การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการประเมินความจำเป็น (Needs Assessment)

การประเมินความจำเป็นของหลักสูตร เป็นการศึกษาว่า หลักสูตรที่จัดทำขึ้นสนองตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้รับผลหรือรับบริการโดยแท้จริงเพียงใดประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเป็นการศึกษาว่าหลักสูตรที่จัดทำขึ้นเป็นความต้องการที่แท้จริงของหน่วยงานองค์กรนั้นโดยตรง และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายในด้านคุณภาพชีวิตโดยรวมหรือไม่

นอกจากนี้ การประเมินความจำเป็นยังเป็นกระบวนการสำหรับการวิเคราะห์เพื่อให้ทราบแน่ชัดลงไปว่า ปัญหาและความต้องการใดเป็นปัญหาและความต้องการที่แท้จริง ปัญหาและความต้องการใดมีความสำคัญกว่ากัน

ดังนั้นการประเมินความจำเป็นจึงเป็นการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งเป็นขั้นตอนขั้นแรกหรือขั้นที่ 1 ของกระบวนการพัฒนาหลักสูตร และมีวิธีดำเนินการได้หลายวิธี ได้แก่ การใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การสังเกต การทดสอบ การประชุมสัมมนา การศึกษาจากเอกสาร เป็นต้น

ในการวัดความจำเป็นเกี่ยวกับหลักสูตรนั้น อาจใช้แนวคำถามต่อไปนี้
  1. อะไรเป็นสาเหตุเริ่มแรกให้เกิดความจำเป็นขึ้น
  2. ความจำเป็นดังกล่าวเป็นของใคร
  3. รู้ได้อย่างไรว่าความจำเป็นนั้นมีมากขนาดไหน วัดด้วยมาตรฐานใด
ตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรและมีการประเมินความจำเป็น
• ตัวอย่างที่ 1
การพัฒนาหลักสูตรการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียนสำหรับพ่อแม่ในชุมชนเกษตรกรรมชนบท (นิภา ทองไทย, 2525 อ้างใน ศักดิ์ศรี ปาณะกุล, 2545: 60-62)

ในขั้นตอนที่ 1 ของการพัฒนาหลักสูตร ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจชุมชนโดยตั้งวัตถุประสงค์ของการสำรวจ ดังนี้
  1. เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน อันจะส่งผลต่อวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียนของชุมชน
  2. เพื่อสำรวจการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียนของพ่อแม่ในชุมชนว่ามีความถูกต้องเหมาะสมตามข้อแนะนำ ซึ่งเสนอแนะไว้ในเอกสารและหนังสือเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียนที่นำมาอ้างอิงอย่างไรหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมาพิจารณาถึงสภาพของปัญหาและความจำเป็นของหลักสูตร
  3. เพื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจ การปฏิบัติตน และความต้องการของพ่อแม่ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง ว่ามีความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติตนเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียนอย่างไร ยังขาดความรู้ความเข้าใจในด้านใดบ้าง และมีความต้องการที่จะอบรมเรื่องใดเป็นของจุดมุ่งหมายและเนื้อหาของหลักสูตร
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสังเกตและแบบสัมภาษณ์ประกอบด้วย
  1. แบบสังเกตสภาพทั่วไปของชุมชน และแบบสังเกตประเภทอาหารที่มีจำหน่ายในท้องตลาด (ทำการสังเกต 25 วัน) เพื่อใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 1
  2. แบบสัมภาษณ์พ่อแม่เด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนเกษตรกรรมเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 และ 3
ภาพโดย upklyak จาก freepik

• ตัวอย่างที่ 2
การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์สำหรับครูประถมศึกษา (วิชิต สุรัตน์เรืองชัย, 2534 อ้างใน ศักดิ์ศรี ปาณะกุล, 2545: 63-68)

ผู้วิจัยประเมินความจำเป็นโดยการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับครูประถมศึกษา โดยตั้งวัตถุประสงค์ของการสำรวจ ดังนี้เพื่อศึกษาความรู้พื้นฐานของครูประถมศึกษาเกี่ยวโรคเอดส์
  1. เพื่อศึกษาสภาพความเสี่ยงของครูประถมศึกษาต่อการได้รับเชื้อเอดส์
  2. เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนเรื่องโรคเอดส์ในโรงเรียนประถมศึกษา
  3. เพื่อศึกษาความต้องการของครูประถมศึกษาเกี่ยวกับการฝึกอบรมทางด้านเนื้อหาสาระสำหรับการฝึกอบรม วิธีการฝึกอบรม สื่อประกอบการฝึกอบรม ระยะเวลาในการฝึกอบรม และความต้องการอื่น ๆ
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบทดสอบและแบบสอบถาม ประกอบด้วย
  1. แบบทดสอบวัดความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ สำหรับครูประถมศึกษา เพื่อใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 1
  2.  แบบสำรวจข้อมูลสำหรับครูประถมศึกษา เพื่อใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 - 4 เป็นแบบสอบถาม ชนิดคำถามปลายปิด แบบเลือกตอบ และคำถามปลายเปิด แบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่
    ตอนที่ 1 สภาพความเสี่ยงความเสี่ยงของครูประถมศึกษาต่อการได้รับเชื้อเอดส์
    ตอนที่ 2 สภาพการจัดการเรียนการสอนเรื่องโรคเอดส์ในโรงเรียนประถมศึกษา
    ตอนที่ 3 ความต้องการของครูประถมศึกษาเกี่ยวกับการฝึกอบรม

อาจกล่าวได้ว่า การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) ก็เพื่อตรวจสอบว่าความจำเป็นของหลักสูตรมีอยู่จริง และมีมากพอที่จะดำเนินการใช้หลักสูตร กล่าวคือ เป็นการพิจารณาความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ควรจะเป็นกับสิ่งที่เป็นอยู่จริง ถ้ามีความแตกต่างมาก แสดงว่าความจำเป็นมีมาก และความจำเป็นจะมีน้อย ถ้าสิ่งที่เป็นอยู่หรือการปฏิบัติใกล้เคียงกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ดังนั้น การประเมินด้วยวิธีการนี้ จึงมักถูกนำมาใช้ในกรณีที่ยังไม่มีหลักสูตร
เขียน/เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2545). การประเมินหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง