วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตำนานเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของล้านนา

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมชื่อ วัดโชติการามวิหาร หมายถึง พระอารามที่มีความรุ่งเรืองสว่างไสว ความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่าโชติการาม คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วง สว่างไสว มีความงดงาม สามารถมองเห็นได้แต่ไกล


วัดเจดีย์หลวงสร้างอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย  ไม่ปรากฎปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ.1928-1945 เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการบูรณะมาหลายสมัย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น “วัดเจดีย์หลวง” เนื่องจากในภาษาเหนือหรือคำเมือง “หลวง” แปลว่า “ใหญ่” หมายถึง พระเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่  ทั้งนี้ได้แต่งตั้งให้มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเจดีย์หลวง โดยเจ้าอาวาสองค์แรก คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) จนถึงปัจจุบันองค์ที่ 9 (กรกฎาคม 2565) คือ พระกิตติวิมล (อัมพร กตปุญฺโญ)

โบราณสถานและสิ่งก่อสร้างที่สำคัญในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร


พระเจดีย์หลวง   
พระเจดีย์หลวง เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ สร้างมาพร้อมกับวัดเจดีย์หลวง โดยเริ่มสร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 1928-1945)  ทรงปกครองอาณาจักรล้านนา ขณะที่พระองค์มีพระชนมมายุ 39 ปี ทรงโปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่า เป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พญากือนา พระราชบิดาซึ่งสวรรคตไปแล้ว โดยมีตำนานเล่าว่า พญากือนาได้ปรากฏตัวให้พ่อค้าชาวเชียงใหม่ที่เดินทางไปค้าขายที่พม่า เพื่อมาบอกพญาแสนเมืองมาผู้เป็นโอรสว่า ให้สร้างเจดีย์ที่สูงใหญ่ไว้กลางเมือง ให้คนที่อยู่ไกล 2,000 วา สามารถมองเห็นได้  แล้วอุทิศบุญกุศลแก่พระบิดาให้สามารถไปเกิดในเทวโลกได้ ระหว่างที่กำลังก่อสร้าง พระองค์ก็เสด็จสวรรคต พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีผู้เป็นมเหสีและเป็นพระราชมารดาของพญาสามฝั่งแกน ทรงสำเร็จราชการแทน ด้วยเหตุที่พญาสามฝั่งแกนยังทรงพระเยาว์อยู่ พระองค์ได้สืบทอดเจตนารมณ์สร้างต่อจนเสร็จในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน พระมหากษัตริย์องค์ที่ 8 (พ.ศ. 1945-1984) โดยใช้เวลาสร้าง 5 ปี และเรียกกันว่า กู่หลวง


พระธาตุเจดีย์หลวง (กู่หลวง) ที่พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีทรงให้ก่อสร้างต่อนั้น ทรงให้ยกฉัตรยอดมหาเจดีย์ แล้วปิดด้วยทองคำ พร้อมทั้งบรรจุแก้ว 3 ลูก ใส่ไว้ในยอดมหาเจดีย์ ประดับด้วยโขงประตูทั้ง 4 ด้าน มี พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งในโขงทั้ง 4 ด้าน มีรูปปั้นพญานาค 5 หัว จำนวน 8 ตัว อยู่ 2 ข้างบันได รูปปั้นราชสีห์ 4 ตัว ตั้งอยู่ทั้งสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวง จำนวน 28 เชือก แต่ในประวัติศาสตร์มีเพียง 8 เชือกเท่านั้นที่มีการตั้งชื่อให้ การสร้างรูปปั้นช้างนั้น เป็นการส่งเสริมกำลังเมืองในทางด้านไสยศาสตร์ เพื่อให้เมืองมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีพิธีการสักการบูชาพญาช้างทั้ง 8 เชือก เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดสวัสดิมงคล นำความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง ศัตรูไม่กล้ามารุกรานย่ำยี เพราะชื่อพญาช้างที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นพลังอำนาจก่อเกิดเดชานุภาพ อิทธิฤทธิ์ ข่มขู่ บดบัง ขวางกั้น กำจัด ปราบปรามอริราชศัตรูที่จะมารุกราน ให้แพ้ภัยแตกพ่ายหนีไปเอง ชื่อช้าง 8 เชือกที่ล้อมเจดีย์หลวง นับจากเชือกที่อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) เวียนมาตามทิศตะวันออก มีชื่อและความหมาย ดังนี้
  1.  เมฆบังวัน เมื่อศัตรูยกพลเสนามารุกราน ล่วงล้ำเข้ามาในเขตพระราชอาณาจักร จะเกิดอาเพศ ท้องฟ้ามืดมิดด้วยเมฆหมอกปกคลุม ธรรมชาติวิปริตแปรปรวน น่ากลัวยิ่งนัก ทำให้ผู้รุกรานหวาดผวาภัยพิบัติ ตกใจกลัว แตกพ่ายหนีไป 
  2. ข่มพลแสน เมื่อผู้รุกรานยกทัพเข้ามาใกล้ แม้จะมีพลโยธาทหารกล้าเรือนแสน ก็จะเกิดอาการมึนเมาลืมหลง ไม่อาจครองสติยับยั้งอยู่ได้ ต้องระส่ำระส่าย แตกพ่ายหนีไป 
  3. ดาบแสนด้าม เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีศาตรา มีด พร้า ด้ามคมเป็นแสน ๆ เล่ม ก็ไม่อาจเข้าใกล้ทำร้ายได้ มีแต่จะเกิดหวาดหวั่นขาดกลัวแตกหนีไป 
  4. หอกแสนลำ เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลกล้าหาญมากมาย มีศาสตราอันคมยาว หอกแหลนหลาวเป็นแสน ก็ไม่อาจเข้ามาราวีได้ จึงต้องแตกพ่ายหนีไป 
  5. ปืนแสนแหล้ง เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลจำนวนมาก มีอาวุธปืนเป็นแสนกระบอก ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ ต้องแตกพ่ายหนีไป
  6. หน้าไม้แสนเกี๋ยง เมื่อผู้รุกรานบุกรุกเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีหน้าไม้คันธนูเป็นแสน ๆ ไม่สามารถทำอันตรายได้ ต้องแตกพ่ายหนีไป 
  7. แสนเขื่อนกั้น (แสนเขื่อนก๊าน) เมื่อข้าศึกอาจหาญล้ำแดนเข้ามา แม้ด้วยกำลังพล กองทัพช้างมีเป็นแสนเชือก ก็ไม่อาจหักหาญเข้ามาได้ มีแต่จะอลม่านแตกตื่นหนีไปสิ้น 
  8. ไฟแสนเต๋า เมื่อข้าศึกเข้ามาหมายย่ำยี ก็จะเกิดอาการร้อนเร่าเหมือนเพลิงหัตถี 
  9. เผาผลาญรอบด้าน เลยแตกพ่ายหนีไปด้วยความทุกข์ทรมาน
รูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวง 

เจดีย์หลวง มีความสำคัญของเชียงใหม่ ในฐานะเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลของชาวลัวะ ปรากฏในคัมภีร์มหาทักษาเมือง กล่าวถึงการสร้างวัดสำคัญในเมืองเชียงใหม่ โดยกำหนดให้สอดคล้องกับชัยภูมิและความเชื่อเรื่องทิศทั้ง 4 และทิศเฉียงอีก 4 รวมเป็น 8 ตำแหน่งที่ทิศทั้ง 8 มาบรรจบกันเกิดจุดศูนย์กลางเป็น 9 ถือเป็นเลขมงคล ตำแหน่งทั้ง 9 ที่สร้างตามทักษาเมือง คือ

เกตุเมือง จุดศูนย์กลางเมืองหรือสะดือเมือง วัดเจดีย์หลวง
บริวารเมือง ทิศตะวันตก (ทิศปัจฉิม) วัดสวนดอก
อายุเมือง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) วัดเจ็ดยอด
เดชเมือง ทิศเหนือ (ทิศอุดร) วัดเชียงยืน
ศรีเมือง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) วัดชัยศรีภูมิ
มูลเมือง ทิศวะวันออก (ทิศบูรพา) วัดบุพพาราม
อุตสาหเมือง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ทิศอาคเนย์) วัดชัยมงคล
มนตรีเมือง ทิศใต้ (ทิศทักษิณ) วัดนันทาราม
กาลกิณีเมือง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ทิศหรดี) วัดตโปทาราม

วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงแบบโบราณ มีการบูรณะมาหลายสมัย ในรัชสมัยพญาติโลกราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 (พ.ศ. 1984-2030) พระองค์โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างใหญ่ทำการปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์หลวง โดยมีพระมหาสวามีสัทธัมกิติ เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดเจดีย์หลวง เป็นผู้ควบคุมดูแลและประสานงาน มีการขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม มีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร และใช้เวลา 3 ปี จึงแล้วเสร็จ และทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้เป็นเวลานานถึง 80 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2011-2091 (ในปัจจุบันเป็นเพียงองค์จำลองของพระแก้วมรกต) ในรัชสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย พระมหากษัตริย์องค์ที่ 10 (พ.ศ. 2030-2038) ได้ปิดทองภายในซุ้มจรนำของพระเจดีย์หลวงทั้ง 4 ด้าน

ในรัชสมัยพญาแก้ว (พระเจ้าเมืองแก้ว) พระมหากษัตริย์องค์ที่ 11 (พ.ศ. 2038-2068)พระองค์และชาวเมืองได้รวบรวมเงินได้ 254 กิโลกรัม มาทำกำแพงล้อมพระธาตุเจดีย์หลวง 3 ชั้น จากนั้นได้เอาเงินมาแลกเป็นทองคำได้จำนวน 30 กิโลกรัม แล้วแผ่เป็นแผ่นทึบหุ้มองค์พระเจดีย์หลวง เมื่อรวมกับทองคำที่หุ้มองค์พระเจดีย์หลวงอยู่เดิม ได้น้ำหนักทองคำถึง 2,382.517 กิโลกรัม 

ในปี พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิรประภามหาเทวี พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 15 เกิดพายุฝนตกหนัก แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ ทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมาเหลือเพียงครึ่งองค์ หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงได้ถูกทิ้งให้ร้างมานาน 400 กว่าปี 

เจดีย์หลวงก่อนการบูรณะ
Scott Holcomb. (2517). https://www.flickr.com/photos/scottholcomb/albums/72157626179117294

กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์หลวงขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ใช้งบประมาณในการบูรณะ จำนวน 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ปัจจุบันองค์เจดีย์มีความสูงคงเหลือ 40.8 เมตร ฐานกว้างด้านละ 60 เมตร

หออินทขีลและเสาอินทขีล
หออินทขีล เป็นที่ประดิษฐานของเสาอินทขีลหรือเสาหลักเมืองเชียงใหม่ เป็นเสาก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่รูปหกเหลี่ยม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1839 เมื่อพ่อขุนเม็งรายมหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 1 (พ.ศ. 1839-1854) ได้สร้างเมืองเชียงใหม่ โดยเดิมเสาอินทขีลประดิษฐานอยู่ ณ วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขิล ซึ่งตั้งอยู่ ณ กลางเวียงเชียงใหม่ (ปัจจุบันก็คือบริเวณหอประชุมติโลกราช ข้างศาลากลางจังหวัดเก่า) ในตลอดรัชสมัยของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย วัดสะดือเมืองได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ ก่อนที่จะเป็นวัดร้างภายหลังล้านนาถูกพม่าเข้าปกครอง
 
จนกระทั่งสมัยพระเจ้ากาวิละ กษัตริย์องค์ที่ 1 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ราวปี พ.ศ. 2343 ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง เสาอินทขิลเดิมนั้นหล่อด้วยโลหะ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เป็นเสาปูน วัดรอบได้ 67 เมตร แท่นพระสูง 0.97 เมตร วัดโดยรอบได้ 3.40 เมตร อยู่ในวิหารจตุรมุขแบบล้านนาที่มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด โดยสร้างวิหารครอบเสาอินทขีลไว้ มีพระพุทธรูปปางรำพึงและบุษบกอยู่บนยอดเสา ความสูงจากฐานประมาณ 1 เมตร หออินทขีล ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวิหารหลวงของวัดเจดีย์หลวง

ทุก ๆ ปีจะต้องมีพิธีสักระบูชาเสาอิทขิล เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวเชียงใหม่ ในช่วงปลายเดือน 8 ต่อเดือน 9 (เดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน) โดยเริ่มในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่า “วันเข้าอินทขิล” ไปจนถึงในวันที่ 4 ค่ำ เดือน 9 เป็น “วันออกอินทขิล” จึงเรียกว่า เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก

หออินทขีล  และบุษบกและพระพุทธรูปปางรำพึงที่ประดิษฐานเหนือเสาอินทขีลภายในหออินทขีล


กุมภัณฑ์ รักษาเสาอินทขิล
พระเจ้ากาวิละให้ก่อรูปกุมภัณฑ์ (ยักษ์) 2 ตน ไว้หน้าวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) เพื่อคอยพิทักษ์เสาอินทนขีล โดยสร้างขึ้นเมื่อวันเสาร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ. 2343 กุมภัณฑ์ในศาลด้านทิศใต้ มีนามว่า พญายักขราช ส่วนกุมภัณฑ์ในศาลด้านทิศเหนือมีนามว่า พญาอมรเทพ

พญายักขราช (ภาพซ้ายมือ) และพญาอมรเทพ (ภาพขวามือ)

ต้นยางนา “ไม้หมายเมือง” อายุกว่า 200 ปี
วัดเจดีย์หลวงมีต้นไม้สำคัญที่เรียกว่า "ไม้หมายเมือง" อยู่สองต้น อายุกว่า 200 ปี คือต้นยางนา ซึ่งปลูกสมัยพระเจ้ากาวิละ สันนิษฐานว่า ปลูกขึ้นมาเพื่อให้เป็นต้นไม้เคียงคู่กับเมืองเชียงใหม่ หรือที่เรียกว่า “ไม้หมายเมือง” ในปีที่ย้ายราชธานีมาจากเวียงป่าซาง (ลำพูน) มาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่เป็นการถาวร เมื่อพ.ศ. 2339  โดยปลูกคู่กับเสาอินทขีลเพื่อเป็นมงคลแก่เมือง แต่เดิมต้นยางนาในบริเวณวัดเจดีย์หลวงเคยมีมากกว่านี้ ปัจจุบันเหลืออยู่ 2 ต้น ที่ยังคงยืนต้นอยู่คู่กับเสาอินทขีล ต้นหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด ด้านหลังวิหารเสาอินทขีล ส่วนอีกต้นอยู่ที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ข้างวิหารบูรพาจารย์


พระวิหารหลวงและพระอัฏฐารส 
ในปี พ.ศ. 2423 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง และช่วงปี พ.ศ. 2471-2481 สมัยพลตรีเจ้า
แก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย พระองค์และเจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) ได้ให้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคลุมโบราณสถานต่าง ๆ ออก แล้วสร้างเสริมเสนาสนะขึ้นใหม่ และสร้างพระวิหารหลวงทรงล้านนาให้อยู่ตรงกลาง ภายในประดิษฐานพระประธานพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประธานอภัย ศิลปะแบบเชียงใหม่ตอนต้น ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะปาละ (อินเดีย) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สูง 18 ศอก (8.23 เมตร) ส่วนด้านหน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร 

วิหารหลวงวัดเจดีย์หลวง
จาก รีวิวเชียงใหม่. (2564). https://www.reviewchiangmai.com/wat-chedi-luang/

ภาพพระอัฎฐารส.  จาก foece8949. (2561). http://force8949.blogspot.com/2018/03/blog-post_28.html

เจดีย์บูรพาจารย์ วิหารหลวงปู่มั่น และวิหารจตุรมุขบูรพาจารย์

เจดีย์บูรพาจารย์ เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุอดีตเจ้าอาวาสและบูรพาจารย์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวัดเจดีย์หลวง

วิหารหลวงปู่มั่น เป็นวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานบุษกบบรรจุอัฐิธาตุ ฟันกราม และรูปเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริตตโต สร้างด้วยไม้สักลงรักปิดทอง รูปทรงแบบศิลปะสกุลช่างล้านนา

วิหารจตุรมุขบูรพาจารย์ เป็นปูชนียสถานประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และอัฐิธาตุของบูรพาจารย์

วิหารหลวงปู่มั่น (ภาพซ้ายมือ) และวิหารจตุรมุขบูรพาจารย์ (ภาพขวามือ)

พระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์ 
เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่กับพระเจดีย์ สร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูดปิดทอง ประดิษฐานในอาคารข้างวิหารจุตรมุขบูรพาจารย์

พระพุทธไศยาสน์
บ่อเปิง 
บอเปิง เป็นบ่อน้ำใหญ่และลึก ก่ออิฐกันดินพังไว้อย่างดี ขุดมาเพื่อนำน้ำมาใช้ในการสร้าง
พระเจดีย์หลวง สมัยพระเจ้าติโลกราช 

หอธรรมและพิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หลวง
พระเจ้าติโลกราชทรงให้สร้างหอธรรม (หอพระไตรปิฎก) ขึ้นพร้อมมกับพระวิหารหลวงใหม่) ไว้ทางด้านเหนือองค์พระเจดีย์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการสร้างหอธรรมหลังใหม่และพิพิธภัณฑ์เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนาในบริเวณที่เป็นหอธรรมดั้งเดิมของคณะสังฆาวาสหอธรรมในอดีต โดยชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนสร้างด้วยไม้สัก ชั้นล่างจัดแสดงด้วยภาพถ่ายและชิ้นส่วนวัตถุโบราณบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวัดเจดีย์หลวงตั้งแต่อดีต





เขียน/เรียบเรียง :
ณิชากรณ์ เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

ถ่ายภาพ:
ศราวุธ เบี้ยจรัส นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร. https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

เพ็ญสุภา สุขคตะ. (ม.ป.ป.). ปริศนา “ต้นยางนา” จาก “ไม้หมายเมือง” สู่ “ถนนเชียงใหม่-ลำพูน” (ตอนที่ 2). https://www.yangna.org//ปริศนายางนา-2/

มิวเซียมไทยแลนด์. (ม.ป.ป.). ยางนาแห่งเชียงใหม่ ต้นไม้อันหมายถึงเมือง. https://www.museumthailand.com/en/3313/storytelling /ยางนาแห่งเชียงใหม่/

รีวิวเชียงใหม่. (2564, 13 กันยายน). วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร กับตำนานเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของล้านนา ที่อายุกว่า 600 ปี. https://www.reviewchiangmai.com/wat-chedi-luang/

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร. (2565, 6 มีนาคม). ใน วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2565 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร. (2564, 3 กันยายน). https://www.paiduaykan.com/travel/วัดเจดีย์หลวง