เวียงกุมกาม อดีตนครหลวงแห่งอาณาจักรล้านนา

เวียงกุมกาม เป็นอดีตเมืองหลวงแห่งแรกของอาณาจักรล้านนา ภายหลังจากพญามังรายทรงรวบรวมอาณาจักรหริภุญชัยเข้ากับโยนกเชียงแสนเสร็จสิ้นแล้ว ได้ขนามนามราชอาณาจักรแห่งใหม่นี้ว่า “อาณาจักรล้านนา” มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดของภาคเหนือตอนบนของไทยในปัจจุบัน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน โดยมีพญามังรายทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 1 (พ.ศ. 1805-1854) ของราชวงศ์มังราย และในปีพุทธศักราช 1829 พระองค์โปรดให้สร้างเวียงกุมกามขึ้นเพื่อเป็นเมืองหลวง แต่เวียงกุมกามก็ประสบน้ำท่วมอยู่ทุกปี จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ เป็นผลให้เวียงกุมกามล่มสลาย ถูกฝังจมลงอยู่ใต้บาดาลและตะกอนดิน ไม่สามารถที่จะฟื้นฟูกลับมาได้ พญามังรายจึงทรงปรึกษาพระสหาย คือพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา จากนั้นพระองค์จึงทรงตัดสินใจหาที่สร้างเมืองใหม่ ในที่สุดจึงได้พื้นที่นครพิงค์เชียงใหม่ และเป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนาในเวลาต่อมา

โบราณสถานในเวียงกุมกาม   ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส

ในอดีตสภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์ของเวียงกุมกาม ตั้งอยู่บริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน มีแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายสำคัญ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 850 เมตร ไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และกว้างประมาณ 600 เมตร ตัวเมืองยาวไปตามลำน้ำปิงสายเดิมที่เคยไหลไปทางด้านทิศตะวันออกของเมือง และโปรดให้ขุดคูเวียงทั้ง 4 ด้าน เพื่อให้น้ำจากแม่ปิงไหลมาขังไว้ เมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ วัดวาอารามและโบราณสถานต่าง ๆ ที่สำคัญจมอยู่ใต้ดินทรายในระดับความลึกจากพื้นดินลงไป ประมาณ 1.50-2.00 เมตร จนกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด เชื่อกันว่าเนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ทางฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำ ดั่งเช่นปัจจุบัน

ภาพวาดแผนที่เวียงกุมกามในอดีต
ที่มา: เวียงกุมกาม-เวียงพิงค์ สองนคราแห่งพญามังราย. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2558

การขุดค้นพบเมืองกุมกาม ในปี พ.ศ. 2527 เรื่องราวของเวียงกุมกามเริ่มเป็นที่สนใจของนักวิชาการและประชาชนทั่วไป หน่วยศิลปากรที่ 4 จึงศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวียงกุมกาม และนำมาประกอบกับโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี นักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นเวียงกุมกาม นักโบราณคดีได้ทำการขุดแต่งโบราณสถานต่าง ๆ บริเวณโดยรอบเวียงกุมกามอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับปรับปรุงภูมิทัศน์ จนถึง พ.ศ. 2545 เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชม เป็นการรื้อฟื้นนครแห่งล้านนาเวียงกุมกามให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จากการสำรวจพบว่า มีซากโบราณสถานและเป็นวัดที่มีพระสงฆ์มากกว่า 40 แห่ง ซึ่งรูปแบบทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม มีทั้งแบบรุ่นเก่าและสมัยเชียงใหม่รุ่งเรืองปะปนกันไป โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่

วัดเจดีย์เหลี่ยม 
เดิมวัดนี้ชื่อว่า วัดกู่คำ คำว่า “กู่” หมายถึง พระเจดีย์  ส่วนคำว่า “คำ” หมายถึง ทองคำ พญามังรายโปรดให้ก่อสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1831 พระองค์ทรงโปรดให้เอาดินที่ขุดจากหนองมาปั้นเป็นอิฐ นำมาก่อเป็นเจดีย์ไว้ในเวียงกุมกาม เพื่อเป็นที่สักการะของประชาชน โบราณสถานที่สำคัญของวัด คือ องค์พระเจดีย์ทรงมณฑปลด 5 ชั้น ลักษณะเดียวกับกู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน จัดเป็นรูปแบบเจดีย์ในระยะแรกของล้านนา โดยได้รับอิทธิพลจากหริภุญไชย

วัดเจดีย์เหลี่ยม  ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดช้างค้ำ หรือ วัดกานโถม
วัดช้างค้ำกานโถม เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตของวัดช้างค้ำในปัจจุบัน ในส่วนของโบราณสถานนั้น เดิมมีชื่อว่า วัดกานโถม แต่เนื่องจากอยู่ในเขตของวัดช้างค้ำในปัจจุบัน จึงเรียกชื่อรวมกันว่า วัดช้างค้ำกานโถม (ปัจจุบันวัดช้างค้ำมีชื่อเป็นทางการว่า วัดกานโถมกุมกามภิรมณ์)

พญามังรายโปรดให้สร้างวัดกานโถม เมื่อปี พ.ศ. 1833 ในครั้งนั้นพญามังรายให้หล่อพระพุทธปฏิมากร 5 องค์ เป็นพระนั่ง 3 องค์ พระยืน 2 องค์ มีขนาดเท่าพระองค์ แล้วจึงโปรดให้นายช่างกานโถมหรือกาดโถม สร้างวิหารคลุมพระพุทธรูป
 
ในปี พ.ศ. 1834 พญามังรายโปรดให้สร้างเจดีย์กว้าง 6 วา สูง 4 วา มีซุ้มจระนำ 2 ชั้น ชั้นล่างมีพระพุทธรูปประทับนั่ง 4 องค์ ชั้นบนไว้พระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง แล้วสร้างรูปพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอินทร์ และนางธรณี ไว้คอยรักษาพระพุทธรูป ต่อมาได้มีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 2 องค์ไว้ภายใน

เจดีย์ประธานวัดช้างค้ำ (กานโถม)   ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

โบราณสถานที่แห่งหนึ่งที่ยังปรากฏร่องรอยให้เห็นเฉพาะส่วนฐาน คือวิหารซึ่งจะเห็นว่ามีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าสู่ทิศตะวันตก จากการขุดแต่งพบร่องรอบการสร้างวิหารทับซ้อนกัน 2 ครั้ง ลักษณะวิหารมีการยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน พื้นที่ยกเก็จด้านหลังไม่มีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ทำเป็นทางเชื่อมต่อกับมณฑปท้ายวิหารแบบวิหารทรงปราสาท

ร่องรอยฐานวิหารวัดกานโถม  ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดอีก้าง  (อีค่าง)
วัดอีค่างเป็นชื่อที่เรียกในปัจจุบันโดยไม่พบชื่อปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์  เดิมเป็นโบราณสถานร้าง มีป่ารกร้างและฝูงลิงฝูงค่างอาศัยอยู่ในบริเวณโบราณสถานร้างแห่งนี้เป็นจำนวนมาก “อีค่าง” หรือ “อีก้าง” เป็นภาษาถิ่นเหนือ มีความหมายว่า ลิง หรือ ค่าง  ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดอีก้างหรือ อีค่าง

จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบวิหารเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดใหญ่ เป็นวิหารโถง มีขนาดความกว้าง 20 เมตร ยาว 13.50 เมตร ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนฐาน หลังวิหารมีห้องคูหา (คันธกุฎี) อยู่ด้านหลังห้องประธาน ซึ่งภายในห้องคูหามีแท่นฐานชุกชี 1 แท่น มีบันไดสู่ฐานประทักษิณทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก และมีเจดีย์ประธานตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมที่มีส่วนฐานสูงรองรับหลายชั้นตามลักษณะเฉพาะของล้านนา จากรูปแบบศิลปกรรมและโบราณวัตุที่พบที่นี่สันนิฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นเมื่อ 500-600 ปีมาแล้ว


วิหารและเจดีย์วัดอีก้าง   ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดปู่เปี้ย
วัดปู่เปี้ย ถือเป็นวัดที่มีความงดงามแห่งหนึ่งในเวียงกุมกาม รูปแบบผังการสร้างวัด และรูปแบบเจดีย์ประธานมณฑปมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โบราณสถานประกอบด้วย วิหารสร้างยกพื้นสูง เจดีย์ อุโบสถ ศาลผีเสื้อ และแท่นบูชา พร้อมทั้งมีลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์ที่สวยงามมาก

วัดปู่เปี้ย   ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดธาตุขาว
ที่เรียกกันว่าวัดธาตุขาว เนื่องมาจากแต่เดิมนั้นตัวเจดีย์ยังคงปรากฏผิวฉาบปูนสีขาว โบราณสถานประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ อุโบสถ และมณฑป โดยมีการก่อสร้างขึ้นมา 2 ระยะ คือ ระยะแรกก่อสร้างเพียงเจดีย์ วิหาร อุโบสถ แต่ต่อมาเกิดการชำรุดจึงต่อเติมฐานเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น ระยะที่สองมีการก่อสร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป

วัดธาตุขาว ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดธาตุน้อย 
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดช้างค้ำ ก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินสองแห่ง มีชาวบ้านเข้ามาปลูกบ้านอาศัยบนโบราณสถานแห่งนี้ และยังพบร่องรอยการขุดหาทรัพย์สินด้วย โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ วิหารตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าและด้านข้าง พื้นวิหารปูอิฐ ด้านหลังวิหารเป็นซุ้มประดิษฐานพระประธานปูนปั้น เจดีย์มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 13.35×13.35 เมตร สูง 1.64 เมตร ต่อขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 6.20×6.20 เมตร ลักษณะเจดีย์มีฐานใหญ่แต่องค์เจดีย์เล็ก

วัดธาตุน้อย ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดพระเจ้าองค์ดำ
ตั้งอยู่อยู่ใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนมีการขุดแต่งนั้นเป็นสวนลำไย มีพื้นที่เป็นเนินดิน 2 แห่ง ชาวบ้านเรียกว่า เนินพญามังราย และเนินพระเจ้าดำ และสันนิษฐานว่าที่เรียกวัดพระเจ้าองค์ดำนี้ เพราะวัดแห่งนี้เคยมีพระพุทธรูปสีดำประดิษฐานอยู่ โบราณสถานที่พบส่วนใหญ่เป็นวิหารหลายหลัง มีซุ้มประตูโขงและแนวกำแพง ถัดจากซุ้มโขงเข้ามามีวิหารและเจดีย์ โดยภายหลังจากการขุดแต่ง จึงแยกออกเป็นวัดพระเจ้าองค์ดำ และวัดพญามังราย

วัดพระเจ้าองค์ดำ  ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดพญามังราย
ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดพระเจ้าองค์ดำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อวัดพญามังรายนี้เป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลปากร เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากการที่เห็นว่าตั้งอยู่ใกล้วัดพระเจ้าองค์ดำมากที่สุดจนดูเหมือนเป็นวัดเดียวกัน เอกลักษณ์ของวัดนี้อยู่ที่การสร้างพระวิหารที่ไม่มีทางขึ้นลงหลักไว้ที่ด้านหน้า แต่สร้างไว้ที่ด้านซ้าย (กรณีที่หันหน้าไปทางหน้าวัด) ในส่วนพระเจดีย์พบร่องรอยการตกแต่งปูนปั้นลายช่องกระจกสอดไส้

วัดพญามังราย ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

วัดกู่ป่าด้อม 
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกเวียงกุมกาม กู่เป็นภาษาถิ่น หมายถึงเจดีย์ ชื่อวัดนี้ได้ตั้งชื่อตามเจ้าของที่ดิน โบราณสถานของวัดประกอบด้วย วิหารฐานขนาดใหญ่ มีบันไดทางขึ้นวิหาร มีราวบันไดด้านปลายเป็นรูปตัวเหงา ส่วนเจดีย์เหลือเพียงฐานเท่านั้น มีกำแพงแก้วก่อล้อมรอบโบราณสถาน กำแพงแก้วด้านหน้าทางเข้าวิหารมีซุ้มโขง ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงแก้ว 



วัดกู่ป่าด้อม  ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส (สิงหาคม 2565)

นอกจากนี้ เวียงกุมกามยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่ง เช่น วัดหัวหนอง วัดไม้ซ้ง วัดกู่ขาว วัดโบสถ์ วัดกู่อ้ายสี วัดกู่ลิดไม้ วัดกู่จ๊อกป๊อก วัดเสาหิน วัดหนองผึ้ง วัดศรีบุญเรือง วัดข่อยสามต้น วัดพันเลา และคาดว่ามีอีกหลายวัดที่จมอยู่ใต้พื้นดินบริเวณบ้านเรือนของชาวบ้านที่กำลังรอการบูรณะขึ้นมา

ปัจจุบันเวียงกุมกามได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เพราะว่ามีองค์ความรู้ที่สมบูรณ์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในเรื่องของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ตลอดจนวัฒนธรรมล้านนาต่าง ๆ โดยศูนย์กลางของการนำเที่ยวชมโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตเวียงกุมกามอยู่ที่วัดช้างค้ำ เวียงกุมครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล 2 อำเภอ คือ ตำบลท่าวังตาล ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี ตำบลหนองหอย และตำบลป่าแดด อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดราว ๆ 3 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 5 กิโลเมตร

แผนที่ตั้งเวียงกุมกาม และเมืองเชียงใหม่
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม. (2560, 9 เมษายน). เวียงกุมกาม : เมืองโบราณใต้ตะกอนทราย. 
https://www.silpa-mag.com/history/article_8121

เวียงกุมกาม เมืองโบราณแห่งนี้มีอายุกว่า 700 ปี เต็มไปด้วยโบราณสถานมากมาย และได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนรักประวัติศาสตร์ที่อยากย้อนเวลากลับไปสู่ความรุ่งเรืองของเชียงใหม่ในยุคนั้น ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม เป็นสถานที่แรกที่นักท่องเที่ยวควรมาเยี่ยมชม เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของเวียงกุมกาม มีพิพิธภัณฑ์ มีร้านขายของที่ระลึก ในส่วนของพิพิธภัณฑ์จะมี 5 ห้อง ได้แก่ ห้องพิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จัดแสดงศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในท้องถิ่น ห้องประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงข้อมูลความเป็นมาของเวียงกุมกาม ห้องบรรยายสรุปข้อมูลเวียงกุมกามมีการจัดฉายวีดิทัศน์เวียงกุมกาม ห้องข้อมูลสำคัญของเวียงกุมกาม และห้องแสดงเครื่องดนตรีที่มี เครื่องดนตรีชาวล้านนาไว้หลากหลายประเภทก่อน จากนั้นจึงออกไปสำรวจเมืองโบราณโดยมีบริการรถราง และรถม้า เพื่อพาเที่ยวชมโบราณสถานเวียงกุมกาม จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดธาตุน้อย วัดช้างค้ำ วัดธาตุขาว วัดพญามังราย วัดพระเจ้าองค์ดำ กู่ป้าด้อม วัดปู่เปี้ย วัดหนานช้าง และวัดอีก้าง


เขียน/เรียบเรียง : ณิชากร เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
ถ่ายภาพ : ศราวุธ เบี้ยจรัส นักวิชการโสตทัศนศึกษา สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. (2564, 20 พฤษภาคม). วัดช้างค้ำ (กานโถม). https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/617

ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. (2563, 13 กรกฎาคม). วัดอีก้าง (อีค่าง). https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/622

มิวเซียมไทยแลนด์. (ม.ป.ป.). เวียงกุมกาม อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา. https://www.museumthailand.com/th/3828/storytelling/เวียงกุมกาม/

เวียงกุมกาม. (2564, 15 มกราคม). ใน วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/เวียงกุมกาม

สหวัฒน์ แน่นหนา, ทรรศนะ โดยอาษา และวิวรรณ แสงจัน. (2565, 27 สิงหาคม). เวียงกุมกาม : เมืองโบราณใต้ตะกอนทราย. https://www.silpa-mag.com/history/article_8121

Oporshady. (2556, 30 พฤษภาคม). เวียงกุมกาม เมืองหลวงล้านนาที่ถูกลืม. https://travel.mthai.com/blog/58652.html