การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ ด้วยวิธีการตัดสินพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ (Expert Judgement)

การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ด้วยวิธีการตัดสินพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ (Expert Judgement) นิยมใช้สำหรับการพิจารณาหลักสูตร เพื่อดูว่าหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น ในแต่ละส่วนของหลักสูตรมีความสอดคล้องกันหรือไม่ มีความเป็นเหตุเป็นผลกันเพียงใด ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ส่วนประกอบของsลักสูตรจะประกอบด้วย เป้าหมาย จุดมุ่งหมายทั่วไป จุดมุ่งหมายเฉพาะ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผล ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยพิจารณาตัดสินว่าส่วนประกอบที่กล่าวมานี้สอดคล้องไปด้วยกันจริงหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการประเมินหลักสูตร ควรประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการพัฒนาหลักสูตร และผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของวิชาต่าง ๆ ที่บรรจุไว้ในหลักสูตร ความเป็นผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริงและมีความเป็นกลาง จึงเป็นสาระสำคัญของการประเมินตามแนวทางนี้

ภาพโดย storyset จาก Freepik

สำหรับข้อดีของการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญก็คือ มีความง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ เป็นการใช้ความสามารถทางปัญญาแบบบูรณาการของมนุษย์ และเป็นที่ยอมรับและยกย่องความเชี่ยวชาญชำนาญพิเศษของบุคคล อย่างไรก็ดี ปัญหาที่จะมักประสบก็คือการขาดแคลนผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดประการหนึ่งของการประเมินหลักสูตรโดยใช้วิธีการนี้ ส่วนข้อจำกัดอื่น ๆ ได้แก่ ผลการประเมินตามวิธีนี้อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถตรวจซ้ำได้ กล่าวคือ ถ้าประเมินใหม่ ผลการประเมินอาจแปรเปลี่ยนได้ง่าย เป็นการประเมินที่มีความเป็นอัตนัยสูง และผลการประเมินตามวิธีนี้อาจจะยากต่อการสรุปในการอ้างอิงทั่วไป

ในการประเมินผลหลักสูตรโดยการใช้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาความสอดคล้องของส่วนประกอบของหลักสูตร จะใช้การหาค่าดัชนีความสอดคล้อง (Item Objective Congruence : IOC) ซึ่งมีสูตรการคำนวณ ดังนี้



โดยนำคำตอบของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนมาให้คะแนน ดังนี้
ข้อใดมีความเห็นว่าสอดคล้อง กำหนดคะแนนเป็น +1
ข้อใดมีความเห็นว่าไม่แน่ใจ กำหนดคะแนนเป็น 0
ข้อใดมีความเห็นว่าไม่สอดคล้อง กำหนดคะแนนเป็น -1
  • ค่า IOC นี้ จะมีค่าอยู่ระหว่าง – 1 ถึง +1 โดยค่าที่เป็นบวก จะหมายถึง ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นร่วมกันว่ารายการข้อคำถามข้อนั้นมีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน ซึ่งโดยทั่วไป 
  • ถ้าค่า IOC เท่ากับ .50 หรือมากกว่า แสดงค่า ส่วนประกอบที่เป็นรายการข้อคำถามในข้อนั้น มีความสอดคล้องกันตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ 
  • ถ้าค่า IOC น้อยกว่า .50 ก็แสดงว่า ผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นร่วมกันว่า รายการข้อคำถามหรือส่วนประกอบของหลักสูตรในข้อนั้นไม่สอดคล้องกัน
ตัวอย่างการคำนวณหาค่า IOC ภายหลังจากทำการสอบถามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ 5 คน เกี่ยวกับความสอดคล้องของส่วนประกอบของหลักสูตร ปรากฏผลดังตารางนี้

จากตัวอย่างการคำนวณ จะเห็นว่าข้อที่ 1 ความสอดคล้องระหว่างหลักการและเหตุผลกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่เขียนไว้มีความสอดคล้องกัน เช่นเดียวกับข้อที่ 3 ความสอดคล้องระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้กับเนื้อหาวิชา แต่ข้อที่ 2 ความสอดคล้องระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้กับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรไม่สอดคล้องกัน ดังนั้น จากการประเมินส่วนนี้จึงควรมีการปรับปรุงการเขียน 2 ส่วนให้สัมพันธ์กัน ซึ่งอาจเขียนได้ใหม่ตามคำแนะนำเพิ่มเติมที่ได้จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญนั่นเอง

ผลการตัดสินใจพิจารณาหลักสูตรก่อนนำไปใช้โดยผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยให้ได้คำตอบว่าหลักสูตรที่จัดทำขึ้นมีความสมเหตุสมผล นอกจากนั้นยังจะช่วยให้เกิดการปรับแก้หรือเขียนหลักสูตรขึ้นใหม่
ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงร่างหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญ อาจใช้แบบสอบถามมาตราประมาณค่า 5 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด ดังตัวอย่างต่อไปนี้
คำตอบของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนให้ค่าน้ำหนักคะแนน ดังนี้
มากที่สุด ให้คะแนนเป็น 5
มาก ให้คะแนนเป็น 4
ปานกลาง ให้คะแนนเป็น 3
น้อย ให้คะแนนเป็น 2
น้อยที่สุด ให้คะแนนเป็น 1


การแปลความหมาย
การแปลความหมายค่าเฉลี่ยน้ำหนักคะแนน แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ
ค่าเฉลี่ย 4.51 - 5.00 หมายถึง มากที่สุด
ค่าเฉลี่ย 3.51 - 4.50 หมายถึง มาก
ค่าเฉลี่ย 2.51 - 3.50 หมายถึง ปานกลาง
ค่าเฉลี่ย 1.51 - 2.50 หมายถึง น้อย
ค่าเฉลี่ย 1.00 - 1.50 หมายถึง น้อยที่สุด

การกำหนดเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของความชัดเจน ความถูกต้อง ความสอดคล้องของหลักสูตรและองค์ประกอบต่าง ๆ ในหลักสูตร ใช้คะแนนเฉลี่ยรายข้อ ถ้าคำนวณค่าเฉลี่ยได้ตั้งแต่ 3.51 ขึ้นไป ถือว่าใช้ได้ ข้อใดที่ได้คะแนนต่ำกว่านี้ ก็จะต้องพิจารณาถึงเหตุผลเป็นรายข้อ โดยการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการกับผู้เชี่ยวชาญ หรือนำข้อเสนอแนะที่ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ไว้ มาปรับปรุงหลักสูตรต่อไป

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่าการประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ด้วยวิธีการตัดสินพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ (Expert Judgement) มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ดังนี้

ข้อดีและข้อจำกัด
ข้อดี
1. ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ
2. เป็นการใช้ความสามารถทางปัญญาแบบบูรณาการของมนุษย์
3. เป็นการยอมรับและยกย่องความเชี่ยวชาญชำนาญพิเศษของบุคคล
ข้อจำกัด
1. เป็นการประเมินที่มีความเป็นอัตนัยสูง
2. ผลการประเมินอาจแปรเปลี่ยนไปได้ง่าย
3. ผลการประเมินอาจยากต่อการสรุปในการอ้างอิงทั่วไป


เขียน/เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2545). การประเมินหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.