การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study)

การศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) เป็นการประเมินที่ใช้ผลสรุปเพื่อการตัดสินใจก่อนเริ่มกิจกรรมหรือโครงการ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้านการศึกษาจะต้องพิจารณาแยกเป็น 2 มิติ คือ มิติของ “ผู้เสนอ” โครงการ และมิติของผู้ได้รับผลจากการดำเนินงานตามโครงการ ซึ่งเรียกว่า “ผู้รับ” การวิเคราะห์ในแต่ละมิติ ให้คำนึงถึงความเป็นไปได้ของทรัพยากรที่จำเป็นต้องมีหรือต้องใช้ และการเตรียมการเพื่อให้โครงการดำเนินไปได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งสามารถเขียนเป็นภาพประกอบได้ดังนี้ (Werdelim, 1977 อ้างใน ศักดิ์ศรี ปาณะกุล, 2545: 68-70)

จากภาพประกอบ แสดงให้เห็นรูปแบบและปัจจัยที่ศึกษาตามแนวความคิดของเวอร์เดอลิน ซึ่งแสดงไว้ 7 ด้านด้วยกัน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านกำลังคน ด้านเทคนิค ด้านกฎหมาย ด้านสติปัญญา ด้านภูมิหลัง และด้านสังคม เมื่อพิจารณาจากผู้เสนอแผน ก็ต้องมอง 2 ทาง คือ ความเป็นไปได้ด้านทรัพยากร เช่น เศรษฐกิจ กำลังคน เทคนิควิธี อีกทางหนึ่งคือ ด้านการเตรียมการในด้านกฎหมาย ถ้าพิจารณาจากผู้รับแผน ก็ต้องมองความเป็นไปได้ 2 ทาง เช่นเดียวกัน คือ การศึกษาความเป็นไปได้ด้านสังคมที่แวดล้อมและเกี่ยวข้องกับโครงการ และการศึกษาความเป็นไปได้ด้านสติปัญญาและด้านภูมิหลังของผู้เรียน

เวอร์เดลิน ได้แนะให้ศึกษาตัวแปรของปัจจัยแต่ละด้าน ดังนี้
  1. ความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจ ศึกษากำลังเงินค่าใช้จ่ายของโครงการในด้านต่าง ๆ เช่น เงินเดือนครู อาคารสถานที่ สื่อ เครื่องมือ อาหาร ยาและสุขภาพอนามัย การปรับปรุงระบบขององค์กร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ต้องคาดคะเนออกมาเป็นวงเงินค่าใช้จ่ายที่มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดและสอดคล้องกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจมากที่สุด และจะต้องมีระบบทดสอบความคลาดเคลื่อนได้
  2. ความเป็นไปได้ด้านกำลังคนหรือทรัพยากรมนุษย์ ศึกษาความพร้อมของผู้สอนและบุคลากรที่จะร่วมโครงการ เช่น ผู้มีคุณสมบัติที่จะสร้างสื่อและผลิตวัสดุอุปกรณ์เพื่อการสอนผู้เรียน และการฝึกอบรมครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ หรือบุคคลอื่น ๆ ในองค์กรให้สามารถทำงานได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องวางแผนดำเนินการให้รอบคอบ อาจจะต้องตรวจสอบหรือทดลองก่อน
  3. ความเป็นไปได้ทางเทคนิค ต้องมีการตรวจสอบหรือทดลองว่า สิ่งต่าง ๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ เครื่องฉายโปรเจคเตอร์ ฯลฯ มีอยู่พร้อมจะดำเนินการได้ตามโครงการ
  4. ความเป็นไปได้ทางด้านกฎหมาย ศึกษากฎหมาย ระเบียบ ข้อตกลงและสัญญาต่าง ๆ รวมทั้งกลไกการบริหารที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามโครงการ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของครู อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทางการศึกษาที่จะดำเนินการ
  5. ความเป็นไปได้ทางสังคม ศึกษาบุคคลที่เกี่ยวข้องและได้รับผลจากโครงการ เช่น ผู้เรียน ครู และกลุ่มบุคคลต่าง ๆ เพื่อจะดูว่าจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพียงใด วิธีการศึกษา คือ สุ่มตัวอย่างมาให้แสดงความคิดเห็น หรือเจตคติเกี่ยวกับการดำเนินงาน หรือผลที่ได้จากโครงการ โดยใช้เครื่องมือวัดทางสังคมที่เหมาะสม มีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้
  6. ความเป็นไปได้เกี่ยวกับภูมิหลังและสติปัญญาของผู้เรียนและบุคคลกรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจได้จากข้อมูลเก่าที่มีอยู่แล้ว หรือบางกรณีอาจจำเป็นต้องรวบรวมใหม่จากกลุ่มตัวอย่าง ข้อจำกัดของการศึกษาในเรื่องนี้คือ ไม่สามารถวัดภูมิหลังและความสามารถของบุคคลได้ในสถานการณ์ที่เป็นจริง ผลคาดคะเนจึงอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง
การศึกษาความเป็นได้ของโครงการหรือการใช้หลักสูตร จะต้องมีการรวบรวมความคิดเห็นจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น กลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการจากโครงการหรือรับผลจากหลักสูตร และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้ปฏิบัติโครงการหรือจัดหลักสูตร ทั้งนี้อาจใช้การสัมภาษณ์ การสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม และการสังเกต เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล

ภาพโดย upklyak จาก Freepik

ตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทางการศึกษา

• ตัวอย่างที่ 1
 
การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สำหรับโรงเรียนเอกชนอาชีวศึกษาในกรุงเทพมหานคร (ฉลวย ประชาบาล, 2533 อ้างใน ศักดิ์ศรี ปาณะกุล, 2545: 70)

ความมุ่งหมายของการวิจัย

เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สำหรับโรงเรียนเอกชนอาชีวศึกษาในกรุงเทพมหานคร โดยพิจารณาจาก
  1. ความพร้อมด้านการจัดการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วย ความพร้อมด้านทรัพยากร และความพร้อมด้านการสอนของอาจารย์
  2. ความต้องการของตลาดแรงงาน
กลุ่มตัวอย่าง : ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนอาชีวศึกษา อาจารย์ผู้สอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ ในโรงเรียนเอกชนอาชีวศึกษา ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล หรือหัวหน้าแผนกของห้างสรรพสินค้า ธนาคาร และรัฐวิสาหกิจ

เครื่องมือวิจัย : แบบสอบถามมาตราประมาณค่า 5 ระดับ

•  ตัวอย่างที่ 2 
การประเมินสภาพความพร้อมของท้องถิ่นในการขยายการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี (วัลลภ กันทรัพย์, 2540 อ้างใน ศักดิ์ศรี ปาณะกุล, 2545: 70-71)

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อประเมินสภาพความพร้อมของท้องถิ่นในการขยายการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี โดยเน้นศึกษาที่สภาพความพร้อมของโรงเรียน หน่วยงานการศึกษาในระดับท้องถิ่น ผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชน

ประเด็นหลักที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล
แบ่งเป็น 6 ข้อ ดังนี้
  1. สภาพความพร้อมของโรงเรียน
  2. สภาพความพร้อมของหน่วยงานสนับสนุนการศึกษาในท้องถิ่น
  3. สภาพความต้องการของผู้ปกครอง
  4. สภาพความพร้อมของชุมชน
  5. สภาพความพร้อมของผู้เรียน
  6. ทางเลือกปฏิบัติในการขยายการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี
กลุ่มตัวอย่าง : มี 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้บริหาร กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน กลุ่มผู้เรียน กลุ่มผู้ปกครอง และกลุ่มบุคคลในชุมชน
เครื่องมือในการวิจัย : ใช้แบบสอบถามกับทุกกลุ่มตัวอย่าง แยกเป็น 5 ฉบับ นอกจากกลุ่มประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มบุคคลในชุมชนที่ใช้วิธีสัมภาษณ์แทน

• ตัวอย่างที่ 3 
การประเมินความเป็นไปได้ ก่อนเริ่มดำเนินโครงการขยายการศึกษาภาคบังคับจากประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (นิศา ชูโต, 2536 อ้างใน ศักดิ์ศรี ปาณะกุล, 2545: 71-72)

ประเด็นที่ประเมิน
  1. ความพร้อมของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ที่จะจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยพิจารณาความพร้อมของสถานที่เรียน บุคลากร วัสดุครุภัณฑ์และค่าใช้จ่าย
  2. การคาดคะเนผลกระทบของการขยายโอกาสการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่มีต่อการจัดการศึกษาและคุณภาพแรงงาน ดังต่อไปนี้
    2.1 การจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาของโรงเรียนประถมศึกษาที่ขยายโอกาส
    2.2 การจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนใกล้เคียง
    2.3 การศึกษาในระดับอุดมศึกษา
    2.4 คุณภาพแรงงาน
  3. แนวปฏิบัติในการขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งต้องแก้แผนการศึกษาแห่งชาติและพระราชบัญญัติต่าง ๆ จึงต้องดำเนินโครงการนำร่องขยายการศึกษาภาคบังคับ เพื่อหารูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสม
ข้อมูลจากประเด็นที่ประเมินข้อ 1-3 นี้ สามารถนำมาใช้พิจารณาความเป็นไปได้ ที่จะทำให้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติดำเนินโครงการขยายโอกาส ซึ่งควรเริ่มจากโครงการนำร่องก่อน

กล่าวโดยสรุป การศึกษาความเป็นไปได้ จึงมีลักษณะเป็นการวิเคราะห์เชิงระบบ เพื่อพิจารณากลไกของระบบที่จะช่วยให้การดำเนินงานหลักสูตรเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของหลักสูตร โดยทั่วไปมักพิจารณาด้านเศรษฐกิจ การเงิน เทคนิค ความพร้อมและความสามารถของหน่วยงาน/สถานศึกษาผู้จัดหลักสูตร ดังนั้น การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) จึงมักถูกนำมาใช้ในกรณีที่มีหลักสูตรแล้ว และต้องการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดหลักสูตร


เขียน/เรียบเรียง : 
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2545). การประเมินหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.