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกอย่างมีระบบหรือเฉพาะเจาะจง โดยการลดโอกาสหรือความน่าจะเป็นที่คนประเภทใดประเภทหนึ่งจะถูกคัดเลือกเข้าสู่กลุ่มควบคุมหรือกลุ่มทดลอง โดยหลักการของการสุ่มคือองค์ประกอบแต่ละตัวในกลุ่มประชากรจะมีโอกาสได้รับเลือกเท่าเทียมกัน เป็นผลทำให้คุณลักษณะที่แตกต่างกันในกลุ่มประชากรกระจัดกระจาย สำหรับแบบแผนการทดลองที่นำมากล่าวข้างต้นเป็นแบบแผนที่ไม่ซับซ้อนมากนัก และเป็นเพียงบางส่วนของแบบแผนการวิจัยเชิงทดลองทั้งหมด หากผู้ศึกษาสนใจแบบแผนอื่น ๆ สามารถศึกษาค้นคว้าได้จากเอกสารหรือตำราหรือแหล่งเรียนรู้อื่นที่เกี่ยวกับการวิจัยเชิงทดลอง

เขียน/เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ   ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง : 
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2545). การประเมินหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สุวิมล ติรกานันท์. (2546). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ : แนวทางสู่การปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.