การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์แบบปุยซองส์ (Puissance Analysis Technique)


การประเมินหลักสูตรเป็นบทบาทของสถานศึกษาที่จะแสดงให้สังคมเห็นว่า ได้จัดประสบการณ์ต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียนอย่างไร สอดคล้องกับความต้องการและบริบทต่าง ๆ ของสังคมและประเทศชาติเพียงใด ดังนั้น สถานศึกษาจึงควรให้ความสำคัญต่อการติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาตัดสินคุณค่า คุณภาพและประสิทธิภาพของหลักสูตร เพื่อให้ทราบว่าหลักสูตรสามารถทำให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตรหรือไม่ ผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือไม่ รวมถึงการดำเนินการใช้หลักสูตรเป็นไปได้ดีเพียงไร มีปัญหา อุปสรรค หรือพบข้อบกพร่องของหลักสูตรหรือไม่ ตลอดจนเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตรว่าควรปรับปรุง พัฒนา หรือเปลี่ยนแปลง/ยกเลิกหลักสูตร ซึ่งการประเมินหลักสูตรสามารถทำได้ทั้งก่อนการใช้หลักสูตร ระหว่างการใช้หลักสูตร และหลังการใช้หลักสูตร

ปุยซองส์เทคนิค เป็นวิธีการประเมินหลักสูตรรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบ 3 ส่วนของหลักสูตร ได้แก่ จุดมุ่งหมาย กิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผล แล้วนำมาใส่ในตารางวิเคราะห์ปุยซองส์ (The Puissance Analysis Matrix) และคิดคำนวณน้ำหนักออกมาโดยใช้สูตรปุยซองส์ ผลที่คำนวณได้สามารถแปลความหมายว่าหลักสูตรนั้น มีคุณภาพอยู่ในระดับใด


ตารางวิเคราะห์นี้สร้างขึ้นโดยใช้หลักการเรียนรู้ของกานเย่ (Gagne′) ที่ว่า การเรียนรู้ที่เกิดแก่ผู้เรียน มีหลายแบบหลายลักษณะด้วยกัน ซึ่งกานเย่ได้อธิบายไว้เป็น 6 แบบ ดูที่แนวนอนคือ
  1. การเรียนรู้แบบลูกโซ่ (Chaining) ผู้เรียนที่ได้เรียนรู้แบบนี้ สามารถทำอะไรเป็นลำดับขั้นตอนต่อเนื่องไปได้ โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 1
  2. การเรียนรู้แบบเชื่อมโยงโดยใช้ภาษา (Verbal Association) ผู้เรียนที่เรียนรู้แบบนี้ สามารถอธิบายเชื่อมโยงด้วยภาษาได้ โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 2
  3. การเรียนรู้แบบจำแนกความแตกต่าง (Multiple Discrimination) ผู้เรียนสามารถแยกแยะความเหมือนความแตกต่างได้ โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 3
  4. การเรียนรู้แบบความคิดรวบยอด (Concepts) ผู้เรียนสามารถอธิบายทฤษฎี โครงสร้าง บอกใจความสำคัญของเรื่องที่เรียนได้ถูกต้อง โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 4
  5. การเรียนรู้แบบหลักการ (Principles) ผู้เรียนสามารถผสมผสานแนวคิดหลาย ๆ แนวคิดเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นหลักการใหม่ ๆ ได้ โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 5
  6. การเรียนรู้แบบแก้ปัญหา (Problem Solving) ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้มาเพื่อใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 6
นอกจากนี้กานเย่ยังได้อธิบายต่อไปว่า การเรียนรู้ในแต่ละแบบที่กล่าวมานั้นจะแสดงออกมาในลักษณะที่ต่างกันจากง่ายที่สุดไปถึงยากที่สุด กานเย่ได้อธิบายถึงระดับหรือขั้นของพฤติกรรมไว้ 9 ขั้น ดังนี้
  1. การบอกชื่อ (Name) เป็นการบอกหรือชี้เพื่อแสดงถึงการที่สามารถจำสิ่งที่ได้เรียน โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 1
  2. การเลือก (Identify) โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 1
  3. การบอกกฎเกณฑ์ (State a Rule) โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 1
  4. การจัดลำดับ (Order) โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 2
  5. การสาธิต (Demonstrate) โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 2
  6. การสร้างสรรค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา (Construct) โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 3
  7. การอธิบาย (Describe) เป็นการอธิบายด้วยคำพูดของตัวเองอย่างเข้าใจและสามารถตอบคำถามต่าง ๆ ได้ โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 3
  8. การจำแนกแจกแจงประเภท (Distinguish) เป็นการแยกแยะสิ่งที่เหมือนกันและไม่เหมือนกัน โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 3
  9. การประยุกต์กฎเกณฑ์ (Apple a Rule) เป็นการใช้กฎเกณฑ์ที่ได้เรียนมาในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยให้ค่าน้ำหนักเท่ากับ 3
ตามหลักการเรียนรู้ของกานเย่ ความรู้หรือพฤติกรรมที่อยู่ในอันดับสูง ๆ เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งมั่นคงกว่าความรู้หรือพฤติกรรมในอันดับต้น ๆ หากครูสามารถสอนให้ผู้เรียนมีความรู้และแสดงพฤติกรรมในอันดับสูง ๆ ได้มากเท่าใด ย่อมหมายความว่า ผู้เรียนจะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และสามารถใช้สิ่งที่เรียนให้เป็นประโยชน์ได้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นหลักสูตรใดที่เน้นผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้และแสดงพฤติกรรมในขั้นสูง ๆ ได้ หลักสูตรนั้นนับได้ว่าเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพดี

การใช้ตารางวิเคราะห์ปุยซองส์เพื่อวิเคราะห์หาคุณภาพของหลักสูตร ทำได้ดังนี้

• ขั้นที่ 1
นำจุดมุ่งหมาย กิจกรรมการเรียนการสอนและการวัดผลประเมินผลที่รวบรวมได้ทั้งหมดจากหลักสูตรมาวิเคราะห์ดูว่า แต่ละหัวข้อเป็นความรู้ที่อยู่ในลักษณะหรือแบบใด (แบบการเรียนรู้) และพฤติกรรมการเรียนรู้นั้นอยู่ในลำดับหรือขั้นไหน (ระดับพฤติกรรม) ตัวอย่างเช่น หลักสูตร ก. มีจุดมุ่งหมาย 10 ข้อ กิจกรรมการเรียนการสอน 10 ข้อ และกิจกรรมการวัดผลประเมินผล 10 ข้อ เพื่อความเข้าใจดูตัวอย่างตารางวิเคราะห์ประกอบ

• ขั้นที่ 2
นำผลการวิเคราะห์ที่ได้จากขั้นที่ 1 มาใส่ลงในตารางวิเคราะห์ของปุยซองส์ ผลการวิเคราะห์ประกอบด้วย 2 ด้าน คือ แบบการเรียนรู้ (Types of Learning) กับระดับพฤติกรรมที่เป็นการปฏิบัติหรือแสดงออก (Performance Classes) ตัวอย่างเช่น หลักสูตร ก. มีจุดมุ่งหมาย 10 ข้อ กิจกรรมการเรียนการสอน 10 ข้อ และกิจกรรมการวัดผลประเมินผล 10 ข้อ เราจะต้องนำข้อมูลต่าง ๆ ทั้ง 30 ข้อ มาลงในช่องตารางวิเคราะห์ปุยซองส์

หลังจากกรอกข้อมูลทุกหัวข้อในตารางเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องคำนวณน้ำหนักในแต่ละช่อง โดยใช้สูตร ดังนี้
ตัวอย่างเช่น ในช่องที่ตรงกับแบบการเรียนรู้แบบที่ 2 และพฤติกรรมการเรียนรู้ระดับที่ 3
มีหัวข้อจุดมุ่งหมาย (จ.) กิจกรรมการเรียนการสอน (ก.) และการวัดผลประเมินผล (ว.) ที่จัดอยู่ในช่องนี้ คือ จ.1 จ.2 จ.8 ก.1 ก.2 ก.7 ว.1 และ ว.2 ซึ่งนับรวมได้ 8 ข้อด้วยกัน

จากสูตร
ดังนั้น น้ำหนักของช่องนี้ = 2 × 1 × 8 = 16

• ขั้นที่ 3 
หาคุณภาพหลักสูตร (The Puissance Measure) ใช้ตัวย่อ P.M. โดยใช้สูตรดังนี้

จากตัวอย่างหลักสูตรในตารางวิเคราะห์ปุยซองส์ คำนวณค่า P.M. ได้ดังนี้

• ขั้นที่ 4 ขั้นแปลผล
เกณฑ์ที่ใช้ในการแปลผลที่คำนวณได้ มีดังนี้
ค่า P.M. ตั้งแต่ 1 - 3.9 แสดงถึงคุณภาพต่ำ
ค่า P.M. ตั้งแต่ 4 - 10 แสดงถึงคุณภาพปานกลาง
ค่า P.M. ตั้งแต่ 10.1 – 18 แสดงถึงคุณภาพสูง
จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น หลักสูตรมีค่า P.M. = 7.37 แสดงว่าหลักสูตรนี้มีคุณภาพในระดับปานกลาง ค่อนไปในทางสูงเล็กน้อย

การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรด้วยเทคนิคปุยซองส์นี้ เป็นวิธีการที่ตรวจสอบหลักสูตรโดยรวม ๆ ซึ่งด้วยวิธีการเดียวกันนี้ ผู้ตรวจสอบอาจจะแยกประเมินองค์ประกอบ 3 ส่วนของหลักสูตรทีละส่วนแยกต่างหากออกไป และสามารถคำนวณหาค่า P.M. ของแต่ละองค์ประกอบได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น จากหลักสูตรที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น หากนำมาคำนวณค่า P.M. แยกแต่ละส่วนประกอบ ดังตาราง
1. ตัวอย่างการวิเคราะห์จุดมุ่งหมายโดยใช้ตารางวิเคราะห์ปุยซองส์

2. ตัวอย่างการวิเคราะห์กิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ตารางวิเคราะห์ปุยซองส์

3. ตัวอย่างการวัดผลประเมินผลโดยใช้ตารางวิเคราะห์ปุยซองส์

จากตัวอย่างข้างต้น เมื่อทำการวิเคราะห์ค่าน้ำหนักแต่ละช่องของแต่ละองค์ประกอบหลักสูตรทั้ง 3 ส่วน เรียบร้อยแล้ว จึงนำมาประเมินคุณภาพ โดยหาค่า P.M. ของแต่ละองค์ประกอบหลักสูตร สรุปได้ดังนี้
จากตารางข้างต้น ถ้าดูในภาพรวมแล้ว การวิเคราะห์องค์ประกอบของหลักสูตรมีคุณภาพในระดับปานกลาง แต่ถ้าพิจารณาแต่ละองค์ประกอบแล้ว จะต้องปรับปรุงองค์ประกอบหลักสูตรด้านกิจกรรมการเรียนการสอน

การประเมินหลักสูตรของปุยซองส์ เป็นการประเมินเอกสารหลักสูตรด้านจุดมุ่งหมาย กิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผล ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะทำการประเมินก่อนการนำหลักสูตรไปใช้จริง การวิเคราะห์แต่ละองค์ประกอบหลักสูตรควรทำอย่างระมัดระวัง เมื่อนำทั้ง 3 องค์ประกอบมาเปรียบเทียบแล้ว จะทำให้มองเห็นว่าควรจะปรับปรุงคุณภาพขององค์ประกอบหลักสูตรส่วนใด


เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง:
นิรมล ศตวุฒิ. (2543). การพัฒนาหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2545). การประเมินหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.