ผ้าทอล้านนา : ผ้าตีนจกเมืองลอง

อาณาจักรล้านนาคือ ราชอาณาจักรของชาวไทยวนในอดีต ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยตลอดจนสิบสองปันนา และครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทยในปัจจุบัน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน ชาวล้านนามีการแต่งกายที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะ “ซิ่น” ซึ่งเป็นเครื่องการแต่งกายของสตรีชาวล้านนานั้น ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลวดลาย ลักษณะผ้า การย้อมสีฝ้าย อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างทอผ้าชาวล้านนาแต่โบราณที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน

สำหรับผ้าซิ่นที่ใช้นุ่งในโอกาสพิเศษ เช่น ในพิธีกรรม ในงานทำบุญ จะต่อส่วนตีนซิ่นด้วยผ้าทอลักษณะพิเศษที่ใช้เทคนิคการ “จก” ให้เกิดลวดลายงดงามกว่าปกติ เรียกว่า "ผ้าซิ่นตีนจก" ลวดลายของผ้าซิ่นตีนจกในแต่ละท้องถิ่นมีความหลากหลายแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วลวดลายทั้งหมดล้วนได้แนวคิดมาจากธรรมชาติรอบตัว คติความเชื่อ และพุทธศาสนา ผ้าซิ่นตีนจกในภาคเหนือของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงและมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นมีหลายแห่ง เช่น ผ้าซิ่นตีนจกจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และผ้าซิ่นตีนจกจากอำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นต้น

ตีนจกเมืองลอง

อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นชุมชนโบราณและเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญเมืองหนึ่ง ในยุคนั้นมีชื่อเรียกว่า เมืองเชียงชื่น ในอดีตเป็นเมืองของชาวไทยยวนหรือชาวไทยโยนก ที่มีเทคนิคและศิลปะในการทอผ้าในรูปแบบของตนเอง รวมถึงผ้าซิ่นตีนจกที่ทอขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ ซึ่งปรากฏหลักฐานภาพถ่ายเจ้านายฝ่ายหญิงของเมืองแพร่ ในปี พ.ศ. 2445 พบว่า ผ้าซิ่นที่ใช้สวมใส่จะมีเชิงซิ่นเป็นตีนจกและยังพบหลักฐานคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ที่สตรีนุ่งซิ่นตีนจก

จิตกรรมฝาผนังวัดเวียงต้า แสดงให้เห็นภาพสตรีล้านนานุ่งซิ่นตีนจก

ผ้าซิ่นตีนจกเมืองลอง มีลักษณะโครงสร้างเช่นเดียวกับผ้าซิ่นล้านนาโดยทั่วไป คือ ประกอบด้วย 3 ส่วน
  • หัวซิ่น ส่วนบนหรือส่วนเอว เรียกว่า หัวซิ่น ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าสีพื้นไม่มีลวดลาย เช่น สีขาว สีเหลือง สีแดง สีดำ หรือใช้ผ้าสีแดงต่อด้วยผ้าสีขาว
  • ตัวซิ่น ส่วนกลางหรือส่วนลำตัวเรียกว่า ตัวซิ่น ส่วนใหญ่จะทอเป็นลายขวาง เรียกว่า ซิ่นต๋า ซิ่นต๋าหมู่ ซิ่นต๋ามุก ซิ่นต๋าตอบ สีสันและลวดลายขึ้นอยู่กับความชอบและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ทอ ในปัจจุบันตัวซิ่นมีการสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ให้น่าสนใจมากขึ้น เช่น ลายตรง ลายดอกไม้ ลายนกคู่ 
  • ตีนซิ่น ส่วนล่างสุด เรียกว่า ตีนซิ่น สำหรับผ้าซิ่นที่ใช้นุ่งในโอกาสพิเศษ จะต่อส่วนตีนซิ่นด้วยผ้าลวดลายงดงาม ซึ่งทอด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า “จก” คือใช้เทคนิคการทอโดยการยกเส้นยืน อาจใช้ขนเม่นหรือปลายนิ้วก้อยในการยกเส้นยืนก็ได้ แล้วสอดเส้นพุ่งตามลายที่กำหนด และเรียกตีนซิ่นแบบนี้ว่า “ตีนจก” หลังจากทอเสร็จเอา 3 ส่วนมาเย็บต่อกัน เรียกว่า “ผ้าซิ่นตีนจก” 

การทอผ้าจกของช่างทอเมืองลองในอดีตนั้น ทอด้วยกี่หรือหูกทอผ้าแบบพื้นเมือง และใช้ขนเม่นหรือไม่ไผ่ที่ทำปลายให้แหลมจกล้วงด้ายเส้นยืนจากด้านหลังของผ้าให้เกิดลวดลาย ซึ่งต้องอาศัยฝีมือ ความชำนาญและใช้เวลาในการทอแต่ละผืนนานมาก ปกติผ้าตีนจก 1 ผืนจะมีความยาวประมาณ 70 นิ้ว โดยประมาณ

ลวดลายของผ้าจกเมืองลอง ประกอบด้วย ลายหลัก และ ลายประกอบ
 

1. ลวดลายหลัก
เป็นลายที่อยู่ตรงกลางของตีนจก มีความโดดเด่นสวยงาม มีทั้งลักษณะที่เป็นลายดอก และลายต่อเนื่อง

1.1 ลวดลายหลักลักษณะลายดอก ลายหลักที่เป็นลวดลายที่มีมาแต่โบราณมีอยู่ 12 ลาย ได้แก่ ลายนกคู่กินน้ำร่วมต้น ลายสะเปาลอยน้ำ (สำเภาลอยน้ำ) ลายนกแยงเงา (นกส่องกระจก) ลายขามดแดง ลายขากำปุ้ง (แมงมุม) ลายขอไล่ ลายหม่าขนัด (สับปะรด) ลายจันแปดกลีบ ลายดอกจัน ลายขอดาว ลายขอผักกูด และลายดอกขอ 

1.2 ลายหลักลักษณะลายต่อเนื่อง มีลายที่เป็นลายโบราณอยู่ 7 ลาย คือ ลายใบผักแว่น ลายแมงโบ้งเลน ลายโคมและช่อน้อยตุงชัย ลายขอน้ำคุ จันแปดกลีบ ลายเครือกาบหมาก ลายโก้งเก้งซ้อนนก และลายพุ่มดอกนกกินน้ำร่วมต้น


2. ลวดลายประกอบ 
เป็นลายขนาดเล็ก ๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เพิ่มความโดดเด่นให้ลายหลัก ที่ทำให้ผ้าตีนจกมีความสมบูรณ์ มักเป็นลวดลายที่ออกแบบมาจากสิ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ได้แก่ ลวดลายจากพืช เช่น ลายกาบหมาก บัวคว่ำบัวหงาย ลายดอกพิกุลจัน ลวดลายจากสัตว์ เช่น ลายผีเสื้อ ลายนกคุ้ม ลวดลายจากรูปทรง เช่น ลายจันแปดกลีบ ทรงกลม



ตัวอย่างผ้าทอตีนจกเมืองลอง

วัตถุประสงค์ในการทอผ้าตีนจก ในอดีตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประการดังนี้
  1. ทอเพื่อใช้เองในครอบครัว ผ้าตีนจกเป็นผ้าทอที่ใช้ประกอบกับตัวซิ่น ในอดีตผู้หญิงมักทอผ้าจกเมื่อใช้ในพิธีแต่งงานของตนหรือทอจกตามขนาดต่าง ๆ ตามการใช้งาน เช่นทอไว้เป็นผ้าสไบสำหรับใช้ในโอกาสสำคัญ ทอจกเป็นผ้าเช็ดหน้า ทอจกเป็นย่ามใส่หมาก ทอจกเป็นผ้าขาวม้า เป็นต้น
  2. ทอเพื่อใช้ในงานพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาการทำบุญทางศาสนา เพื่อถวายเป็นจตุปัจจัยไทยรรม เช่น ไตรจีวร รัดประคต อาสะนะปูนั่ง ผ้าปูลาด บางผืนจะทอกันเป็นเวลาแรมปีด้วยใจรักและศรัทธา เช่น การทอผ้าจกเป็นผ้าคลุมศีรษะนาค ทอจกเป็นย่ามพระ ผ้าห่อคัมภีร์ หรือทอจกเป็นผ้าเพื่อประดิษฐ์เป็นพวงมาลัยสำหรับใช้ประดับศาลา ประดับธรรมาสน์ในงานประเพณีเทศน์มหาชาติ



เรียบเรียง:
สิริลักษณ์ เป็งคำ  ครูผู้ช่วย สถาบัน กศน.ภาคเหนือ 

ภาพประกอบ:
สิริลักษณ์ เป็งคำ
วิภาพรรณ นันต๊ะนา

อ้างอิง:
คลังข้อมูลชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). ผ้าโบราณเมืองลอง. https://communityarchive.sac.or.th/community/BanHuayO/data-set/view/619

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ร่วมกับนักศึกษาปฏิบัติงานสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. (ม.ป.ป.). ผ้าซิ่นตีนจก (อำเภอลอง). [Ebook]. https://anyflip.com/nlfbr/chlk/basic

ศูนย์สารสนเทศหม่อนไหมและประชาสัมพันธ์ กรมหม่อนไหม. (ม.ป.ป.) ผ้าจกเมืองลอง. https://qsds.go.th/silkcotton/k_11.php

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). ศิลปหัตถกรรมประเภทผ้าจกเมืองลอง. https://www.sacit.or.th/uploads/items/attachments/922f33cdefb2792b0f0f72965146208f/_2951791788cbe5bc477baa2afd1f06ae.pdf