การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้

การประเมินหลักสูตรเป็นบทบาทของสถานศึกษาที่จะแสดงให้สังคมเห็นว่าได้จัดประสบการณ์ต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียนอย่างไร สอดคล้องกับความต้องการและบริบทต่าง ๆ ของสังคมและประเทศชาติเพียงใด ดังนั้น สถานศึกษาจึงควรให้ความสำคัญต่อการติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาตัดสินคุณค่า คุณภาพและประสิทธิภาพของหลักสูตร เพื่อให้ทราบว่าหลักสูตรสามารถทำให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตรหรือไม่ ผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือไม่ รวมถึงการดำเนินการใช้หลักสูตรเป็นไปได้ดีเพียงไร มีปัญหา อุปสรรค หรือพบข้อบกพร่องของหลักสูตรหรือไม่ ตลอดจนเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตรว่าควรปรับปรุง พัฒนา หรือเปลี่ยนแปลง/ยกเลิกหลักสูตร ซึ่งการประเมินหลักสูตรสามารถทำได้ทั้งก่อนการใช้หลักสูตร ระหว่างการใช้หลักสูตร และหลังการใช้หลักสูตร

สำหรับบทความนี้จะขอนำเสนอเทคนิคและวิธีการในการประเมินก่อนนำหลักสูตรไปใช้ ซึ่งการประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเหมาะสม ความเป็นไปได้ในการนำหลักสูตรไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย เป็นการประเมินก่อนที่จะมีการใช้หลักสูตรจริง ๆ

ภาพจาก freepix

เทคนิคและวิธีการในการประเมินก่อนนำหลักสูตรไปใช้
เทคนิคและวิธีการที่นิยมในการประเมินก่อนนำหลักสูตรไปใช้ ประกอบด้วย
  1. การใช้แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) หรือตั้งเป็นข้อคำถามเพื่อใช้เป็นแนวทางหรือเกณฑ์ในการประเมิน
  2. การใช้เทคนิคการวิเคราะห์แบบปุยซองส์ (Puissance Analysis Technique)
  3. การตัดสินพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ (Expert Judgement)
  4. การประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) ใช้ในกรณีที่ยังไม่มีหลักสูตร จึงต้องประเมินความจำเป็น อาจดูจากสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม จากนั้นจึงดำเนินการพัฒนาหลักสูตรตามความจำเป็นหรือความต้องการหรือเพื่อแก้ไขปัญหา
  5. การศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ใช้ในกรณีที่มีหลักสูตรแล้ว
  6. การทดลองนำร่อง (Pilot Study)
วัตถุประสงค์ในการประเมินหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้กระทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามสำคัญ ๆ ได้แก่
  1. หลักสูตรมีส่วนประกอบครบถ้วน ชัดเจน หรือไม่ อาจประเมินโดยการใช้แบบตรวจสอบรายการ และส่วนประกอบมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ก็อาจใช้เทคนิคการวิเคราะห์แบบปุยซองส์ในการประเมิน
  2. หลักสูตรมีความสอดคล้องหรือมีความสัมพันธ์กันในแต่ละส่วนหรือแต่ละองค์ประกอบของหลักสูตรที่พัฒนาหรือจัดทำขึ้นหรือไม่ เพียงใด อาจประเมินโดยใช้การตัดสินพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ
  3. หลักสูตรสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือองค์กรโดยแท้จริงหรือไม่ เพียงใด อาจใช้การประเมินความจำเป็น
  4. หลักสูตรมีความเป็นไปได้ คุ้มทุน ทันเวลาในการนำไปดำเนินการหรือนำไปใช้หรือไม่ เพียงใด อาจประเมินโดยใช้การศึกษาความเป็นไปได้
  5. หลักสูตรมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องมากน้อย เพียงใด เมื่อมีการนำไปทดลองใช้
สำหรับเทคนิคและวิธีการในการประเมินก่อนนำหลักสูตรไปใช้ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากบทความที่เกี่ยวข้องได้แก่
  • การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการใช้แบบตรวจสอบรายการ (Checklist)
  • การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการใช้เทคนิคการวิเคราะห์แบบปุยซองส์ (Puissance Analysis Technique)
  • การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการตัดสินพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ (Expert Judgement)
  • การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการประเมินความจำเป็น (Needs Assessment)
  • การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study)
  • การประเมินหลักสูตรก่อนนำไปใช้ โดยการทดลองนำร่อง (Pilot Study)
จากวัตถุประสงค์ของการประเมินที่แตกต่างกัน ก็ทำให้เลือกเทคนิคและวิธีการที่ใช้ประเมินแตกต่างกันตามไปด้วย ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ดังนั้น ผู้พัฒนาหลักสูตรจึงควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการประเมิน ก่อนตัดสินใจเลือกเทคนิคและวิธิการในการประเมินก่อนนำหลักสูตรไปใช้ เพื่อให้ได้หลักสูตรที่มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการนำหลักสูตรไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายต่อไป


ภาพโดย  macrovector  จาก freepix


เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2545). การประเมินหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.