การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยใช้แบบตรวจสอบรายการ (Checklist)

หลังจากที่ผู้พัฒนาหลักสูตรได้เขียนหลักสูตรครบถ้วนแล้ว ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ เช่น จุดมุ่งหมายของหลักสูตร เนื้อหาสาระ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผล เป็นต้น ผู้พัฒนาหลักสูตรควรศึกษาวิเคราะห์และตรวจสอบหลักสูตรที่สร้างขึ้น ก่อนนำหลักสูตรไปใช้ โดยอาจใช้แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) หรือตั้งเป็นข้อคำถามเพื่อให้เป็นแนวทางหรือเกณฑ์ในการประเมิน

แบบตรวจสอบรายการ (Checklist)

ภาพจาก freepix

แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) เป็นเครื่องมือในการประเมินและการวิจัยแบบหนึ่ง เพื่อตรวจสอบว่าหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมีองค์ประกอบที่จำเป็นครบถ้วน ชัดเจนหรือไม่ ในการสร้างแบบตรวจสอบรายการนั้น คุณภาพที่สำคัญคือ ความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา นั้นคือ ความครอบคลุมในรายการที่จะตรวจสอบนั่นเอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้


นอกจากการใช้แบบตรวจสอบรายการแล้ว อาจตั้งเป็นข้อคำถามเพื่อใช้เป็นแนวทางหรือเกณฑ์ในการประเมินก็ได้ ในบทความนี้จะขอนำคำถามเกี่ยวกับการประเมินหลักสูตรที่เสนอโดยแพร็ท (Pratt, 1980 อ้างใน ศักดิ์ศรี ปาณะกุล, 2543: 45-48) มาเป็นแนวทางการประเมิน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 1. จุดมุ่งหมายทั่วไป
  • มีการกล่าวถึงลักษณะของผลผลิตที่มุ่งหวังจากหลักสูตรไว้ชัดเจนหรือไม่
  • จุดมุ่งหมายของหลักสูตรมีความสำคัญเพียงพอหรือไม่
  • จุดมุ่งหมายของหลักสูตรได้ครอบคลุมความมุ่งหวังที่สำคัญทั้งหมดหรือไม่
2. หลักการและเหตุผล
  • มีการกล่าวถึงความจำเป็นเกี่ยวการใช้หลักสูตรหรือไม่
  • ได้นำเอาข้อสรุปที่สำคัญเกี่ยวกับหลักสูตรมากล่าวไว้หรือไม่
  • ข้อสรุปเหล่านั้นเป็นความจริงหรือใช้ได้ไหม
  • ได้มีการคาดการณ์เกี่ยวกับการคัดค้านอันอาจเกิดขึ้นหรือไม่
  • ถ้าหากมีการศึกษาถึงความจำเป็น (needs assessment) วิธีการศึกษาค้นคว้าและการบรรยายเกี่ยวกับผลการค้นคว้ามีความสมบูรณ์เพียงพอไหม
3. จุดมุ่งหมายเฉพาะ
  • มีการระบุจุดมุ่งหมายเฉพาะหรือไม่
  • ได้มีการบอกประเภทหรือความสำคัญของจุดมุ่งหมายเฉพาะแต่ละข้อหรือไม่
  • จุดมุ่งหมายเฉพาะแต่ละข้อมีความสอดคล้องและสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายทั่วไปหรือไม่
  • จุดมุ่งหมายเฉพาะมีความชัดเจน ยืดหยุ่น นำไปใช้ได้ มีความสำคัญ และมีความเหมาะสมเพียงใด
  • จุดมุ่งหมายเฉพาะทุกข้อสามารถปฏิบัติได้ และตอบสนองจุดมุ่งหมายทั่วไปหรือไม่
4. เกณฑ์ในการวัด
  • ผลที่ได้จากหลักสูตรได้รับการประเมินอย่างมีหลักเกณฑ์หรือไม่
  • เกณฑ์ในการพิจารณามีความเหมาะสม ชัดเจน เชื่อถือได้ และมีประสิทธิภาพหรือไม่
5. การแบ่งระดับของคะแนน
  • ระบบการจัดลำดับคะแนนมีความชัดเจนเพียงใด
  • การจัดลำดับของคะแนนสะท้อนให้เห็นความสำคัญของจุดมุ่งหมายเฉพาะหรือไม่
6. สภาพแวดล้อม
  • ระบบการจัดลำดับคะแนนมีความชัดเจนเพียงใด
  • การจัดลำดับของคะแนนสะท้อนให้เห็นความสำคัญของจุดมุ่งหมายเฉพาะหรือไม่
  • หลักสูตรมีความเหมาะสม ชัดเจนและมีความเกี่ยวเนื่องกับโครงการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และผู้เรียนหรือไม่
  • มีสถาบันอื่นใดสามารถใช้หลักสูตรนี้หรือไม่
  • มีการกล่าวถึงผลกระทบเกี่ยวกับหลักสูตร รายวิชา และครูหรือไม่
7. ลักษณะของผู้เรียน
  • มีการกล่าวถึงคุณลักษณะของผู้เรียนที่เรียนตามหลักสูตรนี้หรือไม่
  • ได้มีการกล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกผู้เรียนหรือไม่
  • มีการกำหนดความรู้พื้นฐานหรือไม่
  • ผู้ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในหลักสูตรนี้จะสามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีใด
8. การเรียนการสอน
  • แผนการสอนมีรายละเอียดเพียงพอหรือไม่
  • มีคุณค่ามากน้อยเพียงใด
  • เนื้อหาสาระน่าสนใจไหม
  • มีความสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายหรือไม่
  • วิธีการสอนมีความเหมาะสม ใช้หลายลักษณะ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์หรือไม่
  • จุดมุ่งหมายเฉพาะสามารถชี้แนวทางการคัดเลือกวิธีสอน รวมทั้งกิจกรรมที่เหมาะสมหรือไม่
9. การจัดการเกี่ยวกับความแตกต่างของผู้เรียน
  • มีการประเมินผลระหว่างการเรียนอย่างสม่ำเสมอ และประเมินผลเพื่อการวินิจฉัยหรือไม่
  • มีการเตรียมการเพื่อสอนซ่อมเสริมหรือไม่ และการสอนซ่อมเสริมมีความเหมาะสม
  • มีหลายรูปแบบ และมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงไร
  • มีการส่งเสริมผู้เรียนที่มีศักยภาพในการเรียนที่แตกต่างกันหรือไม่
10. การส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติ
  • มีการระบุจำนวนผู้เรียนหรือจำนวนกลุ่มขั้นต่ำสุดและสูงสุดไว้หรือไม่
  • มีการวางแผนแก้ปัญหาสำหรับผู้เรียนจำนวนมากหรือน้อยกว่าที่กำหนดไว้หรือไม่
  • มีการระบุถึงวัสดุและเครื่องมือต่าง ๆ ที่เป็นสื่อการเรียนการสอนหรือไม่
  • สื่อและเครื่องมือเหล่านั้นมีความสอดคล้องสัมพันธ์กับหลักสูตรหรือไม่
  • มีการกล่าวถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนหรือไม่
  • ได้มีการคิดคำนวณถึงเวลาที่จะใช้ทั้งหมดหรือไม่
  • ได้กล่าวถึงคุณสมบัติ ความสามารถและหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้สอนหรือไม่
11. การทดลองใช้หลักสูตร
  • มีการทดลองใช้หลักสูตรแบบนำร่อง หรือภาคสนามหรือไม่
  • รายงานผลการทดลองใช้น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
12. การประเมินโครงการใช้หลักสูตร
  • มีการประเมินโครงการใช้หลักสูตร ผลการประเมินเป็นที่ยอมรับกันหรือไม่
  • มีองค์ประกอบหรือส่วนใดของหลักสูตรที่จำเป็นต้องมีการประเมินโดยเฉพาะหรือไม่
  • มีการปรับปรุงและพัฒนาส่วนใดหรือไม่
13. การนำหลักสูตรไปใช้
  • มีแนวทางและกำหนดเวลาการใช้หลักสูตรหรือไม่
  • บทบาทหน้าที่ของผู้ใช้หลักสูตร ได้ระบุไว้ชัดเจนเพียงพอหรือไม่
  • แผนการใช้หลักสูตรมีความชัดเจน และเป็นไปได้เพียงใด
14. ผลผลิต
  • หลักสูตรมีรูปแบบที่เป็นอิสระในตัวเองหรือไม่
  • ผลผลิตจากหลักสูตรเป็นที่น่าพอใจ และมีความสนใจในวิชาชีพมากน้อยเพียงใด
การประเมินหลักสูตรโดยใช้แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) หรือตั้งเป็นข้อคำถามเพื่อให้เป็นแนวทางหรือเกณฑ์ในการประเมินที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างหรือแนวทางในการประเมิน ซึ่งผู้พัฒนาหลักสูตรสามารถนำไปปรับปรุงประเด็นหรือข้อคำถามเพื่อให้สอดคล้อง เหมาะสมกับหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น


เรียบเรียง
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2545). การประเมินหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.