เรื่องเล่าจากจิตรกรรมเวียงต้า

เวียงต้า เป็นชุมชนที่ห่างออกไปจากเมืองแพร่ ทางด้านตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้และขุนเขา การคมนาคมค่อนข้างลำบาก แต่มีมรดกอันล้ำค่าของเมืองแพร่ซ่อนอยู่ คือ “วัดเวียงต้าม่อน” ภายในฝาผนังด้านในของวิหารเต็มไปด้วยจิตรกรรมแบบล้านนาที่หาค่ามิได้ ภาพเขียนเหล่านี้เขียนด้วยสีฝุ่นบนไม้กระดานหลาย ๆ แผ่นต่อกันในกรอบขนาดใหญ่จัดวางเป็นผืนเป็นตอน เทคนิคการเขียนและการจัดองค์ประกอบมีลักษณะแบบพื้นบ้าน ดูสนุกสนานตามรูปแบบงานจิตรกรรมสกุลช่างในเมืองน่าน โดยใช้สีฝุ่นวาดลงบนฝาไม้ผนังวิหารทั้ง 4 ด้าน ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีความยาวประมาณ 6.97 เมตร ผนังด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีความยาว 9.24 เมตร 

สีที่ใช้มีกลุ่มสีดิน (น้ำตาลและน้ำตาลแดง) กลุ่มสีขาว (ใช้สำหรับรองพื้นและผสมสีอื่น)  กลุ่มสีแดง (แดงชาด แดงจากดินแดงผสม) กลุ่มสีน้ำเงิน (น้ำเงินคราม) กลุ่มสีเขียว (เขียวจากต้นไม้ เขียวจากหินหรือแร่) กลุ่มสีดำ (ดำจากหมึกหรือเขม่าดำผสมสีอื่น) และกลุ่มสีทองคำเปลว เนื้อหาของภาพจัดเป็นสามกลุ่มด้วยกันคือ dภาพกลุ่มแรกเป็นชาดกเรื่อง เจ้าก่ำกาดำ ภาพกลุ่มที่สองเป็นชาดกเรื่อง แสงเมืองหลงถ้ำ ซึ่งภาพทั้งสองเรื่องนี้ใช้กลุ่มสีทองคำเปลววาดเป็นภาพชาดกพื้นเมืองที่แพร่หลายนิยมกันมากในเขตล้านนาช่วงศตวรรษที่ผ่านมา พระสงฆ์สามเณรใช้เทศนาเป็นพระธรรมคำสอนและชาวบ้านนำมาแต่งเป็นค่าว จ๊อย ขับขานกันในช่วงนั้น ส่วนภาพกลุ่มที่สามเป็นภาพคนขนาดใหญ่เกือบเท่าของจริง 

ภาพจิตรกรรมวัดเวียงตาม่อน. จาก จิตรกรรมเวียงต้า (น. 35.), โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

กล่าวได้ว่า จิตรกรรมเวียงต้ามีคุณค่าสูงในด้านที่สะท้อนให้เห็นโลกทัศน์และวิถีชีวิตของชาวล้านนาในยุคนั้น นับตั้งแต่คติ ความเชื่อ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของคนระดับต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเป็นลักษณะรวมรูปแบบของจิตรกรรมล้านนาทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเวียงต้าบนแผ่นไม้ชุดนี้ ปัจจุบันถูกย้ายจากวัดเวียงต้าม่อน ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ "หอคำน้อย" ของไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2531โดยติดตั้งผนังไม้ที่มีจิตรกรรมฝาผนังเวียงต้า ทั้ง 4 ด้าน ไว้ภายในอาคารเพื่อป้องกันจากแสงแดด ฝนสาดกระทบ ความชื้น หรือปัจจัยเสี่ยงที่จะให้งานจิตรกรรมจะได้รับความเสียหาย

ภาพจิตรกรรมเวียงต้า

1. ชาดกเรื่อง ก่ำกาดำ  
ณ เมืองพรหมทัต มีกษัตริย์ปกครองเมืองชื่อ ท้าวจิตตราช มีพระมเหสี 2 องค์ คือ นางจันทเทวี และนางสิงคี แต่ไม่มีโอรส จึงได้ทำพิธีบำเพ็ญศีลภาวนาเพื่อขอโอรสจากพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์ได้ไปอัญเชิญพระโพธิสัตว์ให้ไปเกิดในครรภ์ของนางจันทเทวี ทำให้นางสิงคีเกิดความริษยาร่วมกับกาละกะเสนาใส่ร้ายนางจันทเทวี ยุยงให้ท้าวจิตตราชขับออกจากวัง นางจันทเทวีได้ไปอาศัยอยู่กับตายายที่ท้ายป่าและคลอดลูกออกมามีผิวกายดำก่ำเหมือนหมี มีชื่อว่า ก่ำกาดำ ต่อมาท้าวจิตตราชและนางสิงคีทรงทราบ จึงได้ขับนางจันทเทวีและโอรสออกจากเมือง โดยจับมัดติดแพลอยน้ำไป แต่ได้เจอกับน้ำวนแพแตก ทำให้แม่ลูกพลัดพรากจากกัน นางจันทเทวีถูกน้ำพัดไปติดที่เมืองมิถิลา ส่วนก่ำกาดำไปติดที่สวนดอกไม้ของเมืองพาราณสี 

นางจันทเทวีอาศัยกับตายาย คลอดก่ำก๋าคำ และถูกลอยแพทำให้สองตายายอกแตกตาย
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

นางจันทเทวีหลังจากแพแตกมาขึ้นฝั่งเมืองมิถิลา
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

เมืองพาราณสี มีท้าวพาราณสีปกครองเมือง และมีลูกสาว 7 คน คือ พิมมรา นาริกา อุมรา สุนันทา สุวิมาลา สุจิมาและเทพกัญญา ธิดาทั้ง 7 คน ชอบเดินเล่นในสวนอุทยานดอกไม้ ส่วนก่ำกาดำ เดินเข้ามาในสวนเพื่อเก็บผลไม้กินเป็นอาหาร และได้ไปพบกับนางปักขิกาคนดูแลสวนได้ทำบ่วงจับ ก่ำกาดำ เพื่อใช้ให้เป็นคนงาน แต่เกิดความร้อนรนอยู่ไม่ได้ต้องรับมาเลี้ยงไว้เป็นลูก ในเวลานั้น

พระอินทร์ได้นำเทพธิดามาเกิดในฝักงิ้วที่สวนอุทยาน คนงานเห็นงิ้วงามแต่เก็บไม่ได้ ท้าวพาราณสีจึงได้อันเชิญต้นงิ้วไปปลูกในราชวัง ได้พบเด็กหญิงที่งดงามออกมาจากฝักงิ้ว ท้าวพาราณสีได้รับเลี้ยงไว้เป็นลูกสาวคนที่แปดชื่อว่า พิมพา ให้ไปอาศัยอยู่กับนางเทพกัญญา

เจ้าเมืองพาราณสีเก็บงิ้วทองคำ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

อยู่มาวันหนึ่ง ก่ำกาดำ ในวัยหนุ่มได้ถอดเสื้อผิวดำออก จึงมีร่างกายสดใสดังทอง ได้พบกับนางเทพกัญญาและนางพิมพา นางคิดว่าเป็นเทวดาจึงวิ่งไล่ตาม ก่ำกาดำได้วิ่งหนีกลับไปใส่เสื้อผิวดำ ต่อมาก่ำกาดำได้เข้าไปในห้องนางเทพกัญญาและนางพิมพา นางทั้งสองได้ตั้งคำถามธรรม 7 ข้อ ก่ำกาดำตอบคำถามได้อย่างแจ่มแจ้ง ทำให้นางทั้งสองพอใจขอเป็นภรรยา แต่ก่ำกาดำปฏิเสธและกลับไป รุ่งเช้านางปักขิณา จะนำดอกไม้ไปถวายให้แก่ธิดาทั้งสอง  ก่ำกาดำจึงได้เรียงดอกไม้เป็นรูปตนเองกอดกับนางทั้งสอง ทำให้ธิดาทั้งสองมอบแก้วแหวนเงินทองให้ 

ท้าวพาราณสี ได้จัดชุมนุมตอบปัญหาธรรมของนางเทพกัญญาและนางพิมพา ใครตอบได้จะยกลูกสาวให้ ไม่มีใครตอบปัญหาได้นอกจากก่ำกาดำ ท้าวพาราณสีจึงยกนางเทพกัญญาและนางพิมพาให้ก่ำกาดำ ทำให้เหล่าขุนนางไม่พอใจ ก่ำกาดำจึงได้เดินทางเข้าป่าขอให้เทวดามาช่วย เหล่าเทวดาต่างมาช่วยสร้างบ้านเมือง และเหาะไปยังเมืองมิถิลาไปอุ้มนางจันทเทวีผู้เป็นแม่ให้มาพบกับก่ำกาดำ จากเสียงอื้ออึงของหมู่เทวดานางฟ้า ทำให้ท้าวพาราณสีรู้ว่าก่ำกาคำเป็นผู้มีบุญจึงจัดพิธีอภิเษกสมรสให้ก่ำกาดำกับธิดาทั้งสอง และสถาปนาให้ก่ำกาดำปกครองเมือง ในยามนั้นพระอินทร์ได้เชิญก่ำกาดำไปแก้ปริศนาธรรม ก่ำกาดำได้ถอดผิวดำออกและเหาะไปกับพระอินทร์ นางเทพกัญญาและนางพิมพาจึงได้นำผิวดำไปเผาไฟไหม้หมด ก่ำกาดำได้อยู่ครองเมืองและรับนางปักขิณามาเลี้ยงดูในวัง

เจ้าก่ำก๋าดำถอดชุดผิวดำแล้วเหาะขึ้นตอบปัญหาธรรมกับพระอินทร์
จาก จิตรกรรมเวียงต้า,โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

ต่อมา ก่ำกาดำและนางจันทเทวี ได้ยกทัพไปยังเมืองพรหมทัตเพื่อพบบิดา นางสิงคีและกากะลังเสนา ได้ยุยงท้าวพรหมทัตว่าก่ำกาดำจะยกทัพมาตีเมือง จึงมอบให้กากะลังเสนายกทัพออกไปตีที่นอกเมือง เมื่อกากะลังเสนายกทัพไปถึงหน้ากาดำก็ถูกธรณีสูบตกนรก นางสิงคีรู้เข้าเสียใจ พอวิ่งลงพื้นดินก็ถูกธรณีสูบตกนรกอเวจี ท้าวพรหมทัตจึงได้เชิญก่ำกาดำและนางจันทเทวี เข้าเมืองและยกราชสมบัติให้ก่ำกาดำครองสืบไป

นางสิงคีถูกธรณีสูบ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า,โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

เจ้าราชบัณฑิต (ก่ำกาดำ) และมารดาเข้าเฝ้าราชบิดาในราชวัง
จาก จิตรกรรมเวียงต้า,โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

2. ชาดกเรื่อง แสงเมืองหลงถ้ำ 
แสงเมืองหลงถ้ำ เป็นวรรณกรรมชาดกที่ได้รับความนิยมสูงสุดเรื่องหนึ่งในล้านนา โดยเรื่องมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่ง ท้าวมันธราชและนางสุมิราครองราชย์ที่เมืองเชียงทอง แต่ไม่มีโอรส ท้าวมันธราชจึงให้นางสุมิรารับประทานอาหารวันละมื้อและรักษาศีลเป็นเวลา 7 วัน เพื่อขอลูก ร้อนถึงพระอินทร์ต้องไปอัญเชิญพระโพธิสัตว์ให้ไปเกิดในครรภ์ของสุมิรา และให้เทวดามาเกิดในเมืองนั้น อีก 1,000 องค์ ในขณะประสูติได้เกิดเหตุอัศจรรย์ 3 ประการคือ ต้นไม้เหลืองไปหมด แม่น้ำมีสีแดงไปหมด และหินทรายทั้งหมดกลายเป็นสีเขียวถึง 5 วัน จึงได้ตั้งชื่อบุตรที่เกิดว่าเจ้าทรายเขียว และมีอีกนามหนึ่งคือ เจ้าแสงเมือง เนื่องจากพระอินทร์ได้นำเอาแสง (แก้วมณี) มาให้ 

เมื่อเจ้าแสงเมืองอายุ 16 ปี มีนายพรานป่านำหงส์คู่หนึ่งจากป่าหิมพานต์มาถวายเป็นหงส์ที่ฉลาด พูดภาษามนุษย์ได้ ต่อมาพระบิดาได้ให้เจ้าแสงเมืองเลือกสตรีในเมืองเชียงทองมาเป็นชายา  แต่ก่อนถึงพิธีเจ้าแสงเมืองได้ฝันว่าหงส์คู่นำหญิงสาวรูปงามมาถวาย เจ้าแสงเมืองจึงไม่เลือกใคร และให้คนมาวาดภาพนางในฝันและให้หงส์นำภาพไปค้นหาในเมืองพันธุมตินคร (โยนกนาคพันธุ์นคร) ติสสรัฐ (อุตรดิตถ์) หริภุญไชย (ลำพูน) นันทบุรี (น่าน) โกสัย (แพร่) ฯลฯ จนกระทั่งพบนางเกี๋ยงคำแห่งเขมรัฐราชธานี

นางเกี๋ยงคำและนกแขกเต้าในอุทยาน
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

นางเกี๋ยงคำ เป็นธิดาของท้าวสิริวังโสและนางทาริกาครองเมืองขอมหรือเขมรัฐราชธานี โดยมีตำนานเล่าว่า เมื่อแรกเกิดนั้นช่างดอกไม้ได้นำดอกไม้มาถวายและพบว่า ดอกเกี๋ยง (ลำเจียก) ดอกหนึ่งกลายเป็นทอง จึงตั้งชื่อว่านางเกี๋ยงคำ  เมื่ออายุได้ 15 ปี นางเกี๋ยงคำทรงมีพระสิริโฉมงดงามมาก กลิ่นปากมีกลิ่นหอมเหมือนดอกลำเจียก ท้าวสิริวังโสได้สร้างปราสาทให้นางอยู่ต่างหาก เมื่อหงส์ได้ทราบข่าวของนางเกี๋ยงคำจากนกแขกเต้าที่เป็นนกเลี้ยง ก็ไปค้นหาจนได้พบนาง และเล่าเรื่องเจ้าแสงเมือง ให้ฟัง นางพึงพอใจมาก จึงมอบแหวนที่มีรูปนางปรากฏในหัวแหวนฝากไปถวายเจ้าแสงเมือง เจ้าแสงเมืองได้ส่งทูตไปเมืองขอมพร้อมราชบรรณาการเพื่อสู่ขอนางเกี๋ยงคำ ท้าวสิริวังโสก็ทรงยินดีรับราชบรรณาการและตอบแทนด้วยการส่งของกลับไป ทั้งสองเมืองต่างได้เตรียมงานอภิเษกสมรสอย่างยิ่งใหญ่ 

เมืองเชียงของมีพิธีสังเวยเทพารักษ์ประจำเมืองทุกวันแรม 1 ค่ำ ที่ดอยหลวง เจ้าแสงเมืองจะรีบไปอภิเษกสมรส จึงได้ทำพิธีสังเวยก่อนกำหนด เมื่อเสร็จพิธีได้เที่ยวในถ้ำพร้อมบริวารอีก 1,000 คน ขณะที่เที่ยวในถ้ำอยู่นั้น ไฟได้มอดดับหมดจึงมองไม่เห็นทางออกจากถ้ำไม่ได้  เมืองเชียงของเกิดความทุกข์หม่นหมองไปทั่ว เนื่องจากเจ้าแสงเมืองหายไป เมื่อนางเกี๋ยงคำทราบเรื่อง ก็เกิดความทุกข์ตรมไม่เป็นอันแต่งเนื้อแต่งตัว เมื่อได้สติจึงสร้างศาลาไว้ที่หน้าเมือง จัดคนไปฟังข่าวจากคนที่มาพักเพื่อจะได้ทราบข่างเจ้าแสงเมือง 

เจ้าแสงเมืองหลงทางในถ้ำ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

 ในเมืองขอมมีเศรษฐีผู้หนึ่งได้นำข้าวของเงินทองมาสู่ขอนางเกี๋ยงคำจากเจ้าสิริวังโสให้ลูกชายตัวเอง แต่นางไม่ยินยอมทำให้ลูกเศรษฐีแค้นใจ จึงได้ไปยุยงให้ทูตจากเมืองจัมปาไปบอกพระยาจัมปาให้มาตีเมืองขอม เพื่อแย่งชิงนางเกี๋ยงคำ

ฝ่ายเจ้าแสงเมืองติดอยู่ในถ้ำนานถึง 11 เดือน เนื่องจากมีกรรมเวรอยู่ปางหลัง ทำให้บริวารที่ติดตามมาด้วยตายไป 993 คน เหลือเพียงเจ้าแสงเมืองและบริวารอีกเพียง 6 คน ที่มีชีวิตอยู่ แต่ผ่ายผอมเหลือแต่กระดูก เจ้าแสงเมืองจึงอธิษฐานว่า หากตนได้เป็นพระพุทธเจ้าขอให้พระอินทร์มาช่วยด้วยเถิด จากนั้นจึงพาบริวารเดินทางไปจนพบช่องแสงสว่างและพบพระอินทร์ที่แปลงกายมาเป็นนายพรานมาช่วย เจ้าแสงเมืองนึกรู้ว่าเป็นพระอินทร์จึงขอให้สวนมนต์ช่วยชุบชีวิตคน พระอินทร์ได้สอนมนต์ให้และมอบดาบสรีกัญไชย พร้อมทั้งสอนวิธีใช้แก้วมณีประจำตัวด้วย เจ้าแสงเมืองชุบชีวิตบริวารที่ตายไปฟื้นขึ้นมา และพากันเดินไปจนพบสุทธฤาษี ฤาษีได้สอนวิชาให้ เมื่อพักผ่อนร่างกายแข็งแรงแล้ว เจ้าแสงเมืองจึงเดินทางไปยังเมืองขอม ได้ไปพักกับนายบ้านปัจฉิมคามชื่อ โกสิยาและโกธิกา นายบ้านทั้งสองเห็นลักษณะของเจ้าแสงเมืองได้ไต่ถามความเป็นมาได้ทราบความจริง จึงได้ยกลูกสาวให้ คือ นางสุนินทายกให้เจ้าแสงเมือง และนางสุวิรายกให้เจ้าสุริราคนสนิทของเจ้าแสงเมือง

เจ้าแสงเมืองพาบริวาร 6 คน เหาะไปเมืองเชียงทองและพักที่ศาลาที่นางเกี๋ยงคำสร้างไว้ คนเฝ้าจึงไปบอกนางเกี๋ยงคำว่า คนผู้นี้น่าจะเป็นเจ้าแสงเมือง คืนนั้นเจ้าแสงเมืองได้เหาะไปหานางเกี๋ยงคำ แต่นางไม่ให้เข้าปราสาท เพราะนางคิดว่าอาจเป็นเทวดา นาค ครุฑ เพราะเหาะได้ จึงได้แต่พูดคุยกัน รุ่งเช้าได้ให้นางรัมพรังสีไปสืบข่าว ซึ่งพบแต่เจ้าสุริราคนสนิทของเจ้าแสงเมือง ส่วนเจ้าแสงเมืองไปนอนอยู่ในม่าน ก่อนกลับนางรัมพรังสีจึงเข้าไปในม่าน เจ้าแสงเมืองตัดพ้อว่านางเกี๋ยงคำไปให้เข้าไปในปราสาท คืนนั้นเจ้าแสงเมืองได้เหาะไปหานางเกี๋ยงคำ ทั้งสองได้ทำความเข้าใจกัน รุ่งเช้านางเกี๋ยงคำได้ไปทูลท้าวสิริวังโสเรื่องเจ้าแสงเมือง ท้าวสิริวังโสจึงจัดขบวนไปรับและจัดงานอภิเษกให้เจ้าแสงเมืองกับนางเกี๋ยงคำ นางรัมพรังสีกับเจ้าสุริรา นายบ้านทั้งสองนำธิดาของตนมาสมทบด้วย ต่อมาท้าวสิริวังโสได้มอบราชสมบัติให้เจ้าแสงเมืองครอบครอง

เจ้าแสงเมืองและชายาทั้งหมดในราชสำนักเมืองเชียงของ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

เมื่ออยู่เมืองขอมหนึ่งปี เจ้าแสงเมืองได้กลับไปเมืองเชียงทอง เมื่อไปได้เพียง 3 วัน พระยาจัมปาได้ยกทัพมาตีเมืองขอม  เจ้าแสงเมืองจึงได้เหาะกลับเมืองขอม เจ้าแสงเมืองรบชนะกองทัพฝ่ายจัมปานคร เมื่อเสร็จศึกแล้วเจ้าแสงเมืองได้กลับไปเมืองเชียงทอง มีการฉลองและอภิเษกให้เจ้าแสงเมืองขึ้นครองราชย์อีกด้วย เจ้าแสงเมืองได้นำบริวารไปยังถ้ำที่เคยหลงไปขนทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ในถ้ำใส่เกวียนลากมา ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 7 วัน จึงจะขนมาหมด

พระยาจัมปายกพลมารบชิงนางเกี๋ยงคำ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

ส่วนหงส์ทองของเจ้าแสงเมือง ได้ไปค้นหาเจ้าแสงเมืองตามที่ต่าง ๆ แต่ไม่เจอ จึงตรอมใจกลับไปอยู่สระเดิมของตนในป่าหิมพานต์ ถูกเหยี่ยวลวงไปให้เสือจับกิน นายพรานที่เคยนำหงส์ทองไปถวายเจ้าแสงเมืองมาพบเศษขนก็จำได้จึงนำกลับไปถวายเจ้าแสงเมือง จึงโปรดให้นำขนของหงส์มาทำพัด จากนั้นทุกฝ่ายก็ดำเนินชีวิตไปจนถึงแก่อายุขัยของตน 

3. ภาพคนขนาดใหญ่ 
ภาพบุคคลขนาดใหญ่ที่วาดแทรกไว้ในกรอบช่องไม้ ช่วงที่ดำเนินเรื่องเจ้าก่ำกาดำ ผนังด้านทิศตะวันออก วาดขนาบ 2 ข้าง ประตูทางเข้ากุฏิสงฆ์ที่เชื่อมด้านทิศตะวันออกของวิหาร มีการเขียนชื่อกำกับชื่อทุกภาพ ได้แก่ 

ซ้าย: นายสิทธิเกษม                                  ขวา: เด็กจีนได้ทับทิม
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

ซ้าย: อี่นายสีเวย          ขวา: พ่อเฒ่าแสนภิรมย์มาจำ
จาก จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.), กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

ภาพบุคคลขนาดใหญ่ของนายสิทธิเกษม นางศรีเวย เด็กชาวจีน และพ่อเฒ่าแสนภิรมย์ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาภาพวาดนิทานชาดกเรื่องเจ้าก่ำกาดำ ที่วาดบนแผงผนังด้านนี้ สันนิษฐานว่าอาจเป็นบุคคลที่มีส่วนในการอุปถัมภ์หรือเจ้าศรัทธาที่ออกค่าใช้จ่ายในการวาดภาพเหล่านี้หรือเป็นบุคคลสำคัญในท้องถิ่น
ภาพวาดของวัดเวียงต้าม่อนแห่งนี้ ภายหลังมีการรื้อวิหารที่มีความทรุดโทรมตามกาลเวลา ได้ถอดแผงไม้ที่มีรูปแต้มติดไว้ชั่วคราวในศาลา จนกระทั่งทางอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) ได้ขอผาติกรรมไปจัดเก็บรักษา แสดงไว้ภายในหอคำน้อยของอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2531 โดยทางอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงได้ทำการก่อสร้างวิหารศิลปะล้านนาจำนวน 1 หลัง ถวายให้วัดต้าม่อน ที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบันและมีการถ่ายภาพรูปแต้มวัดต้าม่อน จัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีการเผยแพร่รูปภาพและเนื้อหารูปแต้มทางเว็บไซต์หอภาพถ่ายล้านนา (Chiang Mai House of Photography) ที่จัดทำโดยรองศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกทั้งในปี พ.ศ. 2563 สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดแพร่ ได้จัดสร้างวิหารศิลปะพม่าจำลองขึ้นจากภาพถ่ายเก่า พร้อมกับติดกรอบรูปภาพที่ทำการวาดคัดลอกรูปแต้มวัดต้าม่อน โดยจิตรกรของจังหวัดแพร่ จัดแสดงไว้ภายในวิหารหลังใหม่นี้ จำนวน 20 ภาพและได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอลองและของจังหวัดแพร่ 


เรียบเรียง : ยุรัยยา อินทรวิจิตร ครู ชำนาญการพิศษ  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

ภาพจาก :
  จิตรกรรมเวียงต้า, โดย วิถี พานิชพันธ์, (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

อ้างอิง :
วิถี พานิชพันธ์. (ม.ป.ป). จิตรกรรมเวียงต้า. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.

ภูเดช แสนสา. (2564). รูปแต้มวัดต้าม่อน เมืองต้า วัดพม่าปลายแดนด้านทิศตะวันออกเมืองนครลำปาง: รูปแต้มศิลปะล้านนาในวิหารศิลปะพม่าของวัดต้าม่อน. วารสารข่วงผญา, 15(1),  55-69. 
https://so06.tci-thaijo.org/index.php/khuangpaya/issue/view/17006/4287