พรรณไม้ในสถาบัน สกร.ภาคเหนือ : พิกุล

พิกุล เป็นพรรณไม้ที่ให้ดอกที่มีกลิ่นหอม มีทรงพุ่มสง่างาม ใบหนาทึบให้ร่มเงาอย่างดี คนสมัยก่อนจึงนิยมปลูกไว้ไม้ในบริเวณบ้าน โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว เป็นสิริมงคล รักษา เนื่องจากมีตำนานกล่าวไว้ว่า พิกุลมีอยู่บนสวนสวรรค์ชั้นมิสกวันของพระอินทร์ มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ในตัว และเชื่อว่าต้นพิกุลมีเทวดาทวยเทพสถิต นอกจากนี้ พิกุล ยังเป็นต้นไม้ที่คุ้นเคยกับคนไทยมาเนิ่นนาน โดยจะเห็นได้จากวรรณคดีไทยหลาย ๆ เรื่องที่มักกล่าวถึงดอกพิกุล ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือวรรณคดีไทยเรื่อง พิกุลทอง นอกจากนี้จิตรกรรมไทยก็มีการนำดอกพิกุลมาเป็นต้นแบบของลวดลายไทยด้วยเช่นกัน


ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
1. ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimusops elengi L.  
2. ชื่อไทย  : พิกุล
3. ชื่อท้องถิ่น : กุน (ภาคใต้) แก้ว (ภาคเหนือ) ซางดง (ลำปาง) พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช) พิกุลป่า (สตูล) พิกุลเขา
4. ชื่อสามัญ : Bullet wood, Headland flower, spanish cherry
5. วงศ์ : Sapotaceae  
6. สกุล : Mimusops
7. ลักษณะวิสัย : ไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ

8. ลักษณะทางพฤกษศาตร์
  • ลำต้น เป็นไม้ยืนต้น ไม่พลัดใบ ขนาดกลาง ทรงพุ่มกลม สูงประมาณ 8-15 เมตร ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว เรือนยอดแน่นทึบสีเขียวเข้ม แผ่กว้างเป็นพุ่มตรงหรือรูปเจดีย์ เปลือกต้นสีน้ำตาลแตกเป็นร่องตื้นตามยาว กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุม
  • ใบ ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ รูปรี หรือรูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมต โคนใบมน ปลายใบแหลม ใบคล้ายแผ่นหนัง ขอบใบเรียบ หลังใบสีเขียวเข้ม ผิวเรียบเป็นมัน ใต้ท้องใบสีเขียวอ่อน มีจนสีน้ำตาลแดงที่เส้นกลางใบ

  • ดอก พิกุลมักดอกออกตามซอกใบหรือซอกกิ่ง เป็นดอกเดี่ยว ๆ หรือบางทีก็ออกดอกเป็นกระจุกเล็ก ๆ คล้ายช่อ กระจุกละ 2-6 ดอก ดอกบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีสีน้ำตาลเหลือง 8 กลีบ แยกจากกัน เรียงเป็น 2 วง วงละ 4 กลีบ รูปไข่ ผิวด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุม กลีบดอกมีสีครีม โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็นแฉกรูปใบหอก 24 กลีบ เรียงเป็น 3 วง วงละ 8 กลีบ กลีบดอกจะสั้นกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย ดอกหลุดร่วงได้ง่าย แต่ยังคงกลิ่นหอมอยู่ได้นานแม้จะแห้งแล้วก็ตาม
  • ผล ผลสดรูปไข่หรือรูปรี กว้าง 1.0-1.8 ซม. ยาว 1.5-3.0 ซม. ผลอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลปกคลุมและขนนี้จะหลุดร่วงไป ผลสุกสีแดง เนื้อในสีเหลือง มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ในผลมีเมล็ดเปลือกแข็งลักษณะแบนรี สีน้ำตาลเข้มหรือดำเป็นมัน

9. การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา
พบได้ในเอเซียแถบประเทศอินเดีย เมียนมาร์ มาเลเซีย ไทย พิกุลเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดจัด

10. การปลูกและการขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์โดยการตอน ปักชำ และเพาะเมล็ด แต่ที่นิยมคือ การเพาะเมล็ด

11. การใช้ประโยชน์
ส่วนต่าง ๆ ของต้นพิกุลที่นำไปใช้ทำยา ได้แก่ ส่วนที่เป็นดอก ผลดิบและเปลือก เปลือกต้น ใบ เมล็ด ราก แก่น ขอนดอก กระพี้ ส่วนลำต้นใช้ในการก่อสร้าง เช่น ขุดเรือ ทำสะพาน ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี ฯลฯ นอกจากนี้ยังปลูกเพื่อประดับสถานที่ และให้ร่มเงา
 
ภายในสถาบัน กศน.ภาคเหนือ มีต้นพิกุลขนาดใหญ่อยู่หลายต้น บริเวณอาคารอำนวยการ พร้อมจะส่งกลิ่นหอมเย็น ให้ผู้ผ่านไปมารู้สึกสดชื่นได้ตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน


เรียบเรียง :
แก้วตา ธีระกุลพิศุทธิ์  ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง:
เปิดความหมายการโปรยดอกพิกุลเงิน พิกุลทอง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (2562, 4 พฤษภาคม). ทีนิวส์. https://www.tnews.co.th/social/504887

นพพล เกตุประสาท และ ไพร มัทธวรัตน์. (ม.ป.ป.). พิกุล. ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/old-fragrant/mimusops.html

สมิทธิชัย สุกปลั่ง. (2565, 26 พฤษภาคม). พิกุล…ไม้ในวรรณคดี หอมแบบไทยๆ ให้ร่มเงาอย่างดี. เทคโนโลยีชาวบ้าน. https://www.technologychaoban.com/flower-and-decorating-plants/article_36695