โลกโมฬี…วัดสวยเก่าแก่คู่เมืองล้านนา

วัดโลกโมฬี หรือ วัดโลก เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีหลักฐานอย่างแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีชื่อในตำนานของวัดพระธาตุดอยสุเทพ

วัดโลกโมฬี ปรากฏซื่อครั้งแรกในรัชสมัยพระเจ้ากือนา (พ.ศ. 1898-1928) ในปี พ.ศ. 1910 พระองค์ทรงโปรดอาราธนาให้คณะของพระอุทุมพรบุปผามหาสวามีเจ้า พระมหาเถระ เมืองเมาะตะมะ
มาสืบศาสนาในล้านนา แต่พระมหาเถระทรงชราภาพมาก จึงให้พระอนันทะเถระและพระเถระที่เป็นศิษย์อีก 10 รูป มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาแทน พระเจ้ากือนาจึงโปรดฯ ให้คณะสงฆ์ดังกล่าวจำพรรษา
ณ วัดโลกโมฬี
 

ปี พ.ศ. 2070 ในสมัยพระเมืองเกษเกล้า (พญาเกสเชษฐราช) กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา (ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2068-2081 และครั้งที่สอง พ.ศ. 2086-2088) พระองค์ได้ถวายบ้านหัวเวียงให้เป็นอารามวัดโลกโมฬี และใน พ.ศ. 2071 ได้ทรงให้สร้างมหาเจดีย์และวิหารที่วัดโลกโมฬีด้วย

ต่อมาเมื่อพระเมืองเกษเกล้า ถูกลอบปลงพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2088 เหล่าข้าราชการ ขุนนาง ได้ทำพิธีและนำพระบรมอัฐิมาบรรจุไว้ที่วัดโลกโมฬี นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือของพระอาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงประจำพระองค์ จากนั้นเสนาอำมาตย์จึงได้ทูลเชิญพระนางจิรประภามหาเทวี (มหาเทวีจิรประภา) พระอัครมเหสี ขึ้นครองราชสมบัติ (พ.ศ. 2088-2089 ขณะนั้นล้านนากำลังอ่อนแอ สมเด็จพระไชยราชาธิราชกษัตริย์อยุธยา จึงยกทัพมาตีล้านนา แต่ด้วยพระนางจิรประภาได้ถวายเครื่องบรรณาการไปถวายขอเป็นมิตร พร้อมทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จมาร่วมทำบุญสร้างกู่ถวายพระเมืองเกษเกล้าที่วัดโลกโมฬี ต่อมาในปี พ.ศ. 2121 พระนางวิสุทธิราชเทวีทิวงคต เหล่าข้าราชการ ขุนนางได้ทำการถวายพระเพลิง ณ ทุ่งวัดโลก และบรรจุพระอัฐิไว้ในเจดีย์วัดโลกโมฬีด้วยเช่นกัน

จากนั้นเชียงใหม่ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าสาวัตถีนรถามังคะยอ (นรธาเมงสอ)
พระราชโอรสในพระเจ้าบุเรงนองกับพระนางราชเทวีแห่งหงสาวดี จึงถูกส่งมาปกครองอาณาจักรล้านนา (พ.ศ. 2121-2150) วัดวาอารามต่าง ๆ ถูกพม่าเผาทำลายไปมาก แต่วัดโลกโมฬีไม่ได้ถูกเผา เนื่องจากพระองค์ทรงมีเมตตาธรรม และให้วัดโลกโมฬีกับวัดวิสุทธารามเป็นวัดสำคัญในพระราชสำนักมาโดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2127 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงประกาศอิสรภาพจากพม่า จึงทรงพยายามรวบรวมแผ่นดินอีกครั้ง พระองค์ทรงตีอาณาจักรล้านนาได้ทั้งหมด พระเจ้าสาวัตถีนรถามังคะยอต่อสู้มิได้ จึงทรงยอมสวามิภักดิ์เป็นประเทศราช ในปี พ.ศ. 2139 แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงให้พระองค์ทรงปกครองอาณาจักรล้านนาต่อไป และพระเจ้าสาวัตถีนรถามังคะยอได้ถวายพระธิดาให้เป็นพระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วัดโลกโมฬีถูกทิ้งให้ร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2502 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดโลกโมฬีเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และในปี พ.ศ. 2544 คณะสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการบูรณะให้วัดร้างกลายเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา และในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 กรมการศาสนาได้อนุมัติให้ยกฐานะวัดโลกโมฬีจากวัดร้างให้เป็นพระอารามที่ถูกต้องตามกฎหมาย และได้แต่งตั้งให้พระญาณสมโพธิเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส และในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการเททองรูปเหมือนพระนางจิรประภามหาเทวี และนำมาประดิษฐานภายในวัด 

วัดโลกโมฬี ตั้งอยู่บนถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่สร้างขึ้นด้วยความประณีตและงดงามมาก มีประติมากรรมและสถาปัตยกรรมศิลปะล้านนาที่เก่าแก่และทรงคุณค่ามากมาย ได้แก่

เจดีย์วัดโลกโมฬี
เจดีย์ของวัดโลกโมฬี เป็นเจดีย์ที่สร้างปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ตำนานระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระเมืองเกษเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2071 เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีรูปเทวดาประดับอยู่ตามมุมเจดีย์ จากนั้นได้มีการพัฒนารูปแบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยได้เพิ่มความสูงของเจดีย์ คือ ส่วนฐาน ได้แก่ ชุดฐานปัทม์ ลูกแก้ว อกไก่ เพิ่มเป็น 2 ชุด ฐานปัทม์ชั้นล่างไม่มียกเก็จ ฐานปัทม์ชั้นที่สองมีจำนวนยกเก็จที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นมุมที่มีขนาดเล็กลง ส่วนกลางยังคงเป็นเรือนธาตุในผ้าสี่เหลี่ยมยกเก็จที่มีขนาดของมุมเล็กลง และจำนวนของมุมมากขึ้นเช่นเดียวกับฐานปัทม์ด้านล่าง ทั้งสี่ด้านของเรือนธาตุมี
ซุ้มจระนำ มีรูปแบบของซุ้มลดได้ กรอบซุ้มจระนำมีการผสมผสานกันทั้งกรอบแบบคดโค้งและกรอบแบบวงโค้ง ตลอดจนแนวของลูกแก้ว อกไก่ที่ประดับเสารับซุ้มจระนำก็มีขนาดเด่นขึ้น กลายเป็นรูปงอนคล้ายบัวคว่ำ ที่เรียกกันว่า ปากแล ส่วนยอดเหนือเรือนธาตุ มีการพัฒนาความสูง โดยเพิ่มจำนวนของชั้นลดรูปฐานปัทม์ลูกแก้ว อกไก่ ยกเก็จซ้อนกันสามฐาน รับทรงระฆังและบัลลังก์สิบสองเหลี่ยม ปล้องไฉนและปลี ซึ่งองค์ระฆังและบัลลังก์นั้น เป็นลักษณะร่วมของเจดีย์ทรงระฆัง


วิหารหลวงวัดโลกโมฬี 
เป็นวิหารที่สร้างขึ้นภายหลังจากการบูรณะ และยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นวิหารไม้สักศิลปะแบบล้านนาที่มีการแกะสลักอย่างประณีตงดงาม ส่วนวิหารหลังเดิมนั้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า สร้างขึ้นพร้อมกับเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. 2071 บนเพดานและต้นเสาภายในวิหารยังมีภาพแกะสลักอย่างประณีตบรรจง ที่แปลกตาและเด่นมากก็คือ ตรงหน้าบันรูปจั่วได้ประดับกระจกสี ซึ่งทำให้เกิดสีสันหลากสีบนหลังคาวิหารที่มีพื้นโทนสีดำ ซึ่งพื้นดำนี้มีส่วนช่วยขับกระจกสีแดง ขาว น้ำเงิน เขียว เหลือง จนดูระยิบระยับ



พระประธานที่ประดิษฐานภายในวิหารหลวงเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีนามว่า “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ” และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนพระเมาลี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546


มณฑปพระนางจิรประภา มหาเทวีแห่งล้านนา
ภายในประดิษฐานพระรูปเหมือนของพระนางจิระประภา มหาเทวี ซึ่งพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์วัดโลกโมฬีครั้งเสวยราชย์ครองเมืองเชียงใหม่ไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สักการะรำลึกถึงคุณความดีของพระองค์ เป็นซุ้มประตูที่งดงาม เมื่อมองผ่านจะเห็นพระวิหารได้พอดี

กุฏิสงฆ์และกุฏิสมเด็จ 
เป็นประติมากรรมแบบล้านนาผสมไม่เหมือนกับที่ใด การตกแต่งหน้าบันและกรอบประตูหน้าต่างที่แปลกตา โดยมีรูปปั้นของพระเกษเกล้า ผู้ซึ่งถวายบ้านหัวเวียงให้เป็นอารามวัดโลกโมฬี


วัดโลกโมฬี เป็นวัดที่เก่าแก่ มีเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สวยงาม วิหารไม้ที่แกะสลักด้วยลวดลายแบบโบราณ นอกจากนี้ประตูวัดยังอยู่ตรงกับวิหารไม้ ซึ่งมองจากภายนอกจะดูยิ่งใหญ่ อลังการ สวยงามแปลกตา จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนเข้ามาสักการะ และกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล


เรียบเรียง
ณิชากร เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

ภาพประกอบ
ศราวุธ เบียจรัส นักวิชาการโสตทัศนูปกรณ์ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง
วัดโลกโมฬี. (2562, 7 สิงหาคม). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2565 จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/วัดโลกโมฬี
 
วัดโลกโมฬี! ความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลของวัดวาอารามล้านนา. (2562, 30 มีนาคม). https://palungjit.org/threads/วัดโลกโมฬี-ความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลของวัดวาอารามล้านนา.675108/

วัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย. (2564, 21 กุมภาพันธ์). https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=204